10 มิ.ย. 2021 เวลา 01:00 • สุขภาพ
การประเมินโอกาสในการเสียชีวิต (Survival Rate Calculator) จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาด้วย Big Data
รู้หรือไม่ ผู้สูงอายุวัยอายุ 65 ปีที่มีโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคประจำตัว มีความเสี่ยงประมาณ 60% ที่จะเสียชีวิตหากป่วยด้วยโรค COVID-19 (ภาพที่ 1) โดยเราสามารถวิเคราะห์ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า Survival Rate Calculator
การคำนวนเหล่านี้สามารถทำได้โดยใช้ Big Data มาช่วยในการพยากรณ์โอกาสในการเสียชีวิต หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือการคำนวณอัตราการรอดชีวิต (Survival Rate Calculator) จากการรายงานข่าวผู้เสียชีวิตจากโรค COVID-19 เรามักพบว่า ผู้เสียชีวิตเหล่านั้นมักมีโรคประจำตัวอย่างน้อย 1 โรค บทความนี้จะช่วยให้ท่านเข้าใจเหตุผลว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น โดยอธิบายว่า Big Data ที่ใช้มีอะไรบ้าง การคำนวณเบื้องต้นทำได้อย่างไร
ภาพที่ 1 การคำนวณอัตราการรอดชีวิต
เว็บไซต์ Coronavirus Dashboard (ncov2019.live) นำเสนอการวิเคราะห์อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา โดยได้นำข้อมูลผู้ป่วยที่ผ่านการศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคเดียวกันนี้ เพื่อคำนวณโอกาสในการเสียชีวิตที่จะเกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ช่วงอายุ เพศ และโรคประจำตัว
ภาพที่ 2 หน้าจอ Survival Rate Calculator
ในการเข้าใช้บริการ เราต้องป้อนข้อมูลช่วงอายุ เพศ และรายละเอียดเกี่ยวกับโรคประจำตัว (ถ้ามี) โดยผู้ที่มีความเสี่ยงสูงคือผู้ที่มีโรคประจำตัวได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ (Cardiovascular disease) โรคเบาหวาน (Diabetes) โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง (Chronic respiratory disease) โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) และโรคมะเร็ง (Cancer) ตัวอย่างหน้าจอในการป้อนข้อมูลแสดงดังภาพที่ 2
ตัวอย่างเช่น ชายอายุ 65 ปี ที่มีโรคประจำตัวคือ โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ผลลัพธ์จากการคำนวณชี้ว่า ชายคนดังกล่าวมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตหากเขาติดเชื้อ COVID-19 อยู่ที่ 63.34% ดังแสดงในภาพที่ 3
ภาพที่ 3 ตัวอย่างการคำนวณ Survival rate
การวิเคราะห์อาศัยข้อมูลจาก COVID-19 #CoronaVirus Infographic Datapack — Information is Beautiful ซึ่งได้ทำการศึกษาวิจัยผู้ป่วยที่หายป่วยและเสียชีวิตจากโรค COVID-19 โดยจากการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะช่วงอายุ 80-89 ปี และเพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิงดังแสดงใน ภาพที่ 4 และภาพที่ 5 ตามลำดับ ภาพที่ 6 แสดงความเสี่ยงแยกตามโรคประจำตัวของผู้เสียชีวิต โดยผู้ที่มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากที่สุดคือ ผู้ที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจเป็นโรคประจำตัว รองลงมาคือ โรคเบาหวาน โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูง และโรคมะเร็งตามลำดับ หากผู้ป่วยรายใดมีโรคประจำตัวข้างต้นมากกว่า 1 โรค ความเสี่ยงในการเสียชีวิตก็จะเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่ 3 โรคขึ้นไป จะมีความเสี่ยงสูงกว่า 50% ดังแสดงในภาพที่ 7 การมีโรคประจำตัวถือเป็นปัจจัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีอายุ 60 – 79 หากไม่โรคประจำตัวจะมีความเสี่ยงอยู่ 5% แต่หากผู้ติดเชื้อในช่วงอายุดังกล่าวมีโรคหลอดเลือดหัวใจเป็นโรคประจำตัว ความเสี่ยงจะมีสูงถึง 52.5%
ภาพที่ 4 ความเสี่ยงแยกตามช่วงอายุ
ภาพที่ 5 ร้อยละของการเสียชีวิตจากโรค COVID-19 แยกตามเพศ
ภาพที่ 6 ความเสี่ยงแยกตามโรคประจำตัวของผู้เสียชีวิต
ภาพที่ 7 ความเสี่ยงแยกตามจำนวนโรคประจำตัว
อย่างไรก็ตามการคำนวณครั้งนี้ใช้ Big Data ที่มีการศึกษาวิจัยในประเทศจีน อิตาลี และสหราชอาณาจักร มิได้ใช้ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาทั่วโลก และใช้เพียง 5 โรคที่มีสัดส่วนในการมีโรคประจำตัวดังกล่าวของกลุ่มตัวอย่างสูง แต่ก็สามารถใช้เป็นแนวทางในการเฝ้าระวังพิเศษโดยเฉพาะในประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาจะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูง และหากมีโรคประจำตัวมากกว่า 1 โรค ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในกาสเสียชีวิตให้สูงขึ้นอีกด้วย เบื้องต้นท่านสามารถใช้เครื่องมือนี้การประเมินตนเองและผู้ใกล้ชิดเพื่อให้เราสามารถผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้อย่างปลอดภัย
Reference:
Coronavirus Dashboard (ncov2019.live)
COVID-19 #CoronaVirus Infographic Datapack — Information is Beautiful
อ่านบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Big Data ได้ที่
#govbigdata #bigdata #bigdatathailand #datascience #dataengineer #dataanalytics #digitalthailand #survivalrate #survivalratecalculator #riskrate #covid19 #colonavirus
โฆษณา