Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เอนก นาวิกมูล
•
ติดตาม
25 พ.ค. 2021 เวลา 06:36 • ประวัติศาสตร์
ประวัติโขนสด
เอนก นาวิกมูล เขียนเมื่อ 12.00 น.อังคาร 25 พค2564
โขนสดหรือหนังสด เกิดราวยุค 2470 โดยพัฒนามาจากโขน บวกกับ หนังตะลุง
เอกลักษณ์ คือผู้เล่นสวมหัวโขนแบบเปิดหน้า(ค้างไว้ที่หน้าผาก ไม่ครอบหมดเหมือนโขน)- ร้องและเจรจาเอง(โขนมีคนพากย์ให้)- ชอบโยกตัวและร้องสำเนียงหนังตะลุง
ดูแล้วเพลินทีเดียว เพราะเน้นตลก และเดินเรื่องรวดเร็ว ไม่ช้าอย่างโขน ไม่แบนอย่างหนังตะลุง
แต่ทำไมโขนสดจึงไม่ลือเลื่องเท่าลิเกก็ไม่ทราบ
พ.ศ.2561 ผมไปทำสมุดภาพระยอง
ไปหา “โอ๋ พ้นชั่ว” หรือฉัตรชัย พ้นชั่ว นักสะสมใหญ่แห่งระยอง เจ้าของสวนอาหารบ้านสิมิลัน(2549) อันแสนคลาสสิค
เห็นนิตยสารระยองสารฉบับ มีนาคม-มิถุนายน 2510 หน้า 29-30 ลงเรื่องกำเนิดหนังสดโดย แพว เกศารัตน์ เข้า รู้สึกสนใจมากจึงขอถ่ายเก็บไว้ (ขอขอบคุณโอ๋ ไว้ ณ โอกาสนี้)
แพว เกศารัตน์ กล่าวอย่างรวบรัดได้ใจความ ขออนุญาตนำมาพิมพ์ต่ออายุ+เพิ่มย่อหน้าให้อ่านง่ายดังนี้
“หนังสดได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ 40 ปีเศษ
ตามทางสืบทราบได้ความว่าคนชาวเมืองระยองได้ประดิษฐ์คิดเล่นขึ้นก่อนโดยเกิดความบันดาลใจจากหนังตะลุง
กล่าวคือขณะที่ดูหนังตะลุงอยู่ก็เกิดความคิดขึ้นว่าถึงแม้ตัวที่เต้นอยู่เป็นหนัง แต่ก็ต้องใช้คนเชิดและคนร้อง
เมื่อไหนๆก็ต้องใช้คนเชิด คนร้องอยู่แล้วก็เอามาเต้นเสียเลยไม่ดีหรือ
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดหนังสดขึ้น
และเพราะเหตุที่แต่เดิมตัวที่เชิดมันเป็นหนังซึ่งทำด้วยหนังควายแห้ง เมื่อเอาคนซึ่งมีชีวิตจิตใจมาเล่นแทนจึงเรียกว่า “หนังสด”
แต่บางท่านก็ว่าสาเหตุของคำว่า “หนังสด” นั้นเป็นเพราะแต่เดิมเล่นกันเห็นหนังแดงๆ
กล่าวคือนุ่งแต่ผ้า แต่ไม่ใส่เสื้อ และใช้สีเขียนลายขนเอาที่ตัว (เฉพาะตัวลิง) จึงเรียกว่าหนังสด
คำกล่าวเช่นนี้เห็นว่าเป็นคำกล่าวมุ่งไปในทางขำขันมากกว่า
หรือมิฉะนั้นก็เป็นเรื่องของการเล่นตลกชั่วครั้งชั่วคราว ความจริงน่าจะเป็นดังที่กล่าวมาแล้ว
อย่างไรก็ดีแม้ชาวระยองจะได้คิดประดิษฐ์ขึ้น แต่หนังสดของชาวระยองก็หาได้แพร่หลายให้เป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไปไม่
ต่อมาภายหลังเมื่อ พ.ศ. 2480 นายชื่น บุญเฟื่องฟู ชาวพระโขนงได้ไปเอาครูมาจากบางเหี้ย(คลองด่าน) 2 คน(ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวระยอง)
คือครูยักษ์คนหนึ่ง ครูพระ-นางและลิงคนหนึ่ง มาหัดเด็กแถวพระโขนง ย่านวัดสะพานและตั้งเป็นคณะขึ้นชื่อว่า “บุญเฟื่องฟู”
นั่นแหละ หนังสดจึงได้แพร่หลายเป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไปและแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบันนี้ พ.เกษารัตน์ เก็บมาเล่า”
(ข้อเขียนอีกครึ่งหน้าเป็นคำไหว้ครูหนังสด)
ย้อนไปเมื่อ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2519
ณ งานลอยกระทงหลวงพ่อโสธร แปดริ้ว ขณะที่ตาวณิพกหลังค่อมคนหนึ่งนั่งร้องเพลงขอทานหลังขดหลังแข็งอยู่ในมุมมืด
อีกมุมหนึ่ง โขนสดคณะหนึ่ง ไม่สังเกตนาม กำลังร้องรำและบรรเลงกันอย่างสนุกสนาน เรียกความสนใจคนดูได้ไม่น้อย
ผมเฉียดกรายไปทางนั้น และยกกล้องขึ้นถ่ายภาพไว้ 7 ภาพ ตามกำลังทรัพย์ที่มีอยู่จำกัด
จะฟังอะไรก็ฟังไม่ค่อยรู้เรื่องเพราะมีการแสดงหลายชนิด แต่ละโรงเร่งเครื่องขยายเสียงกันสุดแรงเกิด
เรื่องหนังสดมีอีกยืดยาว เพราะพบข้อเขียนของคนอื่นในอินเตอร์เนตด้วย แต่จะตัดไว้เพียงแค่นี้ก่อน
ที่ควรทราบคือ หนังสดที่มีชื่อเสียงยุคต้นมี 2 คณะคือ บุญเฟื่องฟู ซึ่งเกิดก่อน และได้รับการยอมรับว่าเป็นโขนสดคณะแรก
ตามด้วยคณะสังวาลย์ เจริญยิ่ง
คณะหลังนี้เคยมาเล่นที่ศูนย์สังคีตศิลป์ 2 ครั้ง
ประวัติโขนสด
เอนก นาวิกมูล เขียนเมื่อ 12.00 น.อังคาร 25 พค2564
คำบรรยายภาพ
1.โขนสด งานลอยกระทงที่แปดริ้ว ฉะเชิงเทรา เอนก นาวิกมูล ถ่าย BW-0069-B-006-ส6พย2519
2.โอ๋ (ฉัตรชัย พ้นชั่ว -นั่งทางซ้าย)เจ้าของสวนอาหารบ้านสิมิลัน จ.ระยอง เอนก นาวิกมูล ถ่าย SS-2461-001-พุธ7มีนา2561
3.การจัดร้านกาแฟคลาสสิคของโอ๋ พ้นชั่ว เอนก นาวิกมูล ถ่าย SS-2461-002-พุธ7มีนา2561
4.ปกระยองสาร ที่ลงเรื่องโขนสด เอนก นาวิกมูล ถ่าย SS-2461-003-พุธ7มีนา2561
บันทึก
2
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย