6 มิ.ย. 2021 เวลา 09:37 • ปรัชญา
ธรรมบรรยาย
หลวงปู่ดู่ พฺรหฺมปัญโญ
วัดสะแก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
01. ศีล สมาธิ ปัญญา
เกี่ยวกับพระไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญานั้น หลวงพ่อท่านเคยอธิบายไว้ให้ฟังว่า ผู้มี ศีล ดี ย่อมเป็นพื้นฐานของสมาธิ และสามารถยังปัญญาให้เกิดได้ ผู้ที่มี สมาธิ ดี ย่อมสามารถสร้างปัญญาให้เกิดและเล็งเห็นความสำคัญของการมีศีล สำหรับผู้ที่มี ปัญญา ดีแล้ว ย่อมมีความฉลาดสามารถครอบคลุม รู้ถึงวิธีการรักษาศีล และย่อมได้ตัวสมาธิด้วย จะเห็นว่าพระไตรสิกขาทั้งสามข้อนี้ เกี่ยวเนื่องกันหมด โดยที่ต่างฝ่ายต่างก็เป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนกันดังเช่นคำของครูบาอาจารย์บางท่านว่า สมาธิอบรมปัญญา และปัญญาอบรมสมาธิ ซึ่งท่านเน้นทางด้านปัญญาที่มีความสำคัญครอบคลุมทุกอย่าง ดังภาพข้างล่างซึ่งหลวงพ่อดู่ท่านเคยเขียนอธิบายให้ศิษย์ท่านหนึ่ง
ศีล-สมาธิ-ปัญญา
สมาธิ-ปัญญา-ศีล
ปัญญา-ศีล-สมาธิ
02. อานิสงส์การภาวนา
หลวงพ่อท่านเคยพูดเสมอว่า “อุปัชฌาย์ข้า (หลวงพ่อกลั่น) สอนว่า ภาวนาได้เห็นแสงสว่างเท่าปลายหัวไม้ขีด ชั่วประเดี๋ยวเดียว เท่าช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น ยังมีอานิสงส์มากกว่าตักบาตรจนขันลงหินทะลุ”
พวกเรามักจะได้ยินท่านคอยให้กำลังใจอยู่บ่อยๆ ว่า
“หมั่นทำเข้าไว้ หมั่นทำเข้าไว้ ต่อไปจะได้เป็นที่พึ่งภายหน้า”
เสมือนหนึ่งเป็นการเตือนให้เราเร่งความเพียรให้มาก การให้ทานรักษาศีลร้อยครั้งพันครั้ง ก็ไม่เท่ากับนั่งภาวนาหนเดียว นั่งภาวนาร้อยครั้งพันครั้ง กุศลที่ได้ก็ไม่เท่ากุศลจิตที่สงบเป็นสมาธิเกิดปัญญาเพียงครั้งเดียว
03. ควรทำหรือไม่?
“ครั้งหนึ่ง มีลูกศิษย์หลวงพ่อผู้สนใจธรรมปฏิบัติ กำลังนั่งภาวนาเงียบอยู่ ไม่ห่างจากท่านเท่าใดนัก บังเอิญมีแขกมาหาศิษย์ผู้นั้นแต่ไม่เห็น ก็มีศิษย์อีกท่านหนึ่งเดินเรียกชื่อท่านผู้กำลังนั่งภาวนาอยู่ ด้วยเสียงอันดัง และเมื่อเดินมาเห็นศิษย์ผู้นั้นกำลังภาวนาอยู่ ก็จับแขนดึงขึ้นมาทั้งที่กำลังนั่งภาวนา เมื่อผู้นั้นห่างไปแล้ว หลวงพ่อท่านจึงเปรยขึ้นมาว่า
“ในพุทธกาลครั้งก่อน มีพระอรหันต์องค์หนึ่งกำลังอยู่นิโรธสมาบัติ ได้มีนกแสกตัวหนึ่งบินโฉบผ่านหน้าท่าน พร้อมกับร้อง “แซ๊ก” ท่านว่านกแสกตัวนั้นเมื่อตายแล้ว ได้ไปอยู่ในนรก แม้กัปนี้พระพุทธเจ้าผ่านไปได้พระองค์ที่สี่แล้ว นกแสกตัวนั้นยังไม่ได้ขึ้นมาจากนรกเลย”
04. แสงสว่างเป็นกิเลส?
มีคนเล่าให้หลวงพ่อฟังว่า มีผู้กล่าวว่า การทำสมาธิแล้วบังเกิดความสว่าง หรือเห็นแสงสว่างนั้นไม่ดี เพราะเป็นกิเลส มืดๆ จึงจะดี หลวงพ่อท่านกล่าวว่า
“ที่ว่าเป็นกิเลสก็ถูก แต่เบื้องแรกต้องอาศัยกิเลสไปละกิเลส (อาศัยกิเลสส่วนละเอียด ไปละกิเลสส่วนหยาบ) แต่ไม่ได้ให้ติดในแสงสว่าง หรือหลงแสงสว่าง แต่ให้ใช้แสงสว่างให้ถูก ให้เป็นประโยชน์ เหมือนอย่างกับเราเดินผ่านไปในที่มืด ต้องใช้แสงไฟหรือจะข้ามแม่น้ำ มหาสมุทรก็ต้องอาศัยเรือ อาศัยแพ แต่เมื่อถึงฝั่งแล้วก็ไม่ได้แบกเรือแบกแพขึ้นฝั่งไป”
แสงสว่างอันเป็นผลจากการเจริญสมาธิก็เช่นกัน ผู้มีสติปัญญา สามารถใช้เพื่อให้เกิดปัญญาอันเป็นแสงสว่างภายใน ที่ไม่มีแสงใดเสมอเหมือนดังธรรมที่ว่า
“นัตถิ ปัญญา สมา อาภา แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี”
05. ปลูกต้นธรรม
ครั้งหนึ่งหลวงพ่อเคยเปรียบการปฏิบัติธรรมเหมือนการปลูกต้นไม้ ท่านว่า...ทำนี้มันยาก ต้องคอยบำรุงดูแลรักษาเหมือนกับเราปลูกต้นไม้
ศีล...................นี่คือ ดิน
สมาธิ...............คือ ลำต้น
ปัญญา.............คือ ดอก ผล
ออกดอกเมื่อใดก็มีกลิ่นหอมไปทั่ว การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน ผู้รักการปฏิบัติต้องคอยหมั่นรดน้ำพรวนดิน ระวังรักษาต้นธรรม ให้ผลิดอก ออกใบ มีผลน่ารับประทานต้องคอยระวัง ตัวหนอน คือ โลภ โกรธ หลง มิให้มากัดกินต้นธรรมได้อย่างนี้...จึงจะได้ชื่อว่า ผู้รักธรรม รักการปฏิบัติจริง
06. เทวทูตทั้งสี่
ธรรมะที่หลวงพ่อยกมาสั่งสอนศิษย์เป็นประจำมีอยู่เรื่องหนึ่งคือ เทวทูตทั้งสี่ หลวงพ่อท่านหมายถึงผู้เตือน ซึ่งมีอยู่ 4 อย่าง คือ คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ และคนตาย หลวงพ่อเล่าถึงเทวทูตทั้งสี่ สรุปได้ว่า
เมื่อเราเกิดมาแล้ว
เรามีความแก่เป็นธรรมดา
เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา
เรามีความตายเป็นธรรมดา
ท่านว่า “ให้พิจารณาดูให้ดีให้เห็นอนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา”
07. เรารักษาศีล ศีลรักษาเรา
ศีลเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการปฏิบัติธรรมทุกอย่าง หลวงพ่อมักจะเตือนเสมอว่าในขั้นต้นให้หมั่นสมาทานรักษาศีลให้ได้ แม้จะเป็นโลกียศีล รักษาได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บริสุทธิ์บ้าง ไม่บริสุทธิ์บ้าง ก็ให้เพียงระวังรักษาไป สำคัญที่เจตนาที่จะรักษาศีลไว้ และปัญญาที่คอยตรวจตราแก้ไขตน
“เจตนาหัง ภิกขเว สีลัง วทามิ” ท่านว่า เจตนาเป็นตัวศีล
“เจตนาหัง ภิกขเว ปุญญัง วทามิ” เจตนาเป็นตัวบุญ
จึงขอให้พยายามสั่งสมบุญนี้ไว้ โดยอบรมศีลให้เกิดขึ้นที่จิตเรียกว่า เรารักษาศีล
ส่วนจิตที่อบรมศีลดีแล้ว จนเป็นโลกุตรศีล เป็นศีลที่ก่อให้เกิดปัญญาในอริยมรรค อริยผลนี้ จะคอยรักษาผู้ประพฤติปฏิบัติ มิให้เสื่อมเสียหรือตกต่ำไปในทางที่ไม่ดีไม่งามนี้แล เรียกว่า ศีลรักษาเรา
08. แนะวิธีปฏิบัติ
เคยมีสุภาพสตรีท่านหนึ่งมีปัญหาถามว่า นั่งปฏิบัติภาวนาแล้วจิตไม่รวม ไม่สงบ ควรจะทำอย่างไร ท่านแก้ให้ว่า
“การปฏิบัติ ถ้าอยากเป็นเร็วๆ มันก็ไม่เป็น หรือไม่อยากให้เป็น มันก็ประมาทเสีย ไม่เป็นอีกเหมือนกัน อยากเป็นก็ไม่ว่า ไม่อยากเป็นก็ไม่ว่า ทำใจให้เป็นกลางๆ ตั้งใจให้แน่วแน่ในกัมมัฏฐานที่เรายึดมั่นอยู่นั้น แล้วภาวนาเรื่อยไป เหมือนกับเรากินข้าว ไม่ต้องอยากให้มันอิ่ม ค่อยๆ กินไปมันก็อิ่มเอง ภาวนาก็เช่นกัน ไม่ต้องไปคาดหวังให้มันสงบ หน้าที่ของเรา คือ ภาวนาไปก็จะถึงของดี ของวิเศษในตัวเรา แล้วจะรู้ชัดขึ้นมาว่าอะไรเป็นอะไร ให้หมั่นทำเรื่อยไป”
09. อุบายวิธีทำความเพียร
ครั้งหนึ่งที่ได้สนทนาปัญหาธรรมกับหลวงพ่อ ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า...เขามาถามปัญหาเข้า ข้าก็ตอบไม่ได้อยู่ปัญหาหนึ่ง
ผู้เขียนเรียนถามท่านว่า “ปัญหาอะไรครับ”
ท่านเล่าว่า “เขาถามว่า ขี้เกียจ (ปฏิบัติ) จะทำอย่างไรด ี”
หลวงพ่อหัวเราะ ก่อนที่จะตอบต่อไปว่า “บ๊ะ ขี้เกียจก็หมดกัน ก็ไม่ต้องทำซิ”
สักครู่ท่านจึงเมตตาสอนว่า “หมั่นทำเข้าไว้ๆ ถ้าขี้เกียจให้นึกถึงข้า ข้าทำมา 50 ปี อุปัชฌาย์ข้าเคยสอนไว้ว่า ถ้าวันไหนยังกินข้าวอยู่ ก็ต้องทำ วันไหนเลิกกินข้าว...นั่นแหละถึงไม่ต้องทำ”
10. หลวงพ่อทวดกับศิษย์
ในตอนบ่ายของวันหนึ่ง หลวงพ่อดู่ได้สนทนาธรรมกับศิษย์ผู้ปฏิบัติท่านหนึ่งว่า
“ข้าโมทนาสาธุด้วย ไม่เสียทีที่เกิดมาแล้ว นิพพานะ ปัจจะโยโหตุ เอาจริงได้เลย เรียนแล้วต้องไปประดับเอาเอง ไปถามครูบาอาจารย์ตัวนอก ตัวนอกเขาก็ปุถุชนเหมือนกัน ใครอ่านหนังสือมาก ใครรู้มาก เขาแบ่งกันออกไป”
จากนั้นท่านก็ได้เล่าถึงหลวงพ่อทวดให้ฟังว่า ฉันไม่ใช่เป็นอาจารย์หรอก อาจารย์นั่นพระพุทธเจ้า หลวงพ่อทวดมั่น ฉันเป็นลูกศิษย์ท่าน หลวงพ่อทวดท่านก็ไม่ยอมเป็นอาจารย์นะ เคยมีลูกศิษย์จะขอให้หลวงพ่อทวดท่านตั้งแบบให้ ได้ถามท่านว่า
“หลวงพ่อ ช่วยตั้งแบบปฏิบัติให้ที”
“ข้าตั้งไม่ได้” ท่านตอบ
“เพราะเหตุไร หลวงพ่อ” ศิษย์เรียนถาม
“ก็ข้าเป็นศิษย์พระสมณโคดม ถ้าข้าตั้ง ข้าก็สบประมาทท่าน ผิดจากแบบพระไตรปิฎก ต้องหาแบบใหม่มา เป็นบาป” ท่านตอบ
“ถ้าอย่างนั้น ผมขอหลวงพ่อช่วยเหลือในหมู่คณะปฏิบัติ” ศิษย์ขอร้อง
ท่านจึงตอบว่า “เออ! งั้นได้ ช่วยเหลือสนับสนุนพระพุทธเจ้าเดิม เพื่อประโยชน์พระศาสนาต่อไปภายหน้า”
11. เสกข้าว
ครั้งหนึ่งเคยมีศิษย์บางท่านนำข้าวมาให้หลวงพ่อท่านเสกอธิษฐานจิตให้ทานเสมอ ซึ่งท่านก็เมตตาไม่ขัด แต่บ่อยๆ เข้าท่านก็พูดว่า
“เสกอะไรกันให้บ่อยๆ เสกเองบ้างซิ” คำพูดนี้ท่านได้ขยายความให้ฟังในภายหลังว่า คำว่า เสกเอง คือ การเสกตนเองให้เป็นพระ ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติต่อจิตใจของตนเอง ยกระดับให้สูงขึ้น หรือมีใจเป็นพระบ้าง มิใช่จะเป็นท่านอธิษฐานเสกเป่าของภายนอก เพื่อหวังเป็นมงคลถ่ายเดียว โดยไม่คิดเสกตนเองด้วยตนเอง
12.สำเร็จที่ไหน
มีผู้ปฏิบัติธรรมบางท่านข้องใจข้อปฏิบัติธรรมะเกี่ยวกับการวางที่ตั้งตามฐานของจิตในการภาวนา จึงได้ไปเรียนถามหลวงพ่อตามที่เคยได้รับรู้ รับฟังมาว่า “การภาวนาที่ถูกต้อง หรือจะสำเร็จมรรคผลได้นั้น ต้องตั้งจิตวางจิตไว้ที่กลางท้องเท่านั้น ใช่หรือไม่?” หลวงพ่อท่านตอบอย่างหนักแน่นว่า “ ที่ว่าสำเร็จนั้นสำเร็จที่จิต ไม่ได้สำเร็จที่ฐาน คนที่ภาวนาเป็นแล้วจะตั้งจิตไว้ที่ปลายนิ้วชี้ก็ยังได้้” แล้วท่านก็บอกจำนวนที่ตั้งตามฐานต่างๆ ของจิตให้ฟัง จะเห็นได้ว่าท่านไม่ได้เน้นว่าต้องวางจิตใจที่เดียวที่นั่นที่นี่เพราะฐานต่างๆ ของจิตเป็นทางผ่านของลมหายใจทั้งสิ้น ท่านเน้นที่สติและปัญญาที่มากำกับใจต่างหาก สมดังในพระพุทธพจน์ที่ว่า “มโน ปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยาฯ” “ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจเป็นใหญ่เป็นประธานสำเร็จได้ด้วยใจ”
13. อารมณ์อัพยากฤต
เคยมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้กราบเรียนถามหลวงพ่อว่า อารมณ์อัพยากฤตไม่จำเป็น ต้องมีได้เฉพาะพระอรหันต์ ใช่หรือไม่? ท่านตอบว่า “ใช่ แต่อารมณ์อัพยากฤตของพระอรหันต์ท่านทรงตลอดเวลา ไม่เหมือนปุถุชนที่มีเป็นครั้งคราวเท่านั้น” ท่านอุปมาอารมณ์ให้ฟังว่า เปรียบเสมือนคนไปยืนที่ตรงทางสองแพร่ง ทางหนึ่งไปทางดี (กุศล) อีกทางหนึ่งไปในทางที่ไม่ดี (อกุศล) ท่านว่า อัพยากฤตมี 3 ระดับ คือ ระดับหยาบ คือ อารมณ์ปุถุชนที่เฉยๆ ไม่คิดดี ไม่คิดชั่ว ซึ่งมีเป็นครั้งคราวเท่านั้น ระดับกลาง มีในผู้ปฏิบัติสมาธิ มีสติ มีความสงบของจิต วางอารมณ์จากสิ่งที่ดี ที่ชั่ว ดังที่เรียกว่าอุเบกขารมณ์ ระดับละเอียด คือ อารมณ์ของพระอรหันต์ ซึ่งไม่มีทั้งอารมณ์ที่คิดปรุงไปในทางดีหรือในทางไม่ดี วางอารมณ์อยู่ได้ตลอดเวลาเป็นวิหารธรรมของท่าน
14. การบวชจิต-บวชใน
หลวงพ่อเคยปรารภไว้ว่า...จะเป็นชายหรือหญิงก็ดี ถ้าตั้งใจประพฤติปฏิบัติมีศีล รักในการปฏิบัติจิตมุ่งหวังเอาการพ้นทุกข์เป็นที่สุด ย่อมมีโอกาสเป็นพระกันได้ทุกๆ คนมีโอกาสที่จะบรรลุมรรค ผล นิพพาน ได้เท่าเทียมกันทุกคนไม่เลือกเพศ เลือกวัย หรือฐานะ แต่อย่างใดไม่มีอะไรจะมาเป็นอุปสรรคในความสำเร็จได้ นอกจากในของผู้ปฏิบัติเอง ท่านได้แนะเคล็ดในการบวชจิตว่า..... “ในขณะที่เรานั่งสมาธิเจริญภาวนานั้น คำกล่าวว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ...ให้นึกถึงว่าเรามีพระพุทธเจ้า เป็นพระอุปัฌาย์ ของเรา ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ...ให้นึกว่าเรามีพระธรรม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ...ให้นึกว่าเรามีพระอริยสงฆ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ แล้วอย่าสนใจขันธ์ 5 หรือร่างกายเรานี้ ให้สำรวมจิตให้ดี มีความยินดีในการบวช ชายก็เป็นพระภิกษุ หญิงก็เป็นพระภิกษุณี อย่างนี้จะมีอานิสงส์สูงมาก จัดเป็นเนกขัมบารมีขั้นอุกฤษฎ์ทีเดียว”
15. อุปมา ศีล สมาธิ ปัญญา
ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับหลวงน้าสายหยุด ท่านได้เมตตาเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า หลวงพ่อเคยเปรียบธรรมะของพระพุทธเจ้าเหมือนแกงส้ม แกงส้มนั้นมี 3 รส คือ เปรี้ยว เค็ม และเผ็ด ซึ่งมีความหมายดังนี้ รสเปรี้ยว หมายถึง ศีล ความเปรี้ยวจะกัดกร่อนความสกปรกออกได้ฉันใด ศีลก็จะขัดเกลาความหยาบออกจากกาย วาจา ใจ ได้ฉันนั้น รสเค็ม หมายถึง สมาธิ ความเค็มสามารถรักษาอาหารต่างๆ ไม่ให้เน่าเสียได้ฉันใด สมาธิก็สามารถรักษาจิตของเราให้ตั้งมั่นอยู่ในคุณความดีได้ฉันนั้น รสเผ็ด หมายถึง ปัญญา ความเผ็ดร้อนโลดแล่นไป เปรียบได้ดั่งปัญญา ที่สามารถก่อให้เกิดความคิด ขจัดความไม่รู้ เปลี่ยนจากของคว่ำเป็นของหงาย จากมืดเป็นสว่างได้ฉันนั้น
16. ตรี โท เอก
ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนจะจัดทำบุญเพื่อเป็นกตัญญูกตเวทิตาธรรม น้อมถวายแด่หลวงพ่อเกษม เขมโก เนื่องในโอกาสที่หลวงพ่อท่านมีอายุครบ 74 พรรษา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2528 ผู้เขียนได้เรียนถามหลวงพ่อว่า “การทำบุญอย่างไร จึงจะดีที่สุด” หลวงพ่อท่านได้เมตตาตอบว่า “ ของดีนั้นอยู่ที่เราของดีนั้นอยู่ที่จิตจิตมี 3 ชั้น ตรี โท เอกถ้าตรีก็ต่ำหน่อย โทก็ปานกลาง เอกนี่อย่างอุกฤษฎ์มันไม่มีอะไร...ก็ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาตัวอนัตตานี่แหละเป็นตัวเอกไล่ไปไล่มา ให้มันเห็นสังขารร่างกายเรา ตายแน่ๆคนเราหนีตายไปไม่พ้นตายน้อย ตายใหญ่ตายใหญ่ก็หมด ตายน้อยก็หลับไปตรองดูให้ดีเถอะ...”
17. ต้องสำเร็จ
หลวงพ่อเคยสอนว่า... “ ความสำเร็จนั้น มิใช่อยู่ที่การสวดมนต์อ้อนวอนพระเจ้ามาประทานให้ หากแต่ต้องลงมือทำด้วยตนเอง ถ้าตั้งใจทำตามแบบแล้ว ทุกอย่างต้องสำเร็จ ไม่ใช่ จะสำเร็จ พระพุทธเจ้าท่านวางแบบเอาไว้แล้ว ครูบาอาจารย์ทุกองค์มีพระพุทธเจ้าเป็นที่สุด ก็ได้ทำตามแบบ เป็นตัวอย่างให้เราดู อัฐิท่านก็กลายเป็นพระธาตุกันหมด เมื่อได้ไตร่ตรองพิจารณาให้รอบคอบแล้ว ขอให้ลงมือทำทันที ข้าขอรับรองว่าต้องสำเร็จ ส่วนจะช้า หรือเร็วนั้น อยู่ที่ความเพียรของผู้ปฏิบัติ ขอให้ตั้งปัญหาถามตัวเองว่า สิ่งนั้น บัดนี้เราได้ลงมือทำแล้วหรือยัง?”
18. พระนิพพาน
เคยมีศิษย์นักปฏิบัติท่านหนึ่งได้ถามหลวงพ่อเกี่ยวกับเรื่องของพระนิพพาน หลวงพ่อท่านได้ตอบให้ฟังเป็นเรื่องที่ชวนให้คิดว่า “พระนิพพานอุปมาขนาดเท่าเส้นผม ผู้ที่จะผ่านพ้นในขั้นสุดท้ายไปได้หรือไม่ได้ อยู่เพียงนิดเดียว ในการทำจิตตัดจุดนี้ได้หรือไม่เท่านั้น พระพุทธเจ้าตอนที่ท่านจะปรินิพพาน ท่านได้ปรินิพพานไปในระหว่างรูปฌาณและอรูปฌาน ผู้ที่ดับขันธ์ในระหว่างทรงรูปฌาน ย่อมได้เป็นรูปพรหม ซึ่งยังไม่วิมุติหลุดพ้น ผู้ที่ดับขันธ์ในขณะทรงอรูปฌาน ย่อมได้เป็นอรูปพรหม ซึ่งก็ยังเป็นสมมติอยู่เช่นกัน ส่วนพระพุทธเจ้าท่านดับขันธ์ระหว่างช่วงทั้งสอง เป็นการดับขันธ์ด้วยความบริสุทธิ์เหนือสมมติโดยสิ้นเชิง ไม่ติดอยู่ทั้งในรูปฌานและอรูปฌาน ซึ่งเป็นวิปัสนูกิเลสทั้งสองอย่าง พระอรหันต์บางประเภทที่ไม่สามารถเจริญอรูปสมาบัติ ท่านก็ดับขันธ์ไปด้วยความบริสุทธิ์เช่นกัน แม้อยู่ก็อยู่ด้วยจิตที่บริสุทธิ์ ไม่ติดในสมมติใดๆ เพราะความชำนาญในด้านสมาธิของพระอรหันต์แต่ละประเภทนั้นไม่เท่ากัน”
19. จะเอาโลกหรือเอาธรรม
บ่อยครั้งที่มีผู้มาถามปัญหากับหลวงพ่อ โดยมักจะนำเอาเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับหน้าที่การงาน สามี ภรรยา ลูกเต้า ญาติ มิตร หรือคนอื่นๆ มาปรารภให้หลวงพ่อฟังอยู่เสมอ ครั้งหนึ่งท่านได้ให้คติเตือนใจผู้เขียนว่า “โลกเท่าแผ่นดิน ธรรมเท่าปลายเข็ม” ซึ่งต่อมาท่านได้ให้ความหมายว่า “เรื่องโลกมีแต่เรื่องยุ่งของคนอื่นทั้งนั้น ไม่มีที่สิ้นสุด เราไปแก้ไขเขาไม่ได้ ส่วนเรื่องธรรมนั้นมีที่สุด มาจบที่ตัวเรา ให้มาไล่ดูตัวเอง แก้ไขที่ตัวเราเอง ตนของตนเตือนตนด้วยตนเอง ถ้าคิดสิ่งที่เป็นธรรมแล้วต้องกลับเข้ามาหาตัวเอง ถ้าเป็นโลกแล้ว จะมีแต่ส่งออกไปข้างนอกตลอดเวลา เพราะธรรมแท้ๆ ย่อมเกิดจากในตัวของเรานี้ทั้งนั้น”
20. การอุทิศส่วนกุศลภายนอกภายใน
มีบางท่านเข้าใจคลาดเคลื่อน เกี่ยวกับการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายของหลวงพ่อ ซึ่งท่านเมตตาทำเป็นปกติ จึงมีความหวังว่าเมื่อตนตาย หลวงพ่อท่านจะเมตตาให้บุญส่งวิญญาณ ส่งจิตไปสวรรค์ไปนิพพานได้ ด้วยตนเป็นผู้เข้าวัด ทำทาน และปรนนิบัติหลวงพ่อมานาน หลวงพ่อท่านก็เมตตาเตือนว่า “ถ้าข้าตายไปก่อน แล้วใครจะส่ง (บุญ) ให้แกล่ะ” ด้วยความไม่เข้าใจ ท่านผู้นั้นจึงมีคำตอบว่า “ขอให้หลวงพ่ออยู่ต่อไปนานๆ ให้พวกผมตายก่อน” นี่เป็นจุดชวนคิดในคำเตือนของท่านที่บอกเป็นนัยว่า การไปสุคติหรือการหลุดพ้นนั้น ต้องปฏิบัติ ต้องสร้างด้วยตนเองเป็นสำคัญ มิใช่หวังจะพึ่งบุญพึ่งกุศลผู้อื่น การอาศัยผู้อื่นเมื่อตายแล้วนั้น เป็นเพียงส่วนน้อยที่อาจจะได้ อีกทั้งยังเป็นความไม่แน่นอนด้วย สู้ทำด้วยตัวเองไม่ได้ เป็นแง่คิดให้คิดว่า ต้องปฏิบัติตนให้มั่นใจในตนเองตั้งแต่ก่อนตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติให้รู้แจ้งในธรรมตั้งแต่ปัจจุบันชาตินี้เป็นดียิ่งทีเดียว
21. ธรรมโอวาท
เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันในวงของผู้ปฏิบัติธรรม หลวงพ่อท่านได้ให้ โอวาทเตือนผู้ปฏิบัติไว้ว่า “การมาอยู่ด้วยกัน ปฏิบัติด้วยกัน มากเข้าย่อมมีเรื่องกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนคนธรรมดาอยู่ ทิฏฐิความเห็นย่อมต่างกัน ขอให้เอาแต่ส่วนดีมาสนับสนุนกัน อย่าเอาเลวมาอวดกัน” การปรามาสพระก็ดี การพูดจาจ้วงจาบในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือท่านที่มีศีล มีธรรมก็ดี จะเป็นกรรมติดตัวเราและขัดขวางการปฏิบัติธรรมในภายหน้า ดังนั้น หากเห็นใครทำความดี ก็ควรอนุโมทนายินดีด้วย แม้ต่างวัด ต่างสำนักหรือแบบปฏิบัติต่างกันก็ตาม ไม่มีใครผิดหรอก เพราะจุดมุ่งหมายต่างก็เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์เช่นกัน เพียงแต่เราจะทำให้ดี ดียิ่ง ดีที่สุดเท่านั้น ขอให้ถามตัวเราเองเสียก่อนว่า “แล้วเราล่ะ ถึงที่สุดแล้วหรือยัง?”
22. นายระนาดเอก
เกี่ยวกับเรื่องไหวพริบ ปฏิภาณและตัวปัญญา หลวงพ่อท่านได้ยกตัวอย่าง เรื่องของนายระนาดเอกไว้ให้ฟังว่า สมัยก่อนการเรียนระนาดนั้น อาจารย์จะสอนวิชาการตีระนาดแม่ไม้ต่างๆ โดยทั่วไปแก่ศิษย์ ส่วนแม่ไม้วิชาครูจะเก็บไว้เฉพาะตน มิได้ถ่ายทอดให้แก่ศิษย์ผู้หนึ่งผู้ใด
อยู่มาวันหนึ่ง นายระนาดเอกพักผ่อนนอนเล่นอยู่ใต้ถุนเรือนที่บ้านอาจารย์ของตน ได้ยินเสียงอาจารย์ของเขากำลังต่อเพลงระนาด ทบทวนแม่ไม้วิชาครูอยู่ นายระนาดเอกก็แอบฟัง ตั้งใจจดจำไว้จนขึ้นใจ วันหนึ่งอาจารย์ได้เรียกศิษย์ทุกคนมาแสดงระนาดให้ดูเพื่อทดสอบฝีมือ ถึงครานายระนาดเอก ก็ได้แสดงแม่ไม้วิชาครูซึ่งไพเราะกว่าศิษย์ผู้อื่น อาจารย์รู้สึกแปลกใจมาก ที่ศิษย์สามารถแสดงแม่ไม้ของครูได้ โดยที่ตนไม่เคยสอนมาก่อน จึงถามนายระนาดเอกว่าไปได้แม้ไม้นี้มาจากไหน นายระนาดเอกจึงตอบว่า “ได้มาจากใต้ถุนเรือน ครับ” แล้วหลวงพ่อได้สรุปให้พวกเราฟังว่า การเรียนรู้ธรรมก็เช่นกัน ต้องลักเขา แอบเขาเรียน คือ จดจำเอาสิ่งที่ดีงามของผู้อื่นมาปฏิบัติแก้ไขตนเองให้ได้ ตัวท่านเองสอนได้บอกทางได้แต่ไม่หมด ที่เหลือเราผู้ปฏิบัติต้องค้นคว้าเอง ฝึกฝนนำไปประดับด้วยตนเอง ใครไหวพริบดีก็เรียนได้เร็ว เหมือนนายระนาดเอกในเรื่องนี้
23. คำสารภาพของศิษย์
เราเป็นศิษย์รุ่นปลายอ้อปลายแขม และมีความขี้เกียจเป็นปกติก่อนที่เราจะไปวัด เราไม่เคยสนใจทำอะไรจริงจังยาวนาน คือ เราสนใจทำจริงจังแต่ก็ประเดี๋ยวเดียว เมื่อเราได้ไปวัด ด้วยความอยากเห็นอยากรู้เหมือนที่เพื่อนบางคนเขารู้ เขาเห็น เราจึงพยายามทำ แต่มันไม่ได้ ความพยายามของเราก็เลยลดน้อยถอยลงตามวันเวลาที่ผ่านไป แต่ความอยากของเรามันไม่ได้หมดไปด้วย พอขี้เกียจหนักเข้า เราจึงถามหลวงพ่อว่า “หนูขี้เกียจเหลือเกินค่ะ จะทำยังไงดี” เราจำได้ว่าท่านนั่งเอนอยู่ พอเรากราบเรียนถามท่านก็ลุกขึ้นนั่งฉับไว มองหน้าเรา แล้วบอกว่า “ ถ้าข้าบอกแกไม่ให้กลัวตาย แกจะเชื่อข้าไหมล่ะ” เราเงียบเพราะไม่เข้าใจที่ท่านพูดตอนนั้นเลย อีกครั้งหนึ่งปลอดคน เรากราบเรียนถามท่านว่า “คนขี้เกียจอย่างหนูนี้ มีสิทธิ์ถึงนิพพานได้หรือไม่” หลวงพ่อท่านนั่งสูบบุหรี่ยิ้มอยู่และบอกเราว่า “ถ้าข้าให้แกเดินจากนี่ไปกรุงเทพฯ แกเดินได้ไหม” เราเงียบแล้วยิ้มแห้งๆ ท่านจึงพูดต่อว่า “ถ้าแกกินข้าวสามมื้อ มันก็มีกำลังวังชา เดินไปถึงได้ ถ้าแกกินข้าวมื้อเดียว มันก็พอไปถึงได้แต่ช้าหน่อย แต่ถ้าแกไม่กินข้าวไปเลย มันก็คงไปไม่ถึง ใช่ไหมล่ะ” เรารู้สึกเข้าใจความข้อนี้ซึมซาบเลยทีเดียว แล้วหลวงพ่อท่านก็พูดต่อว่า “เรื่องทำม้งธรรมะอะไร ข้าพูดไม่เป็นหรอก ข้าก็เป็นแต่พูดของข้าอย่างนี้แหละ”
24. สั้นๆ ก็มี
เคยมีผู้ปฏิบัติกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อครับ ขอธรรมะสั้นๆ ในเรื่องวิธีปฏิบัติเพื่อให้กิเลส 3 ตัว คือ โกรธ โลภ หลง หมดไปจากใจเรา จะทำได้อย่างไรครับ” หลวงพ่อตอบเสียงดังฟังชัด จนพวกเราในที่นั้นได้ยินกันทุกคนว่า “สติ”
25. วัดผลการปฏิบัติด้วยสิ่งใด?
มีผู้ปฏิบัติหลายคน ปฏิบัติไปนานเข้าชักเขว ไม่แจ้งว่าตนปฏิบัติไปทำไม หรือปฏิบัติไปเพื่ออะไร ดังครั้งหนึ่ง เคยมีลูกศิษย์กราบเรียน ถามหลวงพ่อท่านว่า “ภาวนามาก็นานพอสมควรแล้ว รู้สึกว่ายังไม่ได้รู้ได้เห็นสิ่งต่างๆ มีนิมิตภายนอก แสดงสีต่างๆ เป็นต้น ดังที่ผู้อื่นเขารู้เห็นทางปฏิบัติกันเลย” หลวงพ่อท่านย้อนถาม สั้นๆ ว่า “ ปฏิบัติแล้ว โกรธ โลภ หลง แกลดน้อยลงหรือเปล่าล่ะ ถ้าลดลงข้าว่าแกใช้ได้”
26. ของจริง ของปลอม
เมื่อหลายปีก่อน ได้เกิดไฟไหม้ที่วัดสะแกบริเวณกุฏิตรงข้ามกุฏิหลวงพ่อ แต่ไฟไม่ไหม้กุฏิหลวงพ่อ เป็นที่อัศจรรย์ใจแก่ศิษย์และผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง ถึงขนาดมีฆราวาสท่านหนึ่งคิดว่าหลวงพ่อท่านมีพระดี มีของดี ไฟจึงไม่ไหม้กุฏิท่าน ผู้ใหญ่ท่านนั้นได้มาที่วัดและกราบเรียนหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อครับ ผมขอพระดีที่กันไฟได้หน่อยครับ” หลวงพ่อยิ้มก่อนตอบว่า “พุทธัง ธัมมัง สังฆัง ไตรสรณคมน์นี่แหละพระดี” ผู้ใหญ่ท่านนั้นก็รีบบอกว่า “ไม่ใช่ครับผมขอพระเป็นองค์ๆ อย่างพระสมเด็จน่ะครับ” หลวงพ่อก็กล่าวยืนยันหนักแน่นอีกว่า “ก็พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นี่แหละมีแค่นี้ล่ะ ภาวนาให้ดี”แล้วหลวงพ่อก็มิได้ให้อะไร จนผู้ใหญ่ท่านนั้นกลับไป หลวงพ่อจึงได้ปรารภธรรมอบรมศิษย์ที่ยังอยู่ว่า “คนเรานี่ก็แปลก ข้อให้ของจริงกลับไม่เอา จะเอาของปลอม”
27. จะตามมาเอง
หลายปีมาแล้ว มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ได้มาบวชปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดสะแก ก่อนที่จะลาสิกขาเข้าสู่เพศฆราวาส ท่านได้นัดแนะกับเพื่อนพระภิกษุที่จะสึกด้วยกัน 3 องค์ว่า เพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนสึกพวกเราจะไปกราบขอให้หลวงพ่อพรมน้ำมนต์และให้พร ท่านได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ขณะที่หลวงพ่อพรมน้ำมนต์ ให้พรอยู่นั้น ท่านก็นึกอธิษฐานอยู่ในใจว่า “ ขอความร่ำรวยมหาศาล ขอลาภขอผลพูนทวีมีกินมีใช้ไม่รู้หมด จะได้แบ่งไปทำบุญมากๆ” หลวงพ่อหันมามองหน้าหลวงพี่ที่กำลังคิดละเมอเพ้อฝันถึงความร่ำรวยนี้ ก่อนที่จะบอกว่า “ท่าน ที่ท่านคิดน่ะมันต่ำ คิดให้มันสูงไว้ไม่ดีหรือ แล้วเรื่องที่ท่านคิดน่ะจะตามมาทีหลัง”
28. สติธรรม
บ่อยครั้งที่พวกเราถูกหลวงพ่อท่านดุในเรื่องของการไม่สำรวมระวัง ท่านมักจะดุว่า “ให้ทำ (ปฏิบัติ) ไม่ทำ ทำประเดี๋ยวเดียว เดี๋ยวออกมาจับกลุ่มกันอีกแล้ว ทีเวลาคุย คุยกันได้นาน” ปฏิปทาของท่านต้องการให้พวกเราตั้งใจปฏิบัติ ตั้งใจทำให้จริงมีสติ สำรวมระวัง แม้เวลากินข้าว ท่านก็ให้ระวังอย่าพูดคุยกันเอะอะเสียงดัง “สติ” นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้เราได้หยุดคิดพิจารณาก่อนที่จะทำ จะพูด และแม้แต่จะคิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าสิ่งนั้นดีหรือชั่ว มีคุณประโยชน์หรือเสียหาย ควรกระทำหรือควรงดเว้นอย่างไร เมื่อยั้งคิดได้ก็จะช่วยให้พิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างละเอียดประณีต และสามารถกลั่นกรองเอาสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ไม่เป็นประโยชน์ ออกให้หมด คงเหลือแต่เนื้อที่ถูกต้อง และเป็นธรรมซึ่งเป็นของควรคิด ควรพูด ควรทำแท้ๆ
29. คนดีของหลวงพ่อ
ธรรมะที่หลวงพ่อนำมาอบรมพวกเรา เป็นธรรมที่สงบเย็น และไม่เบียดเบียนใครด้วยกรรมทั้งสามคือ ความคิด การกระทำ และคำพูด ครั้งหนึ่งท่านเคยอบรมศิษย์เกี่ยวกับวิธีสังเกตคนดีสั้นๆ ประโยคหนึ่งคือ “คนดี เขาไม่ตีใคร” ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติธรรม หรือการทำงานในทางโลกนั้น ย่อมมีการกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดาของโลก ปุถุชนหากเรากระทำการสิ่งใดซึ่งชอบด้วยเหตุและผล คือ ได้พยายามทำอย่างดีที่สุดแล้ว อย่าไปกลัวว่าใครเขาจะว่าอะไรเรา ใครเขาจะโกรธเรา แต่ให้กลัวที่เราจะไปว่าอะไรเขา กลัวที่เราจะไปโกรธเขา
30. อุเบกขาธรรม
เรามักจะเห็นการกระทำที่เป็นคำพูดและการแสดงออกอยู่บ่อยๆ ส่วนการกระทำที่เป็นการนิ่ง ที่เรียกว่ามีอุเบกขานั้น ไม่ค่อยได้เห็นกัน ในเรื่องการสร้างอุเบกขาธรรมขึ้นในใจนั้น ผู้ปฏิบัติใหม่เมื่อได้เข้ามารู้ธรรม เห็นธรรม ได้พบเห็นสิ่งแปลกๆ และคุณค่าของพุทธศาสนา มักเกิดอารมณ์ ความรู้สึกว่าอยากชวนคนมาวัด มาปฏิบัติให้มากๆ โดยลืมดูพื้นฐานจิตใจ ของบุคคลที่กำลังจะชวน ว่าเขามีความสนใจมากน้อยเพียงใด หลวงพ่อท่านบอกว่า ให้ระวังให้ดี จะเป็นบาป เปรียบเสมือนกับการจุดไฟไว้ตรงกลาง ระหว่างคน 2 คน ถ้าเราเอาธรรมะไปชวนเขา เขาไม่เห็นด้วย ปรามาสธรรมนี้ ซึ่งเป็นธรรมของพระพุทธเจ้า ก็เท่ากับเราเป็นคนก่อ แล้วเขาเป็นคนจุดไฟ บาปทั้งคู่ เรียกว่า เมตตาจะพาตกเหว
แล้วท่านก็ยกอุทาหรณ์สอนต่อว่า “ เหมือนกับมีชายคนหนึ่งตกอยู่ในเหวลึก มีผู้จะมาช่วยคนที่หนึ่งมีเมตตา จะมาช่วยเอาเชือกดึงขึ้นจากเหว ดึงไม่ไหวจึงตกลงไปในเหวเหมือนกัน คนที่สองมีกรุณามาช่วยดึงอีก ก็ตกลงเหวอีก คนที่สามมีมุทิตามาช่วยดึงอีกก็พลาดตกลงเหวอีกเช่นกัน คนที่สี่สุดท้ายเป็นผู้มีอุเบกขาธรรม เห็นว่าเหวนี้ลึกเกินกว่ากำลังของตนที่จะช่วย ก็มิได้ทำประการใดทั้งๆ ที่จิตใจก็มีเมตตาธรรม ที่จะช่วยเหลืออยู่ คนสุดท้ายนี้จึงรอดชีวิตจากการตกเหวตาย เพราะอุเบกขาธรรมนี้แล”
31.หลวงพ่อกับในหลวง
หลวงพ่อเคยเล่าให้ฟังว่าเมื่อหลายสิบปีก่อน ครั้งที่ท่านได้ฟังข่าวในหลวงรัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคต ท่านเกิดความสลดสังเวชมาก ว่าคนไทย หลายคนยังขาดกตัญญูกตเวทิตาคุณต่อพระเจ้าอยู่หัว ท่านคิดอยู่เสมอว่า ทำอย่างไรจะให้คนไทยมีความรักชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ องค์ท่านเองนั้นตั้งแต่บัดนี้จนกระทั่งทุกวันนี้ แม้กาลเวลาล่วงเลยไปหลายสิบปี กิจวัตรอันหนึ่งท่านทำอยู่มิได้ขาด คือ การสวดมนต์ถวายพระพรแด่ในหลวงทุกวันตลอดมา ขอให้พระองค์มีพระชนมายุยิ่งยืนนานเป็นมิ่งขวัญคนไทยตลอดไป หลวงพ่อยังได้กล่าวกับผู้เขียนอีกว่าเพราะพระเจ้าแผ่นดิน (ร.9) ท่านปฏิบัติ (ธรรม) ต่อไปพุทธศาสนาในเมืองไทยจะเจริญขึ้น เพราะท่านเป็นผู้นำ เป็นแบบอย่าง
32. หนึ่งในสี่
ครั้งหนึ่งหลวงพ่อได้ปรารภธรรมกับผู้เขียนว่า...
