5 มิ.ย. 2021 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
ทำไมสมาชิกภายในกงสีมักจะมีปัญหาเรื่องการแบ่งสรรปันส่วนเสมอ?
เพื่อนๆหลายๆคนคงประสบปัญหานี้แทบทุกคนครับเวลาเข้าไปในกงสีและเห็นตัวเลขเวลามีการแบ่งเงินกัน ไม่ว่าจะรูปแบบใด เช่นเงินเดือน เงินปันผล หรือเงินในรูปแบบอื่นๆ สาเหตุของการรู้สึกว่าตนเองได้ในส่วนที่ไม่ยุติธรรมนั้นก็คือ ความยุติธรรมของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน รวมถึงปัจจัยที่จะนำมากำหนดสัดส่วนนั้นไม่เหมือนกัน เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับความเห็นของสมาชิกคนอื่นๆ
คงปฏิเสธไม่ได้ครับว่าเวลาให้คนคนนึงกำหนดสัดส่วน แว๊บแรกที่เข้ามาในหัวเลยครับคือทุกคนอยากได้เยอะ อย่างน้อยเท่ากับส่วนที่ควรจะได้ทั้งในฐานะพนักงานและเจ้าของร่วมจึงจะพอใจ เช่นว่าเราเข้ามาดูแลบัญชี ปกติกงสีเคยจ้างพนักงานบัญชีประมาณนี้ที่ 30,000บาทต่อเดือนเมื่อเราจะเข้ามารับตำแหน่งแทนเราก็อาจจะขอสัก35,000บาทเผื่อความเป็นเจ้าของร่วมเข้าไป แต่เมื่อเราแอบรู้มาว่าสมาชิกกงสีอีกคนรับหน้าที่อื่นได้มากกว่าเราที่50,000บาทต่อเดือน แบบนี้จะเกิดความรู้สึกไม่ยุติธรรมแล้วครับว่าทำไมคนนั้นได้มากกว่าอย่างน้อยควรเท่ากันสิ
น้อยคนครับที่จะประเมินความสามารถตนเองตามจริงในระบบกงสีเพราะเราใส่ความรู้สึกไปแล้วว่าเราคือเจ้าของกงสีด้วย ส่วนที่แทบไม่มีเลยก็คือคนที่จะขอส่วนแบ่งน้อยกว่าความสามารถเพื่อประหยัดรายจ่ายให้กงสีในขณะที่มีสมาชิกอยู่หลายคน ต่างคนต่างต้องการส่วนแบ่งมากกว่าที่เป็นอยู่ครับ ไม่ใช่ว่าตนเองได้น้อยนะครับแต่ไม่งั้นคนอื่นเอาไปหมด
เหตุผลใดที่มนุษย์นิยมนำมากำหนดผลตอบแทนของตนเองในกงสี?
1. ศักดิ์, เพศ เช่น พี่คนโต ควรจะได้ทั้งหมด generationที่อยู่ในลำดับสูงกว่าควรได้มากกว่า คนอายุมากกว่าควรได้มากกว่าคนอายุน้อย หรือ บางครั้งจะมีว่า ลูกของลูกคนโตควรได้มากกว่าลูกของลูกคนรอง แม้ว่าลูกของลูกคนโตจะอายุน้อยกว่าอีกคน เพศชายควรได้มากกว่าเพศหญิง
2.คิดว่าความรับผิดชอบของเราเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้หน้าที่อื่นๆ แม้ว่าคนละฝ่ายก็ควรได้เท่ากันหรือมากกว่าเท่านั้น เช่นว่ามีโรงงานหนึ่งผลิตสินค้าชนิดนึงจำหน่าย ฝ่ายบัญชี ฝ่ายกระจายสินค้า ฝ่ายผลิต ฝ่ายขาย ทุกฝ่ายควรได้เท่ากัน ส่วนตัวผมคิดว่าฝ่ายที่เป็นหัวใจของกงสี(core business)ควรได้รับสัดส่วนมากกว่า เช่น ฝ่ายผลิตควรจะเป็นหัวใจของธุรกิจโรงงาน (ความเห็นอาจไม่ตรงกับบางท่านต้องขออภัย) ฝ่ายบัญชีควรเป็นหัวใจของธุรกิจกรณีเป็นบริษัทรับทำบัญชี ฝ่ายกระจายสินค้าควรเป็นหัวใจของธุรกิจกรณีเป็นบริษัทขนส่ง เป็นต้น สรุปสั้นๆว่าหน้าที่เหนื่อยกว่าส่งผลต่อธุรกิจมากกว่าควรได้ค่าเหนื่อยมากกว่า แต่ถ้าผมสรุปแบบนี้และมีเพื่อนคนใดสมาชิกท่านใดหยิบยกไปพูดก็จะไม่สิ้นสุดอีกครับว่าเหนื่อยกว่าจริงไหมและเหนื่อยกว่าเท่าใด
3. ความมั่นใจตนเอง อันนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัวมากครับที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งได้บ่อยครั้ง เรามักประเมินความสามารถของตนเองอยู่ในระดับที่สูงกว่าความเป็นจริงเสมอ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับคนรู้จัก คล้ายๆว่าไม่ยอมน้อยหน้าเขาหรอก อาจจะผสมความริษยาเข้าไปด้วย เช่นว่า ฉันว่าฉันฉลาดกว่าสมาชิกคนนี้แน่ๆ มองๆแล้วฉันเก่งที่สุดแล้วในบรรดาสมาชิกทั้งหมด ดังนั้นฉันควรจะได้เงินมากที่สุด ควรยกตำแหน่งเจ้าของมาให้ฉัน หากได้เงินเท่ากันหรือน้อยก็แปลว่ายอมรับว่าตนเองด้อยกว่าสมาชิกคนอื่น คนที่มีความคิดแบบนี้ไม่มีทางยอมรับเงินจำนวนน้อยกว่าได้ นำไปสู่ความขัดแย้งได้อย่างง่ายดาย
ใน3ปัจจัยนี้เหตุผลใดที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ ตอบสั้นๆครับว่าเหตุผลที่จะทำให้คนนั้นได้ผลตอบแทนสูงสุดครับ และแน่นอนเมื่อมีคนขอผลตอบแทนสูงสุดด้วยเหตุผลของเขา เจ้าร่วมท่านอื่นๆหรือผู้มีอำนาจก็ต้องหยิบยกเหตุผลอื่นมาลบล้างให้เงินจากกงสีลดลงให้น้อยที่สุดเพื่อรักษาเงินกองกลางไว้ อยู่ที่ว่าคนที่หยิบยกเหตุผลนั้นมีความสามารถในการพูดเพียงใดที่จะทำให้อีกฝ่ายยอมได้ครับ เช่นว่า
มีเหตุกาณ์ที่คุณพ่อเจ้าของธุรกิจเดิมเสียชีวิตโดยยังไม่ได้แบ่งว่าลูกชายทั้ง3คน ใครจะได้หุ้นคนละกี่เปอเซนต์ที่ผ่านมาเป็นของคุณพ่อคนเดียว ลูกคนโตก็อ้างเหตุผลว่า ลูกชายคนโตควรได้กิจการไปทั้งหมด คนรองที่เข้ามาช่วยงานอยู่ก็อ้างเหตุผลว่าทุกคนควรได้เท่ากันและร่วมกันบริหาร คนเล็กก็ยกเหตุผลว่าฉันเรียนจบสูงที่สุดควรยกให้บริหารและได้ส่วนแบ่งมากที่สุดเพราะฉันจะทำให้ธุรกิจดีขึ้น
เมื่อเหตุผลแต่ละคนต่างกัน มุมมองต่างกันแบบนี้ ความยุติธรรมของแต่ละคนจึงไม่เท่ากัน "กงสีจึงไม่มีความยุติธรรมสำหรับทุกคน"
อันนี้ผมอาจจะพูดในเชิงลบมากไปหน่อยขออภัยครับ กงสีที่ตกลงโดยสองฝ่ายเห็นร่วมกันก็มีครับ แต่อาจจะหายากขึ้นตามจำนวนสมาชิกที่มากขึ้น
เมื่ออ่านถึงตรงนี้แล้วอาจจะมีคำถามต่อมาครับว่า
อ้าวแล้วแบบนี้ควรจะกำหนดสัดส่วนอย่างไร?
คำถามนี้ผมได้เขียนไปในบทความก่อนหน้าแล้วครับลองคลิ๊กลิ้งค์ด้านล่าง
แล้วสมาชิกกงสีอื่นๆที่ยังดำเนินการอยู่เขาแบ่งกันยังไง?
ตอบครับว่ากงสีที่อยู่กันมายาวนาน สมาชิกที่ได้รับอะไรน้อยกว่าหรือรู้สึกไม่ยุติธรรมก็คงหมดไฟในการดิ้นรนทั้งการทำงานและเรื่องการเพิ่มสัดส่วนให้ตัวเองแล้วครับ ก็ได้แต่คิดในใจว่าเท่านี้ก็พออยู่ได้ อาจจะไม่ได้ชอบงานมากมายแต่ก็อดทนไป เลยเวลากลับตัวแล้ว
หากผมอธิบายอะไรงงๆไม่เข้าใจก็ขออภัยครับ พบกันใหม่บทความหน้า ไว้จะมาแชร์ประสบการณ์อีกครับ
โฆษณา