28 พ.ค. 2021 เวลา 01:05 • ท่องเที่ยว
Mystical Mrauk U .. วัด และพระพุทธรูป ที่เมืองเวสาลี
เมื่อมาเยือนเมือง มรัคอู เราก็น่าจะศึกษาประวัติศาสตร์ของดินแดนแห่งนี้สักเล็กน้อยนะคะ
รัฐยะไข่ เป็นที่ตั้งอาณาจักรโบราณ อายุกว่า 2,000 ปี เกิดขึ้นร่วมสมัยพุทธกาล ก่อนการเกิดของอาณาจักรพุกาม อันเป็นอาณาจักรแรกของพม่า เป็นพันปี อาณาจักรโบราณของชาวอารกันที่ว่านี้แบ่งได้ 4 ยุค ดังนี้
อาณาจักร ธัญญาวดี (Dhanyawaddy) ราว พุทธศตวรรษ ที่ 1-8 เป็นที่ตั้งของเมืองหลวงแห่งแรกชางชาวอารกัน ในยุคนี้ ที่พระเจ้าจันทะสุริยะ ทรงสร้างพระมหามัยมุณี
อาณาจักร เวสาลี Vesali ราว พุทธตวรรษ ที่ 8 -13 .. เมืองนี้อยู่ทางเหนือของมรัคอู 6 ไมล์ ราชธานีเวสาลีนี้มีกษัตริย์ปกครองต่อเนื่องนับ 20 พระองค์ ในช่วงเวลาคริสตศตวรรษที่ 4 ถึง 8
อาณาจักร เลโม Lemro ราว พุทธตวรรษ ที่ 13 -18 อาณาจักรพุกามเพิ่งเกิดในสมัยนี้
อาณาจักร เมียวอู Mrauk U ราวพุทธตวรรษ ที่ 18 -23 ร่วมสมัยกับ อาณาจักรสุโขทัย และอาณาจักรอยุธยา
ยุคสมัยอาณาจักร ธัญญาวดี (Dhanyawaddy) ราว พุทธตวรรษ ที่ 1-8
จารึกสมัยพระเจ้าอนันทจันทร์ (Anandacandra)ได้บรรยายถึงเมืองธัญญวดีไว้ว่า … เมืองธัญญวดีมีแนวกำแพงและคูกำแพงล้อมรอบตัวกำแพงก่อด้วยอิฐ ภายในเมืองมีคูน้ำที่กว้างถูกถมทับด้วยโคลนและปลูกข้าวตลอดจนพืชต่างๆตลอดแนวภายในสุดเป็นที่ตั้งของพระราชวัง ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 0.26 ตารางกิโลเมตร นอกกำแพงเมืองมีทุ่งหญ้าปิดล้อมอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวป้องกันการจู่โจมจากศัตรู
จากจารึกจะเห็นได้ว่าเมืองธัญญวดีเป็นสังคมเมืองที่รับเอาระบบชลประทานจากอินเดียมาใช้ในการเพาะปลูกทำให้กลายเป็นมืองแห่งเกษตรกรรมจนเป็นที่มาของชื่อเมือง ธัญญวดี “ดินแดนที่มั่งคั่งด้วยพืชพรรณธัญาหาร”
เมืองธัญญวดี (Dynyawady city) เป็นเมืองโบราณซึ่งอยู่ไม่ไกลจาก Mrauk U ... เมืองนี้มีประวัติเก่าแก่ยาวนานมาก ตั้งแต่ 3325 ปีก่อนคริสตกาล (3325 BC) ถึง 327 ปีหลังคริสตกาล (327 AD)
กษัตริย์ยะไข่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก .. ตำนานเล่าว่า ในปีสุดท้ายในพุทธกาล พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก 500 องค์ ได้เสด็จมาโปรดสัตว์ที่แคว้นยะไข่
พระเจ้าจันทะสุริยะ (King Sanda Thuriya) กษัตริย์ยะไข่ฟังพระธรรมจนบรรลุอรหันต์ ได้กราบทูลขอพุทธานุญาติสร้างพระพุทธรูป ในขณะที่พระพุทธเจ้ามีพระชนมชีพและทรงเป็นแบบ … บางตำนานกล่าวว่าทรงใช้ความร้อนจากพระอุระเป็นหยดเหงื่อ 7 หยดหลั่งลงมาที่เตาหลอม จึงมีส่วนของร่างกายพระพุทธองค์ที่มาถ่ายทอดให้พระพุทธรูปองค์นี้ และบางตำนานเล่าว่า พระพุทธองค์ประทานลมหายใจให้ ฝรั่งจึงเรียกพระมหามัยมุนีว่า The Living Buddha
พระมหามัยมุณี (Mahamuni Buddha) จึงเป็นพระพุทธรูปทองคำคู่บ้านคู่เมืองยะไข่ และเมืองเวสาลี (Vesali) ตลอดมา
พระมหามัยมุนี องค์ของยะไข่ (เราไม่ได้ไปกราบไหว้เอง แต่ขอนำรูปของท่านอื่นมาให้ชม) .. ต่อมาปี พ.ศ. 2328 พระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าที่เก่งทางสงครามได้ตียะไข่แตก และเผาวังกษัตริย์ยะไข่จนไหม้หมด และได้อัญเชิญ พระมหามัยมุณี มาไว้กรุงอังวะ (เมืองหลวงพม่าขณะนั้น ซึ่งอยู่ติดกับเมืองมัณฑะเลย์ในปัจจุบัน)
ประวัติศาสตร์ของพม่าบันทึกไว้ว่า ได้อัญเชิญพระมหามัยมุนีทางเรือ แต่เนื่องจากองค์ใหญ่มาก จึงต้องตัดองค์พระเป็น 3 ท่อน เพื่อเคลื่อนย้าย แล้วนำมาประกอบใหม่ .. ชาวพม่าจึงเชื่อว่า พระมหามัยมุนีที่มัณฑเลย์ เป็นองค์จริงที่มาจากยะไข่
แต่ประวัติศาสตร์ยะไข่ ที่แพ้สงครามกลับบันทึกว่า .. เมื่อพม่าอัญเชิญพระมหามัยมุนีจากยะไข่ขึ้นเรือล่องไปตามแม่น้ำ พระพุทธรูปได้ตกน้ำหายไป หาองค์พระไม่พบ พม่าจึงอัญเชิญพระพุทธรูปชื่อ Shun-kyaw ที่มีพุทธลักษณะคล้ายคลึงพระมหามัยมุนีไปแทน
ชาวยะไข่จึงยังเชื่อว่า พระมหามัยมุนีองค์ที่ยะไข่เป็นองค์ดั้งเดิม ไม่ใช่องค์ที่มัณฑะเลย์
อาณาจักร เวสาลี Vesali ราว พุทธตวรรษ ที่ 8 -13 .. เมืองนี้อยู่ทางเหนือของมรัคอู 6 ไมล์
เราเดินทางต่อ เพื่อจะไปยังวัดที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่เก่าที่สุดในเมืองเวสาลี (The Vesali Great Buddha Image)
ศาลนี้น่าจะเป็นรูปปั้นกษัตริย์ และราชินีที่สร้างวัดนี้ King Maha Taing Chandra / Queen Suphava Devi
อาคารอันเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูป .. โถงด้านหน้ามีพระพุทธรูปตั้งอยู่ริมประตูทางเข้าโถงด้านใน มีลักษณะของพระพุทธรูปในแบบของชาวยะไข่
The Vesali Great Buddha Image คือองค์ที่อยู่ด้านในของส่วนที่เป็นโบสถ์เก่า สร้างโดยกษัตริย์ยะไข่ ในปีค.ศ. 320 พุทธลักษณะของพระยะไข่โบราณ
Sandra Muni
ตำนานของการสร้างพระพุทธรูป Sanda Muni น่าสนใจไม่แพ้พระมหามัยมุนี
ประตูทางเข้าวัดอันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปซานดามุนี
ซุ้มทางขึ้นเป็นบันไดที่มีหลังคาคลุม คล้ายกับวัดแห่งอื่นๆของพม่า
ที่นี่น่าจะเป็นโรงเรียนสอนพระพุทธศาสนาด้วย ... มองเห็นที่พักสำหรับพระภิกษุและสามเณร มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ
ทางเดินขึ้นไปยังอาคารหลัก ทางเข้าไปยังที่ประดิษฐานพระพุทธซานดามุนี
พระพุทธรูปซานดามุนีสร้างเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จมายะไข่ และทรงอนุญาตให้หล่อพระมหามัยมุนี … เมื่อเห็นว่ายังมีโลหะะมีค่าเหลืออยู่ จึงได้นำมาหล่อพระพุทธรูปอีก ๕ องค์คือ Sanda Muni, Raza Muni, Sakya Muni, Deva Muni, Sula Muni
ในสมัยที่พม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ … ชาวเมืองยะไข่เกรงว่า พระพุทธรูป Sanda Muni จะถูกหลอมทิ้งทำลูกปืนอาวุธสงคราม เหมือนเช่นพระพุทธรูปหลายองค์ในพม่า จึงใช้ปูนฉาบไว้ จนคนทั่วไปคิดว่าเป็นพระปูน
กาลเวลาผ่านไปนานหลายปี .. เมื่อปูนกะเทาะออกไปบางจุด จึงรู้ว่าภายในเป็นทองแดง และปูนฉาบถูกกะเทาะออก
ราชินี Maha Thupaba Devi มเหสีเอกของพระเจ้า Maha Thuriya Taing Chandra ผู้สร้างราชธานีเวสาลี ได้เคลื่อนย้าย พระพุทธรูปชื่อ Sakya Muni ที่สร้างร่วมสมัยกับพระมหามัยมุนี เพื่อจะนำมา
ประดิษฐานที่ราชธานีเวสาลี แต่แพการเวกที่อัญเชิญพระพุทธรูปแตก พระพุทธรูป Sakya Muni จึงสูญหายไป เวลาผ่านไปนานถึง ๑๒๒๗ ปี จึงมีผู้พบพระพุทธรูปนี้ใต้น้ำในตำแหน่งเดิม และทำพิธีจนนำพระพุทธรูปขี้นมาได้ พระพุทธรูปองค์นี้จึงมีอีกชื่อว่า Pawtawmu แปลว่าพระพุทธรูปที่เพิ่งพบใหม่
มองขึ้นไปด้านบนของภูเขา เห็นมีอาคารสถาปัตยกรรมแบบวัดของพม่าอยู่หลายหลัง ... ฉันไม่ได้ตามขึ้นไปดู จึงไม่รู้ว่าเป็นอะไรค่ะ
สิ่งที่น่าสนใจภายในบริเวณวัด
พระพุทธรูปที่จัดแสดงมีหลายขนาด ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา