17 พ.ค. 2021 เวลา 12:48 • ข่าว
โคคา สุกี้ ต้นตำรับความอร่อยกว่า 60 ปี จากร้านอาหาร 20 ที่นั่ง สู่ภัตตาคารชั้นนำของโลก
เปิดเคล็ดลับสร้าง "โคคา สุกี้" จากร้านอาหาร 20 ที่นั่ง สู้ภัตตาคารชั้นนำของโลกในรูปแบบแฟรนไชส์ สร้างรายได้มากกว่าร้อยล้านบาท
เพจเฟซบุ๊ก COCA Restaurant โพสต์ข้อความระบุว่า โคคา สุกี้ สาขาสยามสแควร์ จะเปิดให้บริการวันที่ 18 พ.ค. 64 เป็นวันสุดท้าย ส่วนสาขาอื่นยังคงเปิดให้บริการตามปกติ
โคคาและพนักงานทุกคนขอขอบคุณลูกค้าตลอดระยะเวลา 54 ปี ที่อยู่เคียงข้างโคคามาตลอด หลายคนมีความทรงจำที่ดีกับที่แห่งนี้มาก โคคาอยากเชิญลูกค้าทุกท่านในโอกาสสุดท้ายได้ถ่ายรูปกับความทรงจำดีๆ ที่สาขานี้
โดยหลังจากที่เพจดังกล่าวได้โพสต์ออกไปนั้น สร้างความตกใจให้กับแฟนๆ รวมถึงผู้ที่เคยรับประทานอาหารที่ร้านนี้ไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งหลายคนอาจตกใจว่า "โคคา สุกี้" เกิดขึ้นมาก่อนร้านอาหารสุกี้เจ้าดังรายอื่นๆ อีกหรือ แล้วใครเป็นผู้กุมเคล็ดลับความอร่อยของสุกี้ในระดับตำนาน Sanook Money มีข้อมูลดีๆ มาอัปเดตกัน
"COCA ความอร่อยที่เริ่มขึ้นเมื่อปี 2500"
ต้นกำเนิดของรสชาติสุกี้ "COCA" มาจากห้องอาหารจีนกวางตุ้งขนาด 20 ที่นั่ง ก่อตั้งโดยคุณศรีชัย พันธุ์เพ็ญโสภณ และคุณปัทมา ผู้ซึ่งเป็นภรรยาคู่ใจ ได้ร่วมกันสร้างและวางรากฐานให้ภัตตาคารประสบความสำเร็จตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
ไม่นาน โคคา ได้ขยายกิจการและย้ายจากถนนเดโช ไปอยู่ที่ซอยทานตะวัน ถนนสุรวงศ์ จุดเริ่มต้นจากภัตตาคาร 20 ที่นั่งในวันแรก ขยายมาสู่ภัตตาคารขนาด 800 ที่นั่ง เป็นภัตตาคารแห่งแรกที่นำการปรุงอาหารแบบสุกี้เข้ามาเผยแพร่ และสร้างชื่อเสียงในประเทศไทย
ด้วยการพัฒนา และการมอบประสบการณ์การรับประทานอาหารรูปแบบใหม่ของ โคคา ที่ลูกค้าสามารถเลือกวัตถุดิบในการปรุงสุกี้ได้หลากหลายชนิดตามใจชอบ เช่น เนื้อสัตว์, อาหารทะเล และผักสดต่างๆ ที่สามารถแยกเป็นจานเล็กๆ ตามต้องการแทนการจัดจานและเสิร์ฟรวมมาเป็นชุดใหญ่ๆ ในแบบดั้งเดิม จึงเป็นจุดขายสำคัญ ที่สร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้า และยังช่วยสร้างชื่อเสียงให้ COCA ได้กลายเป็นสุกี้ต้นตำรับ และรู้จักดีในหมู่คนรักสุกี้ทั้งไทยและต่างประเทศตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
"COCA แปลว่า ความอร่อยที่น่ารับประทาน"
เป็นคำที่ถูกดัดแปลงมาจากภาษาจีนกลาง ออกเสียงว่า "เคอโคว์ (Kekou)" หมายถึง "เอร็ดอร่อย" จากสำเนียงกวางตุ้งที่ออกเสียงว่า "หอเห่า (HouHào) จึงกลายมาเป็นชื่อ "โคคา COCA" ที่กระชับและจำง่าย ซึ่งรวมความหมายว่า "ความอร่อยที่น่ารับประทาน" โดยคนเอเชียทั้งไทย จีน ญี่ปุ่น และชาวต่างชาติในแถบประเทศอื่นๆ ยังสามารถจดจำชื่อ โคคา และออกเสียงแห่งความอร่อยนี้ไปด้วยกันได้อย่างง่ายดาย
ปัจจุบัน โคคา สุกี้ เป็นธุรกิจร้านอาหารที่ถูกส่งต่อมายังคุณพิทยา พันธุ์เพ็ญโสภณ ลูกชายคุณศรีชัย และคุณปัทมา ได้เข้ามาสานต่อธุรกิจของครอบครัวในปี พ.ศ. 2527 ด้วยวิสัยทัศน์ของคนรุ่นใหม่ จึงเปลี่ยนจากภัตตาคารโคคา เข้าสู่การบริหารแบบบริษัทจดทะเบียน ด้วยชื่อบริษัท COCA Holdings International Co., Ltd. เพื่อรวมการบริหารให้มีทีมสนับสนุนเป็นส่วนกลางรองรับการดำเนินงานของแต่ละร้านในเครืออย่างเป็นระบบ
ความสำเร็จตลอดมาของ COCA เป็นแรงผลักดันช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้โคคาได้ขยายกิจการไปสู่สาขาใหม่ๆ อีกมากมาย เช่น สุขุมวิท 39, ไทม์สแควร์, เซ็นทรัลเวิลด์พลาซ่า, พหลโยธิน, สยามเซ็นเตอร์ และสาขาชายหาดพัทยา รวมทั้งยังขยายไปสู่สาขาต่างประเทศในปี พ.ศ. 2530 โดยสาขาแรกในต่างประเทศเริ่มที่สิงคโปร์ ตามด้วยญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ไต้หวัน, ลาว, พม่า, เกาหลีใต้ และจีนตามลำดับ อีกทั้งยังขยายตัวสู่ความเป็นสากลต่อเนื่องด้วยรูปแบบแฟรนไชส์ ซึ่งปัจจุบันมีมากถึง 12 ประเทศทั่วโลก
นอกจากนี้ COCA Holdings ได้เพิ่มแนวความคิดในการดำเนินงาน เช่น Kroissant House ร้านเบเกอรี่แบบยุโรปที่มีการผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ พร้อมกับเปิดร้านอาหาร Mango Tree ซึ่งเป็นสถานที่ดีเยี่ยมสำหรับอาหารไทยแท้, ร้าน Bo Tan Tei มีห้องอาหารญี่ปุ่นแบบคลาสสิก, ร้าน Nika-i ให้บริการอาหารญี่ปุ่นฟิวชั่นในบรรยากาศร่วมสมัย และได้ขยายสู่การเปิดโรงงาน COCA Foods International สำหรับแปรรูปผลิตภัณฑ์แช่แข็งและบรรจุหีบห่อ พร้อมจัดส่งไปยังร้านอาหารทุกสาขาในเครือ ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก และด้วยประสบการณ์ความสำเร็จกว่า 60 ปี ภายใต้การให้บริการด้านอาหารของ COCA ทั้งในด้านคุณภาพ ความพึงพอใจ และการบริการลูกค้า จากร้านอาหาร 20 ที่นั่งมาเป็นธุรกิจบริการอาหารของ COCA จึงเป็นข้อพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีถึงความเชื่อมั่นที่ส่งเสริมให้ COCA เติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งผลประกอบการธุรกิจของร้านอาหาร โคคา สุกี้ ก็สะท้อนออกมาได้ดีเลยทีเดียว
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชน์ พบว่า บริษัท โคคาโฮลดิ้งอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2528 ปรากฎรายชื่อ นายพิทยา พันธุ์เพ็ญโสภณ เป็นคณะกรรมการบริษัท ดำเนินธุรกิจ ภัตตาคาร อาหารและเครื่องดื่ม ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 70 ล้านบาท โดยมีผลประกอบการย้อนหลังดังนี้
ปี 2558 รายได้ 437 ล้านบาท ขาดทุน 10.3 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 408 ล้านบาท ขาดทุน 15.2 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 423 ล้านบาท กำไร 14.8 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 441 ล้านบาท กำไร 10.8 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 376 ล้านบาท ขาดทุน 4.5 ล้านบาท
โฆษณา