“ ข้านั่งดูดยา มองดูซองยาแล้วก็ตั้งปัญหาถามตัวเองว่าเรานี่ปฏิบัติได้ 1 ใน 4 ของศาสนาแล้วหรือยัง? ถ้าซองยานี้แบ่งเป็น 4 ส่วน เรานี่ยังไม่ได้ 1 ใน 4 มันจวนเจียนจะได้แล้วมันก็คลาย เหมือนเรามัดเชือกจนเกือบจะแน่นได้ที่ แล้วเราปล่อย มันก็คลายออก เรานี่ยังไม่เชื่อจริง ถ้าเชื่อจริงก็ต้องได้ 1 ใน 4 แล้ว”
ต่อมาภายหลังท่านได้ขยายความให้ผู้เขียนฟังว่า ที่ว่า 1 ใน 4 นั้น อุปมาดั่งการปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุมรรคผลในพุทธศาสนา ซึ่งแบ่งเป็นขั้นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามีและอรหัตผล อย่างน้อยเราเกิดมาชาติหนึ่งชาตินี้ ได้พบพระพุทธศาสนาซึ่งเปรียบเสมือนสมบัติอันล้ำค่าแล้ว หากไม่ปฏิบัติธรรมให้ได้ 1 ใน 4 ของพุทธศาสนาเป็นอย่างน้อย คือ เข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน ปิดประตูอบายภูมิให้ได้ ก็เท่ากับว่าเราเป็นผู้ประมาทอยู่ เหมือนเรามีข้าวแล้วไม่กิน มีนาแล้วไม่ทำ ฉันใดก็ฉันนั้น
33. ธรรมะจากซองยา (บุหรี่)
บ่อยครั้ง ที่หลวงพ่อมักจะหยิบยกเอาสิ่งของรอบตัวท่าน มาอุปมาเป็นข้อธรรมะให้ศิษย์ได้ฟังกันเสมอ ครั้งหนึ่งท่านได้อบรมศิษย์ผู้หนึ่งเกี่ยวกับการรู้เห็นและได้ธรรมว่ามีทั้งชั้นหยาบ ชั้นกลาง ชั้นละเอียด อุปมาเหมือนอย่างซองยานี่ (หลวงพ่อท่านชี้ไปที่ซองบุหรี่)
“แต่แรกเราเห็นแค่ชอบของมัน แล้วเราจะไปเห็นมวนบุหรี่อยู่ในซองนั่นในมวนบุหรี่แต่ละมวนก็ยังมียาเส้นอยู่ภายในอีกแล้วที่สุดจะเกิดตัวปัญญาขึ้น รู้ด้วยว่ายาเส้นนี้ทำมาจากอะไรจะเรียกว่า เห็นในเห็น ก็ได้ลองไปตรองดูแล้วเทียบกับตัวเราให้ดีเถอะ”
34. ปรารภธรรม
แต่ไหนแต่ไรมา คนเราเกิดมาแล้วมีแต่ความวุ่นวายสารพัดอย่างปรุงแต่งต่างๆ นานานับไม่ถ้วนเหลือที่จะคณา เมื่อเรามาทำความสงบแม้เพียงประเดี๋ยวเดียวก็รู้สึกว่าเย็นใจสบายใจ เราก็ควรรักษาความเย็นอันนี้ ความสบายอันนั้นไว้ให้ตลอดไป จึงจะเป็นไปเพื่อความสุขซึ่งเป็นความปรารถนาของคนทั่วไป เมื่อได้ความสุขนั้นมาแล้วก็จงรักษาความสุขนั้นไว้ ของหาได้ง่ายแต่รักษาได้ยาก ครั้นทำได้แล้วที่จะรักษาไว้ให้ได้นานนั้นยากที่สุด เพราะอะไร เพราะกิริยาอาการทุกอย่างของเรามันกระทบกระเทือนอยู่ตลอดเวลาเป็นต้นว่า ยืน เดิน นั่ง นอน การพูด การคุย การกิน สารพัด ทุกอย่าง เป็นเรื่องกระทบอายตนะทุกสิ่งทุกประการ จิตมันก็ส่งไปตามอายตนะจึงว่ารักษาได้ยาก ถ้าหากผู้ทำได้ชำนิชำนาญคล่องแคล่วเสียแล้วท่านรู้เท่ารู้เรื่องท่านตามรู้ตามเห็นทุกสิ่งทุกประการ มันจะมาแบบไหนก็ตามรู้เรื่องของมันจิตส่งไปก็เป็นธรรมะ จะคิดนึกถึงก็เป็นธรรมะ มันปรุงมันแต่งก็เป็นธรรมะ ถ้ารู้เท่ารู้เรื่องมันเป็นธรรมดาเป็นของมันอย่างนั้นเป็นธรรมะทั้งหมด ผู้ปฏิบัติจะเห็นความดีความชั่วของตนตรงนี้แหละมันเป็นธรรมหรือมันเป็นโลก ก็เห็นกันที่ตรงนี้ ที่จิตนี่
35. ข้อควรคิด
การไปวัด ไปไหว้พระ ตลอดจนการสนทนาธรรมกับท่าน สมควรที่จะต้องมีความตั้งใจและเตรียมให้พร้อมที่จะรับธรรมจากท่าน มิฉะนั้นแล้วอาจเกิดเป็นโทษได้ ดังเรื่องต่อไปนี้ ปกติของหลวงพ่อท่านมีความเมตตา อบรมสั่งสอนศิษย์ และสนทนาธรรมกับผู้สนใจตลอดมา วันหนึ่งมีผู้มากราบนมัสการท่านและเรียนถามปัญหาต่างๆ จากนั้นจึงกลับไป หลวงพ่อท่านได้ยกเป็นคติเตือนใจให้ผู้เขียนฟังว่า
“คนที่มาเมื่อกี้ หากไปเจอพระดีละก็ลงนรก ไม่ไปสวรรค์ นิพพานหรอก”
ผู้เขียนจึงเรียนถามท่านว่า “เพราะเหตุไรครับ”
ท่านตอบว่า “ก็จะไปปรามาสพระท่านน่ะซี ไม่ได้ไปเอาธรรมจากท่าน”
หลวงพ่อเคยเตือนพวกเราไว้ว่า
“การไปอยู่กับพระอรหันต์อย่าอยู่กับท่านนาน เพราะเมื่อเกิดความมักคุ้นแล้ว มักทำให้ลืมตัวเห็นท่านเป็นเพื่อนเล่น คุยเล่นหัวท่านบ้าง ให้ท่านเหาะให้ดูบ้างถึงกับบอกปากให้ท่านเลยก็มี การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการปรามาสพระ ลบหลู่ครูอาจารย์และเป็นบาปมาก ปิดกั้นทางมรรคผลนิพพานได้ จึงขอให้พวกเราสำรวมระวังให้ดี”
36. ไม่พยากรณ์
เกี่ยวกับเรื่องปฏิบัติธรรมแล้วจะได้สำเร็จมรรคผลนิพพานหรือไม่ เคยมีพระภิกษุท่านหนึ่งได้มากราบนมัสการและเรียนถามหลวงพ่อว่า
“หลวงพ่อครับ กระผมจะได้สำเร็จหรือไม่ หลวงพ่อช่วยพยากรณ์ทีครับ”
หลวงพ่อนิ่งสักครู่หนึ่งก่อนตอบว่า “พยากรณ์ไม่ได้”
พระภิกษุรูปนั้นได้เรียนถามต่อว่า “เพราะเหตุไรหรือครับ”
หลวงพ่อจึงตอบว่า “ถ้าผมบอกว่าท่านได้สำเร็จ หากท่านเกิดประมาทไม่ปฏิบัติต่อ มันจะสำเร็จได้อย่างไร และถ้าผมบอกว่าท่านไม่สำเร็จ ท่านก็คงจะขี้เกียจ และจะทิ้งการปฏิบัติไป นิมนต์ท่านทำต่อเถอะครับ”
37. วัดของคนเข้าวัด
การเข้าวัด
วัด หมายถึง สถานที่ที่เป็นสัดส่วน สะอาด สงบ สบายและร่มเย็น ควรแก่การเคารพบูชา โดยสถานที่ พระสงฆ์ผู้ประพฤติธรรมตลอดจนวัตถุสิ่งของเครื่องสักการะต่างๆ ก็ดี เป็นที่รวมเอาคนและวัตถุเข้าด้วยกัน รวมคุณงามความดีทั้งหลายไว้เป็นเครื่องจรรโลงจิตใจให้สูงค่าควรแก่การทะนุบำรุงเพื่อความเจริญรุ่งเรืองตลอดกาล มิได้หมายถึงสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงามหรือเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจโดยทั่วไป ฉะนั้นอย่าเข้าใจว่าวัดเป็นที่เที่ยว
วัด คือ การตรวจสอบขนาดความกว้าง ความยาว ความหนา ความบาง หรือสูงต่ำ ดำขาวในคน สัตว์และสิ่งของ วัดปริมาณ วัดความรู้ ความสามารถ วัดคุณภาพเพื่อให้รู้ผลลัพธ์ การเข้าวัดคืออะไร เข้าอย่างไร เข้าที่ไหน การเข้าวัดต่างกับการไปวัดอย่างไรนี้ เป็นสิ่งที่เราควรจะทำความเข้าใจให้ดีเสียก่อน มิฉะนั้นการเข้าวัดของเราอาจเกิดเป็นโทษมากกว่าเกิดเป็นคุณโดยที่เรามิได้ตั้งใจ การไปวัดคือการไปดูไปชมภายในบริเวณวัด ความสวยงามของธรรมชาติ ศิลปการปลูกสร้าง ธรรมเนียมประเพณีของวัด ความเป็นอยู่ของพระเณร ดูคนที่ไปอยู่วัดไปเพื่อรดน้ำมนต์ สะเดาะเคราะห์ เพื่อเสาะแสวงหาโชค หาดวง หาเครื่องรางของขลัง ดูกันไป ฟังกันไป พูดกันไป จริงบ้างไม่จริงบ้าง มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง ถูกใจตนก็ว่าดี ไม่ถูกใจตนก็โกรธ ก็เคือง นี้คือเรื่องของคนไปวัด ส่วนการเข้าวัด คือ การเข้าไปดูใจของตน วัดความโลภ ความโกรธ ความหลงที่มีอยู่ในใจเพื่อชำระสะสางให้หมดไป กล้าหาญในการที่จะชำระซักฟอกจิตใจของตนให้สะอาดผ่องใส ไม่ชักช้าลังเลในการตัดสินใจที่จะทำดี หลีกหนีให้ไกลจากความชั่ว หลีกเลี่ยงหรือพยายามทำผิด ทำชั่วให้น้อยที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ลงมือเรียนรู้และศึกษาธรรมให้ถึงเนื้อแท้ของธรรม ลงมือปฏิบัติด้วยความพอใจ ขยันหมั่นเพียร เอาใจฝักใฝ่ในการปฏิบัติ ดูกายดูจิตไม่วางธุระของตน พยามใช้ปัญญาคิดค้นพิจารณาถึงเหตุถึงผล ให้เห็นกายในกาย จิตในจิต โดยไม่ลำเอียงหรือมีอคติ วัดตนเองออกมาให้เห็นให้ชัดเจน มิใช่ไปวัดดูคนอื่น เพ่งโทษผู้อื่นจนลืมดูโทษใหญ่ โทษน้อยที่เกิดขึ้นภายในตนทั้งทางกาย วาจา และใจ มิฉะนั้นจะเป็นการเข้าผิดวัดและวัดผิด เป็นการปิดทางเข้าวัด ปิดประตูทางที่จะก้าวเดินไปสู่ความเจริญคืออริยมรรค อริยผลของตนโดยสิ้นเชิง
วัดคนเข้าวัด
สำหรับผู้เข้าวัดถูก มิใช่วัดผิด และผิดวัด ก็จะเกิดมีคุณลักษณะอย่างหนึ่งติดอยู่ที่ใจ เรียกคุณลักษณะพิเศษนี้ว่า “วัตร” วัตรของคนเข้าวัด จะประกอบด้วย
ทาน-การให้ มีความยินดีที่จะช่วยเหลือและสงเคราะห์ผู้อื่นอยู่เสมอตามกำลังของตน ไม่ว่าจะเป็นกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังสติ ปัญญา
ศีล-ความสำรวมระวัง ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น ด้วยกาย วาจา ใจ จนเกิดเป็นความสงบเย็นแก่ตน ครอบครัว สังคมและส่วนรวม
ภาวนา-ความงอกงามของจิตใจ ซึ่งกอปรด้วยสติและปัญญา เป็นใจที่เฉลียวฉลาด รู้เท่าทันอารมณ์และความคิดต่างๆ และความคุ้มให้เป็นไปในทางที่ดี รู้เห็นเรื่องราวต่างๆ รอบตัวตามสภาวธรรม ตามความเป็นจริงได้
วัดของคนเข้าวัดเป็นอย่างนี้
คำบูชาพระ
นะโมพุทธายะ พระพุทธ ไตรรัตนญาณ
มณีนพรัตน์ สีสะหัสสะ สุธรรมา
พุธโธ ธัมโม สังโฆ ยะธาพุทโมนะ
พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา
อัคคีทานัง วะรังคันธัง สีวลีจะมหาเถรัง
อะหังวันทามิ ทูระโต
อะหังวันทามิ ธาตุโย
อะหังวันทามิ สัพพะโส
พุทธะ ธัมมะ สังฆะ ปูเชมิ
38. พระดีที่น่าเคารพ
ปกติเวลาเราไปไหวพระสุปฏิปันโนหรือพระที่ทรงคุณธรรม บางครั้งมักจะมีการขอให้ท่านช่วยอธิษฐานจิตวัตถุมงคลที่นำไป ผู้เขียนและคณะบางครั้งเวลาที่ท่านมีสุขภาพดี อารมณ์แจ่มใส จึงขอให้ท่านทำให้ มีครั้งหนึ่งผู้คนไปกันมาก ของที่จะให้ท่านอธิษฐานมีหลายอย่างรวมกันไป เมื่อท่านอธิษฐานเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อพูดขึ้นว่า
“เจอดีหลายๆ องค์ พระนะ แต่องค์นี้เป็นพระดีมาก”
ท่านชี้ไปที่ล็อกเกตพระสงฆ์องค์หนึ่ง เมื่อผู้เขียนหยิบมาดู จึงกราบเรียนท่านว่า
“ก็เป็นล็อกเกตรูปหลวงพ่อไงละครับ ที่ทางวัดเขาทำให้บูชา”
หลวงพ่อท่านจึงรีบตอบว่า
“เอ้าข้าไม่รู้ ทำไว้ซะเล็กเลยมองไม่เห็นว่าเป็นองค์ไหน”
มีลูกศิษย์อีกคนจึงถามท่านว่า
“ทำไมหลวงพ่อจึงรู้ละครับ”
ท่านจึงตอบว่า
“ข้าก็ไม่รู้เพียงแต่มีความรู้สึกพิเศษ แกถามอาจารย์เขาดูดีกว่า”
หลวงพ่อท่านเลี่ยงมาให้ผู้เขียนตอบแทน แต่ผู้เขียนได้แต่ยิ้มไม่ตอบอะไร จนเมื่อลาหลวงพ่อกลับจึงตอบให้ฟังว่า
“ หลวงพ่อท่านคงมีเมตตาที่เห็นพวกเราทุกคนเคารพท่านแล้วไม่สงสัยท่าน ท่านจึงบอกอย่างนี้ก็ได้ อีกอย่างหนึ่งคงมีแสงสว่างจากพลังจิตใจในคุณพระที่ท่านอธิษฐานไว้ ไปปรากฏที่หลวงพ่อก็ได้ อะไรก็ดีทั้งนั้นแหละ”
เรื่องของพระดีที่มีคุณธรรมนี้ หลวงพ่อท่านเคยบอกผู้เขียนว่า
“เวลาที่ไปไหว้พระองค์ไหนก็ตาม ถ้าผู้ที่ทำเห็นแล้วจะรู้ได้ เพราะท่านจะมีที่อยู่ของท่านเฉพาะ ถ้าองค์ไหนเราเห็นท่านอยู่ในที่ของท่านแล้วองค์นั้นแหละพระดี ข้อสำคัญต้องทำให้เห็น หรือเวลาแกไปเจอภาพพระองคืไหนก็ตามเอามือแตะภาพท่านทำใจเฉยๆ ถ้าขึ้น (ปีติ) มาถึงหัวแสดงว่าองค์นั้นดี”
ผู้เขียนเคยนำรูปของสมเด็จพระสังฆราช (อยู่) วัดสระเกศไปให้ท่านอธิษฐานจิต พอหลวงพ่อท่านแตะรูปท่านบอกว่า
“ องค์นี้เป็นพระดีมีบารมีสูงมาก พอกับหลวงพ่อโตวัดระฆัง จะมากกว่าเสียด้วย ถ้าแกไม่เชื่อลองจับดูก็ได้”
ผู้เขียนรีบตอบท่านว่าไม่ละครับ เพราะผู้เขียนรู้ตัวเองดีว่าคุณธรรมของเรายังน้อยนิด บารมีของเรายังไม่เท่ากับหนึ่งในล้านส่วน ของเศษละออง ธุลีพระบาทของพระโสดาบันเลย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนรู้สึกซาบซึ้งในองค์หลวงพ่อมาก ที่ท่านมีเมตตาสั่งสอน เพื่อให้ความรู้ และความกระจ่างกับ ลูกศิษย์
สากจฺฉาย ปญฺญา เวทิตพฺพา
ปัญญารู้ได้ด้วยการสนทนา
พุทธพจน์
ทรรศนะต่างกัน
การมาอยู่ด้วยกัน ปฏิบัติด้วยกันมากเข้าย่อมมีเรื่องกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนคนธรรมดาอยู่ ทิฐิความเห็นย่อมต่างกัน ขอให้เอาแต่ส่วนดีมาสนับสนุนกัน อย่าเอาเลวมาอวดกัน การปรามาสพระก็ดี การพูดจาจ้วงจาบในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์หรือท่านที่มีศีลมีธรรมก็ดี จะเป็นกรรมติดตัวเราและขัดขวางการปฏิบัติธรรมในภายหน้า ดังนั้น หากใครทำความดี ก็ควรอนุโมทนายินดีด้วย แม้ต่างวัดต่างสำนักหรือแบบปฏิบัติต่างกันก็ตาม ไม่มีใครผิดหรอก เพราะจุดมุ่งหมายต่างก็เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์เช่นกัน เพียงแต่เราจะทำให้ดี ดียิ่ง ดีที่สุด เท่านั้น ขอให้ถามตัวเราเองเสียก่อนว่า แล้วเราล่ะถึงที่สุดแล้วหรือยัง
อุเบกขาธรรม
การอยากชวนคนมาวัด มาปฏิบัติให้มาก ๆโดยลืมดูพื้นฐานจิตใจของบุคคลที่กำลังจะชวนว่า เขามีความสนใจมากน้อยเพียงใด หลวงปู่ท่านบอกว่า
ให้ระวังให้ดีจะเป็นบาป เปรียบเสมือนกับการจุดไฟไว้ตรงกลางระหว่างคน 2 คน ถ้าเราเอาธรรมะไปชวนเขา เขาไม่เห็นด้วย ปรามาสธรรมนี้ซึ่งเป็นธรรมของพระพุทธเจ้า ก็เท่ากับเราเป็นคนก่อแล้วเขาเป็นคนจุดไฟ บาปทั้งคู่ เรียกว่า เมตตาพาตกเหว
หลวงปู่ได้ยกอุทาหรณ์ สอนต่อว่า
เหมือนกับมีชายคนหนึ่งตกอยู่ในเหวลึก มีผู้จะมาช่วย คนที่หนึ่งมีเมตตาจะมาช่วย เอาเชือกดึงขึ้นจากเหว ดึงไม่ไหวจึงตกลงไปในเหวเหมือนกัน คนที่สองมีกรุณษมาช่วยถึงอีก ก็ตกลงเหวอีก คนที่สามมีมุทิตามาช่วยดึงอีกก็พลาดตกเหวอีกเช่นกัน คนที่สี่สุดท้ายเป็นผู้มีอุเบกขาธรรมเห็นว่าเหวนี้ลึกเกินกว่ากำลังของตนที่จะช่วย ก็มิได้ทำประการใดทั้ง ๆ ที่จิตใจก็มีเมตตาธรรมที่จะช่วยเหลืออยู่ คนสุดท้ายนี้จึงรอดชีวิตจากการตกเหวตามเพราะ อุเบกขาธรรมนี้แล กราบ กราบ กราบ ธรรมะจากหลวงปู่
จากคุณ : ปิดทองหลังพระ [ 19 ก.ย. 2545]
๒๕ เรื่องเล่า
ธรรมะลึกซึ้งเข้าใจง่าย
หลวงปู่ดู่ พฺรหฺมปัญโญ
วัดสะแก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โพสท์ใน เวบพลังจิต ห้อง พุทธศาสนา โดย คุณ : leo_tn เมื่อ 28-05-2007
๑. สมมุติและวิมุติ
ในวันสิ้นปีเมื่อหลายปีก่อน ผู้เขียนได้มาค้างคืนอยู่ปฏิบัติที่วัดสะแก และได้มีโอกาสเรียนถามปัญหาการปฏิบัติกับหลวงปู่เรื่องนิมิตจริง นิมิตปลอม ที่เกิดขึ้นจริงภายในจากการภาวนา
ท่านตอบให้สรุปได้ใจความว่า
ต้องสมมุติขึ้นก่อนจึงจะเป็นวิมุติได้ เช่น การทำอสุภะหรือกสิณ ต้องอาศัยสัญญาและสังขารน้อมนึกเป็นนิมิตขึ้น ในขั้นนี้ไม่ควรสงสัยว่านิมิตนั้นเป็นของจริงหรือของปลอม มาจากภายนอกหรือออกมาจากจิต เพราะเราจะอาศัยสมมุติตัวนี้ทำประโยชน์ คือยังจิตให้เป็นสมาธิแน่วแน่ขึ้น แต่ก็อย่าสำคัญมั่นหมายว่าตนรู้เห็นแล้ว ดีวิเศษแล้ว
การน้อมจิตตั้งนิมิตเป็นองค์พระ เป็นสิ่งที่ดีไม่ผิด เป็นศุภนิมิตคือนิมิตที่ดี เมื่อเห็นองค์พระ ให้ตั้งสติคุมเข้าไปตรงๆ (ไม่ปรุงแต่ง หรืออยากโน้นนี้) ไม่ออกซ้าย ไม่ออกขวา ทำความเลื่อมใสเข้า เดินจิตให้แน่วแน่ สติละเอียดเข้า ต่อไปก็จะสามารถแยกแยะหรือพิจารณานิมิตให้เป็นไตรลักษณ์ จนเกิดปัญญาสามารถจะก้าวสู่วิมุติได้
“ก็เหมือนแกเรียนหนังสือทางโลกแหละ มาถึงทุกวันนี้ได้ ครูเขาก็ต้องหัดหลอกให้แกเขียนหนังสือ หัดให้แกอ่านโน่นนี่ มันถึงจะได้ดีในบั้นปลาย นี่ข้าเปรียบเทียบแบบโลกให้ฟัง”
กล่าวโดยสรุป คือ ท่านสอนให้ใช้ประโยชน์จากนิมิต ไม่ใช่ให้หลงนิมิต สอนให้ใช้แสงสว่าง ไม่ใช่ให้ติดแสงสว่างหรือติดสมาธิ
๒. หลักพุทธศาสนา
เล่ากันว่ามีโยมท่านหนึ่ง ไปนมัสการพระเถระองค์หนึ่งอยู่เป็นประจำ และในวันหนึ่ง ได้ถามปัญหาธรรมกับท่านว่า
“หลักของพระพุทธศาสนาคืออะไร?”
พระเถระตอบว่า
“ละความชั่ว ทำความดี ทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว”
โยมท่านนั้นได้ฟังแล้วพูดว่า
“อย่างนี้เด็ก ๗ ขวบก็รู้”
“แต่ผู้ใหญ่อายุ ๘๐ ก็ยังปฏิบัติไม่ได้”
อย่างนี้กระมังที่ผู้เขียนเคยได้ยินหลวงปู่พูดเสมอว่า
“ของจริง ต้องหมั่นทำ”
พระพุทธศาสนานั้น ถ้าปราศจากการน้อมนำเข้าไปไว้ในใจแล้ว การ “ถือ” พุทธศาสนาก็ไม่มีความหมายแต่อย่างใด
๓. พระเก่าของหลวงปู่
สำหรับพระเครื่องแล้ว พระสมเด็จวัดระฆังฯ เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักเลงพระว่า เป็นของหายากและมีราคาแพง ใครได้ไว้บูชานับเป็นมงคลอย่างยิ่ง
หลวงปู่ได้สอนว่า การนับถือพระเช่นนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่เป็นดีภายนอกมิใช่ดีภายใน ท่านบอกว่า “ให้หาพระเก่าให้พบ นี่ซิ ของแท้ ของดีจริง”
ผู้เขียนเรียนถามท่านว่า “พระเก่า” หมายความว่าอย่างไร
ท่านว่า “ก็หมายถึงพระพุทธเจ้าน่ะซิ นั่น ท่านเป็นพระเก่า พระโบราณ พระองค์แรกที่สุด”
๔. ธรรมะในโรงพยาบาล
โรงพยาบาลเป็นสถานที่บำบัดทุกข์ของมนุษย์เราอย่างน้อย ๓ ประการ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในพระสูตรสำคัญหลายเรื่องคือ
ชาติทุกข์ - ความเดือดร้อนเวลาเกิด
ชราทุกข์ - ความเดือดร้อนเมื่อความแก่มาถึง และ
พยาธิทุกข์ - ความเดือดร้อนในยามเจ็บไข้ได้ป่วย
หลวงปู่เคยบอกกับผู้เขียนว่า “ที่โรงพยาบาลนั่นแหละมีของดีเยอะ เป็นเหมือนโรงเรียน เวลาไปอย่าลืมดูตัวเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ในนั้นหมด
“ดูข้างนอกแล้วย้อนมาดูตัวเรา เหมือนกันไหม”
๕. ทรรศนะต่างกัน
เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันในวงของผู้ปฏิบัติธรรม หลวงปู่ท่านได้ให้โอวาทเตือนผู้ปฏิบัติไว้ว่า
“การมาอยู่ด้วยกัน ปฏิบัติด้วยกันมากเข้า ย่อมมีเรื่องกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนคนธรรมดาอยู่ ทิฐิความเห็นย่อมต่างกัน ขอให้เอาแต่ส่วนดีมาสนับสนุนกัน อย่าเอาเลวมาอวดกัน”
การปรามาสพระก็ดี การพูดจาจ้วงจาบในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือท่านที่มีศีล มีธรรมก็ดี จะเป็นกรรมติดตัวเราและขัดขวางการปฏิบัติธรรมในภายหน้า ดังนั้น หากเห็นใครทำความดี ก็ควรอนุโมทนายินดีด้วย แม้ต่างวัด ต่างสำนัก หรือแบบปฏิบัติต่างกันก็ตาม
ไม่มีใครผิดหรอก เพราะจุดมุ่งหมายต่างก็เป็นไป เพื่อความพ้นทุกข์เช่นกัน เพียงแต่เราจะทำให้ดี ดียิ่ง ดีที่สุดเท่านั้น ขอให้ถามตัวเราเองเสียก่อนว่า “แล้วเราละ ถึงที่สุดแล้วหรือยัง?”
๖. อุบายธรรมแก้ความกลัว
เคยมีผู้ปฏิบัติสมาธิภาวนาแล้วเกิดความกลัว โดยเฉพาะนักปฏิบัติที่เป็นหญิง ไม่ว่าจะกลัวผีสาง นิมิตในภาวนา หรือกลัวโดยไม่ทราบสาเหตุ ได้เรียนถามหลวงปู่ว่า ถ้ากลัวแล้วจะทำอย่างไรดี
หลวงปู่ตอบว่า
“ถ้ากลัวให้นึกถึงพระ”
ในพระไตรปิฎก ธชัคคสูตร กล่าวไว้สรุปได้ว่า
“เมื่อพวกเธอตระหนักถึงเราตถาคตอยู่ พระธรรมอันเรากล่าวดีแล้วอยู่ พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้วอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จะมีขึ้นก็จะหายไป”
ท่านยังฝากไว้ให้คิดอีกว่า
“ธรรมนั้นอยู่ฟากตาย”
๗. แนะวิธีวางอารมณ์
หลวงปู่เคยพูดเสมอว่า “ผู้ปฏิบัติต้องหมั่นตามดูจิต รักษาจิต” สำหรับคนที่ไม่เคยปฏิบัติแล้ว ไม่รู้จะดูที่ไหน อะไรจะดูอะไร รู้สึกสับสน แยกไม่ถูกเพราะไม่เคยดู เคยอยู่แต่ในความคิดปรุงแต่ง อยู่กับอารมณ์แต่แยกอารมณ์ไม่ได้ ยิ่งคนที่ยังไม่เคยบวช คนที่อยู่ในโลกแบบวุ่นวาย ยิ่งดูจิตของตนได้ยาก
หลวงปู่ได้เปรียบให้ผู้เขียนฟัง โ ดยท่านกำมือและยื่นนิ้วกลางมาข้างหน้าผู้เขียนว่า เราภาวนาทีแรกก็เป็นอย่างนี้ สักครู่ท่านก็ยื่นนิ้วหัวแม่มือและนิ้วก้อย ตามลำดับออกมา จนครบ ๕ นิ้ว ท่านทำมือโคลงไปโคลงมา เปรียบการภาวนาของนักปฏิบัติที่จิตแตก ไม่สามารถรวมใจให้เป็นหนึ่งได้
ผู้ฝึกจิต ถ้าทำจิตให้มีอารมณ์หลายอย่างก็จะสงบไม่ได้ และไม่เห็นสภาพของจิตตามเป็นจริง ถ้าทำจิตให้ดิ่งแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียวแล้ว จิตก็มีกำลังเปล่งรัศมีแห่งความสว่างออกมาเต็มที่ มองสภาพของจิตตามเป็นจริงได้ว่า อะไรเป็นจิต อะไรเป็นกิเลส อะไรควรรักษา อะไรที่ควรละ
๘. เชื่อจริงหรือไม่
สำหรับผู้ปฏิบัติแล้ว คำดุด่าว่ากล่าวของครูบาอาจารย์ นับเป็นเรื่องสำคัญ และมีคุณค่ายิ่ง หากครูบาอาจารย์เมินเฉย ไม่ดุด่าว่ากล่าวก็เหมือนเป็นการลงโทษ
ผู้เขียนเคยถูกหลวงปู่ดุว่า
“แกยังเชื่อไม่จริง ถ้าเชื่อจริง พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ต้องเชื่อและยอมรับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง แทนที่จะเอาความโลภมาเป็นที่พึ่ง เอาความโกรธมาเป็นที่พึ่ง เอาความหลงมาเป็นที่พึ่ง”
หลวงปู่ท่านกล่าวกับผู้เขียนว่า
“โกรธ โลภ หลง เกิดขึ้น
ให้ภาวนา แล้วโกรธ โลภ หลงจะคลายลง
ข้ารับรอง ถ้าทำแล้วไม่จริง ให้มาด่าข้าได้”
๙. คิดว่าไม่มีดี
ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่มักจะไม่พอใจในผลการปฏิบัติของตน โดยที่มักจะขาดการไตร่ตรองว่าสาเหตุนั้นเป็นเพราะอะไร ดังที่เคยมีลูกศิษย์คนหนึ่งของหลวงปู่ได้มานั่งบ่นให้ท่านฟังในความอาภัพอับวาสนาของตนในการภาวนา ว่าตนไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็นในสิ่งต่างๆ ภายใน มีนิมิตภาวนา เป็นต้น ลงท้ายก็ตำหนิว่าตนนั้นไม่มีความรู้อรรถ รู้ธรรมและความดีอะไรเลย
หลวงปู่นั่งฟังอยู่สักครู่ ท่านจึงย้อนถามลูกศิษย์จอมขี้บ่นผู้นั้นว่า
“แกแน่ใจหรือว่าไม่มีอะไรดี
แล้วแกรู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือเปล่า”
ลูกศิษย์ผู้นั้นนิ่งอึ้งสักครู่จึงตอบว่า “รู้จักครับ”
หลวงปู่จึงกล่าวสรุปว่า
“เออ นั่นซี แล้วแกทำไมจึงคิดว่าตัวเราไม่มีดี”
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความเมตตาของท่าน ที่หาทางออกทางปัญญา ให้ศิษย์ผู้กำลังท้อถอยด้อยความคิด และตำหนิวาสนาตนเอง หากปล่อยไว้ย่อมทำให้ไม่มีกำลังใจในการปฏิบัติเพื่อผลที่ควรได้แห่งตน
๑๐. พระที่คล้องใจ
เมื่อมีผู้ไปขอของดีจำพวกวัตถุมงคลจากหลวงปู่ไว้ห้อยคอหรือพกติดตัว หลวงปู่จะสอนว่า
“จะเอาไปทำไม ของดีภายนอก ทำไมไม่เอาของดีภายใน พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นี่แหละ ของวิเศษ”
ท่านให้เหตุผลว่า “คนเรานั้น ถ้าไม่มีพุทธัง ธัมมัง สังฆัง เป็นของดีภายใน ถึงแม้จะได้ของดีภายนอกไปแล้วก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร”
“ทำอย่างไรจึงจะได้เห็นพระจริงๆ เห็นมีแต่พระปูน พระไม้ พระโลหะ พระรูปถ่าย พระสงฆ์ ลองกลับไปคิดดู”
๑๑.จะเอาดีหรือจะเอารวย
อีกครั้งหนึ่งที่คณะผู้เขียนได้มานมัสการหลวงปู่ เพื่อนของผู้เขียนท่านหนึ่งต้องการเช้าพระอุปคุตที่วัด เพื่อนำไปบูชา โดยกล่าวกับผู้ที่มาด้วยกันว่า บูชาแล้วจะได้รวย
เพื่อนของผู้เขียนท่านนั้นแทบตะลึง เมื่อมากราบหลวงปู่แล้ว ท่านได้ตักเตือนว่า “รวยกับซวยมันใกล้ๆ กันนะ”
ผู้เขียนได้เรียนถามหลวงปู่ว่า
“ใกล้กันยังไงครับ”
ท่านยิ้มและตอบว่า “มันออกเสียงคล้ายกัน”
พวกเราต่างยิ้มน้อย ยิ้มใหญ่ สักครู่ท่านจึงขยายความให้พวกเราฟัง
“จะเอารวยน่ะ จะหามายังไงก็ทุกข์ จะรักษามันก็ทุกข์ หมดไปก็เป็นทุกข์อีก กลัวคนจะจี้จะปล้น ไปคิดดูเถอะมันไม่จบหรอก มีแต่เรื่องยุ่ง เอาดี ดีกว่า”
คำว่า “ดี” ของหลวงปู่ มีความหมายลึกซึ้งมาก ผู้เขียนขออัญเชิญพระบรมราโชวาทของในหลวงของเราในเรื่องทำความดี มาเปรียบ ณ ที่นี้ ความตอนหนึ่งว่า
“...ความดีนี้ ไม่ต้องแย่งกัน ความดีนี้ ทุกคนทำได้ เพราะความดีนี้ทำแล้วก็ดี ตามคำว่า ดี นี้ ดีทั้งนั้น ฉะนั้น ถ้าช่วยกันทำดี ความดีนั้นก็จะใหญ่โต จะดียิ่ง ดีเยี่ยม...”
๑๒. “พ พาน” ของหลวงปู่
หลวงปู่เคยปรารภธรรมกับผู้เขียนว่า
“ถ้าแกเขียนตัว พ พาน ได้เมือไร นั่นแหละจึงจะดี”
ผู้เขียนถามท่านว่าเป็นอย่างไรครับ พ พาน
ท่านตอบว่า
“ก็ตัว พอ น่ะซี”
คนเราจะมีชีวิตอยู่ในโลก
ไม่จำเป็นต้องร่ำรวย มีฐานะ แล้วจึงจะมีความสุข
มีคนที่ลำบากอีกมาก
แต่เขารู้จักว่า อะไรคือสิ่งที่พอตัว
ก็สามารถอยู่อย่างเป็นสุขได้
นี่ก็อยู่ที่คนเรา รู้จักคำว่า “พอ” หรือไม่
รู้จัก “พอ” ก็จะมีแต่ความสุข
ไม่รู้จัก “พอ” ถึงแม้จะร่ำรวย มีเกียรติ ตำแหน่งใหญ่โตอะไร
มันก็ไม่มีความสุขได้เหมือนกัน
คนที่มีเงิน ก็ยิ่งอยากมีเพิ่มขึ้นอีก
คนที่ทำงาน ก็อยากกินตำแหน่งสูงขึ้น
มีสิ่งใดก็เป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น ไม่มีที่สิ้นสุด
๑๓. การสอนของท่าน
วิธีวัดอย่างหนึ่งว่าผู้ใดปฏิบัติธรรมได้ดีเพียงใดนั้น ท่านให้สังเกตดูว่า ผู้นั้นสามารถฝึกตน สอนตัวเองได้ดีเพียงใด การเตือนผู้อื่นไม่ให้หลงผิดได้นั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การเตือนตนให้ได้ย่อมดีกว่า
การสอนของหลวงปู่ท่านจะทำให้เราดูเป็นตัวอย่าง ท่านสอนให้เราทำอย่างที่ท่านทำ มิได้สอนให้ทำตามที่ท่านสอน ทุกอย่างที่ท่านสอน ท่านได้ทดลองทำและปฏิบัติทางจิตจนรู้ จนเห็นหมดแล้วทั้งสิ้น จึงนำมาอบรมแก่ศิษย์
เหมือนเป็นแบบอย่างให้เราได้ยึดถือตามครูอาจารย์ว่า การแนะนำ อบรม หรือสอนธรรมผู้อื่นนั้น เราต้องปฏิบัติจนแน่ใจตนเองเสียก่อน และควรคำนึงถึงสติปัญญาความสามารถของตน ถ้ากำลังไม่พอแต่จะรับภาระมาก นอกจากผู้มาศึกษาจะไม่ได้รับประโยชน์แล้ว ตนเองยังจะกลายเป็นคนเสียไปด้วย ท่านว่าเป็นการไม่เคารพธรรม และไม่เคารพครูบาอาจารย์อีกด้วย
๑๔. หัดมองชั้นลึก
ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา ล้วนมีความหมายชั้นลึกโดยตัวของมันเองอยู่เสมอ ไอน์สไตน์มองเห็นวัตถุ เขาคิดทะลุเลยไปถึงการที่จะสลายวัตถุให้เป็นปรมาณู สองพี่น้องตระกูลไรท์มองเห็นนกบินไปมาในอากาศ ก็คิดเลยไปถึงการสร้างเครื่องบินได้
พระพุทธเจ้าแต่ครั้งเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ได้ทรงพบคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ท่านก็มองเห็นถึงความไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย
หลวงปู่เคยเตือนสติลูกศิษย์รุ่นหนุ่มที่ยังมองเห็นสาวๆ ว่าสวย ว่างาม น่าหลงใหลใฝ่ฝันกันนักว่า
“แกมันดูตัวเกิด ไม่ดูตัวดับ
ไม่สวย ไม่งาม ตาย เน่า เหม็น”
ให้เห็นอย่างนี้ได้เมื่อไร ข้าว่าแกใช้ได้”
๑๕. เวลาเป็นของมีค่า
หลวงปู่เคยบอกว่า
“คนฉลาดน่ะ เขาไม่เคยมีเวลาว่าง”
เวลาเป็นของมีค่า เพราะไม่เหมือนสิ่งอื่น แก้วแหวนเงินทอง สิ่งของทั้งหลาย เมื่อหมดไปแล้วสามารถหามาใหม่ได้
แต่สำหรับเวลาแล้ว หากปล่อยให้ผ่านเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ ขอให้ตั้งปัญหาถามตัวเองว่า “สมควรแล้วหรือ กับวันคืนที่ล่วงไปๆ คุ้มค่าแล้วหรือกับลมหายใจที่เหลือน้อยลงทุกขณะ”
๑๖. ต้องทำจริง
ในเรื่องของความเคารพครูอาจารย์ และความตั้งใจจริงในการปฏิบัติ หลวงปู่เคยบอกว่า
“การปฏิบัติ ถ้าหยิบจากตำราโน้นนี้ แบบแผน มาสงสัยถาม มักจะโต้เถียงกันเปล่า โดยมากชอบเอาจากอาจารย์โน่นนี่ ว่าอย่างนั้นอย่างนี้มา
การจะปฏิบัติให้รู้ธรรม เห็นธรรม ต้องทำจริง จะได้อยู่ที่ทำจริง ข้าเป็นคนมีทิฐิแรง เรียนจากครูบาอาจารย์นี้ยังไม่ได้ผล ก็จะต้องเอาให้จริงให้รู้ ยังไม่ไปเรียนกับอาจารย์อื่น ถ้าเกิดไปเรียนกับครูอาจารย์อื่น โดยยังไม่ทำให้จริง ให้รู้ ก็เหมือนดูถูกดูหมิ่นครูบาอาจารย์”
๑๗. ของจริงนั้นมีอยู่
มีคนจำนวนไม่น้อยที่ปฏิบัติธรรมแล้วเกิดความท้อใจ ปฏิบัติอยู่เป็นเวลานาน ก็ยังรู้สึกว่าตนเองไม่ได้พัฒนาขึ้น หลวงปู่เคยเมตตาสอนผู้เขียนว่า
“ของที่มีมันยังไม่จริง ของจริงเขามี
เมื่อยังไม่จริง มันก็ยังไม่มี”
หลวงปู่เมตตากล่าวเสริมอีกว่า...
“คนที่กล้าจริง ทำจริง เพียรปฏิบัติอยู่เสมอ จะพบความสำเร็จในที่สุด ถ้าทำจริงแล้วต้องได้แน่ๆ”
หลวงปู่ยืนยันอย่างหนักแน่น และให้กำลังใจแก่ลูกศิษย์ของท่านเสมอ เพื่อให้ตั้งใจ “ทำจริง” แล้วผลที่เกิดจากความตั้งใจจริงจะเกิดขึ้นให้ตัวผู้ปฏิบัติได้ชื่นชมยินดีในที่สุด
๑๘. ล้มให้รีบลุก
เป็นปกติของผู้ปฏิบัติธรรม ช่วงใดเวลาใดที่สามารถปฏิบัติธรรมได้ก้าวหน้า จิตใจสงบเย็นเป็นสมาธิได้ง่าย สามารถพิจารณาอรรถธรรมให้ผ่านทะลุจิตใจได้โดยตลอดสาย ช่วงดังกล่าวมักจะต้องมีปัญหาและอุปสรรคที่เข้ามาไม่ในรูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง เพื่อมาขวางกั้นการปฏิบัติธรรมของผู้ปฏิบัติคนนั้นๆ ถ้าผู้ปฏิบัติธรรมไม่สามารถเตรียมใจรับกับสถานการณ์นั้นๆ ได้ ธรรมที่กำลังพิจารณาดีๆ ก็ต้องโอนเอนไปมา หรือล้มลุกคลุกคลานอีกได้
ผู้เขียนเคยกราบเรียนให้หลวงปู่ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคที่กำลังประสบอยู่
หลวงปู่ “พอล้มให้รีบลุก รู้ตัวว่าล้มแล้วต้องรีบลุก แล้วตั้งหลักใหม่ จะไปยอมมันไม่ได้”
ท่านเมตตาสอนต่อว่า “ก็เหมือนกับตอนที่แกเป็นเด็กคลอดออกมา กว่าจะเดินเป็น แกก็ต้องหัดเดิน จนเดินได้ แกต้องล้มกี่ทีเคยนับไหม พอล้มแกก็ต้องลุกขึ้นมาใหม่ใช่ไหม ค่อยๆ ทำไป”
หลวงปู่เพ่งสายตามาที่ผู้เขียนแล้วสอนว่า “ของข้าเสียมากกว่าอายุแกซะอีก ไม่เป็นไรตั้งมันกลับไป”
ผู้เขียน “ แล้วจะมีวิธีป้องกันไม่ให้ล้มบ่อยได้อย่างไร”
หลวงปู่ “ต้องปฏิบัติธรรมให้มาก ถ้ารู้ว่าใจเรายังแข็งแกร่งไม่พอ ถูกโลกเล่นงานง่ายๆ แกต้องทำให้ใจแกแข็งแกร่งให้ได้ แกถึงจะสู้กับมันได้”
เพื่อเป็นการเพิ่มกำลังใจของนักปฏิบัติ ไม่ว่าจะล้มสักกี่ครั้งก็ตาม แต่ทุกๆ ครั้งเราจะได้บทเรียน ได้ประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป ให้น้อมนำสิ่งที่เราเผชิญมาเป็นครู เป็นอุทาหรณ์สอนใจของเราเอง เตรียมใจของเราให้พร้อมอีกครั้ง ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก
๑๙. สนทนาธรรม
เมื่อครั้งที่ผู้เขียนกับหมู่เพื่อนใกล้สำเร็จการศึกษา ได้มากราบนมัสการหลวงปู่ ท่านได้สนทนากับพวกเราอยู่นาน สาระสำคัญที่เกี่ยวกับการปฏิบัติคือ
เมื่อพบแสงสว่างในขณะภาวนาให้ไล่ดู ถามท่านว่าไล่แสงหรือไล่จิต ท่านตอบว่า ให้ไล่จิตโดยเอาแสงเป็นประธาน (เข้าใจว่าอาศัยปีติ คือความสว่างมาสอนจิตตนเอง) เช่น ไล่ว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีจริงหรือไม่ มีจริงก็เป็นพยานแก่ตน
ถามท่านว่าไล่ดู มักเห็นแต่สิ่งปกปิด คือกิเลสในใจ ท่านว่า
“ถ้าแกเกลียดกิเลสเหมือนหมาเน่า หรือของบูดเน่าก็ดี ให้เกลียดให้ได้อย่างนั้น”
๒๐. ผู้บอกทาง
ครั้งหนึ่ง มีผู้มาหาซื้อยาลมในวัด ไม่ทราบว่ามีจำหน่ายที่กุฏิไหน หลวงปู่ท่านได้บอกทางให้ เมื่อผู้นั้นผ่านไปแล้ว หลวงปู่ท่านได้ปรารภธรรมให้ลูกศิษย์ที่นั่งอยู่ฟังว่า
“ข้านั่งอยู่ ก็เหมือนคนคอยบอกทาง เขามาหาข้า แล้วก็ไป...”
ผู้เขียนได้ฟังแล้วระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้เป็น “กัลยาณมิตร” คอยชี้แนะทางให้เดิน ดังพุทธภาษิตว่า
“จงรีบพากเพียรพยายามดำเนินตามทางที่บอกเสียแต่เดี๋ยวนี้ ตถาคตทั้งหลายเป็นเพียงผู้ชี้ทางให้เท่านั้น”
หลวงปู่เป็นผู้บอก แต่พวกเราต้องเป็นคนทำ และทำเดี๋ยวนี้
๒๑. อย่าทำเล่น
มีผู้ปฏิบัติธรรมบางท่านเคยปรารภกับผู้เขียนว่า ปฏิบัติธรรมมาหลายปีเต็มที แต่ภูมิจิต ภูมิธรรม ไม่ค่อยจะก้าวหน้าถึงขั้น “น่าชมเชย” ยังล้มลุกคลุกคลานอยู่ มองไปทางไหนก็เห็นแต่ตัวเองและหมู่เพื่อนเป็นโรคระบาด คือ โรคขาอ่อน หลังอ่อน ไม่สามารถจะเดินจงกรม นั่งสมาธิได้ ต้องอาศัยนอนภาวนาพิจารณา “ความหลับ” เป็นอารมณ์ เลยต้องพ่ายแพ้ต่อเจ้ากรรมนายเวร คือ เสื่อ และหมอน ตลอดชาติ
พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญบารมีถึง ๔ อสงไขย กำไรแสนมหากัป ครั้นออกบวชก็ทรงเพียรปฏิบัติอยู่หลายปี กว่าจะได้บรรลุพระโพธิญาณ หลวงปู่มั่น หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่แหวน ฯลฯ ท่านปฏิบัติธรรมตามป่าตามเขา บางองค์ถึงกับสลบเพราะพิษไข้ป่าก็หลายครั้ง หลวงปู่ดู่ท่านก็ปฏิบัติอย่างจริงจังมาตลอดหลายสิบพรรษา กว่าจะได้ธรรมแท้ๆ มาอบรมพร่ำสอนเรา
แล้วเราล่ะ ปฏิบัติกันจริงจังแค่ไหน
“ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” แล้วหรือยัง
๒๒. อะไรมีค่าที่สุด
ถ้าเราลองมาคิดดูกันแล้ว สิ่งที่มีค่ามากที่สุดในชีวิตเรา ตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งวันตายคืออะไร หลายคนอาจตอบว่าทรัพย์สมบัติ สามี ภรรยา บุคคลที่รัก หรือบุตร หรืออะไรอื่นๆ แต่ท้ายที่สุด ก็ต้องยอมรับว่าชีวิตของเรานั้นมีค่าที่สุด เพราะถ้าเราสิ้นชีวิตแล้ว สิ่งที่กล่าวข้างต้นก็ไม่มีความหมายใดๆ
ชีวิตเป็นของมีค่าที่สุด ในจำนวนสิ่งที่เรามีอยู่ในโลกนี้ พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เป็นของมีค่าที่สุดในโลก สิ่งต่างๆ ในโลกช่วยให้เราพ้นทุกข์ชนิดถาวรไม่ได้ แต่พระธรรมช่วยเราได้ ผู้มีปัญญาทั้งหลายควรจะผนวกเอาสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดทั้งสองนี้ให้ขนานทาบทับเป็นเส้นเดียวกัน อย่าให้แตกแยกจากกันได้เลยดังพระพุทธพจน์ตอนหนึ่งว่า
กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ การได้เกิดเป็นมนุษย์เป็นของยาก
กิจฉํ มจฺจานํ ชีวิตํ การได้มีชีวิตอยู่เป็นของยาก
กิจฉํ สทฺธมฺม สฺสานํ การได้ฟังพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นของยาก
กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท การบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นของยาก
อะไรจะมีค่าที่สุดสำหรับผู้ได้มานมัสการหลวงปู่นั้น คงไม่ใช่พระพรหมผง หรือเหรียญอันมีชื่อของท่าน
หลวงปู่เคยเตือนศิษย์เสมอว่า
“ข้าไม่มีอะไรให้แก (ธรรม) ที่สอนไปนั้นแหละให้รักษาเท่าชีวิต”
๒๓.การบวชจิต-บวชใน
หลวงปู่เคยปรารภไว้ว่า...
จะเป็นชายหรือหญิงก็ดี ถ้าตั้งใจประพฤติปฏิบัติ
มีศีล รักในการปฏิบัติ
จิตมุ่งหวังเอาการพ้นทุกข์เป็นที่สุด ย่อมมีโอกาสเป็นพระกันได้ทุกๆ คน
มีโอกาสที่จะบรรลุมรรค ผล นิพพานได้เท่าเทียมกันทุกคน
ไม่เลือกเพศ เลือกวัย หรือฐานะแต่อย่างใด
ไม่มีอะไรจะมาเป็นอุปสรรคในความสำเร็จได้ นอกจากใจของผู้ปฏิบัติเอง
ท่านได้แนะเคล็ดในการบวชจิตว่า....
“ในขณะที่เรานั่งสมาธิเจริญภาวนานั้น คำกล่าวว่า
พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ให้เรานึกว่า เรามีพระพุทธเจ้า เป็นพระอุปัชฌาย์ของเรา
ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ให้เรานึกว่า เรามีพระธรรม เป็นพระกรรมวาจาจารย์
สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ให้เรานึกว่า เรามีพระอริยสงฆ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
แล้วอย่าสนใจขันธ์ ๕ หรือร่างกายเรานี้
ให้สำรวมจิตให้ดี มีความยินดีในการบวช
ชายก็เป็นพระภิกษุ หญิงก็เป็นพระภิกษุณี
อย่างนี้ก็จะมีอานิสงส์สูงมาก จัดเป็นเนกขัมบารมีขั้นอุกฤษฎ์ทีเดียว
๒๔.ข้อควรคิด
การไปวัด ไปไหว้พระ ตลอดจนการสนทนาธรรมกับท่าน สมควรที่จะต้องมีความตั้งใจ และเตรียมให้พร้อมที่จะรับธรรมจากท่าน มิฉะนั้นแล้วอาจเกิดเป็นโทษได้ดังเรื่องต่อไปนี้
ปกติหลวงปู่ท่านมีความเมตตา อบรมสั่งสอนศิษย์ และสนทนาธรรมกับผู้สนใจตลอดมา วันหนึ่ง มีผู้มากราบนมัสการท่าน และเรียนถามปัญหาต่างๆ จากนั้นจึงกลับไป
หลวงปู่ท่านได้ยกเป็นคติเตือนใจให้ผู้เขียนฟังว่า “คนที่มาหาเมื่อกี้ หากไปเจอะพระดีละก็ลงนรก ไม่ไปสวรรค์นิพพานหรอก”
ผู้เขียนจึงเรียนถามท่านว่า“เพราะเหตุไรครับ”
ท่านตอบว่า “ก็จะไปปรามาสพระนั่นนะซิ ไม่ได้ไปเอาธรรมจากท่าน”
หลวงปู่เคยเตือนพวกเราไว้ว่า
“การไปอยู่กับพระอรหันต์ อย่าอยู่กับท่านนาน เพราะเมื่อเกิดความมักคุ้นแล้ว มักทำให้ลืมตัว เห็นท่านเป็นเพื่อนเล่น คุยเล่นหัวท่านบ้าง ให้ท่านเหาะให้ดูบ้าง ถึงกับออกปากใช้ท่านเลยก็มี การกระทำเช่นนี้ ถือเป็นการปรามาสพระ ลบหลู่ครูอาจารย์และเป็นบาปมาก ปิดกั้นทางมรรคผลนิพพานได้ จึงขอให้พวกเราสำรวมระวังให้ดี”
๒๕. จะตามมาเอง
หลายปีมาแล้ว มีพระภิกษุรูปหนึ่งได้มาบวชปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดสะแก ก่อนที่จะลาสิกขาเข้าสู่เพศฆราวาส ท่านได้นัดแนะกับเพื่อนพระภิกษุที่จะสึกด้วยกัน ๓ องค์ว่า เพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนสึก พวกเราจะไปกราบให้หลวงปู่พรมน้ำมนต์และให้พร ท่านได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ขณะที่หลวงปู่พรมน้ำมนต์ให้พรอยู่นั้น ท่านก็นึกอธิษฐานอยู่ในใจว่า
“ขอความร่ำรวยมหาศาล ขอลาภขอผลพูนทวี มีกินมีใช้ไม่รู้หมด จะได้แบ่งไปทำบุญมากๆ”
หลวงปู่หันมามองหน้าหลวงพี่ ที่กำลังคิดละเมอเพ้อฝันถึงความร่ำรวยนี้ ก่อนที่จะบอกว่า
“ท่าน ที่ท่านคิดน่ะมันต่ำ คิดให้มันสูงไว้ไม่ดีหรือ แล้วเรื่องที่ท่านคิดน่ะ จะตามมาทีหลัง”
๓๗ เรื่องเล่า
ธรรมะลึกซึ้งเข้าใจง่าย
หลวงปู่ดู่ พฺรหฺมปัญโญ
วัดสะแก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โพสท์ใน เวบพลังจิต ห้อง พุทธศาสนา โดย คุณ : leo_tn เมื่อ 21-05-2007, 10:32 PM
๑. ให้รู้จักบุญ
การทำบุญทำกุศลนั้น โปรดอย่านึกว่าจะต้องหอบข้าวหอบของไปใส่บาตรที่วัดทุกวัน หรือบุญจะเกิดได้ก็ต้องทอดกฐินสร้างโบสถ์ สร้างศาลา และอื่นๆ อย่างที่เขาโฆษณาขายบุญกันทั้งทางวิทยุ หนังสือพิมพ์ และใบเรี่ยไรกันเกลื่อนกลาด จนรู้สึกว่าจะต้องเป็นภาระที่จะต้องบริจาคเมื่อไปวัดหรือสำนักนั้นๆ เป็นประจำ
บทสวดมนต์ชื่อ พระพุทธชัยมงคลคาถา ที่ขึ้นต้นด้วยพาหุงมีอยู่ท่อนหนึ่ง ซึ่งกล่าวถึงพระพุทธเจ้าทรงชนะมารคือกิเลสว่า
“ทานาทิธัมมวิธินา ชิตวา มุนินโท” แปลว่า
พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นจอมปราชญ์ ทรงชนะมารคือกิเลส ด้วยวิธีบำเพ็ญบารมีธรรม คือความดี มีการบริจาคทานเป็นต้น
พระพุทธเจ้าทรงสอนการทำบุญทำกุศล ด้วยการให้ทาน รักษาศีล และสวดมนต์เจริญสมาธิภาวนา ให้ทานทุกครั้ง ให้ทำลายความโลภ คือกิเลสทุกครั้ง รักษาศีล เจริญภาวนาเพื่อทำลายความโกรธ ความเห็นแก่ตัว ให้ใจสะอาด ใจไม่เศร้าหมอง มองเห็นบาปคุณโทษได้ทุกครั้ง ทำได้ดังนี้จึงชื่อว่า ทำตามพระพุทธเจ้า
๒. จบของทำบุญ-อธิษฐานรับพร
ก่อนที่ท่านผู้มีศรัทธาทั้งหลายจะถวายของแก่พระภิกษุสงฆ์ มักจะมีการอธิษฐานหรือที่เรียกว่า จบของ บางคนจบนาน บางคนจบช้า หลวงปู่ท่านให้ข้อคิดว่า
“ก่อนที่เราจะถวายให้จบมาเสียก่อนจากบ้าน เนื่องจากพอมาถึงวัดมักจะจบไม่ได้เรื่อง คนมากมายเดินไปเดินมา จะหาสมาธิมาจากไหน เราจะทำอะไรก็ตามอธิษฐานไว้เลย เวลาถวายจะได้ไม่ช้าเสียเวลาคนอื่นเขาอีกด้วย บางคนก็ขอไม่รู้จบ ให้ตัวเองไม่พอ ให้ลูกให้หลาน จิตเลยส่ายหาบุญไม่ได้”
การที่หลวงปู่ให้จบก่อนนั้น มีความประสงค์ให้ตั้งเจตนาให้ดี บุญที่ได้รับจะมีผลมาก ญาติโยมจึงกราบเรียนหลวงปู่ว่า
“ควรอธิษฐานอย่างไร”
หลวงปู่ตอบว่า
“อธิษฐานให้พ้นทุกข์หรือขอให้พบแต่ความดีตลอดไปจนพ้นทุกข์ ถ้าเป็นบาลีก็ว่า สุทินนังวะตะเม ทานัง อาสวะขะยาวะหัง นิพพานะ ปัจจะโยโหตุ คนเราจะพ้นทุกข์ได้ต้องพบกับความดีมีความสุขใช่ไหม ไม่ต้องอธิษฐานให้ยืดยาวหรอก”
เมื่อทำบุญแล้วมักจะมีการรับพรจากพระ มีการกรวดน้ำ บางทีไม่ได้เตรียมไว้ต้องวิ่งหากันให้วุ่นวาย หลวงปู่บอกว่า
“ใช้น้ำจิตน้ำใจของเรากรวดก็ได้ เขาเรียกกรวดแห้ง ไม่ต้องกรวดเปียก เรื่องการกรวดเปียกเขาเริ่มมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อถวายของพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านกรวดน้ำให้เปรตญาติพี่น้องที่มาร้องขอบุญจากท่าน ตอนแรกท่านไม่รู้เลยทูลถามพระพุทธเจ้า ที่เขาเรียกว่า ทุ สะ นะ โส คือหัวใจเปรตนั่นแหละ”
หลวงปู่ท่านตอบเพื่อให้คลายกังวลสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลากรวดน้ำเช่น คนที่รีบใส่บาตรก่อนจะไปทำงาน เป็นต้น ส่วนการอธิษฐานรับพรนั้นท่านแนะนำว่า
“ข้าพเจ้าขอรับพรที่ได้นี้ ขอให้ติดตัวข้าพเจ้าตลอดไปในชาตินี้และชาติหน้า แล้วก็อธิษฐานเรียกพระเข้าตัวเวลามีพิธีอะไร อย่างเช่น เวลาเขาปลุกเสกพระ เราก็สามารถรับพรจากพระองค์ไหนๆ ก็ได้ทั้งนั้น”
การสำรวมกาย วาจา ใจ จึงเป็นสิ่งสำคัญเมื่อมีพิธีกรรมทางสงฆ์ เพราะบ่อยครั้งที่ขณะพระให้ศีลหรือให้พร ญาติโยมบางคนก็เริ่มคุยแข่งกับพระ เสียงโยมเมื่อรวมกันดังกว่าเสียงพระเสียอีก ตนเองไม่ได้บุญยังไม่พอ แต่กลับไปสร้างความรำคาญให้ผู้อื่น เรียกว่าการขัดบุญที่ผู้อื่นพึงได้รับ หลวงปู่เคยพูดว่า
“ระวังให้ดี เดี๋ยวจะเกิดเป็นตะเข้ขวางคลอง”
๓. อยู่ที่ใจ
การจุดธูปเทียนเพื่อบูชาพระในพิธีกรรมต่างๆ มักจะไม่เหมือนกัน บางท่านต้องการไหว้พระแต่ยังตกลงใจไม่ได้ว่าจะใช้ธูปกี่ดอกถึงจะเหมาะสม หลวงปู่เคยตอบคำถามเรื่องนี้กับผู้ที่สงสัยว่า
หลวงปู่ “จุดกี่ดอกก็ได้ ส่วนใหญ่มักใช้ ๓ ดอก บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กี่ดอกก็มีความหมายทั้งนั้น”
ผู้ถาม “อย่างนั้นถ้าจุดดอกเดียว ไม่ถือว่าไหว้ผีหรือไหว้ศพหรือครับ”
หลวงปู่ “จุด ๑ ดอก หมายถึง จิตหนึ่ง
จุด ๒ ดอก หมายถึง กายกับจิต หรือ โลกกับธรรม
จุด ๓ ดอก หมายถึง พระรัตนตรัย หรือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
จุด ๔ ดอก หมายถึง อริยสัจ ๔
จุด ๕ ดอก หมายถึง พระเจ้าห้าพระองค์ นะโมพุทธายะ
จุด ๖ ดอก หมายถึง สิริ ๖ ประการ ที่แกกราบพระ ๖ ครั้ง
จุด ๗ ดอก หมายถึง โพชฌงค์ ๗
จุด ๘ ดอก หมายถึง มรรคแปด
จุด ๙ ดอก หมายถึง นวโลกุตรธรรม
จุด ๑๐ ดอก หมายถึง บารมี ๑๐ ประการ
อยู่ที่เราจะคิดให้ดี เอาอะไรก็ได้”
ผู้ถาม “ถ้า ๑๑ ดอก หมายถึง.......”
หลวงปู่ “ก็บารมี ๑๐ ประการกับจิตหนึ่ง ว่าไปได้เรื่อยๆ แหม แกถามซะข้าเกือบไม่จน”
ผู้ถาม “ถ้าไม่มีธูปเทียน”
หลวงปู่ “ก็ใช้ชีวิตจิตใจบูชา ไม่เห็นต้องมีอะไร
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง ชีวิตัง ปูเชมิ”
หลวงปู่หัวเราะมองหน้าผู้ถาม ที่รู้สึกทึ่งในปฏิภาณของหลวงปู่
remark ; ผมชอบเรื่องนี้มั่กๆ ปฏิภาณของหลวงปู่เกินบรรยายจริงๆ
๔. อยากได้บุญมาก
พระสงฆ์ถือว่าเป็นเนื้อนาบุญของโลก ผู้ที่ถวายทานท่าน จึงได้ชื่อว่าปลูกบุญนิธิไว้ในศาสนา แต่จะได้ผลมากน้อยนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างได้แก่
พระ - ซึ่งเป็นตัวเนื้อนาบุญ หากเป็นพระดี ก็เปรียบดังที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุ
วัตถุ - หรือวัตถุทานนี้ หากได้มาโดยความบริสุทธิ์ ไม่ได้ไปลักชิงของใครเขามา ก็ย่อมเป็นวัตถุทานที่บริสุทธิ์ เหมาะแก่การบริโภคใช้สอย
เจตนา - ความตั้งใจและความศรัทธามากน้อยเพียงใด บุญก็ย่อมมากน้อยไปตามเพียงนั้น
องค์ประกอบทั้ง ๓ นี้ เป็นสื่อผูกพันเพื่อให้เกิดบุญสมความปรารถนา มีศรัทธาญาติโยมบางท่านเกิดความไม่แน่ใจในตัวพระสงฆ์ จึงได้มาเรียนถามหลวงปู่เพื่อให้หายข้องใจ ซึ่งหลวงปู่ก็ได้เมตตาตอบดังนี้
“อธิษฐานก่อนถวายทาน ทำจิตใจของเราให้ไปถวายกับพระพุทธเจ้าเลย จะได้บุญสูง พระที่รับเป็นเพียงผู้อุปโลกน์ ถ้าท่านไม่ดีจริง ท่านก็ไปนรก”
พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตั้งศาสนา มีพระหฤทัยที่บริสุทธิ์ผุดผ่องด้วยธรรมปัญญา พระสงฆ์เปรียบเสมือนเสนาบดีของพระพุทธองค์ การถวายทาน จึงได้ชื่อว่า ได้ดำเนินรอยตามพระยุคลบาทของพระศาสดา ผู้เป็นใหญ่แห่งสามโลกพระองค์นั้น
๕. ผีลองดี
ครั้งหนึ่งหลวงปู่ดู่เดินทางไปเรียนวิชาทำธง ที่วัดตะเขง จังหวัดสระบุรี เพราะหลวงปู่แด่เป็นผู้สั่งให้ไปเรียน เมื่อไปถึงหลวงปู่ที่วัดท่านบอกว่า
หลวงปู่ “ผมแก่แล้วตาไม่ค่อยดี นิมนต์กลับไปเรียนกับอาจารย์แด่ท่านเถิด เออ คุณผ่านมาตรงช่องเขามีใครเขาหยอกคุณหรือเปล่า”
หลวงปู่ดู่ “มีครับแต่ไม่เป็นไร”
หลวงปู่ “ขากลับไปเถอะ ไม่มีอะไร”
หลวงปู่ดู่เล่าให้ฟังว่า
“เดินไประหว่างช่องเขา มีคนปาก้อนหินลงมาก้อนเบ้อเร่อ ถูกข้าคงตาย แต่ข้าไม่กลัว มีคนเขาเดินผ่านมาทางนี้ ผีพวกนี้มักปาแกล้งลงมา ขากลับก็ไม่มีอะไรจริงๆ ตกลงไม่ได้เรียน ต้องกลับมาหาอาจารย์แด่”
๖. โมทนาบุญ
ผู้ที่มาทำบุญที่วัดบางครั้งมาคนเดียว มาหลายคน หรือมากับครอบครัว บางท่านมีศรัทธามากทำบุญอย่างสม่ำเสมอ แต่เกิดอุปสรรคจากสามีหรือภรรยา หรือพ่อแม่ไม่เห็นดีด้วย บางคนถึงกับออกปากว่า
“พระมีเฉพาะที่วัดสะแกหรือไง เจ้าอาวาสยังหนุ่มใช่ไหม”
ร้อยสรรพันเรื่องที่หยิบยกขึ้นมา ผู้ที่ต้องการบุญจึงเกิดความไม่สบายใจ เพราะต้องการให้เขาเหล่านั้นได้รับกุศลไปด้วย จึงมาเรียนถามความเห็นของหลวงปู่ ซึ่งท่านตอบว่า
“คนที่เข้าใจก็เห็นด้วย คนที่ไม่เข้าใจก็ไม่เห็นด้วย เอาอย่างนี้ พอทำบุญหลายๆ ครั้งรวมเป็นครั้งเดียวไปบอกให้เขาโมทนาซะ ว่าฉันไปทำบุญมา ขอให้โมทนาด้วย”
ผู้ถามถามต่ออีกว่า ถ้าต้องการให้ผู้ที่ไม่สนใจมาทางเดียวกัน ควรจะทำอย่างไร หลวงปู่ตอบว่า
“พอเวลาทำบุญก็ให้บุญกับเขา เรียกกายทิพย์เขามารับบุญ เขาเรียกว่าให้บุญใน หรือให้ทางใน นานไปเขาก็เปลี่ยนไปเอง หรือเราจะให้กับคนที่เขาโกรธเรา อาฆาตพยาบาทตัวเราก็ได้”
หลวงปู่ยังได้โยงไปถึงการให้บุญกับผู้อื่นอีก
“บุญเป็นของดี เราให้ใครก็ได้ ไม่ว่าเจ้านาย ลูกน้อง หรือคนที่เราจะไปติดต่อขอความช่วยเหลือ ได้ทั้งนั้น
บุญคือความสบายใจ การสร้างบุญโดยการให้ด้วยจิตใจที่เมตตา คือเป็นคนกล่อมเกลาจิตใจไปในตัว และเป็นการปฏิบัติธรรมอีกอย่างหนึ่งด้วย”
๗. ไม่ต้องลอง
บ่อยครั้งที่มีผู้ต้องการปฏิบัติไปกราบนมัสการและแจ้งความประสงค์ขอปฏิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่หลวงปู่ยินดีมาก มีอยู่ครั้งหนึ่งมีผู้มาขอปฏิบัติกับท่านโดยพูดว่า
“ผมอยากมาลองปฏิบัติดู เขาว่าทำแล้วดี”
หลวงปู่ท่านรีบตอบว่า
“ไม่ต้องลอง ทำเลย ขืนลองก็ไม่เจอของดีสักที ธรรมะไม่ใช่ของลอง เป็นของให้ทำจึงจะเห็นผล”
ผู้เขียน “หลวงปู่มีวิธีการ หรือหลักการอย่างไร ในการเผยแพร่กับหมู่คณะที่มาปฏิบัติ”
หลวงปู่ “เราไม่ใช่อาจารย์ เราแอบทำเพราะเราไม่สามารถประกาศได้มากกว่านี้ เพียงแต่ข้าตั้งจิตอธิษฐานว่าคนใดก็ตามที่เคยทำบุญร่วมกันมา ขอให้ได้มาพบกันแล้วมาปฏิบัติธรรมเพื่อให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ได้ชาตินี้ ก็ให้ได้ชาติต่อๆ ไป บางคนเขามาแล้วก็เลยไปยังไม่ทันได้ชิม บางคนชิมแล้วยังไม่ทานก็ไป แสดงว่าเขาไม่ได้ทำบุญร่วมกับเรามาก็แค่นั้น”
ผู้เขียน “บางครั้งพระที่ดี คนในท้องถิ่นมักจะไม่ได้ของดีอย่างเช่น หลวงปู่ปาน”
หลวงปู่ “แล้วแต่บุญของเขา อย่างพระของข้า ข้าก็แจกๆ กันไป คนไกลเขาก็ได้กัน คนใกล้ไม่ค่อยได้”
ผู้เขียน “อย่างนี้เขาเรียกว่า ใกล้เกลือกินด่างใช่ไหมครับ”
หลวงปู่ “ ใกล้เกลือตีนด่าง เพราะมันเหยียบเลย ข้าโดนมาโชกแล้ว แต่ข้าไม่สนใจ ดีชั่วอยู่ที่ตัวเรา ไม่ได้อยู่ที่คนอื่น เรื่องของบุญใครทำใครได้ ทำให้กันไม่ได้ เหมือนกับใครหิวข้าวก็ต้องกินเอง ใครกินใครอิ่ม บางคนต้องจ้างให้มาวัด แต่ก็มาไม่ถึงวัด เพราะแวะกินเหล้าข้างทาง บางทีให้ปฏิบัติแต่จะหวังรางวัลที่หนึ่ง หรือถูกหวย นั่นเละแล้ว ไม่ได้เรื่องแล้ว”
หลวงปู่ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการปฏิบัติที่แท้จริง ไม่ใช่ปฏิบัติเพียงหลอกๆ จึงจะเจอของจริงได้ เมื่อใดก็ตามที่เราเห็นความสำคัญของการปฏิบัติเหมือนกับการกินข้าว เหมือนกับลมหายใจ แสดงว่าเรามีที่พึ่งสำหรับตนเองแน่นอน
๘. พระดีที่น่าเคารพ
ปกติเวลาเราไปไหว้พระสุปฏิปันโนหรือพระที่ทรงคุณธรรม บางครั้งมักจะมีการขอให้ท่านช่วยอธิษฐานจิตวัตถุมงคลที่นำไป ผู้เขียนและคณะบางครั้ง เวลาที่ท่านมีสุขภาพดี อารมณ์แจ่มใส จึงขอให้ท่านทำให้
มีครั้งหนึ่ง ผู้คนไปกันมาก ของที่จะให้ท่านอธิษฐานมีหลายอย่างรวมกันไป เมื่อท่านอธิษฐานเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่พูดขึ้นว่า
“เจอดีหลายๆ องค์ พระนะ แต่องค์นี้เป็นพระดีมาก”
ท่านชี้ไปที่ล็อกเกตพระสงฆ์องค์หนึ่ง เมื่อผู้เขียนหยิบมาดู จึงกราบเรียนท่านว่า
“ก็เป็นล็อกเกตรูปหลวงปู่ไงละครับ ที่ทางวัดเขาทำให้บูชา”
หลวงปู่ท่านจึงรีบตอบว่า “เอ้า ข้าไม่รู้ ทำไว้ซะเล็ก เลยมองไม่เห็นว่าเป็นองค์ไหน”
มีลูกศิษย์อีกคนจึงถามท่านว่า “ทำไมหลวงปู่จึงรู้ละครับ”
ท่านจึงตอบว่า“ข้าก็ไม่รู้ เพียงแต่ว่ามีความรู้สึกพิเศษ แกถามอาจารย์เขาดูดีกว่า”
หลวงปู่ท่านเลี่ยงมาให้ผู้เขียนตอบแทน แต่ผู้เขียนได้แต่ยิ้มไม่ตอบอะไร จนเมื่อลาหลวงปู่กลับจึงตอบให้ฟังว่า
“หลวงปู่ท่านคงมีเมตตา ที่เห็นพวกเราทุกคนเคารพท่าน แล้วไม่สงสัย ท่านจึงบอกอย่างนี้ก็ได้ อีกอย่างหนึ่งคงมีแสงสว่างจากพลังจิตใจในคุณพระที่ท่านอธิษฐานไว้ ไปปรากฏที่หลวงปู่ก็ได้ อะไรก็ดีทั้งนั้นแหละ
เรื่องของพระดีที่มีคุณธรรมนี้ หลวงปู่ท่านเคยบอกผู้เขียนว่า
“เวลาที่ไปไหว้พระองค์ไหนก็ตาม ถ้าผู้ที่ทำเห็นแล้วจะรู้ได้ เพราะท่านจะมีที่อยู่ของท่านเฉพาะ ถ้าองค์ไหนเราเห็นท่านอยู่ในที่ของท่านแล้ว องค์นั้นแหละพระดี ข้อสำคัญต้องทำให้เห็น หรือเวลาแกไปเจอภาพพระองค์ไหนก็ตาม เอามือแตะภาพท่านทำใจเฉยๆ ถ้าขึ้น (ปีติ) มาถึงหัวแสดงว่าพระองค์นั้นดี”
ผู้เขียนเคยนำรูปของสมเด็จพระสังฆราช (อยู่) วัดสระเกศ ไปให้ท่านอธิษฐานจิต พอหลวงปู่ท่านแตะรูปท่านบอกว่า
“องค์นี้เป็นพระดี มีบารมีสูงมาก พอกับหลวงพ่อโต วัดระฆัง จะมากกว่าเสียด้วย ถ้าแกไม่เชื่อลองจับดูก็ได้”
ผู้เขียนรีบตอบท่านว่าไม่ละครับ เพราะผู้เขียนรู้ตัวเองดีว่า คุณธรรมของเรายังน้อยนิด บารมีของเรา ยังไม่เท่ากับหนึ่งในล้านส่วน ของเศษละอองธุลีพระบาทของพระโสดาบันเลย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนรู้สึกซาบซึ้งในองค์หลวงปู่มาก ที่ท่านมีเมตตาสั่งสอนเพื่อให้ความรู้และความกระจ่างกับลูกศิษย์
๙. พระหรือพะ
พระภิกษุที่บวชในพระพุทธศาสนา บางรูปบางองค์มีปฏิปทาดี บางองค์ก็ไม่สนใจในพระธรรมวินัย ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันต่างๆ นานา อันที่จริงศาสนาไม่ได้เสื่อม แต่ผู้อยู่ในศาสนาเสื่อม พระพุทธเจ้าจึงกำหนดอายุของศาสนา ทรงตรัสว่า
“บุคคลภายนอกศาสนา ไม่สามารถทำลายศาสนาตถาคตได้ แต่ผู้ที่ทำลายได้ คือ พุทธบริษัททั้ง ๔ ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา”
เกี่ยวกับเรื่องนี้หลวงปู่เคยกล่าวไว้ว่า
“พระ คือคนที่บวชแล้วได้ดี ถ้าอีกจำพวกก็คือ พะ บวชเพื่อหากินกับศาสนา เหมือนกับสวะหรืออะไรก็ได้ที่ไปพะกับของสิ่งนั้น แต่ถ้าไปเจออีกพวกคือ แพะ พวกนี้ร้าย จ้องแต่จะชนกับพระ กับฆราวาส นี่แหละคือพระสามประเภท”
ทั้งนี้ ทำให้ผู้เขียน นึกถึงพระดำรัสของพระพุทธเจ้า ที่สอนสิ่งที่ภิกษุหรือสมมติสงฆ์ควรศึกษามี ๓ อย่างคือ ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อจะได้เป็นพระ หรือผู้ประเสริฐเช่นเดียวกับคำพูดของหลวงพ่อ
๑๐. ตายแล้วไม่เน่า
ผู้เขียนเคยไปที่วัดป่าเลไลย จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อไปนมัสการศพของหลวงพ่อถิร ปรากฏว่าร่างกายไม่เน่าเปื่อย มีเล็บและเกศางอกออกมา เป็นที่อัศจรรย์ใจและเกิดความสงสัย เมื่อมีโอกาสได้กราบเรียนหลวงปู่ท่านอธิบายว่า
“ผู้ที่ตายแล้วไม่เน่ามี ๓ ประเภท”
๑. ผู้ที่กินว่าน
๒. ผู้ที่มีคาถาอาคมเสกข้าวกินประจำ
๓. พระอรหันต์อธิษฐานทิ้งร่างไว้ให้คนสักการะกราบไหว้ ตัวอย่างเช่น หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน จังหวัดสุพรรณบุรี
ผู้เขียนเกิดความไม่แน่ใจ เพราะเราไม่สามารถตัดสินได้ว่าองค์ไหนเป็นพระอรหันต์ หลวงปู่บอกว่า
“เราต้องดูปฏิปทาหรือราศี พวกที่กินว่านหรือมีคาถานั้นจะไม่มีราศี ผิวพรรณไม่สดใส”
ผู้เขียนจึงได้ปรารภกับหลวงปู่ โดยกล่าวอ้างถึงในสมัยก่อน หลวงปู่มีผิวพรรณที่ค่อนข้างดำ แต่ในปัจจุบันหลวงปู่มีราศีสดใสสวยงาม แม้แต่หลวงปู่บุดดา เมื่อก่อนเขาว่าท่านผิวดำเหมือนกัน หลวงปู่ตอบว่า
“ไม่ต้องสงสัย กระดูกท่านยังฟอกเป็นพระธาตุได้ ผิวพรรณทำไมจะฟอกไม่ได้”
เคยมีผู้มีบุญท่านหนึ่งมากราบนมัสการหลวงปู่ เมื่อท่านผู้นั้นกลับไปแล้ว
หลวงปู่ได้ถามว่า“แกว่าข้ากับเขา ราศีใครดีกว่ากัน”
ผู้เขียนรีบเรียนว่า “ว่ากันตามตรงหลวงปู่ราศีดีกว่าครับ”
หลวงปู่ยิ้ม ก่อนที่จะพูดขึ้นว่า“นั่นคือราศีทางโลก สู้ราศีทางธรรมไม่ได้”
๑๑. รับให้ถูกต้อง
วัตถุมงคลของหลวงปู่มีให้บูชาที่วัด ผู้เขียนเคยมีคำถามเรื่องนี้กับหลวงปู่
“หลวงปู่ครับ ถ้าสมมุติว่าผมมีพระแพงๆ เช่น พระรอด แล้วผมจะนำไปให้เขาบูชา แต่เงินที่ได้ผมจะนำมาทำบุญจะบาปไหมครับ”
หลวงปู่ท่านตอบว่า“ถ้าบาป ข้าต้องบาปแน่ เพราะข้าขายพระเต็มศาลา”
ผู้เขียนแย้งว่า “แต่หลวงปู่ไม่ได้ใช้เงินเอง”
หลวงปู่ท่านจึงสรุปว่า“อย่างไรข้าก็ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ขาย แต่จุดประสงค์ข้าทำเพื่อวัดวา ไม่ใช่ทำเพื่อข้า”
ดังนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างจึงอยู่ที่เจตนา ซึ่งหลวงปู่ท่านเน้นว่า เจตนา คือ ตัวบุญ
เมื่อก่อนที่หลวงปู่ยังแข็งแรง ผู้ที่บูชาพระแล้วก็มักจะนำมาให้หลวงปู่ประสิทธิ จนกระทั่งเมื่อท่านป่วยไม่ค่อยแข็งแรง ผู้บูชามักเกรงใจ ไม่ให้ท่านเป็นผู้ประสิทธิ แม้กระนั้น หลวงปู่ยังอดไม่ได้ด้วยความเมตตา เพราะท่านบอกว่าเพื่อกำลังใจและความศรัทธา เนื่องจากทุกคนต้องสละทรัพย์ ที่หามาได้ด้วยความเหนื่อยยาก มีอยู่ครั้งหนึ่ง ขณะที่ท่านประสิทธิให้กับผู้บูชารายหนึ่งซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่าน เมื่อเสร็จแล้วท่านพูดว่า
“แกรับพระยังไม่ถูก”
ผู้รับเกิดความสงสัย หลวงปู่ท่านจึงอธิบายต่อ “ทำจิตให้น้อมรับสิ่งที่ดีที่ให้ โดยเรียกพระเข้าตัว เวลาที่รับแกไม่ได้ทำจิตแบบนี้ แกมุ่งจิตออกมาให้ข้า แทนที่จะได้เลยไม่ได้”
เคยมีลูกศิษย์หลวงปู่ที่เป็นพระ เมื่อเวลาที่ท่านประสิทธิให้ ต้องการลองกำลังของหลวงปู่ จนหลวงปู่ต้องพูดขึ้นว่า “ ลองพอหรือยัง”
ลูกศิษย์ผู้นั้นจึงได้คิดว่าหลวงปู่สามารถรู้ได้
บางครั้งเมื่อรับพระแล้วหลวงปู่ท่านจะกล่าวชมสำหรับคนที่รับถูกต้องว่า “ เจอดีแล้วทำได้แบบนี้แกขนลุกใช่ไหม”
ผู้รับจึงถามว่า “หลวงปู่รู้ได้อย่างไรครับ”
หลวงปู่ท่านตอบว่า“แกขนลุก แต่อาการของแกมาเกิดที่ข้า ข้าจึงรู้”
สำหรับเรื่องการรู้นี้ หลวงปู่ท่านรู้เป็นเรื่องปกติวิสัย ผู้เขียนเองหรือหลายคน ก็เคยประสบกับเรื่องเหล่านี้มาแล้วด้วยกันทั้งนั้น
๑๒. ไม่เคยโกหกใคร
หลังจากที่ผู้เขียนสอบสัมภาษณ์ปริญญาโทเรียบร้อยแล้ว ได้กลับมานมัสการหลวงปู่ พร้อมกับรายงานผล เนื่องจากก่อนจะไปสอบ ผู้เขียนได้ขอบารมีหลวงปู่ให้ช่วยเหลือ ท่านพยักหน้ารับ ซึ่งในวันนั้นหลวงปู่มีอารมณ์แจ่มใสมาก ท่านพูดว่า “ ข้าอธิษฐานบารมีพระ แผ่บุญกุศลไปให้อาจารย์ที่ปรึกษาของแกนั่นแหละ เอาบุญให้เขา เพื่อขอความช่วยเหลือจากเขา สามคนข้ารู้ชื่อ แต่อีกคนไม่รู้ เลยขอให้สามคนถาม อีกคนคอยนั่งฟัง” ซึ่งก็เป็นจริงดังที่หลวงปู่พูดไว้
ผู้เขียนได้สนทนากับท่านจนถึงเรื่อง คาถามหาจักรพรรดิ
ผู้เขียน “หลวงปู่เป็นผู้แต่งคาถาบูชาพระ (คาถามหาจักรพรรดิ) ใช่ไหมครับ”
หลวงปู่ “ สำเภาเขาสร้างพระพุทธรูป อยากได้คาถาบูชาพระก็เลยมานึกเอาเอง มันจะผิดอยู่หน่อยตรงคำบูชาที่มี นะ โม พุท ธา ยะ แล้วก็ ยะ ธา พุท โม นะ หรือแกว่าไง”
ผู้เขียน “ปกติการตั้งองค์พระ (การอธิษฐานให้เป็นพระ) โบราณเขาใช้กันว่า นะโมพุทธายะ ยะธาพุทโมนะ ดังนั้นการที่หลวงปู่กล่าวเช่นนี้ ต้องการให้บูชาคาถา เกิดเป็นพระพุทธเจ้าปางมหาจักรพรรดิใช่ไหมครับ”
หลวงปู่พยักหน้ารับพร้อมทั้งกล่าวว่า
“คาถาบทนี้เป็นของดี หมั่นท่องไว้ทุกวัน ปกติเขาไม่ให้กันหรอก เพราะเขากลัวลูกศิษย์จะดีกว่าอาจารย์ แต่ข้าไม่เคยกลัวและไม่ปิดบัง ท่องให้ดีนะอีกหน่อยจะรวย เพราะมีการกล่าวถึงพระสีวลี ผู้เลิศทางลาภไว้ด้วย อาบน้ำอาบท่า อาบไปเสกไปก็ได้ กินข้าวก็ได้ ดีทั้งนั้น
ทุกสิ่งทุกอย่างที่ข้ามาบอกพวกแก ข้าทดลองมาแล้วทั้งนั้น เมื่อดีแล้วจึงมาบอก ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่ศรัทธาและการหมั่นฝึกฝนปฏิบัติ คนเราอยู่ดีๆ จะให้รวยได้อย่างไร ต้องปฏิบัติให้ดีเสียก่อน ดูอย่างข้า เมื่อก่อนต้องไปยืมเงินเขามาซื้อธูปเทียนใบชามาเลี้ยงแขก เดี๋ยวนี้ของกินของใช้มีให้เกลื่อนกลาดไป เรามาพบไม้งามเมื่อขวานบิ่น แกว่าจริงไหม ของดีของอร่อยกินก็ไม่ได้ ฟันไม่มี”
หลวงปู่หัวเราะแล้วเสริมอีกว่า
“คนเราต้องทำให้ดี เมื่อดีแล้วจึงรวย แล้วจะได้ไม่ซวย พระจะดีต้องหมดอยาก ถ้ายังอยากอยู่ก็ไม่ใช่พระดี”
๑๓. ถวายกระทง
ปกติ คืนวันเพ็ญเดือนสิบสองจะมีการลอยกระทงตามแม่น้ำต่างๆ แต่ในคณะศิษย์ของหลวงปู่ดู่นั้น จะนำกระทงมาถวายท่าน ซึ่งเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง ผู้เขียนและหมู่คณะได้มีโอกาสนำกระทงไปถวายกับท่าน ซึ่งในคณะนี้ส่วนใหญ่เป็นนักปฏิบัติ เคยมีผู้สงสัยกราบเรียนหลวงปู่ว่า
“เห็นมีผู้นำกระทงมาถวายกับหลวงปู่มากมาย ทำไมหลวงปู่ไม่ลอยในน้ำหรือ”
หลวงปู่ตอบว่า“ลอยด้วยน้ำจิตน้ำใจของเราไงละ”
หลวงปู่จะให้สมาทานศีลก่อนแล้วถวาย เมื่อกล่าวคำถวายเสร็จแล้ว พวกเราจะประเคนแก่ท่าน หลังจากนั้น ท่านจะให้พวกเราทุกคนภาวนาไตรสรณคมน์สักครู่ แล้วท่านจะนำจิตนำกระทงไปถวายพระพุทธเจ้าที่วิมานแก้ว เมื่อพระพุทธเจ้ารับแล้ว หลวงปู่จึงให้พร ผู้ที่มีจิตใจเป็นทิพย์หลายๆ คนจะสามารถเห็นได้ว่า ได้ไปจริงๆ บุญที่ได้ จึงมีทั้งบุญภายนอกคือ อามิสบูชา และบุญภายในคือ ปฏิบัติบูชา
ตามประเพณีเดิมของการลอยกระทง มีทั้งคติทางพราหมณ์และพุทธ ทางพราหมณ์ถือว่าเป็นการขอขมาพระแม่คงคา ส่วนทางพุทธมีหลายเจตนาเช่น การบูชาพระจุฬามณี การบูชารอยพระพุทธบาทที่พระพุทธองค์แสดงไว้แก่พญานาคที่แม่น้ำ
ส่วนเค้ามูลดั้งเดิม มีมาจากการที่มานพทั้ง ๕ ซึ่งเกิดจากไข่กา เมื่อรังถูกพายุพัดไข่กระจัดกระจายไป ได้มีการนำไปเลี้ยงโดย ไก่ นาค เต่า วัว และราชสีห์ เมื่อมานพทั้ง ๕ บำเพ็ญเพียรแล้วได้มาพบกันจึงรู้ความจริงว่า แม่ของตนเองซึ่งเสียใจเมื่อมาไม่พบลูกทั้ง ๕ นั้น ขณะนี้ไปอยู่พรหมโลกชื่อว่า พกา มานพทั้ง ๕ จึงคิดเป็นรอยตีนกาเพื่อบูชาท้าวพกาพรหมซึ่งเป็นแม่ และมานพทั้ง ๕ คือ พระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ต่อมาคือ นะ โม พุท ธา ยะ นั่นเอง ดังนั้น ท้าวพกาพรหมจึงถือว่าเป็นโยมของพระพุทธเจ้าก็ได้ หลวงปู่จึงสร้างพระปางโปรดท้าวพกาพรหมไว้ให้พวกเราทั้งหลายบูชา หลวงปู่ยังได้บอกอีกว่า
“พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๔ ขึ้นไปโปรดท้าวพกาพรหมจนละทิฏฐิได้เป็นพระโสดาบัน แต่ขณะนี้เป็นพระอนาคามีแล้ว จะเข้าถึงนิพพานในยุคพระศรีอาริยเมตไตรย”
๑๔. อย่าท้อถอย
ญาติโยมผู้หนึ่งเกิดความลังเลสงสัย เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมที่ควรจะได้ผลมาก เพราะเธอมีความขยันหมั่นเพียร จึงมานมัสการกราบเรียนหลวงปู่ว่า
“หลวงปู่คะ การที่ลูกนั่งไม่ดีนี่แสดงว่าชาติก่อนทำมาไม่ได้ใช่ไหมคะ”
หลวงปู่ตอบว่า“แกรู้เหรอเรื่องแต่ก่อน ไม่ต้องไปสนใจ เพราะเรารู้ไม่ได้ เอาชาตินี้ให้มันดี ไม่ต้องคิดถึงชาติก่อน อย่าท้อถอย ทำไปเดี๋ยวก็ดีเอง”
หลวงปู่ตอบตรงตามพุทธพจน์ที่ว่า อย่าสนใจอดีต เพราะเป็นสิ่งที่ล่วงมาแล้ว ให้สนใจในปัจจุบัน
หลวงปู่แหวนเคยตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
“อดีตเป็นธรรมเมา อนาคตเป็นธรรมเมา เฮาบ่มีอดีต เฮาบ่มีอนาคต เฮามีแต่ปัจจุบันเท่านั้น”
คำพูดของท่าน สมกับเป็นพระอริยสงฆ์ที่เราเคารพกราบไหว้ เพราะเป็นสัจจธรรมที่เป็นความจริงเสมอมา
๑๕. อยากจะไปนิพพาน
ผู้ที่มากราบนมัสการหลวงปู่หลายๆ คน มาถึงก็แจ้งความประสงค์กับหลวงปู่ ปรารถนาไม่เกิด อยากไปนิพพานในชาตินี้ จะได้พ้นทุกข์ บางคนก็ตั้งเจตนาจริง บางคนก็พูดไปอย่างนั้น หลวงปู่เคยให้ข้อคิดสำหรับคนที่ไม่ตั้งใจจริงเหมือนคำพูดที่ปรารถนา ว่า
“อยากจะไปนิพพาน แต่ศีล ๕ ยังรักษาไม่ได้ จะไปได้อย่างไร”
“วันนี้มีผู้หญิงอยู่คนมากราบข้า บอกว่าจะไปนิพพาน ข้าไม่พูดแต่มองดู ปากยังทาแดงแจ๋ เล็บตีนเล็บมือยังแดงแจ๋ หัวตะพานจะไปถึงหรือเปล่า”
ดังนั้น หลวงปู่จึงสอนพวกเราทั้งหลาย เมื่อตั้งใจสิ่งใดแล้ว ต้องทำหรือปฏิบัติจึงจะสมปรารถนา หลวงปู่ทวดกล่าวว่า
“การปฏิบัติจะตัดภพชาติให้สั้นลงทีละครึ่ง เช่น ถ้าเราจะเกิดอีก ๑๐๐ ชาติ ก็เหลือ ๕๐ ถ้าจะเกิด ๒๐ ชาติ ก็เหลือ ๑๐”
ผู้เขียนเคยอ่านหนังสือหลวงพ่อจรัล วัดอัมพวัน ท่านเคยเปรียบเทียบดังนี้
“ทำทานเหมือนการไปด้วยถ่อ รักษาศีลไปด้วยรถยนต์ ภาวนาก็ขี่เรือบินไป อาจถึงนิพพานได้ในชาตินี้”
คนโบราณจึงกล่าวไว้ว่า “ใกล้ก็ไม่ใกล้ ไกลก็ไม่ไกล มองเห็นไวไว เป็นทิวลิบลิบ” ซึ่งเทียบได้กับพระนิพพานคือปลายจมูกนี่เอง หลวงปู่กล่าวว่า
“จะว่ายากก็ไม่ใช่ จะว่าง่ายก็ไม่เชิง ผู้ปฏิบัติพึงรู้เองเห็นเอง เพราะเป็นปัจจัตตัง”
๑๖. ผู้หญิงไปได้หรือไม่
มีนักปฏิบัติท่านหนึ่งนำข้อข้องใจมากราบเรียนหลวงปู่ดังนี้
นักปฏิบัติ “ลูกปฏิบัติไปถึงวิมานแก้วไปเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ ชาตินี้ลูกไปนิพพานได้ไหมเจ้าคะ”
หลวงปู่ยิ้ม“หลับตาไปได้ แล้วลืมตาไปได้หรือเปล่า”
นักปฏิบัติ “ยังเจ้าค่ะ”
หลวงปู่ “ต้องทำให้ได้ทั้งหลับตาและลืมตา หลับก็เห็นพระ ลืมก็เห็นพระ อย่างนี้ไปได้แน่นอน”
หลวงปู่ท่านบอกผู้เขียนว่า“ทุกอิริยาบถ ถ้าเราเห็นพระได้ จิตของเราจะไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เคลื่อนจากความดี พระมีอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่งไหว้ตรงไหนก็เจอ”
ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำพูดของ หลวงปู่อินทร์ จันทูปโม ที่ว่า
“ที่กล่าวว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต เป็นสิ่งจริงแท้ เพราะพออาตมาได้ธรรม มองไปทางไหนก็เจอแต่พระ บนอากาศก็มี บนบกก็มีไหว้ได้ทั้งนั้น เกิดความซาบซึ้งในธรรมจนน้ำตาไหล ถ้าใครไม่รู้มาเห็นเข้าคงนึกว่า อาตมาบ้าแน่นอน”
๑๗. ผู้มีสติชอบ
นักปฏิบัติธรรมทุกคนที่หวังพ้นทุกข์ มักมีอุปสรรคจากการปฏิบัติไม่มากก็น้อย สิ่งที่ต้องนำมาใช้อยู่เสมอคือ ธรรมที่มีอุปการะมาก ได้แก่ สติ และสัมปชัญญะ แต่มักเรียกสั้นๆ ว่า สติ มีผู้ปฏิบัติท่านหนึ่งได้กราบเรียนหลวงปู่ว่า
ผู้ปฏิบัติ “หลวงปู่ครับ ทำอย่างไรจึงจะมีสติอยู่ตลอดเวลาครับ”
หลวงปู่ “ผู้มีสติอยู่ตลอดเวลา เห็นมีแต่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เท่านั้น มีสติแม้กระทั่งเวลาหลับ ปุถุชนอย่างเราจะทำได้อย่างไร ยากต้องค่อยๆ ทำไป”
คำพูดของหลวงปู่คือ หมั่นเจริญสติจนในที่สุดจะได้มหาสติเหมือนกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย
๑๘. ความเป็นห่วงของหลวงปู่ที่มีต่อประเทศชาติ
เมื่อคราวที่เกิดการปะทะกันระหว่างไทยกับลาว ซึ่งถือว่าเป็นบ้านพี่เมืองน้อง ในปี พ.ศ.๒๕๓๑ ที่หมู่บ้านร่มเกล้า อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เหตุการณ์ก็รุนแรงและเริ่มส่อเค้าการก่อตัวของสงคราม ผู้เขียนได้ติดตามข่าวสารทั้งทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ รู้สึกเป็นห่วงพวกทหารหาญมาก คิดอยู่ในใจว่า จะกราบเรียนเรื่องนี้กับหลวงปู่ดีหรือไม่ เพราะอย่างน้อยท่านจะได้ช่วยอธิษฐานแผ่เมตตา แต่ก็คิดไม่ตก เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องทางโลก
วันหนึ่ง ผู้เขียนตกลงใจว่า อย่างไรก็ตาม จะกราบเรียนหลวงปู่ให้ได้ จึงตัดสินใจไปนมัสการท่าน แต่ผู้เขียนยังนั่งเงียบอยู่
หลวงปู่ “เอ้า มีเรื่องอะไรที่จะคุยด้วย”
ผู้เขียนสั่นหน้า “ไม่มีอะไรหรอกครับ”
หลวงปู่“ทำไมไม่มี ก็เรื่องลาวกับไทยไง รบกันไปถึงไหนแล้ว”
ผู้เขียนเห็นเป็นโอกาสอันดี จึงรีบเรียนชี้แจงให้ท่านทราบถึงสถานการณ์ รวมทั้งการได้เปรียบในเชิงกลยุทธ์
หลวงปู่ “เมืองไทยไม่เป็นไรหรอก ขอบารมีพระ บารมีเทวดา ช่วยคุ้มครองเดี๋ยวก็เลิกกัน การสู้รบมันต้องสูญเสียทั้งสองฝ่ายนั่นแหละ”
ในวันนั้น มีคนนำพระประธานขนาดใหญ่ ไปถวายหลวงปู่ ท่านบอกว่า “องค์ใหญ่ไม่รู้จะตั้งตรงไหน ข้าให้เขาไปถวายสมภาร สมภารบอกให้มาถวายข้า” ขณะที่พวกเรากำลังดื่มน้ำชาอยู่ หลวงปู่ท่านมองมาที่พระ แล้วก็ตั้งจิตอธิษฐาน โดยไม่หลับตาเป็นเวลาประมาณ ๑๕ นาที ที่น่าอัศจรรย์คือ ตาท่านไม่กระพริบเลย ผู้เขียนเลยนั่งอธิษฐานตามท่าน พอครบเวลา ท่านกล่าวว่า
“นั่งดูซิ สว่างหรือเปล่า ข้าอธิษฐานเอาหลวงพ่อองค์นี้ไปช่วยประเทศชาติ คลุมหมดทั้งประเทศ ขอให้หลวงพ่อช่วย แล้วก็ฝากเทวดาให้ช่วยเหลือด้วย อันที่จริงข้าก็ให้ทุกๆ วันไม่เคยขาด ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวก็เลิกกัน”
หลังจากนั้นประมาณ ๑ อาทิตย์ มีการเซ็นสัญญาสงบศึกระหว่างไทยกับลาว ทำให้ผู้เขียนรู้สึกซาบซึ้งในความรักและห่วงใยของหลวงปู่ ที่มีต่อประเทศชาติและทหารหาญของประเทศเป็นอย่างยิ่ง
๑๙. รูปธรรม นามธรรม ช่วงที่ ๑
ปัจจุบันมีการภาวนาทำสมาธิกันทั่วไป ไม่ว่าข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน นิสิตนักศึกษา ซึ่งหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านเคยกล่าวไว้ว่า
“หลังกึ่งพุทธกาล สำนักวิปัสสนากรรมฐานจะเกิดขึ้นเหมือนดอกเห็ด ผู้ที่จะเข้าไปศึกษาต้องมีวิจารณญาณว่า การสอนเป็นเพื่อการพัฒนาจิตหรือไม่”
ดังที่หลวงปู่เคยกล่าวไว้ว่า“ทำแล้วโลภ โกรธ หลง ลดลงหรือไม่”
เมื่อมีการตั้งสำนักเกิดขึ้นย่อมมีการกำหนดระเบียบปฏิบัติข้อวัตรต่างๆ ไว้ในแต่ละแห่ง หรือที่เราเรียกกันว่า “รูปแบบ” เช่น การนุ่งขาว ห่มขาว การกินมังสวิรัติ เป็นต้น หลวงปู่ท่านบอกว่า “ถ้าเป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าวางไว้ดีทั้งนั้น” ท่านไม่ให้กล่าวร้ายป้ายสีเพราะท่านพูดว่า “คนดีไม่ตีใคร” บางครั้งมีผู้มาขอความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้จากหลวงปู่ดังนี้
ผู้ถาม “ถ้าจะมาปฏิบัติกับหลวงปู่ต้องเตรียมอะไรมาด้วยครับ”
หลวงปู่ “เตรียมใจ เตรียมจิต มาให้ดี”
ผู้ถาม “ไม่ต้องนุ่งขาว ห่มขาวใช่ไหมครับ”
หลวงปู่ “แต่งอะไรมาก็ได้ไม่จำเป็น”
ผู้ถาม “แม้แต่ดอกไม้ ธูปเทียน”
หลวงปู่ “มีก็เอามา ไม่มีก็ไม่ต้อง เรากล่าวว่า พุทธัง ธัมมัง สังฆัง ชีวิตัง เม ปูเชมิ นี่เราก็เอาชีวิตบูชา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว”
ผู้ถาม “การกินมังสวิรัติ จำเป็นไหมครับ”
หลวงปู่ “เรื่องการไม่กินเนื้อสัตว์ มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว คือ พระเทวทัตเคยขอพระพุทธเจ้า แต่ท่านไม่อนุญาต ดีชั่วอยู่ที่จิต ท่านกลัวลำบากญาติโยม”
รูปธรรม นามธรรม ช่วงที่ ๒
ในการทำวัตรสวดมนต์ของพระ จะมีการพิจารณาอาหารบิณฑบาต เสนาสนะ และจีวรรวมอยู่ด้วย ที่เรียกว่า บทปฏิสังขาโย เพื่อไม่ให้พระคิดอยากได้ในสิ่งเหล่านี้ ทั้งนี้เป็นเพียงเพื่อการประทังชีพในการบำเพ็ญคุณธรรมต่อไป ดังคำพูดของหลวงปู่ที่ว่า “อยู่ในโลกก็ต้องกิน”
หลวงปู่ “อาจารย์แด่ ท่านเคยบอกข้าตอนที่ไปนวดให้ท่านว่า เป็นพระต้องระวังนะคุณ ถ้าไม่ไหว้พระสวดมนต์ ตายไปต้องไปเกิดเป็นควายแก่ให้เขาใช้งาน ท่านเคยบอกด้วยนะว่า ควายแก่”
ผู้ถาม “การบิดเบือนพระพุทธพจน์ของพระพุทธเจ้า เขาว่าเป็นการทำลายศาสนา เหมือนกับตัดคอพระพุทธรูปทีละองค์”
หลวงปู่ “พระเทวทัตมีฤทธิ์ขนาดเหาะได้ ยังไปนรกเลย แล้วคนที่ยังเหาะไม่ได้ จะไปไหน”
ผู้ถาม “ลูกอธิษฐานไว้ว่าต้องถือศีลแปด แต่กลัวจะหิว เพราะไม่ได้กินข้าวเย็นครับ”
หลวงปู่ “เปลี่ยนจากข้อ ๓ เป็น อพรัมมะจริยา ก็ได้ นี่เป็นศีล ๕ แบบอุกฤษฏ์ ถือเป็นเพศพรหมจรรย์”
ผู้ถาม “เดี๋ยวนี้คนใจบาป ตัดเศียรพระพุทธรูปไปขายต่างประเทศ”
หลวงปู่ “อีกหน่อยศาสนาพุทธจะไปปรากฏในต่างแดน ตอนนี้ไปในส่วนของรูปธรรม ต่อไปจะปรากฏในส่วนของนามธรรม จะมีการปฏิบัติกันมากขึ้นกว่านี้”
ผู้ถาม “ทางรัสเซีย เขาว่ากันว่า ปฏิบัติเกินไปจากอเมริกาหลายสิบปี แต่เขาใช้ในด้านวินาศกรรมเพราะเรดาร์จับไม่ได้ ไม่บาปหรือครับ”
หลวงปู่ “ให้เขาทำไปเถิด อีกหน่อยเขาพลิกจิตได้ ก็ดีเอง”
ผู้ถาม “ทำไมต้องห้อยพระ ไม่ต้องใช้ได้ไหมครับ”
หลวงปู่ “กำลังใจของคนไม่เท่ากัน เรามีเวลาเผลอเพราะไม่ใช่พระอรหันต์ ถ้าจิตเป็นพระไม่ต้องใช้ก็ได้ หรือถ้าทำเป็นแล้วก็ไม่ต้อง”
ผู้ถาม “บารมีพระช่วยได้จริงหรือไม่”
หลวงปู่ “ถ้ากรรมไม่หนักพระช่วยได้ ถ้าหนักพระช่วยไม่ได้ ตอนตายถ้านึกถึงพระก็ยังไปสวรรค์”
ผู้ถาม “ทำอย่างไรจึงนึกถึงพระหรือความดีก่อนตาย”
หลวงปู่ “ต้องทำอยู่เรื่อยๆ เหมือนกับทำไมต้องกินข้าวทุกวัน ถ้าไม่ทำบุญหรือทำ แต่บางทีนึกออกได้ยาก เช่นมีคนแถววัดสะแก ทำบาปกับปลาเอาไว้มาก ก่อนตายพอน้องเข้าไปบอกทางว่า พุทโธ แกกลับบอกว่าแกงส้มปลาเทโพอยู่ในครัว พอพี่เข้าไปบอกว่า อะระหัง แกกลับบอกว่า มีแต่กระชัง (ใส่ปลา) ทั้งนั้น”
๒๐. ใช้ให้เป็น
พระสุทิน อายุวัฒโก (หลวงพี่จ่า) เมื่อครั้งท่านยังเป็นฆราวาสได้มากราบนมัสการหลวงปู่ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๙ โดยมี ส.ท.อุดม เผ่าทหาร เป็นผู้ชักชวน ซึ่งสมัยก่อนมาวัดสะแกโดยทางเรือ หลังจากกราบนมัสการหลวงปู่แล้ว ส.ท.อุดม พูดนำว่า
“วันนี้ ผมพาลูกพี่มาหาหลวงปู่ เขาจะมาขอพระหลวงปู่ ลูกพี่เขาอยากได้”
ความจริงแล้ว ส.ท.อุดม อุปโลกน์ขึ้นเอง หลวงปู่ตอบว่า
“ข้าไม่มีพระอะไรจะให้ ถ้าอยากได้ก็ต้องฝึกวิธีใช้ให้เป็นเสียก่อน เหมือนอย่างข้าให้ควายแกไป แกไม่มีเชือกสะพายจูงไป มันจะเอาไปลำบาก”
จากนั้น ท่านให้พระ ๑ องค์ เป็นรูปหลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด แล้วจึงให้เข้าไปปฏิบัติ ซึ่งเป็นกุศโลบายของหลวงปู่ ที่ต้องการให้ปฏิบัติ และรู้ถึงอานุภาพของพระเครื่อง เพราะท่านเคยบอกเสมอว่า“ของดีต้องใช้ให้เป็น จึงจะรู้ว่าเป็นของดี” เพราะในปัจจุบันอย่างที่เรารู้กันว่า เจ้าของคุ้มครองพระโดยเอาไปฝากไว้ในธนาคาร ไม่ได้นำมาใช้ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำพูดของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ที่กล่าวว่า “ทำบุญให้เป็น ใช้บุญให้เป็น” โดยเฉพาะการภาวนานั้นถือเป็นการทำกุศลสูงสุดในพระพุทธศาสนา
หลวงปู่เคยบอกกับผู้เขียนถึงพระที่ท่านอธิษฐานจิตว่า
“ข้าว่าของของข้าไม่เป็นรองใครในแผ่นดิน อยู่ที่คนนำไปใช้ว่าถึงหรือเปล่า ถ้าถึงจริงๆ แล้วก็ไปนิพพานได้”
คำกล่าวของหลวงปู่นี้มีความหมายอย่างยิ่ง คือ เปลี่ยนจิตจาก ศรัทธา จนเป็น “อจลศรัทธา” นั่นเอง
๒๑. พระชำรุด
คนส่วนใหญ่มักจะไม่นิยมนำพระที่แตกหรือหักมาไว้ในบ้าน โดยเฉพาะพระที่ทำด้วยปูนมักแตกหักได้ง่าย ผู้เขียนเรียนถามหลวงปู่ถึงเหตุผล
หลวงปู่ “สมัยก่อนข้าเป็นฆราวาส ก็ห้อยพระหักเพราะเสียดายของ เมื่อก่อนเขาใช้ลวดถัก เดี๋ยวนี้ก็ยังเห็นเขาใช้กัน ไม่เห็นเป็นไร”
ผู้เขียน “แล้วความจริงเป็นอะไรหรือไม่ เพราะเคยฟังมาว่าแม้แต่พระสมเด็จวัดระฆังที่แตกหัก ยังนำชิ้นส่วนมาแกะเป็นองค์เล็กๆ ใช้กันได้”
หลวงปู่ “ พระที่ทำด้วยปูนหรือโลหะ ข้าอธิษฐานว่าเมื่อใดก็ตามที่ของที่ทำละลายเป็นน้ำ เมื่อนั้นจึงขอให้หมดอานุภาพ แล้วเมื่อไรจะละลายเป็นน้ำละแก”
ดังนั้น ถ้าพระของหลวงปู่หัก ไม่ต้องตกใจหรือเสียกำลังใจ เพราะคำตอบมีอยู่อย่างชัดเจน หลวงปู่เพียงแต่บอกว่า“ใครทำพระข้าหัก จะเสียใจไปตลอดชีวิต” ทั้งนี้เพื่อให้ทุกท่านมีความระมัดระวัง เนื่องจากของที่หักแล้วมักเกิดตำหนิ มองดูไม่สวยงามเท่าของที่สภาพสมบูรณ์
ผู้เขียน “การซ่อมแซมพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆ ที่คอหักหรือชำรุดนั้น มีอานิสงส์มากหรือน้อยกว่าการสร้างใหม่”
หลวงปู่ “ตามพระไตรปิฎกกล่าวว่า ซ่อมมีอานิสงส์มากกว่าการสร้างใหม่”
๒๒. กำลังใจ
ตามลักษณะของการดูโหงวเฮ้งของคนจีนที่ว่า ผู้ใดที่มีหูยาวมักจะเป็นคนที่มีอายุยืน ซึ่งผู้เขียนลองสังเกตดูก็มักจะเป็นอย่างนี้จริงๆ หลวงปู่ท่านก็มีใบหูใหญ่และยาว แม้แต่พระพุทธรูปก็มีพระกรรณยาว
สุภาพสตรีท่านหนึ่งมากราบหลวงปู่ และได้เรียนถามถึงความจริงในข้อนี้ เนื่องจากเธอมีลักษณะใบหูที่เล็ก ซึ่งหมอดูหลายคนทำนายไว้ว่าอายุจะสั้น ทำให้เกิดความไม่สบายใจ
หลวงปู่ “หูลิงก็เล็ก ทำไมอายุมันยังยืนเป็นไหนๆ”
เมื่อเธอฟังแล้วเกิดความสบายใจ นับว่าหลวงปู่มีเมตตาและวิธีการพูดที่ฟังแล้วไม่เกิดทุกข์
ผู้เขียนเคยเรียนถามเรื่องศีลข้อ ๔ มุสาวาทา ว่าในลักษณะใดที่จัดว่าผิดศีล
หลวงปู่ “บางเรื่องถ้าบอกตรงๆ ผู้ฟังจะไม่ได้รับผล ต้องใช้วิธีเลี่ยงเอา (กุศโลบาย) อยู่ที่เจตนาของผู้พูดว่ามุ่งหวังผลกับผู้ฟังอย่างไร เหมือนกับพระสารีบุตรตอบโจรเคราแดง เมื่อโจรถามว่า การที่ผมเป็นเพชฌฆาตฆ่าคนมามาก ผมจะไปนรกไหม พระสารีบุตรท่านเป็นพระอรหันต์ สามารถรู้เห็นได้ด้วยญาณ ถ้าบอกตรงๆ ว่าแกต้องไปนรก ก็จะเสียกำลังใจ ท่านเลยตอบว่า ใครเป็นคนสั่ง โจรเคราแดงจึงเกิดกำลังใจ เพราะคิดว่าตัวเองไม่บาป เมื่อพระสารีบุตรเทศน์ให้ฟังหลังฉันข้าว ปรากฏว่าโจรเคราแดงสำเร็จเป็นพระโสดาบัน มันมีแง่คิดอยู่นิดเดียวว่าจะพูดอย่างไร”
๒๓. ทำพาสปอร์ตไปสวรรค์
ครั้งหนึ่งมีลูกศิษย์หลวงปู่ได้มาเล่าให้ท่านฟังว่า ได้เคยไปร่วมพิธีกรรมจัดสำเภาทัวร์สวรรค์ ซึ่งอ้างถึงพุทธบริษัท มีพระพุทธเจ้าเป็นผู้จัดการบริษัท ญาติโยมเป็นหนึ่งในบริษัททั้งสี่ ให้มาทำพิธีเสริมสิริมงคล หลวงปู่ท่านก็ไม่ว่าอะไร จนมาถึงการทำพาสปอร์ตเพื่อไปสวรรค์ หลวงปู่ท่านจึงพูดขึ้นว่า
“ของข้าไม่ต้องทำหรอก พาสปอร์ต ขอให้แกว่า
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง ไม่ต้องไปทำหรอกทั้งพาสปอร์ต ทั้งวีซ่า ข้ารับรอง”
คำพูดของหลวงปู่ ท่านเน้นถึงการปฏิบัติธรรมด้วยตนเอง เพื่อตนเอง และได้ด้วยตนเอง เพราะถ้ามีวิธีการเช่นนี้จริงแล้ว พระพุทธองค์ก็คงไม่ต้องเปลืองคำสอนถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระผู้มีเมตตา กรุณาคุณอันยิ่งใหญ่แห่งสามโลก คงใช้วิธีการแบบนี้มานานแล้ว พวกเราคงได้ไปสวรรค์ นิพพานกันได้สมตามความปรารถนา
๒๔. ยุคพระศรีอารย์
ผู้ที่ทำบุญ ทำทานมักจะมีการตั้งความหวังไว้ในใจ มีคำอธิษฐานเกี่ยวกับการทำบุญตักบาตรไว้ดังนี้
“ข้าวของข้าพเจ้าขาวบริสุทธิ์เหมือนดอกบัวตั้งไว้เหนือหัว ตั้งจิตจำนงค์ตรงไปพระนิพพาน ขอให้พบเมืองแก้วขอให้แคล้วบ่วงมาร ขอให้ได้พระนิพพานในยุคพระศรีอารย์ด้วยเทอญ”
เมื่อมีโยมนำคำอธิษฐานนี้มาเล่าให้หลวงปู่ฟัง ท่านพูดยิ้มๆ ว่า
“จะไปยุคพระศรีอารย์ เดี๋ยวจะอานเสียก่อน”
คำพูดของหลวงปู่ท่านมีความหมายว่า ให้ทำบุญด้วยใจบริสุทธิ์ อย่าหวังมากเกินควร พยายามทำให้ดีที่สุด เพราะเรื่องของพระศรีอารย์ มีผู้ปรารถนาจะไปกันมาก เนื่องจากเป็นยุคที่สุขสบายไม่เดือดร้อน หลวงปู่เคยบอกว่า “ใครไปได้ไปเลย ไม่ต้องรอ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่การปฏิบัติ ไม่ได้อยู่ที่การร้องขอ”
เหมือนกับญาติโยมท่านหนึ่ง ซึ่งมีความเข้าใจผิดในเรื่องนี้ ได้ไปนมัสการหลวงปู่ดูลย์ อตุโล แล้วเรียนท่านว่า “ดิฉันฟังเทศน์มหาชาติทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ดิฉันไปได้แล้ว” เนื่องจากมีคำโบราณกล่าวไว้ว่า ใครฟังเทศน์มหาชาติซึ่งเป็นเรื่องราวของการบริจาคทานของพระเวสสันดร ซึ่งเป็นพระชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ ถ้าเพียงแต่ฟังแล้วไม่นำมาปฏิบัติตามพระจริยาวัตรของพระเวสสันดรแล้วคงไปไม่ได้แน่ จึงเป็นสิ่งที่คนโบราณท่านมีกุศโลบาย ที่จะให้ผู้ฟังเกิดความซาบซึ้งแล้วนำไปปฏิบัติตาม เพื่อให้สมหวังในสิ่งที่ตั้งไว้
๒๕. มหาจักรพรรดิ
หลวงปู่ท่านเล่าให้ฟังถึงการปลุกเสก หรืออธิษฐานวัตถุมงคลของท่านว่า “นอกจากการมีพลังจิตแล้ว ที่ท่านใช้อยู่เสมอคือ บทสวดมนต์ตามเจ็ดตำนาน” ซึ่งท่านบอกว่า ดีกว่าคาถาอาคมมากมาย เพราะเป็นเรื่องราวของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ทั้งนั้น ไม่จัดเป็นเดรัจฉานวิชา บทที่ท่านทำทุกครั้งคือ บทพระพุทธเจ้าทรมานพญาชมพูบดี หรือที่เรียกว่า “ชมพูปติสูตร” ซึ่งแสดงถึงอำนาจหรือบารมีของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นครูของมนุษย์และเทวดาทั้งปวง แสดงถึง ธรรมที่ชนะอธรรม ท่านเรียกบทนี้ว่า “มหาจักรพรรดิ” พญาชมพูบดีเป็นจักรพรรดิที่มีอิทธิฤทธิ์มาก แต่พ่ายแพ้บุญฤทธิ์ ในที่สุดอุปสมบทได้สำเร็จอรหัตผล หลวงปู่ท่านกล่าวว่า
“ข้าเป็นคนโลภมาก ทำอะไรก็อยากทำให้มากที่สุด ดีที่สุด เดี๋ยวนี้ใช้แค่บทนี้ทั้งนั้น ใครนั่งคุมเวลาข้าเสก เขาก็รู้เองแหละว่า ทำจริงหรือไม่จริง”
ท่านเคยมีลูกศิษย์คนหนึ่งเป็นพระ ต่อมาท่านไม่มาหาหลวงปู่อีก เนื่องจากหลวงปู่ท่านพูดว่า
“ยังไม่นิพพาน เพราะต้องโปรดคน”
แต่พระองค์นี้ตีความไปว่า หลวงปู่ยังติดอยู่กับลาภยศ ชื่อเสียง ซึ่งความจริง ท่านมีเมตตา และบอกปรารถนาของท่านให้ทราบว่าท่านเป็นพระโพธิสัตว์ ผู้เขียนคัดลอกเกี่ยวกับบทชมพูปติสูตร หรือบทมหาจักรพรรดิมาลงไว้ เนื่องจากในปัจจุบันขาดผู้สนใจ เห็นเป็นเรื่องเหลวไหล แม้แต่พระบางองค์ท่านยังกล่าวว่าเกินความจริง โดยท่านลืมนึกถึงคำว่า “อจินไตย” คือสิ่งที่ไม่ควรคิด เพราะไม่สามารถนำเหตุผลทางโลกหรือทางทฤษฎีมาทำให้เกิดความกระจ่างได้ เป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติพึงรู้ได้เอง ถ้าคิดมากในที่สุดอาจจะเป็นบ้าได้ สิ่งเหล่านี้ได้แก่
๑. พุทธวิสัย วิสัยของพระพุทธเจ้า เช่น ทำไมท่านถึงตรัสรู้ได้? ท่านมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์จริงหรือ? ฯลฯ
๒. วิสัยของกรรม เช่น ทำไมคนนั้นคนนี้รวย จน สมบูรณ์ กำพร้า?
๓. วิสัยของพระอรหันต์ เช่น ท่านหมดโลภ โกรธ หลง หรือ?
๔. วิสัยของโลก เช่น โลกเกิดมาได้อย่างไร?
๕. วิสัยของผู้ปฏิบัติธรรม เช่น ลักษณะที่สงบเป็นอย่างไร? สงบจริงหรือไม่?
ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ลองคิดดู พระเจ้าแผ่นดินที่เกิดมาภายใต้เศวตฉัตร ถ้าพระองค์ไม่มีบุญญาธิการแล้ว ท่านจะเป็นได้อย่างไร เพราะคนไทยมีเป็นหลายสิบล้านคน นั่นแสดงถึงวาสนาบารมีของแต่ละบุคคลไม่เท่าเทียมกัน มีเหตุปัจจัยจากสิ่งที่ท่านได้สร้างสมอบรมมาแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมีมากขนาดไหน จึงสามารถโปรดคนได้มากมายทั้งสามแดนโลกธาตุ
๒๖. ประสบการณ์ธุดงค์
ธุดงควัตรของพระภิกษุสงฆ์ มีถึง ๑๓ ข้อ เช่น การถือบิณฑบาตเป็นวัตร การครองผ้า ๓ ผืน การฉันเอกาสนิกังคะ (มื้อเดียว) ฯลฯ ส่วนการเดินธุดงค์เพื่อหาความวิเวก หลวงปู่ท่านเรียกว่า “เดินรุกขมูล” จุดประสงค์ของพระพุทธองค์เพื่อให้ภิกษุมีการขัดเกลากิเลส และทำปัญญาให้เกิดขึ้นจากหลักสูตรที่บัญญัติขึ้น เช่น การฉันมื้อเดียว เพื่อให้ไม่ยุ่งยากในการหาอาหารบริโภค และอาหารที่ฉันน้อยลง สามารถมีเวลาในการปฏิบัติมากขึ้น ผู้เขียนเคยเรียนถามหลวงปู่ถึงการออกรุกขมูลว่าได้อะไรบ้าง
หลวงปู่ “ดี ได้หลายอย่าง”
เมื่อผู้เขียนเรียนถามถึงประสบการณ์ ของการเดินรุกขมูลของหลวงปู่ ท่านจึงเล่าที่สำคัญให้ฟัง ๒ เรื่อง ดังนี้
หลวงปู่ “กำลังเดินอยู่มีฝูงวัววิ่งเข้ามาเกือบร้อยตัว พระที่ไปด้วยจะวิ่งหนี บางองค์จะปีนต้นไม้ ข้าบอกว่า อย่าทำ! เดี๋ยวเสียเรื่อง อยู่เฉยๆ พอวัววิ่งมาถึง แทนที่จะมาชน วัวกลับกลายเป็นวิ่งเวียนขวา ทำการทักษิณาวรรต แล้วจึงหนีไป อีกครั้งคือ เดินไปแถวเมืองกาญจน์ ติดเขตเมืองสุพรรณบุรี พวกนี้ชอบลองพระ พอปักกลดเสร็จ กลางคืนกำลังสวดมนต์ ข้ารู้สึกไม่ค่อยดี ได้ยินเสียงว่า เห็ดขึ้นกลางนา ยิงไม่บาป เพราะเขาถือว่า กลดที่ปักเป็นเห็ด เขาลองยิงแต่ไม่ออก เสียงแช้ะ แช้ะ พอตอนเช้าเขามาขอของดี และขอขมาข้า ข้าเลยถอนกลดเดินต่อ บอกเขาว่าไม่มีอะไรจะให้”
หลวงปู่เล่าจบ ท่านยังแถมท้ายอีกว่า “อุปัชฌาย์ข้า (หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ) บอกอานิสงส์ของการภาวนา สว่างเท่าหัวไม้ขีดไฟ มากกว่าการตักบาตรจนขันลงหินทะลุ ด้วยความโง่เลยเที่ยวหาขันที่ทะลุ แต่ไม่เจอ ไปเจอเอาขันแตกใบหนึ่ง”
พระพุทธองค์มีหลักสูตรของพระคือ ธุดงควัตร หลวงปู่จึงถือปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า และในการเดินธุดงค์นั้น ตามพระวินัยกล่าวว่า ควรจะปฏิบัติหลังจากบวชได้ ๕ พรรษาแล้ว เพราะถือว่าเป็นผู้ใหญ่ (พระเถระ) หลวงปู่ได้ให้ข้อคิดว่า
“ผู้ที่ออกเดินรุกขมูล ถ้าไม่มีความรู้หรือวิชาพอสมควร เมื่อเจอปัญหาหรืออุปสรรคจะเป็นอันตรายได้”
๒๗. เกินพอดี
ทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา คือความพอดี ถ้ามากเกินหรือน้อยเกินไป จะมีผลต่อจิตใจ ผู้เขียนเคยเรียนถามหลวงปู่เกี่ยวกับคนที่เสียจริต กรรมอะไรที่ทำให้ต้องเป็นเช่นนั้น หลวงปู่ท่านตอบแบบปัจจุบันกรรม คือกรรมในชาตินี้ว่า
“ผู้ที่เสียใจสุดขีด หรือดีใจสุดขีด จะทำให้เป็นบ้าได้”
นอกจากนี้ หลวงปู่ยังกล่าวถึงอารมณ์ของคนไม่ปกติ ท่านบอกว่าเป็นโรคลมบาทจิต บาดทะยักเกิดขึ้นกับร่างกาย บาทจิตเกิดขึ้นกับจิตใจ มีผลถึงประสาท ดังนั้น การรักษาอารมณ์ของคนจึงมีความจำเป็น บุคคลบางประเภทเดี๋ยวดี เดี๋ยวร้ายไม่แน่นอน หากที่เรียกว่า “ลมขึ้น ลมลง” เนื่องจากไม่ได้มีการฝึกจิตหรือฝึกสติให้มั่นคง การชำระแต่เพียงร่างกาย ถ้าไม่ได้ชำระจิตใจเสียบ้าง ในที่สุดจะเกิดการหมักหมมของอารมณ์เช่นเดียวกับผลไม้ที่เกิดการหมักหมมกลายเป็นเหล้า ทำให้เกิดความมัวเมาหาทิศทางไม่เจอ จิตใจเต็มไปด้วยอธรรม มีการแก่งแย่งชิงดี ริษยา อาฆาตไปต่างๆ นานา เมื่อสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ จิตก็เกิดการล้มละลายได้ ลำพังความรู้ทางโลกอย่างเดียวนั้นไม่สามารถนำมาปฏิรูปจิตได้
มีครั้งหนึ่งหลวงปู่ท่านนั่งอ่านวิชาการทางโลก เมื่อเจ้าของหนังสือได้เรียนถามว่า “หลวงปู่อ่านเรื่องอะไร”
หลวงปู่ “ข้าอ่านไปยังงั้นแหละ ข้าถามหลวงปู่ทวดว่า อ่านแล้วจะได้อะไร ท่านตอบข้าว่า อ่านยังไงก็ไม่พ้นทุกข์ ที่ท่านทำอยู่นั้นคือ ทางพ้นทุกข์ นั่นคือการปฏิบัตินั่นเอง”
พระพุทธองค์ทรงหยิบใบไม้ขึ้นมาหนึ่งกำมือ แล้วตรัสถามพระภิกษุว่า
“ปริมาณใบไม้ในมือกับในป่า อันไหนมากกว่ากัน”
พระภิกษุทูลตอบว่า “ในป่ามีมากกว่ากันจนประมาณไม่ได้”
พระพุทธองค์ “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความรู้ที่ตถาคต นำมาสอนพวกเธอก็เช่นเดียวกัน เพราะความรู้มีมากมาย แต่ที่ทำให้พ้นทุกข์คือ สิ่งที่นำมาสอนพวกเธอเท่านั้น”
๒๘. บอกไม่ได้
การที่หลวงปู่ท่านรับแขกโดยไม่ท้อถอย ร่างกายเลยขาดกำลังเนื่องจากพักผ่อนไม่เพียงพอ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ขณะที่ท่านให้พรหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว ท่านนิ่งไปเกือบครึ่งชั่วโมง ผู้คนในที่นั้นตกใจมาก รีบโทรศัพท์หาหมอเพราะเข้าใจว่าท่านช็อคหมดสติ แต่ในที่สุดท่านก็หายเป็นปกติ คืนวันนั้น ผู้เขียนไปเยี่ยมท่านถามถึงอาการว่าท่านหมดสติจริงหรือ หลวงปู่ท่านตอบว่า
“ไม่เห็นเป็นอะไร เขาตกใจกันไปเอง แกน่าจะรู้ว่าข้าทำอะไร ขืนบอกไปเดี๋ยวตกนรก”
ผู้เขียนจึงพยักหน้าและเข้าใจว่า ท่านต้องเข้าสมาธิจิตขั้นสูงสุด เพื่อปรับธาตุขันธ์ให้เป็นปกติ เพราะร่างกายอ่อนเพลียมาก การทำเช่นนี้ เพื่อให้จิตได้พักผ่อนเต็มที่และส่งผลไปถึงร่างกาย ผู้เขียนจึงพยายามตั้งคำถามว่า
“แสดงว่า หลวงปู่เข้า.........” ยังไม่ทันพูดจบดี ท่านรีบตัดบทว่า
“ไม่ต้องพูด พอแล้ว หมดเรื่อง”
๒๙. อำนาจบุญ
วันหนึ่งขณะที่หลวงปู่กำลังสนทนากับผู้เขียน มีญาติโยมบ้านอยู่ที่อำเภอนครหลวง เข้ามากราบนมัสการพร้อมกับขอร้องหลวงปู่ให้ช่วยเหลือลูกสาวซึ่งถูกผีเข้าเป็นเวลาถึง ๓ ปี ผีที่เข้าบอกว่า โดนยิงตายที่หลังวัดข้างบ้านเจอผู้หญิงเกิดชอบใจ ต้องการได้ไว้เป็นภรรยา บางเวลาผีก็เข้า บางเวลาผีก็ออก ทำให้เกิดความกลัดกลุ้มมาก ถึงกับบางครั้งแกแทบจะยิงผี ซึ่งผีบอกว่า ยิงก็โดนลูกสาวแกเอง หลวงปู่ฟังเสร็จจึงพยักหน้ามาที่ผู้เขียนแล้วบอกว่า
หลวงปู่ “แกช่วยเขาทีเอาบุญ”
โยม “ต้องเอาตัวคนไข้มาหรือไม่ครับ”
หลวงปู่ “ไม่ต้อง” หลังจากนั้นหลวงปู่ตั้งจิตแล้วพูดว่า
“เรียกตัวผีมารับบุญหลวงปู่ทวด มารับบุญข้าให้โมทนาซะ จะได้ไปดี เป็นผีก็ไปเอาเมียผี ไม่ใช่มาเอาเมียคน รับบุญไปจะได้มีเมียนางฟ้าเยอะแยะ ดูด้วยว่าผีรับหรือยัง...รับแล้วใช่ไหม....ไปเกิดซะ เอาละหมดเรื่องแล้ว”
ผู้เขียนจึงบอกโยมคนนั้นว่า “ตอนที่เขาไปเกิดแล้วนี่เป็นเหตุ ลุงกลับบ้านลองไปดู ถ้าลูกสาวไม่เป็นไรแสดงว่าหาย”
โยมคนนั้นจึงกลับไปพร้อมกับความสงสัยจนกระทั่งผ่านไปเกือบเดือน แกได้กลับมาที่วัดอีกครั้ง พร้อมรายงานว่า “หายดีแล้วครับ ตั้งแต่วันนั้นไม่มีอาการเกิดขึ้นอีกเลย เพราะหลวงปู่เมตตาช่วยเหลือไว้”
remark ; นี่ครับ สุดยอด ไล่ผีในแบบพระโพธิสัตว์ คือการแผ่บุญไปช่วยเหลือให้เขาปรับภพภูมิ ได้บุญด้วย เหมือนที่พวกเราทำกันอยู่ตอนนี้น่ะครับ อ่านเรื่องนี้แล้วทุกท่านคงยิ่งชัดเจนเรื่องการแผ่บุญ ปรับภพภูมิเป็นเรื่องง่ายๆ สำหรับหลวงปู่เลย ลุงคนนั้นตอนแรกแกคงงงน่ะครับ เพราะคุ้นเคยกับการใช้คุณไสยไปบังคับวิญญาณแบบพวกหมอผี แล้วแกก็คงคิดว่า เอ แค่นี้เสร็จแล้วหรือ บารมีหลวงปู่เรื่องแค่นี้ ผงมากครับ
๓๐. กรรมเก่า
โดยปกติหลวงปู่จะไม่มีการล้มหมอนนอนเสื่อ มีครั้งแพทย์เห็นอาการท่านหนักมาก ท่านบอกไม่เป็นไร แต่ท่านได้สงเคราะห์ให้หมอรักษาโดยการให้น้ำเกลือ หลวงปู่ท่านมองสายน้ำเกลือ
หลวงปู่ “นึกถึงกรรมที่เคยผูกควายไว้กับต้นไม้ ไม่ให้ไปไหน ตอนนี้เลยมาโดนเข้ากับตัวเอง โดนผูกเอาไว้เหมือนกัน”
พระพุทธองค์ตรัสว่า “ขึ้นชื่อว่าความชั่ว ไม่ทำเสียเลยดีกว่า” เพราะการทำกรรมมีผู้บันทึกไว้ทั้งสิ้น ไม่ว่าดีหรือชั่ว จิตคือคอมพิวเตอร์ที่บันทึกได้อย่างแม่นยำ ด้วยตัวของตัวเอง และจิตตัวนี้จะแสดงผลของกรรมให้เห็นในขณะดับจิต หลวงปู่ท่านเล่าถึงกรรมที่จิตไปข้องนั้น แม้แต่น้อยนิดยังส่งผลได้ โดยท่านกล่าวถึงอาจารย์องค์หนึ่งว่า
หลวงปู่ “เป็นพระปฏิบัติกรรมฐาน ท่านเคยบอกลูกศิษย์ลูกหาท่านว่า ถ้าท่านตายวันไหน จะมีเสียงปี่พาทย์ราดตะโพนมารับ พอท่านตายจริงๆ กลับเงียบ ทำให้ลูกศิษย์เศร้าใจและเป็นห่วง ท่านไปไม่ได้เพราะไปนึกถึงอ้อยที่โยมเอามาถวาย ท่านปลูกเอาไว้กำลังจะได้ผล ท่านเพียงแต่คิดว่าจะนำไปถวายให้พระฉัน ถ้าตายไปเลยตอนนี้ก็จะไปเกิดเป็นเล็นติดอยู่กับต้นอ้อย พอวันที่ ๗ พวกทายกเห็นต้นอ้อยงามดี เลยตัดนำไปถวายพระที่มางาน จึงเป็นโอกาสดี ท่านเลยโมทนาจิต ไม่ติดเกาะอยู่เท่านั้นเอง ทายกทายิกาได้ยินเสียงปี่พาทย์รับขึ้นมา ลูกศิษย์ลูกหาพลอยดีใจ เพราะคำพูดอาจารย์กล่าวไว้ศักดิ์สิทธิ์”
ตรงกับพุทธภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า
จิตฺเต สงฺกิลิฏเฐ ทุคฺคติ ปาฏฺกงฺขา
เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันต้องหวัง
จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา
เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นอันหวังได้
๓๑. อาหาเรปฏิกูลสัญญา
พระสงฆ์ทุกองค์มีวินัยกำหนดให้พิจารณาอาหารก่อนทำการฉัน มองให้เห็นเป็นสิ่งปฏิกูล เพราะได้มาจากธาตุดิน เมื่อบริโภคแล้วจะได้ไม่ยึดติดในกลิ่นรส คิดว่าฉันเพื่อประทังความหิว และให้สังขารร่างกายได้ปฏิบัติต่อไป ให้ได้คุณธรรม หลวงพ่อมหาวีระท่านกล่าวไว้ว่า “ถ้าภิกษุฉันอาหารโดยไม่พิจารณาก่อน กินถ่านแดงเสียดีกว่า เพราะกินแล้วตายเลยไม่ต้องไปทนทุกข์ทรมานในนรก” ซึ่งคำพูดของท่านได้มาจากพระไตรปิฎก
วันหนึ่ง ผู้เขียนจึงได้เรียนถามหลวงปู่ว่า
ผู้เขียน “ท่านพิจารณาอย่างไรก่อนฉัน”
หลวงปู่ “กินก็ตาย ไม่กินก็ตาย”
๓๒. สูบบุหรี่
ในเรื่องของการกินหมาก สูบบุหรี่ มีพระสงฆ์อีกหลายๆ องค์ ถูกโจมตีจากผู้ปฏิบัติที่ยังติดรูปแบบ เพราะอ้างว่า แม้แต่กิเลสที่หยาบๆ ยังละไม่ได้ กิเลสส่วนละเอียดจะละได้อย่างไร ผู้เขียนเคยสัมผัสกับพระที่ทรงคุณธรรมหลายองค์ อาทิ พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านยังคงฉันหมาก เมื่อมีผู้เรียนถาม ท่านตอบมีใจความโดยย่อว่า
“บุหรี่หรือหมาก ไม่ใช่เป็นเครื่องกั้น มัคคาวรณ์ (มรรคผลนิพพาน) และสัคคาวรณ์ (สวรรค์)”
เรื่องนี้เป็นการยากที่เราปุถุชนจะไปตัดสินได้แน่ชัด เพราะกิริยาที่ท่านสูบบุหรี่ กับการที่ท่านสูบบุหรี่เพราะติดบุหรี่อย่างเครื่องเสพติดนั้นไม่เหมือนกัน ถ้าจิตใจของท่านเป็นทาสบุหรี่ สูบด้วยความกระหายงมงาย ด้วยเป็นสิ่งเสพติดอย่างนั้นก็ผิด
พระบางองค์ท่านเห็นชาวบ้านมีทุกข์ แต่ไม่รู้จะเข้าวัดอย่างไร ไม่รู้จะหาอะไรมาถวายพระ เอาบุหรี่มาถวายท่านก็เมตตาสูบให้ อย่างหลวงปู่แหวน ท่านเอาบุหรี่มวนเองของชาวบ้านที่เขาเอามาถวาย ทำให้ผู้ถวายรู้สึกว่าตนยังพอมีของเล็กๆ น้อยๆ มาถวาย ให้เกิดความชื่นใจ ปีติ อิ่มเอิบ นึกอยากมาวัดอีก มาฟังคำสอนจากท่าน
ถ้าท่านปฏิบัติอย่างนั้น การสูบบุหรี่ก็เป็นกิริยาเพื่อโปรดสัตว์ เพื่อสงเคราะห์สัตว์โลกให้มีหลักยึดในใจก็ไม่ผิด
ผู้เขียนมาคิดเองว่าคนกินเหล้ากับคนไม่กินเหล้า นิสันดีกับนิสัยไม่ดี แตกต่างกันหรือไม่ ผู้ที่นุ่งขาวห่มขาวถือศีลจะมีนิสัยดีจริงหรือ คนสูบบุหรี่กับคนไม่สูบบุหรี่ มีสิ่งไหนตัดสินว่า ใจดีหรือใจไม่ดี คนตัดผมสั้นกับคนไว้ผมยาวใครดีกว่ากัน
วันหนึ่ง มีพยาบาลไปกราบนมัสการหลวงปู่ พยาบาลคนนั้นนั่งอยู่ใกล้หลวงปู่พอสมควร คิดในใจว่า นี่หรือพระที่มีผู้คนนับถือกันทั้งแผ่นดิน ยังพ่นควันบุหรี่โขมง และแล้วเธอก็ต้องตกใจอย่างมาก เมื่อได้ยินหลวงปู่กล่าวว่า
หลวงปู่ “เรื่องของข้า ข้าจะสูบหรือไม่สูบ ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน”
ผู้เขียนมีเพื่อนอยู่คนหนึ่งชอบสูบบุหรี่มาก
หลวงปู่ “แก (หมายถึงผู้เขียน) สูบแต่ไม่ติด แต่เพื่อนแกสูบติด”
ดังนั้น ท่านจึงเน้นที่ใจเป็นสำคัญ หลวงปู่ท่านเคยปรารภเรื่องสูบบุหรี่ให้ผู้เขียนฟังว่า
หลวงปู่ “สูบแล้ว นึกถึงสมัยเคยเลี้ยงควายตอนเด็ก ได้บุหรี่เป็นเพื่อนเลยไม่อยากทิ้ง ข้าจะสูบจนตายนั่นแหละ”
๓๓. ตายก่อนตาย ช่วงที่ ๑
เมื่อครั้งที่เกิดอุบัติเหตุจากเครื่องบินตกที่ อ.ธัญบุรี เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๗ มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้หลายคน ในจำนวนนั้นมีพระสงฆ์ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนภาคอีสาน ได้ถึงแก่มรณภาพพร้อมกันหลายรูป มีพระอาจารย์จวน, พระอาจารย์วัน, พระอาจารย์สิงห์ทอง เป็นต้น มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย ว่าท่านเหล่านี้ล้วนทรงคุณธรรมสัมมาปฏิบัติ ทำไมจึงต้องมามรณภาพแบบนี้ ผู้เขียนเรียนถามหลวงปู่ ท่านตอบว่า
“ท่านเหล่านั้น ตายก่อนตาย ท่านจึงไม่กลัวตาย ท่านตายแล้วก่อนเครื่องบินจะตกลงกับพื้น”
ผู้เขียนเกิดความสงสัยในคำพูดของหลวงปู่ คิดจะถามต่อเพราะเข้าใจว่าท่านถอดจิตไป แต่หลวงปู่ท่านตอบว่า
“ท่านเป็นพระอรหันต์ กิเลสท่านหมดแล้ว ตายตอนไหนก็เป็นเรื่องของสังขารร่างกาย จิตท่านไม่ตาย”
ผู้เขียนยกมือสาธุคำพูดของหลวงปู่ ความสงสัยในใจหายไป นึกถึงพระโมคคัลลาน์ พระอรหันต์ผู้ทรงคุณวิเศษ ยังต้องถูกโจรทุบตาย กรรมทางร่างกายเกิดขึ้นกับท่าน เพราะด้วยใช้กรรมจากอดีต เนื่องจากเคยทารุณบิดามารดาในกาลก่อน
มีพระภิกษุท่านหนึ่งได้ออกข่าวครึกโครม ในทำนองว่าการตายของพระเหล่านั้น เป็นการตายโหง ยังไปไม่ได้ ถึงกับท่านต้องแผ่เมตตาให้บุญ จึงพ้นจากภูมิที่ท่านได้เป็นอยู่ แต่ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าหลวงปู่ต้องพูดไม่ผิด จึงบอกกับผู้ที่มาถามถึงทรรศนะของผู้เขียน โดยบอกว่าให้รอ เมื่อเผาท่านเหล่านี้เสียก่อนแล้ว จึงค่อยมาพูดกัน เพราะยิ่งพูดยิ่งวิจารณ์มากจะเกิดบาปเปล่าๆ
หลังจากมีพิธีพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์เหล่านั้น อัฐิของท่านได้กลายเป็นพระธาตุ ซึ่งแสดงถึงคุณธรรม ความบริสุทธิ์เป็นจริงตามที่หลวงปู่กล่าวไว้..
ตายก่อนตาย ช่วงที่ ๒
ในเรื่องของความตาย หลวงปู่เคยพูดเสมอว่า “ท่านสู้แค่ตาย” และเมื่อท่านถึงคราวละสังขาร ท่านก็แสดงถึงสัจธรรมคำพูดท่าน คือ ท่านหัวใจวายในขณะที่ท่านกำลังจะออกมาโปรดญาติโยมตามปกติ ญาติโยมบางท่านเกิดความข้องใจว่า ทำไมหลวงปู่จึงไม่นั่งสมาธิละสังขาร
ผู้เขียนจึงระลึกถึงคำพูดของท่านอาจารย์ดูลย์ อตุโล ในคราวที่ปีนเขาขึ้นไปเยี่ยมพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่ถ้ำขามด้วยความยากลำบาก ท่านบอกกับอาจารย์ฝั้นว่า “ท่านไม่มีวิบากของสังขาร ถ้าเห็นว่าไปไม่ไหวก็ทิ้งไปเลย” แสดงถึงจิตของท่านที่เตรียมพร้อมทุกอิริยาบถ
หลวงปู่ดู่เช่นกัน ท่านไม่เคยแสดงอาการเจ็บป่วยแบบล้มหมอนนอนเสื่อให้ลูกศิษย์ได้ปฐมพยาบาล อย่างมากที่สุดคือ ท่านอนุญาตให้นายแพทย์ทำการให้น้ำเกลือ หรือฉีดยาเพื่อการสงเคราะห์เท่านั้น บางครั้งแพทย์ลงความเห็นว่า ท่านควรจะไปรักษาที่โรงพยาบาล ท่านก็ไม่ยอมไป หลวงปู่เพียงแต่บอกว่า “ไม่เป็นไร”
ถ้าลูกศิษย์แสดงความกังวลออกมาท่านจะพูดออกมาว่า “ยังไม่ตายหรอก ถ้าตายเมื่อไรจะบอก” แสดงถึงความกล้าหาญ ไม่กลัวในความตายของหลวงปู่ ไม่ว่าจะเป็นเวลาใดก็ตาม
ลูกศิษย์ที่รับใช้หลวงปู่เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า มีอยู่วันหนึ่งดูอาการของหลวงปู่ไม่ดีอย่างมาก คิดในใจว่าจะไปโทรศัพท์เรียกนายแพทย์ หลวงปู่รีบบอกว่า “ไม่ต้องโทรไปบอก ข้าไม่เป็นไร”
ด้วยความที่เธอเป็นห่วง จึงโทรตามนายแพทย์มา เมื่อนายแพทย์มาถึงและตรวจอาการก็ไม่พบอะไร เมื่อนายแพทย์กลับไปแล้ว อาการท่านก็เป็นแบบเดิม และในวันนี้ ก็เป็นวันสุดท้ายของหลวงปู่ที่จะละสังขารจริงๆ มีญาติโยมจะนำสังฆทานมาถวายท่านในตอนเย็น หลวงปู่สั่งให้ไปถวายพระองค์อื่น เงินให้ใส่ในตู้ทำบุญ นับแต่นี้ไปท่านจะเลิกรับสังฆทาน
พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด เคยเขียนประวัติพระอาจารย์มั่น ตอนหนึ่งกล่าวถึง พุทธนิมิตของพระอรหันต์ ซึ่งแสดงถึงการนิพพาน มีอยู่หลายอิริยาบถทั้ง ยืน เดิน นั่ง นอน แล้วแต่เวลาที่จะไป บางองค์เดินอยู่แล้วถึงนิพพาน นับว่าเป็นภาพที่ประทับใจสำหรับพระอาจารย์มั่นมาก หลวงปู่ดู่ท่านกำลังเดินออกจากกุฏิแต่มรณภาพ ก่อนที่จะออกมาเมตตา แสดงถึงความไม่สะทกสะท้านดังเช่น หลวงปู่ดูลย์ บอกไว้ทุกประการ....
๓๔. ผู้มีปกติอ่อนน้อม
เมื่อครั้งหลวงปู่บุดดา ถาวโร วัดกลางชูศรีเจริญสุข จ.สิงห์บุรี มาเยี่ยมหลวงปู่ที่วัด ปกติหลวงปู่บุดดาท่านจะมีแป้งกระป๋องติดตัวอยู่เสมอ เพื่อประทานให้ญาติโยมที่ไปกราบนมัสการ เพราะมีความศรัทธาว่าเป็นของมงคล เมื่อหลวงปู่ดู่กราบหลวงปู่บุดดาเรียบร้อยแล้ว ท่านได้ประทานแป้งใส่มือหลวงปู่ดู่ หลวงปู่รับไว้และนำมาทาบนศีรษะ
หลวงปู่บุดดาและหลวงปู่ดู่ได้สนทนาธรรมกันชั่วระยะหนึ่ง หลวงปู่บุดดาจึงลากลับ
หลวงปู่บุดดาท่านนี้เป็นอาจารย์ของหลวงพ่ออินทร์ วัดไทรงามเหนือ จ.กำแพงเพชร ซึ่งเป็นอาจารย์ของผู้เขียน หลวงพ่ออินทร์ได้เคยบอกกับผู้เขียนว่า
“หลวงปู่บุดดาเป็นธรรมทั้งองค์ เป็นทองทั้งแท่ง พระธรรม ๘๔,๐๐๐ อยู่ในดวงใจของท่าน ท่านรู้ทั้งนั้น หลวงพ่อเคยธุดงค์ไปกับท่านพร้อมกับหลวงพ่อสงฆ์ วัดอาวุธฯ”
มีญาติโยมที่นั่งอยู่ด้วย ได้เรียนถามหลวงปู่ดู่ว่า ทำไมจึงนำแป้งไปทาบนศีรษะ ท่านตอบว่า
“ของพระอรหันต์ให้ แกจะให้ไปทาที่ไหนละ จึงจะสมควร เดี๋ยวจะกลายเป็นความไม่เคารพ นอกจากบนหัวของเรา”
สังฆัง สรณัง คัจฉามิ พระอริยสงฆ์เป็นสรณะที่พึ่งของข้าพเจ้า คนโบราณจึงถือว่า พระรัตนตรัยอยู่เหนือเศียรเหนือเกล้าด้วยเหตุฉะนี้
๓๕. นานาทรรศนะเกี่ยวกับพระเครื่องบูชา
ผู้ที่มีพระเครื่องบูชา มักคิดไม่ตกว่าควรวางไว้ที่ใดจึงควรแก่การสักการะ คำถามเหล่านี้มีเป็นประจำ ผู้เขียนจึงรวบรวมไว้โดยสังเขป ดังนี้
ผู้ถาม “พระหลวงปู่ตั้งไว้ที่เดียวกับพระพุทธเจ้าได้ไหม”
หลวงปู่ “ข้าทำพระ สุดท้ายก็อธิษฐานเป็นพระพุทธเจ้า รูปข้าหรือรูปพระสงฆ์ทั่วไปยังไม่ใช่ของจริง เป็นของหลอก มีแต่พระพุทธเจ้าจึงมีจริง”
ผู้ถาม “อย่างนั้น ตั้งไว้อาสนะเดียวกันได้สิครับ”
หลวงปู่ “ได้ ถ้าแกไม่กลัวโลกเขาติเตียน ผู้รู้จะตำหนิเอาได้”
ผู้ถาม “ถ้าผมไม่มีโต๊ะหมู่บูชา มีเพียงโต๊ะตัวเดียวจะทำอย่างไร”
หลวงปู่ “เอาผ้าขาว กระดาษขาว วางรองไว้ที่ฐานพระพุทธรูป ก็ถือว่าคนละอาสนะแล้ว”
ผู้ถาม “ถ้ามีคนเอารักยม กุมาร หรือรูปนางกวักเหล่านี้มา หลวงปู่เสกไหมครับ”
หลวงปู่ “เสกได้ ทำเป็นพระเสียก็หมดเรื่อง รักยมก็บวชให้เป็นเณร เณรเป็นอรหันต์มีเยอะแยะ นางกวักก็เป็นภิกษุณี”
ผู้ถาม “พระแก้วมรกตมีพระธาตุจริงไหม”
หลวงปู่ “พระแก้วเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน พระนาคเสนเป็นพระอรหันต์ที่สร้างขึ้นมา ท่านอธิษฐานให้พระสารีริกธาตุสถิตอยู่ ๗ แห่ง”
ผู้ถาม “ตัวแทนพระพุทธเจ้าทุกองค์ต้องสร้างด้วยมรกตสีเขียวใช่ไหมครับ”
หลวงปู่ “ไม่เหมือนกัน ถ้าถึงยุคพระศรีอริยเมตไตรย พระทำด้วยทับทิม (แก้วมณี) เพราะเป็นของคู่บารมีท่าน”
ผู้ถาม “การที่พระภิกษุสร้างรอยเท้าให้บูชานั้น มีวัตถุประสงค์อย่างไร”
หลวงปู่ “การทำเช่นนั้น มิใช่การทำรอยเท้าของท่านเอง หากแต่อธิษฐานเป็นรอยเท้าพระพุทธเจ้า”
๓๖. ทางที่พ้นโลก
หลวงปู่เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังถึงประสบการณ์จากลูกศิษย์คนหนึ่ง กล่าวคือ ในตอนแรกลูกศิษย์ของท่านคนนี้นับถือศาสนาคริสต์ก็ไม่ยอมปฏิบัติ จนกระทั่งวันหนึ่งได้มีโอกาสเข้าไปนั่งปฏิบัติในกุฏิของท่าน และเห็นหลวงปู่ทวดในนิมิต ด้วยเหตุผลทางศาสนาจึงทำให้ไม่ยอมกราบหลวงปู่ทวด แต่ในที่สุดก็ต้องกราบหลวงปู่ทวดจนได้
ต่อมา ลูกศิษย์คนนี้มานมัสการท่านพร้อมทั้งรายงานผลการปฏิบัติ และได้เรียนถามท่านว่า
“หลวงลุงครับ รู้จักหลวงพ่อธรรมโชติไหม”
ท่านก็ฉุกคิดได้ถึงการอธิษฐานของท่านเมื่อหลายสิบปีก่อน
หลวงปู่“ข้าเคยอธิษฐานขอคาถาจากพระอาจารย์ธรรมโชติ เพราะเห็นคนเขาลักของของวัด บางทีข้านอนอยู่ยังลักไปต่อหน้าต่อตา เขาเล่ากันว่า ที่วัดของท่าน ใครลักของไปต้องเอามาคืนหมด พระอาจารย์ธรรมโชติองค์นี้ เป็นผู้ที่มีอาคมขลังในสมัยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ และท่านเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมอยู่ในค่ายบางระจันเพื่อต่อสู้กับอริราชศัตรูคือ พม่า”
ลูกศิษย์ “อาจารย์ธรรมโชติท่านสั่งให้ผมมาเรียนหลวงลุงว่า คาถาที่ขอนั้นยังเป็นโลก ติดอยู่ในโลกไปไม่ได้ แต่วิธีการของหลวงลุงเป็นการทำตัวให้พ้นโลกที่ท่านทำนั้นสูงอยู่แล้ว”
หลวงปู่จึงพูดกับผู้เขียนว่า
“ที่จริงข้าลืมไปแล้วด้วยซ้ำ เพราะขอมานมนานกาเล แต่ท่านยังอุตส่าห์บอกถึงข้าจนได้”
๓๗. ปรับปรุงตัวเอง
ผู้เขียนได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับหลวงปู่ดู่ เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๒๙ วันนั้นได้คุยกับหลวงปู่ว่า
“สำหรับคนที่อยู่ทางโลก ยังต้องเกี่ยวข้องสัมผัสสัมพันธ์กับทางโลกอยู่ การปฏิบัติตัวของเรามีทั้งสิ่งที่เป็นบุญ และสิ่งที่เป็นบาป ช่วงใดที่เราปฏิบัติตัวเองในทางธรรมดี เมื่อมีการหลงกระทำผิดแล้วทำให้เกิดบาป สิ่งนี้จะมาคอยตัดกำลังใจของเราอยู่บ่อยๆ”
ผู้เขียนจึงเรียนถามหลวงปู่ว่า “เรามีวิธีการปรับปรุงตัวเองอย่างไร”
หลวงปู่ท่านเมตตาสอนว่า “ในวันหนึ่งๆ นั้น การทำดี-ทำไม่ดี ของเรามีอะไรบ้าง ตั้งแต่เช้าจรดเย็น แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน หมั่นทำตัวให้ดีขึ้น”
ผู้เขียนประนมมือน้อมรับคำสอนของหลวงปู่ที่ท่านพยายามให้ลูกศิษย์ของท่านพยายามปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
หลวงปู่กล่าวเสริมอีกว่า “ข้าทำของข้าอย่างนี้ล่ะ หายอยากแล้ว”
หลวงปู่ดู่จะปรารภธรรมให้ลูกศิษย์ของท่านหมั่นตั้งใจปฏิบัติธรรม ปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น ถ้าหลับตานั่งสมาธิแล้วมีความสว่างเกิดขึ้น ท่านบอกว่านั่นแหละ บุญเริ่มเกิดขึ้นแล้ว ให้น้อมจิตศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มากขึ้นๆ ความสว่างก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ
หลวงปู่เคยสอนว่า “ถ้าแกทำสว่างแล้ว จะไปไหนมาไหนก็ได้ ถ้าแกยังมืดอยู่ จะไปไหนมาไหนสะดวกหรือ? พยายามทำให้มันสว่างก่อน”
สักครู่ท่านจึงกล่าวขึ้นมาว่า
“คนเราก่อนเกิด ตอนอยู่ในท้องแม่ก็มืด หลังจากคลอดออกมายังจะปล่อยให้มืดอีกหรือ”
สาธุ ..... กราบแทบเท้าหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
พ ร ะ ผู้ จุ ด ป ร ะ ที ป ใ น ด ว ง ใ จ
กุศลใดที่ลูกพึงได้รับจากการเผยแผ่ธรรมทานของหลวงปู่นี้
ขอกุศลนี้จงเป็นของเพื่อนทุกคน และแผ่ออกไปอย่างมิมีประมาณด้วยเทอญ
โฆษณา