4 มิ.ย. 2021 เวลา 11:53 • ท่องเที่ยว
(3) เดินทางสู่พุกาม … ดินแดนแห่งเจดีย์ห้าพันองค์
สามชั่วโมงของการนั่งรถไฟชมเมือง ให้ความรื่นรมย์และได้เรียนรู้ภาพชีวิตของคนย่างกุ้งมากมาย … เรากลับมาที่ร้านขายตั๋วรถโดยสารอีกครั้ง ไม่นานก็ถึงเวลา 3 โมงเย็นอันเป็นเวลานัดหมาย เพื่อเดินทางไปยังสถานีรถโดยสารระหว่างเมืองและเปลี่ยนรถมุ่งไปยังพุกาม
เราลำเลียงเป้คู่ใจและสัมภาระขึ้นรถกระบะสองแถว ... และนี่คือบริการ Transfer ของเราค่ะ ฉันกับเพื่อนต้องนั่งรถกระบะที่ตรงกลางเต็มไปด้วยกระเป๋าของผู้โดยสาร และเมื่อรถแวะไปรับผู้โดยสารคนอื่นๆตามรายทางที่มีสัมภาระคนละไม่น้อย ผู้โดยสารทุกคนจึงอยู่ในสภาพเหมือนปลากระป๋องที่ต้องแทรกตัวไประหว่างกองสัมภาระที่ตรงกลางจนแทบล้นออกจากรถ … ยังโชคดีที่เราขึ้นต้นทาง ไม่ต้องกับถึงต้องไปนั่งบนหลังคารถ
รถโดยสารระหว่างเมืองของพม่ามีสภาพไม่ดีนัก รถ ป.2 ของบริษัทขนส่งในประเทศไทยดีกว่าหลายเท่าค่ะ แต่เรามีตั๋วที่ระบุที่นั่ง (นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเราจึงต้องจ่ายแพงกว่าคนพม่า) จึงไม่ลำบากมาก ผู้โดยสารหลายคนต้องนั่งตรงช่องกลางระหว่างเบาะทั้ง 2 ข้าง หรือยืน ซึ่งต้องจำยอมเพราะไม่เช่นนั้นอาจจะต้องรอวันถัดไป … ฉันสังเกตเห็นว่า เราเป็น 2 คนที่เป็นคนต่างชาติ นอกนั้นเป็นชาวพม่าแท้ๆและดั้งเดิมค่ะ
ช่วงเวลานี้ประเทศพม่ากำลังอยู่ในระหว่างอัพเกรดประเทศให้ทันสมัยขึ้น รวมทั้งมีการเร่งก่อสร้างถนนคอนกรีตที่เชื่อมเมืองหลักที่สำคัญๆ ... รถโดยสารแล่นมาเรื่อยๆตามถนนที่เห็นได้ชัดว่าสร้างเสร็จได้ไม่นาน ยังมีสภาพดีค่อนข้างมาก ราว 6 โมงเย็นรถจอดให้ผู้โดยสารรับประทานอาหารเย็นกัน แต่เราไม่หิวเลยไม่ทานอะไร … อีกทั้งเราต้องระมัดระวังเรื่องอาหารการกินมากๆหากไม่อยากท้องเสียระหว่างการเดินทาง
เราลงจากรถไปล้างหน้า ล้างตากันที่ร้านอาหาร แล้วออกมาชมภาพอาทิตย์อัสดงครั้งแรกในพม่า ...
เราเริ่มเดินทางต่อหลังการจอดพักราวครึ่งชั่วโมง บนรถมีคาราโอเกะแบบนันสต๊อปเป็นสิ่งบันเทิงที่ฉายให้ดูตลอดทาง ไม่รู้ว่าคนพม่าชอบหรือต้องทนฟังโดยไม่มีปากเสียงก็ไม่รู้ .. ฉันเห็นคนพม่าในมิวสิควีดีโอแต่งกายแบบสากลทั้งหมด ไม่เห็นชุดไหนที่คนพม่าแต่งกายแบบดั้งเดิมเหมือนที่ฉันเห็นในรถหรือตามถนน นึกแปลกใจเหมือนกัน
... กลางดึกคืนนั้น เราต้องลงจากรถเพื่อไปแสดงตัวพร้อมกับนำนำพาสปอร์ตไปให้เจ้าพนักงานของพม่าจดบันทึกการผ่านแดน การไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือทันสมัยอื่นช่วยในการจดจำและการเก็บข้อมูล แต่ต้องใช้การเขียนลงในสมุดเล่มโต ทำให้เกิดการล่าช้าพอสมควรเมื่อมีรถโดยสารมาจอดพร้อมๆกันหลายคัน … ทราบมาว่าเมื่อคนพม่าหรือแม้แต่คนต่างชาติเดินทางข้ามเขตเมืองทุกครั้ง จะต้องมีการบันทึกการผ่านเขตเมืองเป็นหลักฐาน พร้อมกับเสียค่าเข้าเมืองในอัตราที่เขากำหนดเอาไว้ คือ ราวๆ 10 USD
ฉันหลับมาเกือบตลอดทาง ราวค่อนคืนเพื่อนร่วมทางที่น่ารัก ได้ปลุกฉันให้ขึ้นมาดูเจดีย์สีทองอร่ามเรืองท่ามกลางความมืดมิดแห่งรัตติกาล ... ความมืด และราวไฟถนนที่มองเห็นเป็นสายล้อมรอบองค์เจดีย์ขณะที่รถแล่นผ่านไกลๆ ส่งให้เจดีย์แห่งนั้นสวยสง่าเหมือนล่องลอยอยู่ในอากาศ ฉันนึกฉงนอยู่ในใจว่า เจดีย์แห่งนี้คือ มหาเจดีย์ชเว มอร์ดอร์ หรือที่คนไทยเรียกว่า เจดีย์มุเตา แห่งเมืองหงสาวดี หรือไม่? ... ฉันไม่รู้คำตอบ แต่ความสงบ ความงดงาม ทีฝังตัวอยู่ในชีวิตจิตใจของผู้คนและบรรยากาศของเมืองพุทธ ภายใต้ประเทศที่ปกครองด้วยด้วยกำลังทหาร กองทัพ ระเบิด และปืน กลับมีเสน่ห์เหลือหลาย
เมื่อเราเดินทางมาได้สักครึ่งทางก็รู้สึกถึงสภาพของถนนที่ขรุขระมากมาย และเป็นสาเหตุให้รถต้องแล่นไปข้างหน้าด้วยความเร็วที่ช้ามากๆ มองออกไปข้างทางเห็นต้นไม้ที่ปราศจากใบ เห็นเป็นเงาตะคุ่มๆกลางแสงจันทร์สลัวๆ … นี่เราคงเข้าเขตที่แห้งแล้งมากมายของพม่าแล้วค่ะ … ที่แย่หน่อยก็คงเป็นช่วงทีต้องมีการจอดซ่อมรถกันเล็กน้อย พอให้เราได้ลุ้นว่าจะต้องนั่งอยู่ในบรรยากาศที่เงียบเชียบและหนาวอย่างนี้ทั้งคืนหรือไม่ … แต่โชคดีที่ช่างซ่อมของพม่าเก่งพอดูค่ะ กระชากๆ ทุบปึงๆปังๆไม่นาน รถก็กลับมาแล่นปร๋อได้ดังเดิม
อากาศช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ยังค่อนข้างหนาวเย็น ... เช้ามืดของสถานีขนส่งเมืองพุกามสงบเงียบ และค่อนข้างมืด มีเพียงเจ้าหน้าที่ไม่กี่คนที่ยังทำงานและอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่เพิ่งจะมาถึง …
“Do you want a room? I know every guest house in town and can take you to a nice and comfortable hotel.” ... แค่บิดขี้เกียจไล่ความเมื่อยขบจากการนั่งรถมานานหลายชั่วโมง แล้วลงมาจากรถโดยสารเพื่อมารับเป้ เราก็ถูกรุกเร้าจากชายท้องถิ่น
“ที่ยูบอกว่าที่พักสบาย ราคากันเองน่ะ ราคาเท่าไหร่?” ฉันถาม แล้วได้รับคำตอบว่าราคาอยู่ราว 10-15 USD
เรามีชื่อของเกสต์เฮ้าส์ที่ต้องการพักในใจอยู่แล้ว จึงบอกให้ไปส่งเราที่นั่น … ครั้งแรกที่โดยสารรถสามล้อแบบที่มีที่นั่งคนโดยสารด้านข้างรถจักรยาน น่าตื่นเต้นพอควรค่ะ (รูปประกอบด้านล่างนำมาให้ดู เพื่อเป็นไอเดียที่ว่า สามล้อ + จักรยานที่ว่านั้น หน้าตาเป็นอย่างไร)
อากาศยามเช้ามืดบนท้องถนนแคบๆของพุกามหนาวเย็นพอควร ฉันห่อตัวแล้วหยิบผ้าขาวม้าที่เตรียมไปด้วยห่มทับเสื้อแขนยาวที่ใส่ … เมืองพุกามจากการมองครั้งแรก ถนนที่ฟุตบาทกว้าง แต่เงียบกริบ ต้นมะขามและต้นไม้ชนิดอื่นถูกปลูกเป็นแนวตลอดทาง บ้านเรือนหลังเล็กๆอยู่ห่างๆกัน จนกระทั่งเราเข้ามาในตัวเมืองจึงมองเห็นอาคารเป็นแถวๆอยู่หนาตาพอสมควร แต่ไม่มีอาคารสูงๆในสไตล์ที่เห็นมากมายในบ้านเรา .. อันที่จริงจากการมองฝ่าความมืดออกไปครั้งแรก ฉันว่า บ้านนอกของเมืองไทยยังทันสมัยกว่าที่นี่สัก 30 ปีขึ้นไปแน่นอนค่ะ
พุกามมีชื่อเรื่องเจดีย์ที่มีมากมาย และเมื่อซากปรักหักพังของเจดีย์ใหญ่น้อยได้รับการซ่อมแซมบูรณะจนสวยงาม อวดโฉมสู่สายตาชาวโลก พร้อมๆกับการแบ่งเขตเมืองเก่าออกจากเขตเมืองใหม่ชัดเจน สิ่งที่ตามมาคือ การสร้างเกสต์เฮ้าส์ หรือการปรับปรุงบ้านให้เป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวในเขตเมืองใหม่ รวมถึงการมีร้านจักรยานให้เช่า … ธุรกิจที่สร้างรายได้ไม่น้อยให้กับผู้ประกอบการ
เราโชคดีที่เกสต์เฮ้าส์ที่จดชื่อมายังมีห้องว่าง เราจึงสะดวกที่จะเดินในใจกลางของเมือง และอยู่ใกล้ตลาดที่สามารถเดินไปเพียง 5 นาทีก็ถึงแล้ว เราเช็คอินพร้อมกับเสียค่าธรรมเนียมการเข้าเมืองพุกามคนละ 10 USD เหมือนกับค่าเหยียบแผ่นดินที่ลาว โดยโรงแรมทำหน้าที่แทนหน่วยตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงมีหน้าที่ส่งเงินให้กับองค์การที่ต้องจัดเก็บ ... ไอเดียไม่เลวค่ะ แต่คงไม่ต้องถามถึงระบบตวรจสอบนะคะ
ฉันจัดแจงอาบน้ำ สระผม ปล่อยให้เนื้อตัวอยู่ท่ามกลางสายน้ำอุ่นๆ ก่อนที่จะแต่งตัวใหม่เพื่อออกเดินไปชมความเคลื่อนไหวของสรรพชีวิตที่นี่ โดยที่เพื่อนร่วมทางของฉันขอตัวนอนพักเอาแรงสักหน่อย
โดยมีแผนคร่าวๆว่าสายๆเราจะเริ่มเดินทางไปยังทะเลเจดีย์ที่เมืองเก่าพุกาม เธอเสนอว่าเราอาจจะเช่าจักรยานขี่ไปชมเจดีย์ … ฟังดูเก๋ไก๋ไม่เบา คุณว่าไม๊?
ฉันเดินออกจากที่พักมาที่ถนน หวังว่าจะได้เห็นภาพของพระสงฆ์เดินเป็นแถวมารับบิณฑบาตจากชาวบ้าน เหมือนกับหลายๆที่ที่ฉันเคยไปเยือนในดินแดรอุษาคเณย์ …
แต่แม้จะเป็นเวลาหกโมงเช้าแล้ว ฉันก็ยังไม่เห็นพระสงฒ์เดินเป็นแถวออกมารับการตักบาตรจากชาวบ้าน คนที่นี่บอกฉันว่าพระจะออกมาบิณฑบาตตอนสายๆ ต้องรอเพราะที่นี่เป็นเมืองที่เคลื่อนไหวช้าๆค่ะ …
ในหลายวันต่อมา ฉันจึงมีโอกาสได้ถ่ายภาพของชาวพุกามที่ออกมาทำบุญตักบาตรเช้า
สิ่งที่ทำให้ฉันตื่นตา ตื่นใจมากเมื่อแสงแดดยามเช้าส่องมากระทบเมือง คือ รถม้าค่ะ …
.... รถม้าจริงๆ วิ่งขวักไขว่ ชนิดที่ใช้ในชีวิตประจำวันของชาวเมือง ไม่เหมือนกับรถม้าที่ลำปางที่ใช้เพื่อการท่องเที่ยว ชาวเมืองที่นี่ยังนั่งรถม้าไปทำธุระ จ่ายตลาด ใช้ขนของ เหมือนกับเรานั่งรถเมล์ในกรุงเทพยังไงยังงั้น
หากคุณมีสิ่งของจำนวนมาก ก็ต้องใช้บริการของเกวียนเทียมวัว ที่เคลื่อนตัวช้าๆ ออดแอดๆๆๆๆ ไปตามถนน แต่ก็พาผู้โดยสารและสินค้าไปถึงจุดหมายเหมือนกัน … ชีวิตของคนที่นี่ ไม่รีบ ไม่ร้อน สบายๆน่าอิจฉาจริงๆ
รถยนต์มีให้เห็นเหมือนกันในพุกาม แต่จำนวนไม่มาก ไม่วิ่งกันขวักไขว่เหมือนในเมืองใหญ่ และยังเป็นโมเดลที่ฉันไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน คือ เก่ามากๆๆๆๆๆ แต่ฉันชอบจึงถ่ายรูปมาให้ดูมากมาย ...
รถที่นิยมมากที่สุด เห็นจะเป็นรถแบบรถอีแต๋นบ้านเราที่มีเครื่องยนต์ขนาดเล็กอยู่ด้านหน้าตัวถัง เป็นรถที่ใช้ได้สารพัดประโยชน์ ทั้งขนสินค้า สิ่งของ และขนผู้โดยสารที่อาจจะเป็นแม่ค้า หรือชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างๆมาตลาด มาทำธุระในเมือง … มีส่วนน้อยที่เป็นรถสำหรับท่องเที่ยว
ฉันเดินผ่านวงเวียนกลางเมือง … มองเห็นผู้คนยังใช้พาหนะง่ายๆในการเดินทางในชีวิตประจำวัน เช่น จักรยาน และภาพของรถเข็นที่มีสินค้าหลากหลายรูปแบบ เคลื่อนไหวผ่านตา
ภาพของชาวเมืองลื่นไหลเป็นความเคลื่อนไหวและสีสันของเมืองในชุดแต่งกายดั้งเดิม ... ผ้าโสร่ง เสื้อเชิ๊ตตัวหลวม สำหรับผู้ชาย และ เสื้อเข้ารูปกับผ้าถุง สำหรับผู้หญิง ที่จะขาดไม่ได้บนใบหน้าของทุกคน คือ ทานาคา ไม่เว้นว่าใครคนนั้นจะเป็นคนแก่ หนุ่มสาว หรือเด็กๆ ... เสน่ห์ ของความเรียบง่ายในชีวิตคนพม่าในประเทศที่เวลาดูเหมือนจะหยุดนิ่งมาเนิ่นนาน
ที่นี่ไม่มีห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้ออย่างที่เราคุ้นเคยในเมืองใหญ่ของไทย แต่มีร้านขายสินค้าที่จำเป็น ที่แม้ไม่มากร้าน แต่ก็จำหน่ายสินค้าที่จำเป็นให้กับชาวเมืองได้ตามอัตภาพ
ที่เห็นมีอยู่มากเป็นร้านขายอาหารที่ตั้งโต๊ะเตี้ยๆข้างถนน ซึ่งได้รับความสนใจจากชาวเมืองอยู่มาก แต่ละร้านมีคนเข้าไปอุดหนุนกันมากหน้าหลายตา ... จะเป็นเพราะอาหารอร่อย หรือแม่ค้าสวย ก็มิอาจจะคาดเดา 555+
ฉันเดินผ่านร้านค้า แล้วมาสะดุดตากับรถสามล้อดัดแปลงที่เห็นในภาพ คุณคงเดาไม่ออกว่าเขาใช้บรรทุกอะไร … น้ำ คือสิ่งที่บรรทุกโดยใช้รถเข็นในภาพ
จะมีบ่อน้ำส่วนกลางของแต่ละชุมชนที่ทุกบ้านสามารถนำภาชนะมารองรับน้ำ แล้วขนกลับไปใช้ที่บ้านได้
ร้านกาแฟ ... ดูเหมือนจะเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านนิยมมาสังสรรพูดคุย นั่งดื่มกาแฟแกล้มปาท่องโก๋ตัวโต …
... สองสัปดาห์ในการเดินทางแบกเป้ในพม่า ทำให้ฉันเรียนรู้ว่า ชาวพม่านิยมออกมานั่งดื่มกาแฟยามเช้าที่สุด พวกเขาใช้เวลาช่วงเช้าๆพูดคุย สังสรรค์กัน ดูไปแล้วเหมือนกับสภากาแฟที่ตรัง และทางใต้ของไทยค่ะ …
หลายครั้งที่เพื่อนร่วมทางสั่งกาแฟพม่ามาดื่ม เธอต้องเติมกาแฟที่เตรียมไปด้วย เธอบอกว่ากาแฟพม่าอ่อนไปค่ะ ฉันไม่ดื่มกาแฟ เลยไม่รู้ว่าหากจะให้เรตติ้งกับกาแฟพม่านั้น ควรจะอยู่ในระดับใด
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา