23 พ.ค. 2021 เวลา 08:50 • ท่องเที่ยว
Mystical Mrauk U .. The Shai-thaung Temple วัดพระพุทธรูปแปดหมื่นองค์
วัด หรือเจดีย์ในมรัคอู มีขนาดใหญ่โต … และยิ่งเป็นวัดที่มีความสำคัญมากเท่าไหร่ ก็ดูเหมือนขนาดจะใหญ่โตมากขึ้นเท่านั้น
ส่วนใหญ่วัดจะมีเจดีย์ประธาน รวมถึงจะมีเจดีย์บริวารประกอบเจดีย์ประธานมากมายหลายสิบองค์ หรือในบางกรณีนับร้อยๆองค์ วางรูปแบบประหนึ่งป้อมปราการ
วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างมักจะเป็นหินทราย เพื่อให้มีความคงทน แข็งแรงต่อสภาพดินฟ้าอากาศ และมรสุมที่เป็นพลังธรรมชาติที่มากระทบอยู่ชั่วนาตาปี โดยมีซีเมนต์เป็นตัวประสาน ซึ่งแตกต่างจากเจดีย์หินทรายของเขมรที่สร้างด้วยการเรียงหินแบบการต่อจิ๊กซอร์ โดยไม่มีตัวเชื่อมประสาน
กษัตริย์ที่สร้างวัดหรือเจดีย์ที่ มรัคอู ล้วนสร้างเพื่อเป็นพุทธบูชา ... รวมถึงเป็นการประกาศความเกียงไกรและแสนยานุภาพแห่งตนลินแดนอาณาจักร … ขนาดความใหญ่โต จึงอาจจะหมายรวมถึงพลังศรัทธาของผู้คนในอาณาจักรนี้ด้วย
สิทธิ์ตวง พญา สร้างในปี พศ. 2079 ในรัชสมัยของพระเจ้า มง บา จี (King Min Ba Gyi) หรืออีกพระนามคือ King Thiri Thuriya Sandar Maha Dhamma Raza กษัตริย์องค์ที่ 13 ของอาณาจักร มรัคอู ซึ่งเป็นยุคที่ มรัคอู เจริญรุ่งเรืองที่สุด
ก่อนรัชสมัยของพระเจ้ามินบิน ... ยะไข่เป็นอาณาจักรที่อยู่ใต้ร่มเงาของแคว้นเบงกอลมาตลอด จนกระทั่งมาถึงยุคของพระองค์ ยะไข่ก็เป็นอิสระจากการเป็นเมืองขึ้น
ความเก่งกาจของพระเจ้ามินบินนั้น ถึงขนาดว่าสามารถเป็นอิสระจากเบงกอล และการรุกรานจากพม่า ชาวตะวันตกเริ่มเข้ามาค้าขายกับยะไข่ ...พระเจ้ามินบินจัดให้มีกองทหารรับจ้างโปร์ตุเกส ในบางครั้งกองกำลังผสมของยะไข่ และโปร์ตุเกส ได้บุกรุกเข้าไปจนถึงลุ่มน้ำคงคา
กษัตริย์พระองค์นี้ได้ทำนุบำรุงพระศาสนาในยะไข่จนรุ่งเรือง .. วัดนี้ได้รับการขนานนามว่า Rakine Borobudur ค่ะ เพราะว่าสร้างเลียนแบบสถาปัตยกรรมของสถูปบุโรพุธโธในประเทศอินโดนีเซีย
วัตถุประสงค์ของการสร้างวัดนี้นอกจากจะเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองที่สามารถมีชัยเหนือ 12 แคว้นในอาณาจักรเบงกอล.. และสามารถกำราบพวกโปรตุเกส ที่พยายามเข้ามารุกรานต่ออาณาจักร … ด้วยเหตุนี้ วัดนี้จึงมีอีกชื่ออหนึ่งว่า Ranaung Zeya “เจดีย์แห่งชัยชนะ” (Temple of Victory)
วัดนี้ก่อสร้างโดยมี Shun-nge Sara U Mra Wah คุมงาน ใช้ช่าง 1,000 คน สร้างบน Phokhaung Hill ทางด้านเหนือของพระราชวังมรัคอู
วัดซิตตวง หรือ สิทธิ์ตวง พญา (Shai-thaung Temple) ชื่อที่เป็นสัญลักษณ์ คือ เจดีย์ 80,000 ... เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปบูชาถึง 84,000 องค์ ทั้งองค์ใหญ่ องค์เล็ก ที่ประดิษฐานอย่างสวยงามอยู่ในโพรงที่สร้างไว้รายรอบอาคารอันเป็นฐานของเจดีย์ประธาน .. รวมถงในอุโมงค์ขนาดใหญ่ที่สร้งจะให้เดินรอบฐานภายในใต้เจดีย์ รวมถึงส่วนที่วางไว้ให้บูชามากมายที่อยู่ภายในอาคารวิหาร
พระพุทธรูปสำคัญ อันเป็นพระประธาน สูง 9 ฟุต ประดิษฐานอยู่ ณ ศูนย์กลางใต้เจดีย์ โดยทางเข้าเจาะเป็นอุโมงค์ยาวเชื่อมต่อจากวิหาร
บันไดนับร้อยขั้น นำนักท่องเที่ยว และผู้ที่เลื่อมใส ขึ้นไปยังส่วนของวัดด้านบน .. ซุ้มประตูทางเข้าวัดซิตตอง มองเห็นพระสงฆ์นั่ง และขอรับบริจาคตรงทางขึ้น
ภาพกว้างจากภายนอก … วัดแห่งนี้สร้างอยู่บนเนินเขา มองภาพกว้างจากภายนอกเห็นเป็น 3 ระดับ
ระดับล่าง … เป็นเจดีย์รายเลาะระเบียง ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ทั้งสองฝั่ง เจดีย์เป็นทรงระฆังคว่ำ ช่องว่างระหว่างเจดีย์มีการสลักหินเป็นรูปยักษ์ รูปเทพเจ้าและสัตว์หิมพานต์
เมื่อเดินพ้นบันไดทางขึ้น … มองเห็นส่วนที่เป็นเหมือนระเบียงรายรอบอาคารชั้นใน มีศาลาอันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ให้ผู้คนมากราบไหว้ อธิษฐานขอพร
ถัดออกไปด้านนอก … มีระเบียง ที่มีเจดีย์องค์เล็ก ศิลปะดูแปลกตาเรียงรายเป็นระเบียบ แต่ฉันไม่ได้นับว่ามีเจดีย์ทั้งหมดกี่องค์ และมีความหมายอย่างไร
เราเข้าไปกราบพระประธาน ณ อาคาร central hall ซึ่งตั้งอยู่ตรงกลางของวัด
ที่นี่ถือเป็นอุโมงค์ชั้นในสุด … เป็นศูนย์กลางของเจดีย์ เจาะตรงเป็นทางเข้า แล้วขยายออกเป็นห้องเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ประธาน ตำแหน่งจะอยู่ใต้เจดีย์ประธานพอดี
ตรงโถงอาคาร มีพระพุทธรูปหลายร้อยองค์รายรอบอยู่ทุกด้าน ... จนใครบางคนบอกว่าเป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่บอกว่าพระพุทธศาสนาได้ฉายแสงโอบล้อมเมืองแห่งนี้อยู่ทุกทิศทาง เป็นดินแดนที่พระพุทธศาสนาไม่เคยเลือนหายไป ไม่ว่าจะพระอาทิตย์ขึ้นหรือตก
อย่างไรก็ตาม ความยิ่งใหญ่ของวัด Shitthaung ไม่ได้อยู่ที่สิ่งที่เราเห็นในอาคารประธานแห่งนี้ … แต่อยู่ที่อุโมงค์หลายชั้นที่อยู่ลึกลงไปรอบๆและใต้ฐานเจดีย์
ตามมานะคะ ... ฉันจะนำไปชมความสวยงามมหัศจรรย์ของสิ่งที่ซ่อนจากสายตาผู้คน
แค่ปากทางเข้าก็ทำให้ฉันตื่นตะลึงได้แล้ว…. ต้องยอมรับฝีมือช่างยะไข่ในสมัยเมื่อเกือบสี่ร้อยปีมาแล้วนะคะ … ความเชื่อ ความศรัทธา และด้วยพลังใจที่จะสร้างถวายเป็นพุทธบูชา จึงสร้างออกมาได้ยิ่งใหญ่และงดงามมาก
ตรงแนวกำแพงที่มุมระหว่างทางที่จะขึ้นบันไดเข้าไปยังโถงอาคารหลัก และลงไปยังอุโมงค์ มีภาพสลักนูนสูงของพระเจ้า มง บา จี (King Min Ba Gyi) ซึ่งเป็นผู้สร้างวัดแห่งนี้ พ้อมทั้งพระราชินี .. สวยงามเหมือนจะเดินออกมาจากผนังหินทรายเพื่อทักทายผู้คนที่เดินผ่านไป-มา
ระดับที่สอง .. เป็นอาคารหลักที่รองรับเจดีย์เอก ภายในเจดีย์สร้างให้มีอุโมงค์ 3 ชั้น โดย 2 ชั้นแรกรอบนอกสร้างเป็นรูปตัวยู ผนังทั้งซ้ายขวาเจาะเป็นช่องเล็กๆมากมาย ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปช่องละองค์ สลับกับการแกะสลักหินเป็นรูปพระโพธิสัตว์ เทพเจ้า ยักษ์ และสัตว์จริง รวมถึงสัตว์ในจินตนาการมากมาย
ภาพสลักที่ปรากฏด้านในรอบอุโมงค์มีความยาวหลายร้อยเมตร เนื้อหาส่วนใหญ่ของภาพสลักน่าจะมาจากเรื่องราวในพุทธศาสนา
ฉันเคยเดินชมภาพสลักตามระเบียงคดของนครวัด ผู้เชียวชาญแนะนำว่าให้เดินเลี้ยวขวา หรือที่เรียกว่าประทักษิณ เป็นการเดินไปสู่ทิศตรงข้ามที่สัมพันธ์กับความตาย คือการเดินทวนเข็มนาฬิกานั่นเอง
การเดินเช่นนี้นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมแล้ว ยังสามารถอ่านภาพจำหลักบนผนังได้อย่างต่อเนื่อง เข้าใจเรื่องราวตามที่ผู้สร้างได้กำหนดไว้แล้วยังเป็นการเดินเวียนเคารพพระบรมศพพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 หรือพระวิษณุอีกด้วย ..
… แต่ที่นี่ไม่มีใครแนะนำว่าควรจะเดินอย่างไร
สิ่งที่ฉันเสียดายมาก คือ ไม่ค่อยมีข้อมูลบอกความเป็นไป หรือแรงบันดาลใจ และความหมายของรูปสลักที่เรียงรายอยู่รอบๆผนังอุโมงค์ทั้งซ้ายขวาเหล่านี้ … ไกด์บอกว่าเป็นรูปแกะสลักอดีตชาติ 550 ชาติของพระพุทธองค์
เมื่อได้เดินช้าๆ เพ่งพิศดูภาพเหล่านี้แล้ว ก็เกิดความทึ่งในความสามารถของผู้ที่คิดองค์ประกอบของภาพที่ทั้งสมบูรณ์และงดงามนี้เมื่อเวลาหลายร้อยปีที่แล้วจริงๆ .. อาจจะเป็นศาสตร์ที่เรียนมา หรือเริ่มจากความศรัทธาสูงสุด จึงออกมาเป็นภาพที่งดงามราวกับเทพเจ้าลงมือสร้างเอง
ภาพสลักในที่อื่นๆรอบผนังทั้งสองข้างของอุโมงค์ชั้นแรก .. มีอยู่มากมาย และฉันไม่ได้ถ่ายรูปมาทั้งหมด .. แต่รวมๆแล้วเป็นภาพที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาทั้งสิ้น
ที่นี่ ยังเป็นสถานที่ที่ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสา สวดมนตร์ภาวนา มีประชาชนมากราบไหว้บูชาองค์อันเป็นตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธ เหล่านี้อยู่เป็นประจำ
ตลอดความยาวของอุโมงค์ … มองเห็นภาพสัตว์บางชนิด เช่น ภาพหมู … ทำให้คิดไปถึงเรื่องเล่าเก่าแก่ที่บอกว่า …. แคว้นยะไข่แห่งนี้ เป็นดินแดนที่กษัตริย์และชาวยะไข่เลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนามาแต่ครั้งพุทธกาล .. และ มีตำนานที่เล่าขานต่อๆกันมาว่าเป็นดินแดนที่พระพุทธองค์เสด็จมาโปรดสัตว์เป็นแห่งสุดท้าย
หลังจากที่แสดงธรรมจนกษัตริย์ยะไข่บรรลุอรหันต์ … พระองค์ได้ขอพระพุทธานุญาติสร้างพระพุทธรูปที่พระพุทธองค์ประทับเป็นต้นแบบ และได้ถ่ายทอดความร้อนจากพระอุระมาสู่พระพุทธรูป-พระมหามัยมุนี
พระพุทธเจ้าได้เสด็จออกจากแคว้นยะไข่ และระหว่างทางได้รับบิณฑบาต สุกรมัทวะ จากนายจุณฑะ .. จนอาพาธและเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน
สุกรมัทวะนั้น บางท่านตีความว่าน่าจะเป็นอาหารที่สุกรชอบ คือเห็ดบางอย่างที่อยู่ใต้ดิน
พระพุทธองค์ทรงปริวิตกว่ากาลต่อไปจะมีผู้กล่าวว่านายจุนทะเป็นเหตุให้ปรินิพพาน จึงกล่าวกับพระอานนท์ว่า บิณฑบาตทานของนายจุนทะมีผลไพศาลเทียบกับครั้งนางสุชาดา...
"ดูกรอานนท์ ! บิณฑบาตทานที่มีอานิสงส์มาก มีผลไพศาลมีอยู่สองคราวด้วยกัน คือเมื่อนางสุชาดาถวายเราก่อนจะตรัสรู้ครั้งหนึ่ง และอีกครั้งหนึ่งที่นายจุนทะถวายนี้
… ครั้งแรกเสวยอาหารของสุชาดาเป็นเวลาที่ตถาคตถึงซึ่งกิเลสนิพพาน คือการดับกิเลส
... ครั้งหลังนี้เสวยอาหารของจุนทะบุตรนายช่างทองก็เป็นเวลาที่เราถึงซึ่งขันธ์นิพพาน คือดับขันธ์อันเป็นวิบากที่เหลืออยู่
ถ้าใคร ๆ จะพึงตำหนิจุนทะ เธอพึงกล่าวให้เขาเข้าใจตามนี้ .. ถ้าจุนทะจะพึงเดือดร้อนใจ เธอพึงกล่าวปลอบใจให้เขาคลายวิตกกังวลเสีย .. อาหารของจุนทะเป็นอาหารมื้อสุดท้ายสำหรับเรา”
(จากเว็บไซต์ ‘พุทธะ’ : www.phuttha.com )
ฉันเคยตื่นเต้นกับการเดินดูภาพเขียนอันยาวเหยียดเรื่องรามเกียรติ์ที่ระเบียงวัดพระแก้วมาแล้ว .. แต่ ภาพสลักของที่นี่ต้องบอกว่ายาวกว่าที่วัดพระแก้วมากๆๆๆๆ ค่ะ และภาพสลักบนผนังนั้นแน่นมาก ไม่ค่อยมีที่ว่างให้พักสายตาเท่าไหร่ .. เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายที่บ่งบอกถึงความเชื่อ ความศรัทธา
ในระดับที่สอง ชั้นในสุดที่วนรอบจุดศูนย์กลาง … ดีใจมากที่ได้มากราบรอยพระพุทธบาท (Thiri-parda) ที่นำมาจากพุทธคยา อินเดีย .. ตัวอักษรสีแดงบนผนังแปลว่าห้ามจุดเทียนค่ะ
ภายนอกอาคาร … เป็นระเบียง ที่ได้รับการเจาะช่องประดิษฐานพระพุทธรูปอีกเยอะมาก แต่จะเป็นช่องใหญ่กว่าในอุโมงค์ องค์พระก็มีพุทธลักษณะที่งดงามกว่า
ชั้นบนสุดบนอาคารอุโมงค์ … เป็นเจดีย์ประธาน และยังเจดีย์รายขนาดใหญ่ และขนาดย่อมอีกรวม 26 องค์ล้อมรอบอยู่
สิ่งที่น่าทึ่งในการก่อสร้างอาคารแบบนี้ ... ฉันคิดว่าอยู่ที่ เส้นแกนของวัดจะต้องคำนวณโดยวิศวกรชั้นยอดในสมัยนั้น เพื่อให้ศูนย์กลางดำลงการรับน้ำหนักได้อย่างแม่นยำ ป้องกันการพังจากการถ่ายน้ำหนักที่ผิดพลาด … น่าทึ่งมาก เมื่อคิดถึงเครื่องไม้เครื่องมือที่จำกัดมากในสมัยโบราณ
ระเบียงวัดด้านหลัง เหมาะที่จะใช้ชมวิวมาก … มองจากระเบียงของวัดที่ถูกเจาะเป็นช่องโค้ง .. ณ จุดนี้จะมีมุมมองทิวทัศน์ที่สวยงาม มองเห็นภาพของวัดทุกข์ขันธ์เทียน อยู่ตรงกลางช่องโค้งพอดี
ที่ถัดออกไปเป็นทางเดินที่ทอดยาวออกไปสู่วัดและเจดีย์อีกมากมาย ซ้อนเหลื่อมกันอยู่ในสายตา ... แต่สวยงามลงตัว …
ไม่รู้สินะ ... อาจจะมีใครบางคนรู้สึกเหมือนขึ้นสวรรค์จริงๆ ที่อยู่ใกล้แค่เอื้อมมืออกไปคว้าไว้ในเลนส์กล้อง
ขนาดของวัดนี้แม้จะไม่ใหญ่โตเหมือนกับปราสาทหรือโบสถ์ของทางยุโรป ด้วยมีขนาด แค่ยาว 160 ฟุต กว้าง 124 ฟุต และสูง 86 ฟุต .. แต่วัดแห่งนี้ถือได้ว่าเป็นสถานที่ที่เปี่ยมเอกลักษณ์ มีรายละเอียดมากมายที่น่าสนใจ ดึงดูดให้เข้าไปเดินชม จนอาจจะต้องเดินชมกันจนเหนื่อย ก็ยังไม่อาจชมในรายละเอียดได้หมดและครบถ้วน … จึงเป็นสุดยอดเจดีย์อย่างที่เขาว่าไว้จริงๆคะ
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา