18 พ.ค. 2021 เวลา 12:19 • การศึกษา
การกำหนดราคาโอน (Transfer Pricing) >>>
" ตย.ความสัมพันธ์"
การกำหนดราคาโอน (Transfer Pricing) คืออะไร?
Transfer Pricing คือ การที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันทำธุรกรรมระหว่างกันแตกต่างจากที่ควรกำหนดหากเป็นคู่ค้าอิสระ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดราคาซื้อขายสินค้า หรือ การให้บริการระหว่างกัน อันอาจเป็นการถ่ายโอนกำไรระหว่างกัน
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกัน การถ่ายโอนกำไร ระหว่างนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน กรมสรรพากรจึงได้กำหนดแนวทางให้นิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน ต้อง (1)มีการแจ้งรายการและธุรกรรมระหว่างกัน ด้วย Disclosure Form และ (2) กำหนดวิธีการคิดราคาระหว่างกัน (วิธีที่สรรพากรยอมรับได้)
บทความนี้จะขอกล่าวถึงลักษณะของนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (ตามที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร)
ตามมาตรา 71 ทวิ วรรคสอง ได้กำหนดนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันไว้ดังนี้
(1) นิติบุคคลหนึ่งถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในอีกนิติบุคคลหนึ่งไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนทั้งหมด
(2) ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งได้ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในนิติบุคคลหนึ่งไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนทั้งหมด
(3) นิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันในด้านทุน การจัดการ หรือการควบคุมในลักษณะที่นิติบุคคลหนึ่งไม่อาจดำเนินการโดยอิสระจากอีกนิติบุคคลหนึ่งตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง (ปัจจุบันยังไม่มีกฎกระทรวงออกมา)
ตามแผนภาพ เป็นตัวอย่างที่จะนำมาใช้ในการอธิบายถึง ความสัมพันธ์ตามข้อ (1) ดังนี้
1. นิติบุคคล A ถือว่ามีความสัมพันธ์โดยทางตรงกับนิติบุคคล B และ C เพราะถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 คือ A ถือหุ้นใน B 95% และ C 95%
2. นิติบุคคล A ถือว่ามีความสัมพันธ์กับนิติบุคคล E ทางอ้อม เพราะถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 โดยถือผ่านนิติบุคคล B เท่ากับ A ถือหุ้นใน E 85.5% (90*95%)
3. นิติบุคคล A ไม่ถือว่ามีความสัมพันธ์ทางอ้อม กับนิติบุคคล D เพราะถือหุ้นทางอ้อม น้อยกว่าร้อยละ 50 เพราะถืออยู่แค่ 47.5% (50*95%)
และตามภาพ เป็นตัวอย่างที่สามารถอธิบายถึงความสัมพันธ์ตามข้อ (2) ได้เช่นกัน คือ
1. นิติบุคคล B และ นิติบุคคล C ถือว่ามีความสัมพันธ์กันทางตรง โดยผ่าน ผู้ถือหุ้นนิติบุคคล A (A ถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ใน B และ C นิติบุคคลละ 95%)
2. นิติบุคคล C และนิติบุคคล E ถือว่ามีความสัมพันธ์ กันทางอ้อม โดยผ่าน ผู้ถือหุ้นนิติบุคคล A (A ถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ใน C และ E โดยถือใน C 95% และ E 85.5%)
ดังนั้น ในการแจ้ง Disclosure Form จะเป็นดังนี้
1. นิติบุคคล A แจ้งความสัมพันธ์ ว่ามีกับ B C และ E
2. นิติบุคคล B แจ้งความสัมพันธ์ ว่ามีกับ A C และ E
3. นิติบุคคล C แจ้งความสัมพันธ์ ว่ามีกับ A B E และ D
4. นิติบุคคล D แจ้งความสัมพันธ์ ว่ามีกับ C
5. นิติบุคคล E แจ้งความสัมพันธ์ ว่ามีกับ A B แล C
ทั้งนี้ การแจ้งความสัมพันธ์ นอกจากดูการถือหุ้นแล้วยังต้องดูรายได้ของนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์ด้วยว่าไม่น้อยกว่า 200 ล้านหรือไม่ (เฉพาะนิติบุคคลที่มีรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการในรอบระยะเวลาบัญชี ไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาทเท่านั้นที่ต้องแจ้ง Disclosure Form)
(การยื่น Disclosure Form ต้องยื่นภายในกำหนดเวลาเดียวกันกับการยื่นแบบภงด.50)
หลังจากการยื่น Disclosure Form แล้ว นักบัญชี ยังต้องมีหน้าที่จัดเตรียมเอกสาร หลักฐาน วิธีการกำหนดราคาโอน ไว้สำหรับให้เจ้าพนักงานสรรพากรเข้ามาตรวจสอบด้วยนะคะ
แล้วครั้งหน้า มาพบกับ วิธีการกำหนดราคาโอนกันค่ะ
บทความนี้ลงที่แรกคือ เพจ สยามลอว์
#ที่ปรึกษาภาษี #สยามลอว์ #SIAMLAW
เพจ และ Photo by VI Style by MooDuang
โฆษณา