31 พ.ค. 2021 เวลา 13:11 • ไลฟ์สไตล์
หมดแรงตั้งแต่วันจันทร์? หรือว่าเราจะพักผ่อนไม่ครบทั้ง 7 ด้านกันนะ
.
เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าทำไมเราถึงรู้สึกหมดแรงตั้งแต่เช้าวันจันทร์ แม้จะนอนหลับมาเต็มอิ่มแค่ไหน ก็รู้สึกเหนื่อยตั้งแต่ลืมตา
.
นั่นเป็นเพราะว่า “การนอน” ไม่เท่ากับ “การพักผ่อน” เสมอไป
.
ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับ “การพักผ่อน” ให้ครบทั้ง 7 ด้านของชีวิตกันดีกว่า เราจะได้เติมพลังให้ตัวเองในทุกๆ ด้านเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับชีวิตในวันถัดไป
.
#พักกาย (Physical Rest)
.
สุขภาพกายเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิต ดังนั้นการหาเวลาเพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง การพักผ่อนที่ทุกคนรู้จักกันดีก็คือการนอน แต่กิจกรรมอื่นๆ เช่น โยคะหรือการนวด ก็นับเป็นการพักผ่อนเช่นกัน
.
#พักสมอง (Mental Rest)
.
หลายๆ คนคงเคยมีประสบการณ์หยุดคิดเรื่องงานไม่ได้ แม้แต่ก่อนนอน บทสนทนาในที่ประชุมก็ยังคงวนเวียนอยู่ในหัว การที่เราใช้สมองต่อเนื่องอย่างไม่ได้พักผ่อนเช่นนี้ ส่งผลให้เรารู้สึกเหนื่อยในเช้าวันถัดไป ราวกับว่าเรานอนหลับไม่สนิทหรือไม่ได้พักผ่อนตลอดคืน ถึงแม้ว่าจะนอนไปแล้วก็ตาม
.
โดยวิธีที่จะช่วยให้สมองของเราได้พักมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน เช่น การจัดสรรเวลาพัก 5-10 นาทีในทุกๆ 1-2 ชั่วโมง วิธีนี้นอกจากจะช่วยให้สมองรู้สึกสงบ ยังช่วยให้เราโฟกัสกับงานได้มากขึ้นอีกด้วย
.
การจดบันทึกก็เป็นอีกหนึ่งวิธีพักสมอง หากคืนไหนเรารู้สึกกังวลจนนอนไม่หลับ แนะนำให้เขียนความรู้สึก เรื่องกวนใจ หรือเรื่องที่ต้องทำในวันถัดไปลงในสมุดบันทึก วิธีนี้นั้นช่วยคลายความกังวลให้เราได้ดีเลยทีเดียว
.
#พักประสาทสัมผัส (Sensory Rest)
.
ในแต่ละวัน ประสาทสัมผัสของเราทำงานหนักตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการพบปะผู้คนในที่ทำงาน การขับรถ แม้แต่เวลาพักผ่อนก็เช่นกัน เราใช้สายตาจดจ่อหน้าจอโทรศัพท์ ส่วนหูก็รับฟังเสียงแจ้งเตือนอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกตื่นตัวตลอดเวลาจนเหมือนไม่ได้พักผ่อน
.
เพื่อให้ประสาทสัมผัสเราได้พักบ้าง ระหว่างวันเราก็สามารถลดสิ่งรบกวนได้ในหลากหลายวิธี เช่น การใช้หูฟังตัดเสียงรบกวนตอนทำงาน หรือการตั้งโหมด Night Shift ในโทรศัพท์ก็ช่วยถนอมประสาทสัมผัสด้านการมองเห็นได้
.
#พักจินตนาการ (Creative Rest)
.
การหยุดคิดอาจจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากสำหรับนักคิด นักเขียน และอาชีพอื่นๆ ที่ต้องผลิตคอนเทนต์ เพราะพวกเขาเหล่านี้จะต้องคอยตามกระแสสังคมและนำเสนอไอเดียใหม่ๆ ตลอดเวลา
แม้จะทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย อย่างเช่น การดูหนัง หรือ อ่านหนังสือ สมองอาจเผลอเข้าโหมดทำงาน จับประเด็นมาวิเคราะห์เพื่อสร้างสรรค์ผลงาน จนลืมเพลิดเพลินกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
.
การพักผ่อนสำหรับนักคิดสามารถทำได้โดยการสนุกกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า หรือไม่ก็เลือกทำกิจกรรมที่ใช้แรงกายมากกว่าสมอง เช่น การออกไปวิ่ง เป็นต้น
.
#พักอารมณ์ (Emotional Rest)
.
“ยิ้มแย้มแจ่มใส” และ “มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี” เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นของทั้งงานบริการและการเข้าสังคมโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่เราต้องเผชิญเรื่องน่าโมโหหรือน่าเสียใจ เรื่องเล็กๆ อย่าง “การยิ้ม” ก็กลายเป็นเรื่องที่ใช้พลังงานอย่างมาก เพราะเราต้องซ่อนความรู้สึกที่แท้จริงไว้
.
เรื่องของความรู้สึกก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น เราต้องปล่อยให้อารมณ์ของเราได้พักผ่อนบ้าง โดยการปล่อยให้ตัวเองรู้สึกในสิ่งที่อยากรู้สึก ตัวอย่างเช่น ร้องไห้เพื่อระบายความเสียใจ
หรือเวลาเพื่อนร่วมงานถามไถ่ว่า “สบายดีไหม” ให้ตอบตามความรู้สึกที่แท้จริงไปเลยว่า “ไม่โอเค” นอกจากจะได้ระบายแล้ว เราก็อาจจะได้คำปรึกษาดีๆ กลับมาก็ได้
.
#พักจากผู้คน (Social Rest)
.
สำหรับคนที่ชอบเก็บตัว (Introvert) การได้ปลีกตัวจากผู้คนและให้เวลาตัวเองถือเป็นการชาร์จพลังที่ดี แต่สำหรับคนที่เติมพลังให้ตัวเองด้วยการพบปะผู้คน (Extrovert) การเลือกพบเฉพาะ “คนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ” และพักตัวเองจากความสัมพันธ์ที่ Toxic จะช่วยเติมแรงใจได้ดีเลยทีเดียว
.
#พักใจ (Spiritual Rest)
.
สังคมปัจจุบันนั้นวุ่นวายและเต็มไปด้วยการแข่งขันจนเรารู้สึกว่าเรากำลังวิ่งไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา และหลงลืมว่าความต้องการที่แท้จริงของเราคืออะไร การได้พักอยู่กับตัวเอง เช่น การนั่งสมาธิ จะช่วยให้เรารู้สึกมีสติมากขึ้น อีกทั้งยังได้ใช้เวลานี้ทบทวนเป้าหมาย ความสุข และความต้องการของตัวเองอีกด้วย
.
จะเห็นได้ว่าการนอนเพียงอย่างเดียวอาจไม่ช่วยให้เราหายเหนื่อยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต้องทำควบคู่กับการเอาใจใส่ในด้านอื่นๆ เช่น สมองและจิตใจ เพื่อให้เรามีแรงในการทำตามเป้าหมายในชีวิตแบบมีความสุขไปพร้อมๆ กัน
.
.
อ้างอิง:
.
#missiontothemoonpodcast
#mission #พอดแคสต์
โฆษณา