29 พ.ค. 2021 เวลา 03:10 • ท่องเที่ยว
Mystical Mrah U … ตามหารอยสักสุดคลาสสิกบนใบหน้าหญิงเผ่าชิน
การท่องเที่ยวมรัคอูของเรา มิได้จบอยู่แค่การได้เห็นวัดหินทรายที่ยิ่งใหญ่เท่านั้น .. แต่ยังรวมถึงการได้เห็น ได้สัมผัสกับวิถีของผู้คนที่มีสายน้ำเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิต
สิ่งหนึ่งที่ผู้มาเยือนมารัคอูจะต้องตามไปดู ก็คือ ผู้หญิงเผ่าชินกับรอยสักคลาสสิกบนใบหน้าของพวกเธอ หากพลาดก็ต้องบอกว่าเหมือนมาไม่ถึงมารัคอูเชียวค่ะ
กว่าจะถึงท่าเรือเราก็จะผ่านวัดเก้าหมื่นที่มีเจดีย์เต็มไปหมด .. แต่ด้วยสภาพเส้นทางที่ไม่เป็นใจ ขาไปเราต้องนั่งรถเล็ก และกินฝุ่นไปตลอดทาง
เมื่อออกไปนอกตัวเมืองใหญ่นอกจากจะเห็นทุ่งนาที่ทอดยาวไปไกลสุดลูกหูลุกตา
เรา ใช้เวลาราว 1.30 ชั่วโมงบนถนนฝุ่น ก็มาถึงท่าที่มีเรือหลากชนิดปรากฏขึ้นในสายตา ..
เรือประมง … เรือที่เป็นทั้งบ้านและสถานที่ทำกิน สีสันจัดจ้านตัดกับสีของท้องฟ้า ทำให้เห็นว่าชาวยะไข่ที่นี่มีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับสายน้ำมากมายเพียงใด
วิถีชีวิตยังคงเป็นแบบเดิมๆ ส่วนใหญ่มีอาชีพประมง.. ประชาชนที่นี่ฐานะยากจน และดูเหมือนจะได้รับการดูแลจากทางรัฐน้อยมาก และหลายครั้งที่มักจะได้ยินคำกล่าวจากปากคนท้องถิ่นว่า พวกเขาไม่ใช่คนพม่า .. พวกเขาเป็น อารกัน
… รัฐบาลชุดไหน ก็ไม่แตกต่าง ไม่สำคัญสำหรับพวกเขา เพราะไม่มีการดูแลคนที่นี่ เหมือนกันหมด
เรานั่งเรือล่องมาตามแม่น้ำเลเมียว มุ่งหน้าสู่หมู่บ้านชิน จุดมุ่งหมายก็เพื่อไปชมหญิงชาวชินที่มีการสักหน้า ซึ่งยังคงมีลมหายใจอยู่ไม่กี่คน
ในสถานที่ที่ไม่ถนนเชื่อมต่อ ... เรือจึงเป็นพาหนะอย่างเดียวที่เชื่อมต่อชาวบ้านเหล่านี้กับโลกภายนอก
สายน้ำที่เรากำลังล่องเรือกันอย่างรื่นรมย์ เป็นแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติที่วิเศษที่สุดของชาวมรัคอู มีความยาวหลายร้อยกิโลเมตร
เราล่องเรือลำเล็กร่วมสามชั่วโมง ผ่านแม่น้ำเลเมียว (Lemro/Lymyo River) ที่มีทัศนียภาพงดงาม ... วันนี้ท้องฟ้าสีฟ้า เมฆกระจายตัวออกเป็นคลื่นๆ มีแดดสาดส่องและลมเย็นพัดแรง นับเป็นเช้าที่รื่นรมย์มากในการเดินทางไปยังหมู่บ้านของชนเผ่าชิน ที่ยังคงมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมกันเป็นส่วนใหญ่
ตลอดทางมีทัศนียภาพสวยๆแบบบ้านๆให้ชมตลอดทาง .. ทั้งการเดินทางด้วยเรือ การขนส่งสินค้าทางน้ำที่ดูแปลกตาจนคิดไม่ถึงว่ายังคงมีในช่วงเวลาปัจจุบัน
เรือกสวน ไร่นาของชาวบ้าน .. การดูดทราย .. การลากจูงซุงที่ตัดออกมาจากป่าเพื่อล่องตามแม่น้ำไปยังจุดหมายปลายทาง และอีกหลากหลายกิจกรรมที่เกิดตามสองฟากฝั่งของแม่น้ำ
เราแวะจอดเรือที่หมู่บ้านชินที่แรกซึ่งเราจะไปพบหญิงสาวสักหน้าอยู่ 4 คน
ชาวชิน คือกลุ่มชาติพันธุ์ในกลุ่มหนึ่งในประเทศพม่า ... จำแยกได้เป็น 32 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป (ลองคิดถึงเผ่ากะเหรี่ยงในไทยก็ได้ แต่ละเผ่ามีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกันนะคะ)
พิธีการสักบนใบหน้าของหญิงสาวซึ่งแต่ละกลุ่มจะใช้สีที่ต่างกัน เช่น สีดำ สีกรมท่า หรือรูปนกบนหน้าผาก จะเป็นลายเฉพาะกลุ่มซึ่งในกลุ่มเดียวกันก็จะมีลวดลายเดียวกัน
การสักบนใบหน้าของหญิงชาวชินจะสักบนใบหน้าเพื่ออำพรางความงามของตน
คนโบราณเล่าต่อกันมาว่า ... ในอดีตหญิงสาวชาวชินมีความสวยต้องตาต้องใจคนต่างถิ่นเป็นอย่างมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งเจ้าเมืองกษัตริย์พม่าที่มักจะจับตัวสาวชาวชินไปเป็นภรรยาและทาสรับใช้
ผู้นำชนเผ่าจึงสั่งให้หญิงสาวชินสักใบหน้าเพื่ออำพรางความงามตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่นช่วงอายุประมาณ 12-13 ปี ซึ่งต้องให้ผู้ที่มีความชำนาญเป็นผู้สักให้ โดยจะสักต่อเนื่องไปเรื่อยจนเสร็จ ปกติแล้วใช้เวลาถึง 2 วัน จะพักแค่ตอนรับประทาน อาหารเท่านั้น
เด็กสาวแทบทุกคนนอนร้องไห้ด้วยความเจ็บปวดตลอดการสัก กินอะไรไม่ได้และลืมตาไม่ได้เพราะมีอาการบวม บางคนที่รอยสักจางหรือลายไม่ขึ้นต้องมาสักซ้ำอีกครั้งสองครั้ง หรือจนกว่าสีจะเข้ม
ในปัจจุบันวัฒนธรรมการสักหน้าไม่นิยมสักกันแล้ว เพราะไม่มีใครมาจับตัวหญิงชาวชินไปเหมือนแต่ก่อนและหมอสักใบหน้าที่มีฝีมือต่างล้มหายตายจากกันไปเกือบหมด (ชาวเผ่าชินส่วนใหญ่ อยูในรัฐชิน Chin State ซึ่งอยู่ติดกับรัฐยะไข่ และคะฉิ่น)
นอกจากนี้ ครั้งหนึ่งรัฐบาลทหารพม่าได้สั่งห้ามหญิงชาวชินสักใบหน้าเพราะเห็นเป็นเรื่องป่าเถื่อน ชาวบ้านก็เลยไม่กล้าสัก
... แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลพม่าในปัจจุบันเองก็ต้องการให้หญิงชาวชินที่สักใบหน้ากลุ่มดังกล่าวเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวมายังพม่า
หมู่บ้านที่เราไปเยือน ยังค่อนข้างคงสภาพเหมือนช่วงเวลาในอดีตที่เนิ่นนานมาแล้ว ที่นี่เหมือนเวลาหยุดนิ่ง .. ที่นี่ไม่มีน้ำประปา และไฟฟ้าใช้กัน สร้างบ้านอยู่ในกระท่อมหลังเล็กๆ และใช้แพไม้ไผ่เป็นยานพาหนะ
วิถีชีวิตของผู้คนที่นี่ ... ดูเหมือนเราได้ย้อนเวลากลับไปอีกหลายสิบกี
เอกลักษณ์ของหญิงชาวชิน คือจะสักหน้าเป็นลายเหมือนใยแมงมุม และเจาะหูกว้าง ซึ่งในปัจจุบันก็นับว่าจะลดน้อยถอยลงทุกที ผู้หญิงที่สักอยู่ก็มีอายุกัน 60 กว่าขึ้นไปแล้ว และในที่สุดก็คงจะล้มหายตายจาก เด็กยุคใหม่ไม่ได้สืบทอดประเพณีนี้เพราะมันโหดร้ายเกินไป
ดังนั้นเราจึงยังเหลือโอกาสได้เห็นผู้หญิงจากหมู่บ้านเผ่าสักหน้า Chin Tribe Village รุ่นสุดท้าย
พวกหญิงเหล่านี้ยินดีที่จะให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปพวกเธอ .. แต่ไกด์ของเราแนะนำว่า เราควรจะช่วยอุดหนุนสินค้าหัตถกรรม ประเภทผ้าต่างๆที่พวกเธอนำมาวางขายด้วย เป็นการช่วยเหลือชุมชนที่นี่ทางอ้อม
หัตถกรรมของหมู่บ้านชิน แม้จะดูเผินๆว่าเหมือนๆกับที่เราเห็นอยู่ดาดดื่น แต่หากจะมองให้ละเอียดอีกหน่อย จะเห็นว่ายังมีลักษณะลวดลายเฉพาะที่ไม่ควรจะปล่อยให้สูญหายไป
หัตถกรรมเหล่านี้มีคุณค่าและสามารถทำให้เศรษฐกิจของพม่าพัฒนาไปทุกทั่วหัวระแหงได้ หากรัฐบาลพม่าจะหันมาส่งเสริมและหาช่องทางการค้าให้ชุมชนเหล่านี้ .. เหมือนกับโครงการศิลปาชีพฯบ้านเรา
สำหรับหมู่บ้านชิน วันใดก็ตามที่สูญสิ้นหญิงสักหน้ารุ่นสุดท้าย วันนั้นก็คงเป็นที่น่าใจหายว่า อาจจะไม่มีนักท่องเที่ยวดั้นด้นมาที่นี่อีกแล้ว และแน่นอนรายได้ของคนในชุมชนก็จะหดหายลงไปอีกมาก ชีวิตคงยากลำบากยิ่งขึ้น
อาหารกลางวันที่หมู่บ้านชาวชิน ... เมนูอาหารเป็นแบบเรียบง่าย เครื่องปรุงทั้งผักและปลา หาได้จากแถวๆนี้เอง
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา