18 พ.ค. 2021 เวลา 05:20 • ท่องเที่ยว
Mrauk U 2017 .. The Lost Kingdom of Burma
ฉันเชื่อเสมอมาว่า ชีวิตคนเราไม่ต่างจากการเดินทาง
… วันวาน เรามองโลกในแบบหนึ่ง วันซึ่งอาจจะมีรอยแยกจนไม่อาจเยียวยา … เมื่อวัยเปลี่ยน วันผ่าน เราพบเรื่องราวมากมายบนรอยทาง …
เราเรียนรู้ที่จะโอนอ่อนผ่อนปรน เรียนรู้ที่จะยอมรับความแตกต่างทางความคิด เรียนรู้ที่จะยอมรับความเป็นตัวตนของผู้อื่น … ถึงแม้จะไม่เป็นไปอย่างที่เราต้องการ
ชีวิตก็เหมือนการเดินทาง … ผู้คนประดุจสถานที่ บางทีด้วยความชื่นชม ทำให้เราปรารถนาย้อนเดินทางสู่ทางเดิม ด้วยถวิลถึงความรื่นรมย์เก่าๆ หากแต่ มีอีกหลายครั้งที่เราไม่อยากหวนคืน ด้วยเกรงภาพประทับใจจะแปรเปลี่ยน … การหยุด เพื่อเก็บความทรงจำอันสวยงามไว้ในใจมิใช่สิ่งที่น่าทำ …
แต่สำหรับผู้ที่ออกย่ำรอยไปในบนเส้นทางสายเก่า ไม่ว่าปลายทางจะเป็นเช่นไร .. จะสุขสม โศกเศร้า … ย่อมมีอีกเรื่องราว อีกความหมายหนึ่งที่จะเติมเต็มให้ชีวิตสมบูรณ์ขึ้นในแบบที่เราต้องการ
ฉันย่ำเท้าออกเดินในพม่ามาแล้วหลายครั้ง ... มีทั้งที่แบกเป้ขึ้นรถโดยสารปะปนไปกับชาวบ้านในสมัยที่รถโดยสารยังเป็นรถสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และเดินทางเป็นหมู่คณะ เพื่อไปเยือนเมืองในภูมิภาคต่างๆของประเทศนี้
ภาพจาก Internet
วันหนึ่ง เมื่อหลายปีมาแล้ว … ฉันได้เห็นภาพพระพุทธรูปสีเขียวแปลกตา อันเกิดขึ้นจากการที่มอสที่เข้ามาเกาะพื้นผิวหินทรายที่ชุ่มน้ำฝน ณ วัดแห่งหนึ่งของเมืองที่ฉันได้รู้ว่ามีตัวตนเป็นครั้งแรก นั่นคือ วัด Koe-thaung Temple ในเมือง Mrauk U ประเทศพม่า
2
ความประทับใจในครั้งนั้น ทำให้ฉันเริ่มค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับวัดนี้ และตั้งใจจะเดินทางไปถ่ายภาพ …
เมื่อเริ่มวางแผนการเดินทาง ตั้งใจจะไปแบบ Backpacker เหมือนครั้งก่อนๆ … และวางแผนอยู่ถึง 3 ครั้ง แต่ก็มีเหตุที่ทำให้การเดินทางเป็นไปไม่ได้ หรือไม่เหมาะสม จนกระทั่งครั้งล่าสุดในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมานี้ .. ฉันจึงมีโอกาสได้ก้าวเท้าออกเดินทางจริงๆเสียที
Mrauk U .. จะมีอะไรที่ดึงดูดความสนใจคนที่รักสถานที่ที่เรื่องราว รากเหง้า วิถีชีวิตของผู้คน .. ฉันจำทุกท่านไปเยือน ไปสัมผัส ดินแดนที่ได้ชื่อว่า The lost kingdom of Burma ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปค่ะ
รัฐยะไข่ เป็นหนึ่งในหลายรัฐที่ประกอบขึ้นเป็นประเทศพม่าในปัจจุบัน … ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนเชื้อชาติอาระกันที่นับถือศาสนาพุทธ รองลงมาเป็นชาวมุสลิม ซึ่งชาวมุสลิมนั้นส่วนมากจะอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐติดกับบังกลาเทศ
ชาวโรฮิงญา … เชื่อว่าเป็นชนเผ่าดั้งเดิมในประเทศ แต่จวบจนปัจจุบัน รัฐบาลพม่าก็ยังไม่ยอมรับ และชาวอาระกันก็ไม่ยอมรับว่าชาวโรฮิงญาเป็นชนชาติหนึ่งในรัฐอาระกันเช่นกัน ดังนั้นชาวโรฮิงญานอกจากจะไม่เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย ยังเป็นชนเผ่าที่ไม่มีสิทธิความเป็นพลเมืองในบ้านเกิดของตนเอง
ในช่วงเดือนมิถุนาย 2012 เกิดมีความขัดแย้งระหว่างชาวโรฮิงญา และ อาระกัน … คนเสียชีวิตนับร้อยคน และ บาดเจ็บอีกหลายร้อยคน ในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ รัฐนี้จึงเป็นเขตหวงห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไป หรือหากจะเข้าไป ก็ต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ก่อนจึงจะเดินทางได้
ยะไข่ (Rakhine) เป็นรัฐที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์ติดกับชายฝั่งทะเล อยู่ใกล้กับประเทศบังคลาเทศที่อยู่ค่อนไปทางเหนือ ผู้คนจึงมีความใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าประเทศพม่า …
เหตุผลหนึ่งอาจจะเป็นด้วยอุปสรรคทางธรรมชาติ ... คือการมีเทือกเขาอรกัน โยมา (Arkhine Yoma) ที่ทอดเป็นแนวยาวจากเหนือจรดใต้ เป็นกำแพงฝั่งตะวันออก กั้นเมืองนี้ให้ห่างไกล และเข้าถึงได้ยากจากพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เหลือของประเทศพม่าเอง
หากจะมองในแง่มุมทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และการเมือง …รัฐยะไข่ เป็นที่ตั้งอาณาจักรโบราณ อายุกว่า 2,000 ปี เกิดขึ้นร่วมสมัยพุทธกาล ก่อนการเกิดของอาณาจักรพุกาม อันเป็นอาณาจักรแรกของพม่าเป็นพันปีตั้งแต่ครั้งโบรา
เมื่อครั้งพุทธกาล มีการเกิดและดับวนของดินแดนอันเป็นอาณาจักรยะไข่โบราณ มาแล้วรวมถึง 4 อาณาจักรด้วยกันในหลายยุค คือ
.. อาณาจักร ธัญญาวดี Dhanyawaddy ราว พุทธตวรรษ ที่ 1-8 ยุคนี้ ที่พระเจ้าจันทะสุริยะ ทรงสร้างพระมหามัยมุณี
.. อาณาจักร เวสาลี Vesali ราว พุทธตวรรษ ที่ 8 -13 .. ราชธานีเวสาลีนี้มีกษัตริย์ปกครองต่อเนื่องนับ 20 พระองค์ ในช่วงเวลาคริสตศตวรรษที่ 4 ถึง 8
.. อาณาจักร เลโม Lemro ราว พุทธตวรรษ ที่ 13 -18 และอาณาจักรพุกามเพิ่งเกิดในสมัยนี้
.. อาณาจักร เมียวอู Mrauk U ราวพุทธตวรรษ ที่ 18 -23 ร่วมสมัยกับ อาณาจักรสุโขทัย และอาณาจักรอยุธยา
ความรุ่งเรืองมากที่สุด คงเกิดที่อาณาจักรมรัคอู (Mrauk U) … และเมื่อความเป็นมาเกิดอย่างยาวนาน จึงย่อมจะมีเรื่องราวและความสัมพันธ์เกิดขึ้นมากมายกับเพื่อนบ้าน …
การถ่ายทอดวัฒนธรรม วิถีชีวิต ให้มีการผสมผสานใกล้ชิด รวมถึงสายใยทางกรรมพันธุ์ ในช่วงเวลาที่เส้นสมมุติทางการเมือง อย่างเส้นแบ่งแยกพรมแดนยังไม่เคยมีอย่างชัดเจน … จึงยังคงมีร่องรอย หลักฐานทางกายภาพที่ยังคงมองเห็นได้ย่างชัดเจน แม้กระทั่งทุกวันนี้
เราจึงเห็นผู้คนในเมืองมรัคอู มีรูปร่างเล็กๆ ผิวสีคล้ำ ตาขาว ฟันขาวผมหยิก ออกจะดูแขกๆ แตกต่างจากคนพม่าที่เราเห็นในพื้นที่อื่น
วัดวาอาราม เจดีย์ที่เราเห็นก็เช่นกัน … ดูเหมือนจะได้รับอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมแบบแขกๆมามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากศรีลังกา ซึ่งมีเจดีย์ที่มีฐานทรงกลม รูปทรงโอคว่ำ ไม่เหมือนกับเจดีย์ทรงเหลี่ยมแบบพุกามในพม่า ซึ่งเป็นวัฒนธรรมทางสถาปัตยกรรมแบบพม่าแท้ๆ
สังเขปประวัติศาสตร์ของมรัคอู
ว่ากันว่า … รัฐยะไข่ เป็นที่ตั้งอาณาจักรโบราณ อายุกว่า 2,000 ปี อาณาจักรแรก คือ Dynyawady หรือ ธัญญวดี มีประวัติเก่าแก่ยาวนานมาก ตั้งแต่ 3325 ปีก่อนคริสตกาล (3325 BC) ถึง 327 ปีหลังคริสตกาล (327 AD)
ธัญญวดี เป็นเมืองโบราณซึ่งอยู่ไม่ไกลจาก Mrauk U .. โดยมีตำนานว่าพระเจ้าจันทะสุริยะ (King Sanda Thuriya) ทรงสร้างพระมหามัยมุณี Mahamuni Buddha พระพุทธรูปทองคำคู่บ้านคู่เมืองยะไข่ และเมืองเวสาลี Vesali
จารึกสมัยพระเจ้าอนันทจันทร์ (Anandacandra)ได้บรรยายถึงเมืองธัญญวดีไว้ว่า … เมืองธัญญวดี มีแนวกำแพงและคูกำแพงล้อมรอบตัวกำแพงก่อด้วยอิฐ ภายในเมืองมีคูน้ำที่กว้างถูกถมทับด้วยโคลนและปลูกข้าวตลอดจนพืชต่างๆตลอดแนวภายในสุดเป็นที่ตั้งของพระราชวัง ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 0.26 ตารางกิโลเมตร นอกกำแพงเมืองมีทุ่งหญ้าปิดล้อมอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวป้องกันการจู่โจมจากศัตรู จากจารึกจะเห็นได้ว่าเมืองธัญญวดีเป็นสังคมเมืองที่รับเอาระบบชลประทานจากอินเดียมาใช้ในการเพาะปลูกทำให้กลายเป็นมืองแห่งเกษตรกรรมจนเป็นที่มาของชื่อเมือง ธัญญวดี … “ดินแดนที่มั่งคั่งด้วยพืชพรรณธัญาหาร”
พระมหามัยมุนี … เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เคยอยู่ที่เมืองธัญญวดี เป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณของยะไข่ทั้งแผ่นดิน ด้วยเหตุที่มีประวัติความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับการที่พระพุทธศาสนาได้หยั่งรากลงมาที่นี่อย่างลึกซึ้ง
มีเรื่องเล่าที่เป็นความเชื่อของผู้คนที่เลื่อมใสในพุทธศาสนาว่า … เมื่อครั้งพุทธกาล ยะไข่ เป็นสถานที่สุดท้ายที่พระพุทธองค์เสด็จมาโปรดสัตว์ และเชื่อว่าทรงประทับและอนุญาตให้สร้างพระพุทธรูปที่ปัจจุบัน ที่ชื่อ พระมหามัยมุนี
1
ครั้งหนึ่ง พุทธศาสนาเคยรุ่งเรืองที่สุดมาแล้วที่ ยะไข่ และเชื่อกันว่า ทีนี่เคยมีเจดีย์นับหมื่นเจดีย์ มากกว่าพุกามที่มีเจ็ดพันเจดีย์เสียอีก
เมื่อพระเจ้าประดุงยกทัพมาตี และชนะ ทรงมีบัญชาให้นำพระมหามัยมุนีไปที่มัณฑเลย์ จึงสร้างความรู้สึกให้เกิดกับชาวยะไข่ว่า พม่าปล้น แย่งชิงพระมหามัยมุนี ไป
ความเจ็บแค้นเรื่องนี้มีมากกว่าจะเป็นเรื่องของการสูญเสียดินแดน และกลายเป็นเรื่องที่ฝังใจชาวยะไข่มาจนถึงปัจจุบัน และอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ยากจะสร้างความปรองดอง
ใครบางคนกล่าวว่า … เรื่องราวนี้ ได้มีการต่อยอดออกไปอีกมากมาย และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พม่าต้องตกเป็นอาณานิคมของฝรั่ง จนสุดท้ายคือตกอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษมาอย่างยาวนาน
มรัคอู เมืองศูนย์กลางของพุทธศาสนา
อาณาจักรมรัคอู เริ่มสถาปนาเมื่อปี พศ. 1973 โดยกษัตริย์ มอง ซอ มอน (Mong Saw Mon) คือร่วมสมัยกับอาณาจักรสุโขทัยและอยุธยา .. การสร้างอาณาจักรนี้ขึ้น ก็เพื่อรวบรวมอาณาจักรเล็กน้อยของอารกันให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งในตอนนั้นมีประชาการราว 160,000 คน
ในช่วงที่อาณาจักรมรัคอูรุ่งเรืองถึงขีดสุดนั้น เป็นยุคที่ มรัคอู ไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรใด รวมถึงเป็นอิสระจากเบงกอลและพม่า ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเวลาที่ชาวตะวันตกเริ่มจะเข้ามามีความสัมพันธ์ทางการค้ากับผู้คนในดินแดนนี้ด้วย
ในยุคนี้เอง กษัตริย์ เสนบดี พ่อค้าวาณิชย์และชาวบ้านที่ร่ำรวย ได้สร้างเจดีย์และวัดาอารามขึ้นมากมาย ... วัดและเจดีย์เหล่านี้ แสดงถึงพลังศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างสูงสุด .. ส่งผลให้เมือง มรัคอู มีเจดีย์และวัดที่สวยงามกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งเจดีย์และวัดเหล่านี้ส่วนใหญ่สร้างด้วยหินทราย และแตกต่างจากวัดและเจดีย์ในพุกามที่สร้างด้วยอิฐและโคลน
อาณาจักรมรัคอู มีกษัตริย์ปกครองติดต่อกันมาถึง 47 พระองค์ จวบจนอาณาจักรล่มสลาย และถูกครอบครองโดยชนเผ่าพม่า ในปี พศ. 2327 อันเป็นช่วงเวลาที่เมืองไทยเราเริ่มจะมีการสถาปนากรุงเทพฯขึ้นเป็นเมืองหลวงใหม่
กษัตริย์พม่าที่เข้ามารุกราน ทำศึกจนได้ชัยชนะและครอบครองมรัคอูได้สำเร็จคือ พระเจ้าประดุง แห่งราชวงศ์กองบอง (Konbaung Dynasty) .. ซึ่งการได้รับชัยชนะนี้ ทำให้พม่านำเอาพระมหามัยมุนี กลับไปเป็นของพม่า และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความร้าวฉานเกลียดชัง หยั่งรากลึกในความรู้สึกของชาวยะไข่
ต่อมาปี พ.ศ. 2328 พระเจ้าปดุงได้อัญเชิญพระมหามัยมุนีมาไว้กรุงอังวะ (เมืองหลวงพม่าขณะนั้น ซึ่งอยู่ติดกับเมืองมัณฑะเลย์ในปัจจุบัน) โดยตัดองค์พระเป็น 3 ท่อนเพื่อเคลื่อนย้าย
อาณาจักรมรัคอู ของชาวยะไข่จึงมีอายุรวม 355 ปี … หลังจากอาณาจักรล่มสลายสิ่งก่อสร้างทั้งหลายก็ถูกทำลาย ทิ้งร้าง
ส่วนวัดที่ยังมีการประกอบศสนกิจของชาวบ้านเป็นกิจวัตร ก็ดำเนินกันไปตามกำลังของพระและชาวบ้านที่รวมแรงร่วมใจกัน … ส่วนวัดไหนที่ไม่มีกำลังคนเพียงพอที่จะดูแล ถึงแม้จะมีความสำคัญหรือมีขนาดใหญ่โต สร้างมาอย่างดีเพื่อให้อยู่ทนและยืนงตราบนานเท่านาน แต่สุดท้ายก็จะถูกทิ้งร้าง วัดบางแห่งถูกทิ้งร้างเป็นเวลานานถึงกว่า 150 ปี จนไม่สามารถที่จะทนทานต่อการกัดกร่อนทำลายด้วยพลังธรรมชาติ ทั้งลม ความชื้น และการกัดกร่อนกินเนื้อหินจากรากของพืช การคุกคามจากราและไลเค่น …
วัดและเจดีย์มากมายจึงผุพัง เสื่อมโทรม จนบางแห่งล่มสลายไปอย่างน่าเสียดายมาก
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา