20 พ.ค. 2021 เวลา 22:22 • ท่องเที่ยว
Mystical Marauk U .. Koe-thaung Temple วัดพระพุทธรูปเก้าหมื่นองค์
วันนี้เราจะพาทุกท่านไปไหว้พระ ณ วัดแห่งหนึ่งที่สำคัญ และใหญ่โตที่สุดใน มรัคอู
เราเดินทางจากที่พัก ผ่านบ้านเรือที่สร้างด้วยไม้ไผ่อย่างง่ายๆของชาวบ้าน เรือกสวน ไร่นา … แต่พอมาได้สักพัก สิ่งก่อสร้างใหญ่โตที่ในแว๊บแรกทีเห็น ฉันอดนึกถึง พีรามิดที่เกาะแกร์ เชมร .. บุโรพุทโธ ที่อินโดนีเซีย หรือแม้แต่นครวัด นครธม ของเขมร ไม่ได้
Koe-thaung Temple ตั้งอยู่โดดเด่นเป็นสง่าท่ามกลางผืนนา ... มองไกลๆ เห็นเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ ทอดตัวยาวขนานกับผืนนา มีเจดีย์เล็กๆนับร้อยๆองค์เรียงเข้าแถวลดหลั่นกันอยู่ใน 5 ชั้นรอบๆชั้นแรกของสิ่งก่อสร้าง คล้ายกับอัฐจันทน์ในสนามกีฬา
ใครบางคนบอกว่า ก่อนที่จะเริ่มมีการบูรณะ วัดแห่งนี้มีสภาพที่ไม่ต่างกับเนินเขาธรรมดาๆที่มีต้นไม้ใบหญ้าขึ้นปกคลุมจนมิด ... เหมือนตั้งใจจะซ่อนสิ่งล้ำค่าเบื้องล่างให้หลับใหลชั่วนิรันดร์
เรื่องราวความเป็นมาของวัดแห่งนี้มีไม่มาก แต่ได้รับการยอมรับว่า เป็นวัดที่เมื่อใครมาถึง มรัคอู แล้วต้องไม่พลาดที่จะไปเดินชม
อาณาจักรมรัคอูนั้นมียุคที่รุ่งเรืองสุดๆ และไม่ตกเป็นเมืองขึ้นแก่ใครในช่วงยุคสมัยของ กษัตริย์มินบิน และกษัตริย์มินไตรกา
วัดโกตองพญาหรือวัดพระเก้าหมื่น (ว่ากันว่ามีพระพุทธรูปในนี้ถึงเก้าหมื่นองค์) เป็นวัดที่กษัตริย์มินไตรกา (King MintaiKKha) หวังที่จะสร้างให้ยิ่งใหญ่กว่าวัดแปดหมื่นของกษัตริย์ มินบิน (King Minbin) ซึ่งเป็นพระราชบิดา และเพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย
วัดโกตอง … เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดใน มรัคอู เป็นวัดที่สร้างเพื่อเป็นวัดประจำรัชกาลของพระเจ้า มินไตรกา (MinTaikkha) โอรสของพระเจ้า มง บา จี (Mong Ba Gree) หรือกษัตริย์ มินบิน ผู้เกียงไกร และเป็นผู้สร้าง Shite Thoung Temple
พระเจ้า มง เทียกกา ครองราชย์ในระยะเวลาสั้นๆเพียง 2 ปีกว่า คือราว พศ. 2096-2098 ซึ่งทำให้สัณนิษฐานว่าเจดีย์แห่งนี้คงเริ่มสร้างเมื่อต้นรัชกาล คือ พศ. 2096
สาเหตุที่มีการสร้างวัดที่ใหญ่โตอลังการขนาดนี้ เป็นเพียงเพราะพระองค์ต้องการจะมีความยิ่งใหญ่เหนือพระราชบิดาที่ มีสมัญญานาม มหาราช และสร้างวัด Shite Thoung Temple หรือวัด 80,000 พระพุทธรูป …
พระเจ้า มินไตรกา จึงจงใจที่จะสร้างวัดวัดโกตอง ให้มีพระพุทธรูปมากกว่าที่พระบิดาสร้าง โดยกำหนดให้มีพระพุทธรูปที่นี่ 90,000 องค์ มากกว่าที่พระบิดาสร้าง และเรียกวัดแห่งนี้ว่า “วัดพระ 90,000 องค์” … และมีคำเรียกวัดทั้งสองเพื่อให้เห็นเอกลักษณ์ของพ่อลูกว่า “พ่อสร้าง 80,000 ลูกสร้าง 90,000”
อย่างไรก็ตาม พระเจ้า มินไตรกา มีพระชนม์มายุไม่ยาวนานพอที่จะสร้างวัดให้เสร็จสมบูรณ์ พระองค์สวรรคตไปก่อน คงเหลือเพียงมรดกที่พระอค์ทิ้งไว้ให้ชาวโลกได้ชมในปัจจุบัน …
เมื่อเดินชมรอบๆบริเวณวัด จะยังคงมีร่องรอยของความไม่สมบูรณ์ปรากฏให้เห็น
ว่ากันว่า ... ความใหญ่โตอลังการ ที่เหมือนจะเป็นดัชนีชี้ถึงแสนยานุภาพ ความทะเยอทะยาน .. ในแต่ละชนเผ่ามีแรงจูงใจที่อาจจะแตกต่างกัน
อาจจะมีใครสงสัยว่าทำไมกษัตริย์ขอม และชาวพม่าโบราณ จึงสร้างศาสนสถานที่ใหญ่โตมโหฬารขนาดนี้ …
คำตอบ คือ ... ไม่มีใครรู้จริงๆหรอกค่ะ
แต่น่าสนใจที่จะมาลองมองดูผ่านสายตานักศิลปะชั้นครูอย่างอาจารย์ศิลป์ พีระศรี่ ที่ท่านได้กล่าวไว้เมื่อครั้งที่ไปเยือนปราสาทเขาพระวิหารว่า ..
“การก่อสร้างเทวสถาน คือความทะเยอทะยานสูงสุดที่จะแสดงถึงความจงรักภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชาวตะวันออก ...
... หินแต่ละก้อนที่ก่อตั้งขึ้นไป ประติมากรรมแต่ละรูปที่สลักขึ้นนั้น เพื่อการตบแต่งศาสนสถานเหล่านี้ นับเป็นการแสดงความศรัทธาสูงสุดทางศาสนา ณ ที่นี่ ธรรมชาติ ศาสนา และศิลปะ ได้รวมเข้าเป็นหน่วยเดียวกับทางจิต ที่ประทับใจลึกซึ่งไม่อาจลืมเลือน”
ภาพแรกของศาสนสถานแห่ง มรัคอู ที่เปิดสู่สายตาของเราครั้งแรก คือ สิ่งก่อสร้างสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดใหญ่มาก เหมือนปิรามิดยอดตัด ทอดตัวยาวขนานกับพื้นดิน มีเจดีย์ขนาดเล็กมากมายหลายร้อยองค์ตั้งเป็นแถว เป็นแนว 5 ชั้นลดหลั่นกันลงมา 3 ด้าน ส่วนด้านที่สี่ไม่มีเจดีย์ปรากฏให้เห็น ซึ่งน่าจะเป็นเพราะยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์
แต่ละด้านของกรอบสี่เหลี่ยมจตุรัสของชั้นแรกยาวถึงด้านละ 77 เมตร … ช่วงที่ฉันยืนในระยะใกล้ แล้วแหงนหน้าขึ้นไป รู้สึกเหมือนเป็นคนแคระ และไม่สามารถมองเห็นยอดเจดีย์ประธานด้านในได้
ฉันยืนถ่ายภาพ และพิจารณาสถาปัตยกรรมของวัดแห่งนี้ และมีความเห็นส่วนตัวว่า วัดแห่งนี้มีส่วนเหมือนกันมากกับปราสาทในกลุ่มของนครวัด
วัดแห่งนี้ มีส่วนประกอบด้วยโครงสร้างหลักที่เด่นๆของสถาปัตยกรรมขอม 2 ส่วน ... คือส่วนที่เหมือนปิรามิดปราสาทและระเบียงคตที่เชื่อมติดกัน ในส่วนของปรางค์ปราสาทนั้น ตั้งอยู่บนฐานยกระดับสูงขนาดใหญ่
แต่อย่างไรก็ตาม อาจจะมีส่วนที่แตกต่างอยู่บ้างที่ ปราสาทนครวัดนั้น แต่ละชั้นแบ่งสัดส่วนด้วยระเบียงคต มีโคปุระอยู่ทั้ง 4 ทิศหลัก และศาลาที่มุมทั้งสี่มุม หรือปราสาทบริวารล้อมรอบองค์ปราสาทประธาน อันเป็นที่อยู่ของทวยเทพ และเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ตามคติความเชื่อของศาสนาฮินดู
นครวัด จึงเป็นปราสาทที่จำลองแผนภูมิตามหลักจักรวาลวิทยาของฮินดูได้อย่างถูกต้องชัดเจนที่สุด ระเบียงคดชั้นบนสุดถือเป็นที่ประทับของเทพ สมัยโบราณผู้ที่จะขึ้นมาชั้นนี้ได้มีเฉพาะกษัตริย์และนักบวชสูงศักดิ์เท่านั้น และเป็นบริเวณที่ทำพิธีสถาปนากษัตริย์ขึ้นเป็นเทพด้วย
ส่วนวัดโกตองแห่งนี้ ส่วนที่เป็นระเบียงคดกลับอยู่ใต้ฐาน เป็นอุโมงค์อยู่ทั้งสี่ด้าน … จะมีความเชื่อคล้ายกับฮินดูหรือไม่ ฉันไม่อาจจะบอกได้ ซึ่งฉันจะนำไปชมต่อไป และอยากให้ทุกท่านลองคิดถึงความต่างหรือความเชื่อมโยงกันด้วยค่ะ
ทางขึ้นสู่ลานด้านบน เป็นบันไดหินตรงกึ่งกลางของฐานด้านหน้า ที่ถูกเจาะไว้เป็นช่อง
ณ จุดนี้ เราจะมองเห็นเจดีย์ประธานได้ชัดเจนบางส่วน แต่ยังไม่สามารถเห็นเจดีย์ได้ทั้งองค์ ต้องขึ้นบันไดไปอีกระดับหนึ่ง
ณ ลานหน้าบันไดที่จะนำไปสู่ระดับอันเป็นที่ตั้งของเจดีย์ ... สามารถมองเห็นเจดีย์ประธานซึ่งอยู่ในระดับบนขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
ท่ามกลางแดดแสนจะร้อนบนลานในวันที่เราไปเยือน ... มีแม่ชีนำสิ่งของมาวางขาย รวมถึงมีพระภิกษุวางบาตรเพื่อรับปัจจัยที่อาจจะมีคนใจบุญบริจาค
ส่วนที่เป็นไฮไลท์ และน่าเข้าไปชมและค้นหาของวัดแห่งนี้ไม่ใช่เจดีย์ประธาน …หากแต่เป็นวิหารขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนลานชั้นแรก สร้างด้วยหินทรายและเชื่อมประสานด้วยซีเมนต์
วิหารของวัดแห่งนี้ไม่มีรูปลักษณ์ในแบบอาคาร หากแต่เหมือนอุโมงค์หรือถ้ำ ทางเข้าสำคัญมี 2 ทางซ้ายขวา .. ด้านหน้าทางเข้าแต่ละด้านมีพระพุทธรูปหินทรายที่มีพุทธลักกษณะสวยงามมาก ประทับนั่งบนบัลลังก์
เรากราบพระพุทธรูปหน้าอุโมงค์ เพื่อความสวัสดี และเป็นมงคล ... ก่อนจะก้าวเท้าเข้าไปชมสิ่งที่ซ่อนอยู่ด้านในอุโมงค์
เมื่อเดินผ่านเข้าไปในอุโมงก์ สิ่งที่ปรากฏในสายตา ทำเอาฉันตื่นตลึงอยู่พักใหญ่ .. พระพุทธรูปหินทรายองค์ใหญ่ประดิษฐานเรียงรายอยู่เป็นระยะๆตลอดทางเดิน ... ในขณะที่บนผนังของวิหารเบื้องหลังองค์พระ และตลอดแนวกำแพง มีพระพุทธรูปแกะสลักนูนต่ำขนาดเล็กอยู่บนผนัง จำนวนพระพุทธรูปที่มองด้วยตานั้นมากมาย จนไม่อาจนับว่าครบ 90,000 องค์หรือไม่
เมื่อเดินลึกเข้าไปด้านใน มีพระพุทธรูปองค์เล็ก องค์ใหญ่เช่นเดียวกันอยู่เรียงรายตลอดแนว ... แสงเที่สะท้อนมาจากซอกหลืบ และช่องที่เจาะเอาไว้ ก่อให้เกิดแสงเงา ทาทาบพระพุทธรูปให้ดูขรึมขลัง บางช่วงมลังเมลือง สะท้อนความเคารพ ศรัทธาที่สูงส่งของผู้สร้าง
สิ่งที่ฉันชื่นชมมาก คือ การออกแบบให้อุโมงค์ไม่ทึบอับแสง มีการเจาะช่องให้แสงจากด้านนอกส่องเข้ามาภายในได้เป็นระยะๆ รวมถึงเป็นการระบายอากาศ และให้มีการหมุนเวียนอากาศได้อย่างดี การวางผังของถ้ำนั้นจึงนับว่าสุดยอดมาก
ช่วงกลางของอุโมงค์มีการเจาะช่องบันไดให้เป็นทางเดินขึ้นสู่ลานชั้นบน ไปยังส่วนของเจดีย์ประธาน … ผนังตรงทางขึ้นจะมีรูปสลักของทวารบาลเฝ้าอยู่ทุกช่อง รูปร่างเหมือยักษ์ตามคติความเชื่อของฮินดู มีทั้งยักษา และยักษี คล้ายๆกับที่เราเห็นทั่วไปในวัดที่บาหลี แค่ไม่มีผ้าลายตารางห่อหุ้มไว้
ระพุทธรูปในโถงอุดมงค์ มีมากมาย ส่วนใหญ่ประทับนั่งบนบัลลังก์ .. ความงดงาม และมากมายของจำนวนพระพุทธรูป สะกดให้คนที่มาเยือนประทับใจ รวมทั้งพวกเราที่ตั้งใจเก็บความทรงจำคราวนี้ไว้ ให้ไหลช้าๆผ่านเลนส์กล้อง
บางช่วงของช่องทางเดินใต้ดิน มีรูปลักษณ์ที่เหมือนกับอุโมงค์ที่เราเดินผ่านมาแล้ว เพียงแต่ไม่มีส่วนของหลังคา …
ฉันเข้าใจว่า ... ครั้งหนึ่งส่วนนี้ ก็คงมีหลังคาที่สมบูรณ์เหมือนส่วนอื่นๆ แต่ด้วยความชื้นและการกัดกร่อนจากรากของพืช รา และไลเค่น .. หลังคาจึงถล่มไปแล้วตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้
ส่วนที่เปิดโล่งนี้ ในช่วงหน้าฝน ผนังกำแพงและพระพุทธรูปจะมีมอสสีเขียวมาเกาะ ก่อให้เกิดความงดงามที่แปลกตาไปอีกแบบหนึ่ง … และเป็นแรงบันดาลใจให้ฉันอยากจะเดินทางมาที่นี่เมื่อหลายปีที่ผ่านมา
ที่นี่เป็นโบราณสถานที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในโลกจริงๆ .. งามกว่าที่บุโรพุทโธ ในสายตาของฉันด้วยค่ะ
อุโมงค์ในส่วนของวิหารไม่ได้มีแค่ชั้นเดียวนะคะ … วัดแห่งนี้ ยังมีช่องบันไดที่นำมาสู่อีกชั้นหนึ่ง ซ้อนกับอุโมงคฺทึบด้านล่าง
ด้านบน เป็นส่วนที่เปิดโล่ง รับแสงแดดและสายลมอย่างเต็มที่ และมีพระพุทธรูปองค์เล็กเป็นแบบลอยองค์ประดิษฐานอยู่ที่นี่เป็นแนวโค้งวงกลามตามรูปของเค้าโครงสถานที่หลัก บางส่วนยังมีร่องรอยของการบูรณะไม่สมบูรณ์นักค่ะ
จากบันไดทางขึ้นสู่เจดีย์ด้านบน จะมีศาลาสร้างขึ้นไว้พักแดด มีพระพุทธรูปไว้ให้สักการะ ... ฉันเข้าไปไหว้พระ และอธิษฐานขอให้ศาสนสถานแห่งนี้คงทน เป็นมรดกของชาวโลกตราบนานเท่านาน
วัดของชาว มรัคอู … แม้จะผ่านกาลเวลามาหลายร้อยปี ก็ยังเปี่ยมไปด้วยความลี้ลับ ให้ผู้คนตั้งคำถามทุกครั้งที่เหลียวมอง และคำถามแรกๆที่หลายคนมักพูดออกมาก็คือ ..
... พวกเขาสร้างวัดที่เหมือนมหาปราสาทขนาดใหญ่ วางหินก้อนโตๆสร้างเป็นกำแพง พร้อมแกะสลักเรื่องราวบนหินหลายพันก้อนนี้ได้อย่างไรกันด้วยฝีมือของมนุษย์เมื่อหลายร้อยปีก่อน ในยุคสมัยที่ไม่มีเครื่องทุ่นแรงและเครื่องไม้ เครื่องมือที่ทันสมัยไฮเทคเหมือนปัจจุบัน
แต่ฉันเชื่อว่า .. มนุษย์ยุคนั้นมีสิ่งยิ่งใหญ่สูงสุด ที่มนุษย์ยุคนี้ไม่มี นั่นคือพลังแห่งศรัทธาอันยิ่งใหญ่ ที่ก่อให้เกิดสิ่งมหัศจรรย์เช่นนี้ .. แต่จะเสียชีวิต เลือดเนื้อมากมายแค่ไหน ก็สุดจะคาดเดา
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา