18 พ.ค. 2021 เวลา 07:30 • การเกษตร
UPOV 1991 คืออะไร ความกังวล "เกษตรกร" เมื่อไทยจะเข้า CPTPP
• ความกังวลของ "เกษตรกร" เมื่อไทยจะเข้า CPTPP ที่เป็นเหตุให้ต้องร่วม UPOV 1991 ซึ่งเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิบัตรการสร้างสรรค์ที่มี "แหล่งกำเนิดจากพืช"
• หนึ่งในข้อกังวลของเกษตรกรไทยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) คือ อาจสูญเสียสิทธิ์ในการเข้าถึง "พันธุ์พืช" เชิงพาณิชย์ และความเสี่ยงจากการเปิดเขตการค้าเสรี (FTA)
• UPOV มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชที่มีการพัฒนาขึ้นใหม่ ผ่านสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา
จากมุมมองผลประโยชน์ของ 11 ประเทศสมาชิก CPTPP เมื่อตอนที่แล้ว มาถึงตอนที่ 2 ตามที่เกริ่นไว้ช่วงท้ายว่า เราจะมาถกกันต่อในเรื่องของ UPOV 1991 ที่มีข้อกังวลว่าอาจกระทบต่อ "เกษตรกรรายย่อย" เบื้องต้นนั้นเป็นเช่นไรกันแน่...
UPOV 1991 หรือ "อนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่" เกิดขึ้นโดยสหภาพนานาชาติเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (International Union for the Protection of New Varieties of Plants) ที่มีวัตถุประสงค์ตั้งแต่ต้นว่าจะให้ความคุ้มครองแก่ "พันธุ์พืชใหม่" ที่มีการพัฒนาให้ดีขึ้นจาก "พันธุ์พืชเดิม" เพื่อประโยชน์ของสังคม ผ่านสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา
แน่นอนว่า การที่ "ผู้ปรับปรุงพันธุ์" จะได้รับสิทธิ์ "พันธุ์พืชใหม่" ย่อมต้องผ่านเกณฑ์ที่ UPOV กำหนดไว้ ซึ่งมีด้วยกันหลักๆ 4 ข้อ คือ
1. "พันธุ์พืชใหม่" นั้นต้องมีความแตกต่าง หมายความว่า ต้องไม่เคยวางขายในตลาดภายในประเทศมาก่อนหน้านี้
2. "พันธุ์พืชใหม่" นั้นต้องมีความแตกต่างอย่างชัดเจนจากพันธุ์อื่นๆ ที่มีอยู่เดิม
3. "พืช" นั้นต้องแสดง "ภาวะเอกพันธุ์" หรือความเป็นแบบเดียวกัน
4. "พันธุ์พืชใหม่" นั้นคุณสมบัติเฉพาะต้องไม่เปลี่ยนแปลง หลังเข้าสู่วงจรการขยายพันธุ์ซ้ำๆ
โดยภายใต้อนุสัญญา UPOV นั้น "พืชเศรษฐกิจ" ที่มีการดัดแปลงพันธุกรรมจะได้รับสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาไม่ต่างจากพันธุ์พืชท้องถิ่นดั้งเดิม เพื่อใช้ในการคุ้มครองพันธุ์พืชสำหรับการทำเกษตรและการวิจัย
ทีนี้ UPOV 1991 ที่มีวัตถุประสงค์ทางบวก กลับกลายมาเป็น "ข้อกังวล" ของ "เกษตรกร" ในหลายๆ ประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ "ไทย" เพราะมีข้อกำหนดว่า หาก "รัฐบาล" สามารถผลักดันจนเป็น 1 ในสมาชิก CPTPP หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ได้สำเร็จในที่สุด ก็ต้องเข้าร่วม UPOV 1991 เช่นเดียวกับสมาชิกรายอื่นๆ
• "ข้อกังวล" ที่มีต่อ UPOV 1991 มีอะไรบ้าง?
จากเอกสารบทบาทของ "รัฐสภา" กรณีข้อพิพาท CPTPP มีการเสนอให้พิจารณา "ผลกระทบเชิงลบ" ต่อเกษตรกรและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME)
ในภาคเกษตรกรรม ที่อาจมีความเสี่ยงสูงว่า ไทยจะเสียเปรียบจากการเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) และสิทธิ์การเข้าถึง "พันธุ์พืช" เชิงพาณิชย์ จากการเข้าร่วม UPOV 1991 ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ภาคเกษตรกรรมไทยยังไม่มีความพร้อมมากพอ
ขณะเดียวกัน ในแวดวงวิชาการและสาธารณะก็กำลังเกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวางว่า UPOV 1991 ที่ว่านี้ จริงๆ แล้วส่งผลกระทบเชิงลบต่อเกษตรกรรมใน "ประเทศกำลังพัฒนา" หรือไม่? และใช่... ไทยก็อยู่ในกลุ่มนั้น
ข้อคิดเห็นหนึ่งในวงวิชาการต่างประเทศ อ้างว่า การจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชของ UPOV 1991 ได้สร้างความเจ็บปวดให้กับบรรดาเกษตรกร ที่จะถูกห้ามใช้ "เมล็ดพันธุ์" ที่ถูกสงวนไว้ หรือได้รับการคุ้มครองพันธุ์พืช ดีไม่ดีจากประเทศกำลังพัฒนา พอถึงจุดหนึ่งอาจกลายเป็นว่าขัดขวางการพัฒนา
เมื่อแยก "ข้อกังวล" เป็น 2 ข้อใหญ่ ไล่เรียงได้ดังนี้
1. ผลผลิตจะเป็นของ "ผู้ปรับปรุงพันธุ์พืช"
กล่าวคือ UPOV 1991 จะให้เอกสิทธิ์แก่ผู้ปรับปรุงพันธุ์พืช หากเกษตรกรหว่าน "เมล็ดพันธุ์พืช" ที่ได้รับการคุ้มครองลงในพื้นที่ของตน โดยไม่จ่ายค่าตอบแทนการอนุญาตใช้สิทธิ์ ทางผู้ปรับปรุงพันธุ์พืชสามารถอ้างกรรมสิทธิ์ของผลผลิตและผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากผลผลิตได้
2. การเพาะพันธุ์พืชจะถูก "ควบคุม" มากขึ้น
กล่าวคือ การทำวิจัย "รูปแบบพันธุกรรม" หรือการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ของ "พันธุ์พืชใหม่" จะไม่มีการพิจารณาใหม่ พิจารณาโดยพื้นฐานการกำเนิดจากพันธุ์พืช หมายความว่า "กรรมสิทธิ์" จะเป็นของผู้ปรับปรุงพันธุ์รายแรก โดยชี้ว่า เอกสิทธิ์เมล็ดพันธุ์พืชนั้นจะมีระยะเวลานานถึง 20-25 ปี ห้ามใครผลิต, ทำซ้ำ, ขายหรือแลกเปลี่ยนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ปรับปรุงพันธุ์
จากทั้งหมดนั้นจึงเกิด "ข้อกังวล" ว่า อาจกลายเป็น "การผูกขาด" ของบริษัทเอกชนรายใหญ่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรืออย่างเลวร้ายที่สุด คือ "พันธุ์พืช" ท้องถิ่นถูกต่างชาตินำไปจดสิทธิบัตร
ในทางกลับกัน ก็มีข้อคิดเห็นเชิงบวกต่อ UPOV 1991 ที่มองว่า "การคุ้มครองพันธุ์พืชมีความจำเป็น" โดยเชื่อว่า การเข้าร่วม UPOV 1991 จะทำให้ "ประเทศกำลังพัฒนา" สามารถเข้าถึงพันธุ์พืชใหม่ๆ และปรับปรุงพันธุ์พืชได้มากขึ้น
แทนที่จะพึ่งพาพันธุ์พืชดั้งเดิม หรือพันธุ์พืชพื้นเมืองอย่างเดียว อีกทั้งยังช่วยต่อสู้กับ "ความยากจน" และป้อนอาหารให้กับประชากรโลกที่กำลังเติบโต
คำถาม คือ หากไทยเข้าร่วม UPOV 1991 เกษตรกรไทยจะใช้ "พันธุ์พืชดั้งเดิม" ที่เคยใช้ได้ต่อหรือไม่?
ต่อข้อคำถามนี้ สรุปคำตอบสั้นๆ ได้ว่า UPOV 1991 ให้ความคุ้มครองในส่วน "พันธุ์พืชใหม่" หมายถึงว่าจะให้ความคุ้มครองเฉพาะพันธุ์พืชที่มีการพัฒนาหรือปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น พันธุ์พืชดั้งเดิม พันธุ์พื้นเมือง หรือพันธุ์พืชท้องถิ่น ยังคงสามารถนำไปทำเกษตรกรรมได้ตามปกติ
"UPOV 1991 อนุญาตให้ใช้พันธุ์พืชเดิมได้ หากพึงพอใจที่จะใช้พันธุ์พืชเดิม แต่พันธุ์พืชใหม่ที่มีการพัฒนาแล้ว เอาไปใช้ไม่ได้ หากอยากใช้ต้องจ่ายค่าตอบแทนอนุญาตการใช้สิทธิ์ให้กับผู้พัฒนา"
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดภายใน UPOV 1991 ก็อาจมีความแตกต่างกันไปเฉพาะประเทศนั้นๆ ซึ่ง "ข้อยกเว้น" ก็ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจา อย่าง "เวียดนาม" ที่หากไม่นำไปขายต่อ หรือทำการวิจัย ก็อนุญาตให้ใช้ได้ หรือกรณี "เกาหลีใต้" ที่แม้ไม่ได้อยู่ใน CPTPP แต่เข้าร่วม UPOV 1991 ด้วย ก็มีข้อยกเว้นของ "ผู้ปรับปรุงพันธุ์" เช่นกัน
ดังตัวอย่าง การคุ้มครอง "พันธุ์กุหลาบ" ที่ถูกพัฒนาหรือปรับปรุงให้ดีขึ้นโดยต่างชาติ อนุญาตให้เกษตรกรชาวเกาหลีใต้ใช้ได้
เพื่อวัตถุประสงค์เพิ่มปริมาณการเพาะปลูก จึงเห็นได้ว่า ภาคการเพาะพันธุ์กุหลาบของเกาหลีใต้เข้มแข็งมาก จากจำนวนผู้ปรับปรุงพันธุ์กุหลาบที่มากขึ้น และการเพิ่มขึ้นของ "พันธุกรรมกุหลาบ" ที่เป็นผลจากพันธุ์กุหลาบของต่างชาติ
ดังนั้น ถ้าไทยจะเข้าเป็น 1 ในสมาชิก CPTPP ในส่วน UPOV 1991 ก็ยังมี "ช่อง" ให้เจรจาข้อยกเว้นตามสมควรที่ "เกษตรกร" ภายในประเทศจะได้ประโยชน์สูงสุด และถึงแม้ว่าจะไม่เข้า CPTPP การหยิบประเด็น "พันธุ์พืชใหม่" มาใช้ปรับปรุงพันธุ์พืชของไทยก็เป็นสิ่งที่ควรทำ
สำหรับกรณีที่ว่า การเข้า UPOV 1991 จะทำให้ "ต้นทุน" เกษตรกรสูงขึ้นหรือไม่นั้น
นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่า "ใคร" เป็น "ตัวนำ" ในการทำหน้าที่ปรับปรุงพันธุ์พืช ซึ่งหาก "ภาครัฐ" เป็นตัวนำ แล้วส่งต่อเอกชนและเกษตรกร ลักษณะนี้ก็อาจทำให้ต้นทุนเมล็ดพันธุ์หรือพันธุ์พืชไม่สูงมากนัก
ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องขอย้ำว่า การจะขอเข้าร่วม CPTPP ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ นึกอยากจะเข้าก็เข้า เพราะต้องผ่านขั้นตอนการแสดงเจตจำนงและการเจรจาเงื่อนไขต่างๆ
ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ "ไทย" ที่พิจารณาผลประโยชน์ ข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบ แต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น ทางฝ่ายสมาชิกเดิมของ CPTPP เองก็ต้องพิจารณาและลงความเห็นในส่วน "ข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบ" ที่เป็นผลจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของไทยด้วยเช่นกัน.
ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Sriwan Singha
👇อ่านบทความเพิ่มเติม👇
โฆษณา