1 มิ.ย. 2021 เวลา 05:08 • ท่องเที่ยว
พม่า … สังเขปประวัติศาสตร์
เคยสงสัยกันไม๊ คะว่าทำไมรัฐบาลพม่าจึงเปลี่ยนชื่อประเทศจาก Burma มาเป็น Myanmar …
ผู้รู้เล่าให้ฟังว่า คำว่า เมียนมาร์ หมายถึงชนเผ่าหลายๆเผ่ารวมกัน ประเทศเมียนมาร์จึงหมายถึงประเทศที่ประกอบด้วยชนเผ่าต่างๆ (มากถึง 138 ชนเผ่า) ทั้งไทยใหญ่ พม่า มอญ กระเหรี่ยง และอีกหลายชนเผ่ามารวมกันเป็นประเทศ
ส่วนคำว่า “พม่า” หมายถึงชนเผ่าหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศนี้ (แม้จะมีคนเชื้อสายพม่าอยู่ราวร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด) ดังนั้นเพื่อความสามัคคีของคนในชาติ รัฐบาลพม่าจึงเปลี่ยนชื่อประเทศเสียใหม่ ตั้งแต่ปี 1990
ประเทศพม่าใช้เงินสกุลจั๊ด (Kyats) ซึ่งเดิมนั้นบนธนบัตรจะปรากฏรูปวีรชนหรือมหาราชสำคัญๆของพม่า แต่ในปัจจุบันทางการพม่ายกเลิกการใช้ธนบัตรที่มีรูปวีรชนไปแล้ว และเปลี่ยนเป็นแบบที่คล้ายๆกันเกือบทุกราคา คือด้านหน้าเป็นภาพ “สิงห์ (Chinthe)” และด้านหลังเป็นภาพธนาคารกลางแห่งสหภาพเมียนมาร์
บางคนค่อนขอดว่า ธนบัตรที่มีภาพสิงห์ที่ปรากฏอยู่ด้านหน้านั้น เป็นธนบัตรรุ่น Lion King แต่หากได้ศึกษาลึกลงๆป จะทราบว่า นี่คือ “สิงห์ไถ่บาป” ที่เราพบได้ทั่วไปตามศาสนสถานเกือบทุกแห่งในพม่า
“สิงห์ไถ่บาป” มีตำนานที่น่าสนใจมากค่ะ … เป็นความเชื่อที่มาจากตำนาน “สีหพาหุ” ใน “มหาพงศาวดารลังกา” ซึ่งกล่าวว่า …
… ราชสีห์ตัวหนึ่งลักพาเจ้าหญิงองค์หนึ่งไปไว้ในป่า เจ้าหญิงมีพระโอรสและพระธิดาซึ่งยังเป็นทารก ราชสีห์ก็ดูแล และเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ แต่ด้วยสาเหตุใดไม่ปรากฏ ต่อมาพระโอรสพาพระมารดาและพระขนิษฐาหนีกลับเข้าวัง … ด้วยความรัก ราชสีห์ได้พยายามตามหาเพื่อพาเจ้าหญิงกลับไปอยู่ด้วยกัน ระหว่างทางใครมาขวาง ใครมาห้ามก็จะถูกฆ่าตายหมด
ความทราบถึงพระโอรสจึงออกมาปราบโดยการยิงธนูกรอกปากราชสีห์จนตาย … ต่อมาพระโอรสได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์ แต่จะทำการอะไรก็ดูจะติดขัดไปหมด ปุโรหิตจึงทูลว่าเป็นเพราะบาปกรรมที่ฆ่าราชสีห์ผู้มีพระคุณ พระองค์จึงปวารณาตนว่าจะสร้างรูปราชสีห์ไว้ที่ประตูวัด หรือที่มุมเจดีย์ เพื่อเป็นการไถ่บาป จนสืบเนื่องจนเป็นประเพณีสืบเนื่องมาตั้งบัดนั้น และเรียกว่า “สิงห์ไถ่บาป” … เราจึงเห็นรูปปั้นสิงห์มากมายที่วัดเกือบทุกวัดในพม่า และขยายมาเป็นความเชื่อในดินแดนล้านนาของไทยด้วยในกาลต่อมา
ประวัติศาสตร์ของพม่า
ดินแดนที่เป็นประเทศพม่า … เช่นเดียวกับดินแดนอื่นๆในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ พม่ามีกลุ่มชนโบราณที่อพยพมาจากจีนตอนใต้หลายกลุ่มมาตั้งถิ่นฐานอยู่แล้วเนิ่นนาน อาจจะย้อนหลังกลับไปได้เป็นหมื่นปี
นักวิชาการไม่สามารถยืนยันได้ว่าชนเผ่าพม่ามาจากไหน ได้แต่สันนิษฐานว่า ชนกลุ่มแรกน่าจะเป็นชาวมอญที่อพยพมาตามแม่น้ำสาละวิน มาตั้งถิ่นฐานบริเวณปากแม่น้ำ ซึ่งคือภาคใต้ของพม่าในปัจจุบัน โดยมีศูนย์กลางที่เมืองสะเทิม หรือแคว้นสุธรรมวดี (Thaton)
พม่าเป็นนักรบที่เชี่ยวชาญในการใช้ธนู การขี่ม้า การตัดสันเขาเป็นวงกว้างๆเพื่อเพาะปลูก ด้วยความรักในเสรีภาพ เมื่อถูกจีนรุกรานจึงอพยพลงมาทางใต้ … ประวัติศาสตร์ของพม่าเริ่มต้นเมื่อพวกพยู (Pyu) ซึ่งเป็นเชื้อสายต้นตระกูลของพม่าที่เก่าแก่ที่สุด มาตั้งรกราก ณ ฝั่งแม่น้ำอิรวดีตอนกลาง มีเมืองหลวงชื่อ “ศรีเกษตร” ในพุทธศตวรรษที่ 13 (ใกล้ๆเมืองแปรในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่พวกมอญตั้งอาณาจักรมอญอยู่ทางตอนใต้
อีกพวกหนึ่งคือ ชาวม่าน หรือเมียน (Myen) ตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้พวกพยู มีศูนย์กลางเมืองที่เมืองตะโก้ง หรือตะกอง มีชื่อเรียกว่า ธิริพิสยา หรือ ศรีพิสัย
กลุ่มสุดท้ายคือกลามการัน (Karan) หรือพวกยะไข่ หรือ อาระกัน ซึ่งมาตั้งชุมชนอยู่ทางตะวันตกของพม่า ติดอ่าวเบงกอล ปัจจุบันคือเขตยะไข่ของพม่านั่นเอง
จะเห็นได้ว่าต้นตระกุลของชาวพม่าประกอบด้วยกลุ่มชนชาติต่างๆหลายพวก แต่กลุ่มที่ชาวพม่าเองถือเป็นต้นตระกูลของเขาจริงๆ คือ พวกพยูและพวกม่าน
ดินแดนที่รวมกันเป็นประเทศพม่าในวันนี้ ก่อนสมัยพุกามราวพันปีก่อน แบ่งออกเป็น 4 แคว้น คือ ดินแดนของชาวม่าน ชาวพยู ชาวอาระกันหรือยะไข่ ซึ่งตามประวัติศาสตร์มีการรบพุ่งกันบ้าง แต่อาณาจักรที่รุ่งเรืองที่สุดคืออาณาจักรศรีเกษตรของพวกพยู และอาณาจักรสะเทิมหรือแคว้นสุธรรมวดีของพวกมอญ
อาณาจักรสะเทิมของพวกมอญอยู่ติดกับทะเล มีพ่อค้าชาวอินเดียเข้ามาติดต่อค้าขายมาก ศาสนาและวัฒนธรรมจึงแผ่เข้ามามากมาย ซึ่งตอนนั้นอินเดียตรงกับสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งพระองค์เลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างยิ่ง พุทธศาสนาจึงเผยแพร่เข้ามาถึงเมืองของพวกมอญพร้อมๆกับศิลปะวัฒนธรรมด้านต่างๆ จนเมืองสะเทิมได้ชื่อว่าเป็น หน้าต่างทางวัฒนธรรม ของอินเดีย
ราวพุทธศตวรรษที่ 14 พวกพยูเริ่มอ่อนแอลง พวกม่านเริ่มเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ … พระเจ้าปยินสอตี กษัตริย์ของชาวม่าน แผ่อาณาเขตไปอย่างกว้างขวาง พระองค์มีพระประสงค์ให้ชนชาติพันธุ์ต่างๆในราชธานีมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงทรงให้เรียกชื่อชนกลุ่มในราชธานีนี้ว่า Maranmar ซึ่งสันนิษฐานว่าคงเป็นที่มาของคำว่า Myanmar หมายความถึง ชาติที่มีหลายเผ่าพันธุ์
พระเจ้าปยินพญา กษัตริย์ของชาวม่าน ได้ทรงย้ายราชธานีจากเมืองสัมปาวดีมายังพุกาม มีชื่อเรียกว่า Arimaddhanabura หรือเมืองศัตรูพ่าย เมืองพุกามขึ้นบนลุ่มน้ำเอยาวดี ระยะแรกยังเป็นเพียงเมืองเล็กๆ จนกระทั่งพระเจ้าอโนรธามังช่อ (Anawratha) หรือพระเจ้าอนุรุทธ (ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.1587-1620) กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์พม่า ทรงเป็นนักรบที่เข้มแข็ง มีแสนยานุภาพเกรียงไกร พร้อมขุนศึก คู่ใจที่เก่งกาจ พระองค์จึงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่รวมดินแดนพม่าให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
นอกจากนี้ พระเจ้าอโนรธายังสามารถขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างขวาง พระองค์ทรงรวบรวมดินแดนซึ่งส่วนใหญ่เป็นดินแดนของพม่าในปัจจุบัน ตั้งแต่ดินแดนทางเหนือของยะไข่ ลงไปจนถึงดินแดนทางใต้อันเป็นดินแดนของมอญ ในขณะเดียวกันพระองค์ตลุยไปจนถึงดินแดนไทยใหญ่ทางภาคตะวันออก พงศาวดารบางฉบับกล่าวว่าพระองค์ทรงรุกเข้าไปจนถึงเขมร ตลอดจนดินแดนอันเป็นที่ตั้งของประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งขณะนั้นอาณาจักรสุโขทัยยังไม่เกิด … เป็นที่ครั่นคร้ามของของรัฐต่างๆในเอเชีย แม้กระทั่งมหาอำนาจอย่างจีนก็ไม่กล้ารุกรานพม่าเป็นเวลาถึง 200 ปี
พร้อมๆกับการขยายอาณาเขต พระเจ้าอโนรธายังรับพระพุทธศาสนานิการเถรวาทจากมอญมานับถือเป็นศาสนาประจำชาติ ควบคู่ไปกับการนับถือภูติ หรือ นัต (Nat) ที่เคยนับถือมาตั้งแต่ดั้งเดิม
การเริ่มต้นของอาณาจักรพุกามจึงเริ่มต้นตั้งแต่บัดนั้น โดยราชวงศ์พุกาม ที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกในสุวรรณภูมิ คู่กับอาณาจักรขอมโบราณ โดยราชวงศ์กัมพุช และต่างก็ถือว่าอาณาจักรของตนคือศูนย์กลางของจักรวาล
ประวัติศาสตร์ส่วนที่หลังจากนี้ จนถึงปัจจุบันที่ระบบกษัตริย์ในพม่าล่มสลาย จะกล่าวถึงบ้างในบทที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวมัณฑะเลย์ ส่วนในช่วงที่พม่าต้องอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ จนกระทั่งเปลี่ยนมาปกครองด้วยทหาร และการเมืองปัจจุบัน หาอ่านได้จากหนังสือ Lonely Planet ค่ะ
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา