18 พ.ค. 2021 เวลา 05:30 • สุขภาพ
"วัคซีน"กายพร้อม ใจไม่พร้อม เครียด กังวล อาจส่งผลข้างเคียง
อย่างที่รู้กันดีว่า อาวุธหนึ่งในการต่อสู้กับโควิด-19 คือ "วัคซีน" ซึ่ง ณ เวลานี้ในประเทศไทย คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติวัคซีนโควิดที่จะนำมาใช้ในประเทศไทยแล้ว 3 รายการ คือ
วัคซีน AZD1222 ของแอสตราเซเนกา นำเข้าโดย บริษัท แอสตราเซเนกา (ประเทศไทย) จำกัด
วัคซีนโคโรนาแวคของซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.)
และวัคซีน JNJ-78436735 ของจอห์นสันแอนด์จอนห์สัน นำเข้าโดย บริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด แต่ที่นำมาฉีดให้ประชาชนแล้ว 2 ยี่ห้อ คือ ของซิโนแวคและแอสตราเซเนกา
แต่เพราะกระแสข่าวเกี่ยวกับผลข้างเคียงและความปลอดภัยของวัคซีนที่ออกมาเป็นระยะ ทำให้หลายต่อหลายคนกังวลว่า ฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนโควิด แบบไหนมีความปลอดภัยกว่ากัน
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยถึงประโยชน์ของวัคซีนโควิด-19 ว่า โควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อ โรคติดต่อ และเป็นโรคระบาด คนติดเชื้อทั่วโลกเป็นหลักร้อยล้านคน และเสียชีวิตเป็นหลักล้านคน
ในประเทศไทยเองก็มีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่าแสนคน ซึ่งแน่นอนว่าการที่เราจะหยุดยั้งการระบาดของโรคนี้ได้ “วัคซีน” คือเครื่องมือที่สำคัญตัวหนึ่ง เพราะเราไม่อยากจะแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น เช่น การใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างกันไปตลอด และทุกคนก็คงไม่อยากที่จะทำอะไรไม่ได้เลย เช่น ดูคอนเสิร์ต ประชุม และร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ ฉะนั้นหากเราอยากมีกิจกรรมทางสังคมมากขึ้น เปิดประเทศได้ ทำให้เศรษฐกิจมันดีขึ้น "วัคซีน" คือคำตอบ
1
และจากสารของ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า วัคซีนที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนคือ วัคซีนที่เราได้รับเร็วที่สุด และไม่แนะนำให้รอ หรือเลือกวัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่ง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การรับวัคซีน ต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ แม้จะอยากให้ทุกคนฉีดก็ตาม และไม่อยากให้คิดว่าจะ "ไม่ฉีด" เนื่องจาก วัคซีน มีประโยชน์มากกว่า ทั้งส่วนตัว และส่วนรวม
วัคซีนต่างชนิด ป้องโควิด-19 ได้เหมือนกัน
1
วัคซีนที่มีการฉีดให้ประชาชน บุคลากรการแพทย์ อสม. เจ้าหน้าที่ด่านหน้า และประชาชนกลุ่มเสี่ยงนั้น มีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
ชนิดแรก เป็น วัคซีนชนิดเชื้อตายของซิโนแวค ลักษณะเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่เรารู้จักกันมานานแล้ว โดยเป็นการนำเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโควิด-19 นำมาทำให้ตาย แต่ยังมีความสามารถที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ ฉีดเข้าไปในร่างกาย และเมื่อร่างกายเห็นเป็นสิ่งแปลกปลอม ก็จะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ฉะนั้น เวลาที่มีการติดเชื้อจริง ร่างกายจะพร้อม และสู้กับเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโควิด-19 ได้ทันท่วงที
ชนิดที่สอง คือ วัคซีนชนิดไวรัสเว็กเตอร์ หรือวัคซีนชนิดไวรัสเป็นพาหะ ของแอสตราเซเนกา การทำงานของไวรัสเว็กเตอร์ คือ การนำสารพันธุกรรมหรือชิ้นส่วนพันธุกรรมของไวรัสที่ทำให้เกิดโควิด-19 มาห่อหุ้มด้วยไวรัสอีกตัวหนึ่ง ที่ชื่อว่า อะดิโนไวรัส ที่ก่อให้เกิดโรคในลิง เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย จะถอดรหัสออกมาเป็นโปรตีนส่วนหนาม และเมื่อร่างกายเห็นเป็นสิ่งแปลกปลอม ก็จะกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันโรค
ส่วนอีก 2 ชนิดที่อนาคตอาจจะเข้ามาในประเทศไทยในอนาคต คือ ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ของบริษัทไฟเซอร์ และโมเดอร์นา เป็นวัคซีนที่ออกมาแรกๆ การทำงานของวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอจะคล้ายกับไวรัสเว็กเตอร์ คือ จะนำสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโควิด-19
แต่แทนที่จะหุ้มด้วยอะดิโนไวรัสก็ใช้ไขมันห่อหุ้มแทน เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย ร่างกายก็จะถอดรหัสออกมาเป็นโปรตีนส่วนหนาม เพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันโรค
สุดท้าย เป็นวัคซีนที่ใช้โปรตีนบางส่วนของไวรัส เช่น ของบริษัท โนวาแวกซ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่วัคซีนนี้อนาคตอาจจะเข้ามาในประเทศไทย
ขณะที่ หากมีการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ อาทิ สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์บราซิล สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ประสิทธิภาพของวัคซีนต่างๆ จะสามารถป้องกันได้หรือไม่ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศศิโสภิณ ระบุว่า
ถ้าเป็นของซิโนแวค เรายังไม่มีข้อมูลที่เป็นการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ แต่ถ้าเป็นของแอสตราเซเนกา พบว่ายังสามารถยับยั้งความรุนแรงของสายพันธุ์อังกฤษได้ แต่ถ้าเป็นสายพันธุ์แอฟริกา ประสิทธิภาพอาจจะลดลงไปค่อนข้างมาก
1
อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ ของไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา จะมีข้อมูลค่อนข้างมากกว่า ในเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีต่อสายพันธุ์กลายพันธุ์ ซึ่งระบุว่า ประสิทธิภาพอาจจะลดลง แต่ยังเพียงพอในการสร้างภูมิคุ้มกันได้
1
ผู้ป่วยโควิด-19 รับวัคซีนได้หรือไม่
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศศิโสภิณ บอกว่า แนะนำให้ฉีด แต่ไม่ต้องรีบ พร้อมอธิบายว่า อย่างที่ทราบว่า วัคซีนสามารถลดความรุนแรงของโรค ไปจนถึงป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง ที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตจากโรคโควิด
1
ผู้ที่ติดเชื้อแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองมาในระดับหนึ่ง แต่ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการเป็นโควิด-19 อาจจะอยู่กับเราไม่นาน ประมาณ 3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับอาการ หากอาการน้อย ภูมิจะขึ้นไม่สูงและอยู่ไม่นาน แต่ถ้าป่วยแบบรุนแรง หรือมีเชื้อลงปอด ภูมิจะขึ้นสูง และจะอยู่นาน
ดังนั้น จากข้อมูลที่มีอยู่ตอนนี้ ทั้งจากประเทศไทยเอง หรือในต่างประเทศ ทุกคนที่เป็นโควิด-19 แล้ว แพทย์ยังแนะนำให้ฉีดวัคซีน แต่ไม่ต้องรีบ เพราะเรายังมีภูมิคุ้มกันอยู่ในช่วงแรก ผู้เชี่ยวชาญ หรือในบางประเทศแนะนำว่าให้รออย่างน้อย 3 หรือ 6 เดือน แต่ถ้าวัคซีนมีเพียงพอก็อาจจะสามารถให้ได้เร็วได้
เครียด กังวล อาจเปลี่ยนเป็นผลข้างเคียง
จากกระแสข่าวมีการฉีดวัคซีนโควิดบางลอตให้บุคลากรทางการแพทย์แล้วเกิดผลข้างเคียง ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศศิโสภิณ อธิบายว่า วัคซีนที่เข้ามาในประเทศไทย โดยรัฐบาล จะมีหน่วยงานที่ตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ในการตรวจสอบคุณภาพของวัคซีน ก่อนที่จะกระจายวัคซีนออกไป เพราะฉะนั้นโดยหลักการแล้ว
วัคซีนมีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่หากนำไปใช้งานแล้วสงสัยว่า คุณภาพของวัคซีนทำให้เกิดผลข้างเคียง สามารถส่งกลับมาตรวจสอบโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้อีกครั้งหนึ่ง แต่หากตรวจสอบแล้วพบว่า ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ก็จะไม่พิจารณาให้หยุด หรือเรียกเก็บวัคซีนลอตนั้นกลับคืนมา
พร้อมทั้งแนะนำการเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีนว่า ก่อนที่จะเข้ารับวัคซีน ต้องเตรียม 2 อย่าง คือ เตรียมตัวและเตรียมใจ ในคนที่มีโรคประจำตัว ต้องรู้ว่าโรคที่เราเป็นอยู่มีการรักษาอย่างต่อเนื่องหรือไม่ มีอาการคงที่ ไม่มีการปรับยาไปมา ถ้าการรักษาคงที่ก็สามารถรับวัคซีนได้ แต่ในผู้ป่วยที่แพทย์ยังคงปรับยาให้ตลอดเวลา อาจจะต้องปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ว่าสามารถรับวัคซีนได้หรือไม่
ขณะที่ วัยหนุ่มสาวที่มีร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคร่วม ต้องดูว่าไม่มีภาวะการเจ็บป่วยเฉียบพลัน เช่น อยู่ดีๆ มีไข้ เป็นหวัด ลักษณะนี้อยากให้เลื่อนไปก่อน รอให้หายดีแล้วจึงเข้ารับวัคซีน
ส่วนคนที่แพ้ยา หรือแพ้อาหาร อาทิ ปู กุ้ง จริงๆ ไม่ได้สัมพันธ์กับการแพ้วัคซีนโควิด-19 สามารถรับวัคซีนได้ แต่อาจต้องแจ้งกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีนให้ว่ามีประวัติแพ้อื่นๆ มาก่อน เพื่อจะได้เฝ้าสังเกตอาการเป็นพิเศษในช่วง 30 นาทีแรก
ในเรื่องการเตรียมจิตใจ จากข่าวจะทราบว่าผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากวัคซีน ส่วนหนึ่งมากจากความกังวลในการเข้ารับวัคซีน ซึ่งจะมีอาการ ชา อ่อนแรง อาการคล้ายหลอดเลือดสมอง ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากความวิตกกังวล หรือความกลัวที่จะเข้ารับวัคซีน ดังนั้น ผู้ที่เข้ารับวัคซีนจะต้องเตรียมกาย เตรียมใจให้พร้อม พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด ไม่กังวล
อีกอย่างที่จะแนะนำคือ การศึกษาขั้นตอนการลงทะเบียน "หมอพร้อม" เพื่อให้ทราบเวลานัดหมายการรับวัคซีนที่แน่ชัด เนื่องจากไม่อยากให้ไปอยู่ ณ จุดนั้นนานๆ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ ขณะที่เมื่อไปถึงแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะมีการวัดสัญญาณชีพ การซักประวัติอีกครั้งหนึ่ง
สังเกตผลข้างเคียง อาการรุนแรง จะปรากฏใน 30 นาที
การสังเกตตัวเองหลังจากได้รับวัคซีนนั้น แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ
- ช่วง 30 นาทีแรก เป็นช่วงที่หากเกิดผลข้างเคียงมีอาการที่รุนแรง หรือแพ้รุนแรง จะเกิดภายใน 30 นาทีแรก ซึ่งอยากให้ผู้ได้รับวัคซีนสังเกตอาการในโรงพยาบาลหรือในสถานที่ที่รับวัคซีน เพราะหากเกิดแล้วก็จะได้ช่วยเหลือได้ทัน ซึ่งผู้ได้รับวัคซีนเองก็ต้องผ่อนคลาย และไม่เครียดระหว่างช่วงเวลานั้น
อาการแพ้รุนแรง จะมีเกณฑ์อยู่ด้วยกัน 4 ข้อ
✡ อาการทางผิวหนัง เยื่อบุต่างๆ เช่น ผื่นขึ้นรุนแรงแบบลมพิษ ตาบวม ปากบวม
✡อาการของระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบเหนื่อย แน่นหน้าอก หายใจแล้วมีเสียงคล้ายหลอดลมตีบ
✡อาการของระบบไหลเวียน เช่น ความดันตก เป็นลม
✡อาการของระบบทางเดินหายใจ เช่น ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย
ทั้งนี้ หากมีอาการเกิดขึ้น 2 ใน 4 ข้อ อาจวินิจฉัยก่อนว่าอาจเกิดอาการแพ้แบบรุนแรง ทางเจ้าหน้าที่จะได้ให้การรักษา และจะมีการรายงานผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นไปที่ระบบหมอพร้อม หรือระบบอื่นๆ เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาอีกทีว่าสุดท้ายแล้วผู้ที่รับวัคซีนแล้วมีอาการ เกิดจากภาวะแพ้แบบรุนแรงหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลต่อวัคซีนเข็มที่ 2 ที่อาจจะมีการพิจารณาไม่ให้ฉีดวัคซีนยี่ห้อเดิม
1
ส่วนที่มีข่าวก่อนหน้านี้ว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนแล้วมีอาการคล้ายหลอดเลือดสมอง ตรงนี้ไม่ใช่อาการแพ้วัคซีน แต่อาการที่เกิดขึ้นเป็นภาวะ ISRR หรือ ปฏิกิริยาที่สัมพันธ์กับความเครียดจากการฉีดวัคซีน ซึ่งไม่ได้เพิ่งนิยามในประเทศไทย
แต่มีการนิยามขององค์การอนามัยโลก (WHO) มาตั้งแต่ 2 ปี ก่อนแล้ว ซึ่งเจอทั่วโลก และก็ไม่ได้เพิ่งเจอจากการฉีดวัคซีนโควิด โดยเราเคยเจอปรากฏการณ์แบบนี้ในการฉีดวัคซีนปากมดลูกในเด็กชั้นประถมศึกษา เมื่อฉีดไปแล้วเด็กเป็นลมหลายคน ซึ่งสุดท้ายก็ไม่ได้เกิดจากการแพ้วัคซีน
สำหรับภาวะ ISRR มีปัจจัยกระตุ้นในเรื่องของความกังวล พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือการเจ็บป่วยจากร่างกาย ซึ่งทำให้แสดงอาการออกมาคล้ายอาการหลอดเลือดสมอง เป็นอาการที่เกิดขึ้นจริง ตรวจได้จริง เช่น ชา ปากเบี้ยว ตามัว เกร็ง แต่ไม่ได้มีความผิดปกติจริงในการทำงานของสมอง เวลาตรวจเอกซเรย์สมองคอมพิวเตอร์หรือคลื่นแม่เหล็กจะพบว่าปกติ
แพทย์จะรักษาตามอาการ และอาการจะดีขึ้นได้เองใน 1-3 วัน แต่หากมีการประเมินจากแพทย์แล้วพบว่าเป็นอาการที่เกิดจากหลอดเลือดสมอง แพทย์ก็จะต้องทำการรักษาต่อไป
ที่ผ่านมามีการพบภาวะ ISRR ในบุคลากรทางการแพทย์ เจอเป็นกลุ่มก้อน เจอในคนอายุน้อย และมักเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ซึ่ง ณ ตอนนี้ที่มีการรายงานเข้ามา พบผู้ที่มีภาวะ ISRR แล้วกว่าร้อยราย
- หลังจาก 30 นาทีไปแล้ว หากเกิดอาการข้างเคียงใดๆ ก็ตาม อยากให้รายงาน ตัวอย่างเช่น หากพ้น 30 นาทีไปแล้ว บังเอิญว่าระหว่างเดินทางกลับบ้าน เกิดเดินตกท่อ ถามว่าตกท่อเกี่ยวหรือไม่ คงไม่เกี่ยว แต่ถ้าซักไปเรื่อยๆ อาจพบว่ามีอาการเวียนหัวทำให้เดินตกท่อ เพราะฉะนั้นเราต้องเก็บข้อมูลทั้งหมดเพื่อมาประเมินว่าอาการที่เกิดขึ้น หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดจากการได้รับวัคซีนหรือไม่ ซึ่งเราจะเรียกรวมว่า อาการไม่พึงประสงค์ เพื่อทำการตรวจสอบต่อไป
ขณะที่อาการข้างเคียงหลังจากที่ได้รับวัคซีน จะแบ่งออกเป็น 2 อาการย่อยๆ คือ
1
• อาการข้างเคียงที่เกิดเฉพาะที่ บริเวณที่มีการฉีดวัคซีน (ต้นแขน) ไม่ว่าจะเป็น ปวด บวม แดง ร้อน ซึ่งจะเจอมากถึงร้อยละ 20-30 และสามารถพบได้ในทุกวัคซีน
• อาการตามระบบ เช่น มีไข้ต่ำ ไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส เพลีย ปวดเมื่อยตามตัว
อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไม่ถือว่าผิดแปลกอะไร สามารถหายได้เองภายใน 1-2 วัน และรักษาตามอาการ เช่น ปวดแขน หรือมีไข้ สามารถกินยาพาราเซตามอลได้ และสามารถรับวัคซีนเข็มที่สอง ซึ่งเป็นยี่ห้อเดิมได้
อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไม่ถือว่าผิดแปลกอะไร สามารถหายได้เองภายใน 1-2 วัน และรักษาตามอาการ เช่น ปวดแขน หรือมีไข้ สามารถกินยาพาราเซตามอลได้ และสามารถรับวัคซีนเข็มที่สอง ซึ่งเป็นยี่ห้อเดิมได้
ขณะที่หากมีการเปลี่ยนยี่ห้อวัคซีนในเข็มที่สอง จะทำให้ประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายเราลดลงหรือไม่นั้น แม้จะอยู่ระหว่างการศึกษา แต่ผู้เชี่ยวชาญก็เชื่อว่าสามารถช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้ ซึ่งวัคซีนที่เรามี 2 ยี่ห้อตอนนี้ในประเทศไทย ไม่มีส่วนประกอบไหนที่เหมือนกันเลย ดังนั้นจึงไม่น่าจะเกิดการแพ้ซ้ำแบบรุนแรง
และในกรณีที่มีการเปลี่ยนวัคซีน การรับวัคซีนครั้งต่อไป ก็ให้ยึดระยะเวลาตามเข็มแรก อาทิ หากรับวัคซีนซิโนแวค เป็นเข็มแรก ต้องเว้น 4 สัปดาห์ถึงจะเข้ารับเข็มที่สอง เพราะฉะนั้นถ้าจะเปลี่ยนวัคซีน ก็ให้เว้นไป 4 สัปดาห์ตามระยะเวลาของซิโนแวค ก่อนที่จะเข้ารับวัคซีนยี่ห้อใหม่
ในทางกลับกัน ถ้ารับแอสตราเซเนกาเป็นเข็มแรก แล้วเกิดอาการแพ้ ก็ให้เว้นไปประมาณ 3 เดือน ค่อยไปรับวัคซีนซิโนแวคเป็นเข็มที่สอง
ความกลัว ฉีดวัคซีน แล้วเสียชีวิต
ส่วนข่าวที่ปรากฏว่า หลังจากฉีดวัคซีนโควิด แล้วเสียชีวิต ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศศิโสภิณ ระบุว่า จริงๆ อยากให้มีการชันสูตรเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงทุกราย ว่าเสียชีวิตเพราะวัคซีนจริงหรือไม่ แต่ที่ผ่านมา จากการตรวจสอบพบว่า รายที่เสียชีวิต ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัคซีนโดยตรง แต่ส่วนใหญ่มีอาการของโรคเดิม ที่ผู้ป่วยอาจจะไม่รู้มาก่อน หรือมีการรักษา (กินยา) ไม่สม่ำเสมอ
อาทิ รายแรกที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ เราพบว่า เป็นเส้นเลือดโป่งพองอยู่แล้ว และเสียชีวิตเนื่องจากเส้นเลือดแตก อีกรายที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ พบว่าเสียชีวิตจากเส้นเลือดหัวใจตีบ รายต่อมาเป็นผู้ป่วยหญิง อายุน้อย รอผลการชันสูตรอยู่
1
เมื่อถามว่า ระยะเวลาหลังจากที่ได้รับวัคซีน หากมีอาการของโรคอื่นๆ ร่วมด้วยนั้นจะปรากฏให้เห็นเมื่อใด ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศศิโสภิณ ระบุว่า เนื่องจากวัคซีนโควิดเป็นวัคซีนใหม่ ดังนั้นเราจึงไม่ทราบแน่นอนว่าผลข้างเคียงจะอยู่นานเท่าไร แต่ตอนนี้ เท่าที่ผู้เชี่ยวชาญ หรือข้อมูลที่จะตรวจสอบได้ใน "หมอพร้อม" จะให้ตัวเลขไว้ที่ 1 เดือน คือ ยิ่งนาน ยิ่งไม่ใช่ผลกระทบที่เกิดจากวัคซีน แต่ถ้านานเกิน 1 เดือน น่าจะเชื่อได้ว่าการเสียชีวิตไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน
เหตุใดเด็ก จึงไม่ได้รับวัคซีนโควิด
สาเหตุที่ไม่มีการฉีดวัคซีนโควิดในเด็กนั้น ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศศิโสภิณ ระบุว่า เป็นเพราะการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนส่วนใหญ่จะทำในผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 18 ปี ขึ้นไปทั้งสิ้น ดังนั้นการขออนุญาตใช้วัคซีนก็จะต้องขออนุญาตใช้ในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งต้องรอการศึกษาวิจัยเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนในเด็กต่อไป อย่างไรก็ตาม
ขณะนี้มีผลการศึกษาของวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ว่าได้ผลดีในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป จึงได้รับการรับรองในบางประเทศให้ฉีดในเด็กอายุดังกล่าวแล้ว
ขณะที่การติดเชื้อในเด็กนั้น โชคดีว่าแม้เด็กจะติดเชื้อ แต่มีอาการน้อย หรือแทบจะไม่มีอาการ การป้องกันที่ดีที่สุด หากรู้ว่าเราเป็นกลุ่มเสี่ยง อยากให้รักษาระยะห่างกับลูกหลาน
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศศิโสภิณ ย้ำด้วยว่า แม้จะได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ยังสามารถที่จะติดเชื้อได้ ดังนั้นจึงยังต้องสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่างอยู่ ต่อไปอีกระยะหนึ่งก่อน เพื่อที่จะป้องกันการติดเชื้อ จนกว่าประเทศเราจะมีภูมิคุ้มกันหมู่แล้วเราจะได้ถอดหน้ากากพร้อมกันทั้งประเทศ.
ผู้เขียน : ไอลดา ธนะไพรินทร์
กราฟิก : Sathit Chuephanngam
โฆษณา