13 มิ.ย. 2021 เวลา 03:41 • ท่องเที่ยว
“ซูตองเป้” สะพานแห่งศรัทธาอธิษฐานสำเร็จ .. สะพานไม้ไผ่ยาวสุดในไทย
กุมภาพันธ์ .. เดือนแห่งความรัก ทั้งรักคนที่อยู่ในแวดวงของชีวิตในปัจจุบัน และคนอันเป็นที่รักที่จากไปนานมาแล้ว แต่ยังอยู่ในความทรงจำในส่วนลึกของหัวใจ
ฉันอยากไปทำบุญที่เรียบง่ายด้วยการตักบาตรเช้า ณ สถานที่ที่แตกต่างจากการตักบาตรในหมู่บ้านตามปกติ … สถานที่ที่มีความสงบ แต่เปี่ยมเอกลักษณ์อันเกิดจากความศรัทธาของผู้คน … การเดินทางไกลจึงเริ่มขึ้นอีกครั้ง จุดหมายอยู่ที่เมืองสามหมอก .. แม่ฮ่องสอน
หลังจากเดินทางผ่านโค้งของถนนเกือบสองพันมาได้หลายชั่วโมง ฉันก็มาถึงชายขอบเมืองสามหมอก ณ แม่ฮ่องสอน
เช้ามืดของวันต่อมา … ฉันมาถึง “สะพานซูตองเป้” ที่ซุกตัวอยู่ในอ้อมกอดของสายหมอกขาว
อุณหภูมิเช้าวันนี้อยู่ที่ 13 องศา ... แม้จะเตรียมตัวใส่เสื่อผ้าป้องกันความเยือกเย็นของอากาศมาอย่างดีแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกได้ถึงสายลมเย็นที่พัดผ่านเข้ามาลูบไล้ใบหน้าเหมือนทักทาย
“ตกหลุมรัก เมื่อแรกเห็น”… เป็นความรู้สึกเมื่อสะพานแห่งนี้ปรากฏในสายตา
สะพานไม้ไผ่ กว้าง 2 เมตร ยาวประมาณ 500 ทอดตัวยาวไปตามทุ่งนา .. สวยคลาสสิก งดงามท่ามกลางทิวทัศน์ชนบทที่เรียบง่ายสวยงาม เหมือนภาพฝัน
“ซูตองเป้” เป็นภาษาไทใหญ่แปลว่า “อธิษฐานสำเร็จ”… มาจากความเชื่อกันว่า หากได้มายืนอยู่กลางสะพานแล้วอธิษฐานขอความสำเร็จใดๆ ก็จะพบกับความสมหวัง
“สะพานซูตองเป้” เป็นสะพานไม้ที่เกิดจาก ความศรัทธาและการร่วมแรงร่วมใจของพระภิกษุสงฆ์ (โดยการนำของพระปลัดจิตตพัฒน์ อคคฺปัญโญ ประธานสงฆ์สวนธรรมภูสมะ) และชาวบ้านกุงไม้สัก และคณะศรัทธาต่างๆที่ได้บริจาคเสาไม้ บริจาคไม้ไผ่ แล้วมาช่วยกันลงแรงสานพื้นสะพานด้วยไม้ไผ่สานขัดแตะ ทอดยาวไปบนที่นาของเจ้าของที่ดิน ที่ได้อุทิศผืนนาถวาย
สะพานแห่งนี้สร้างเพื่อเชื่อมต่อระหว่าง “สวนธรรมภูสมะ” และ “หมู่บ้านกุงไม้สัก” ข้ามผ่านทุ่งนา และแม่น้ำสายเล็กๆ เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ สามเณร จากสวนธรรมภูสมะเดินบิณฑบาต และชาวบ้านที่อยู่อีกฝั่งได้ใช้สัญจรไป-มาระหว่างหมู่บ้านได้สะดวกยิ่งขึ้น .. นับได้ว่าเป็นสะพานไม้ไผ่ที่ยาวที่สุดในประเทศไทยในปัจจุบัน
ในการสร้างสะพานแห่งนี้ใช้เวลาก่อสร้างราว 3 เดือนกว่า โดยได้ทำการวางเสาเอกในวันที่ 20 เม.ย. 2554 และทำการก่อสร้างเสร็จสิ้นเปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 5 ส.ค. 2554
สะพานแห่งนี้นอกจากประโยชน์ด้านการสัญจรแล้ว ได้กลายเป็นสถานที่ดึงดูดการท่องเที่ยว จากเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครของสะพานเอง รวมถึงทำเลที่ตั้งที่มีทิวทัศน์สวยงาม และวิถีปฏิบัติของพระ-เณรแห่งสวนธรรมภูสมะนั้นก็เปี่ยมศรัทธาน่าเลื่อมใส
ฉันมาถึงช่วงเช้ามืด เลือกที่จะไปรอใส่บาตรจากทางด้านหมู่บ้านกุงไม้สัก …
ยามเช้า แม้จะเลยเวลา 6 โมงมาแล้วสักพัก แต่สายหมอกขาวยังลอยอ้อยอิ่งห่มคลุมสะพานและทุ่งนาให้เลือนลาง สร้างเป็นภาพที่น่าประทับใจ
ราวหกโมงครึ่ง .. ฉันได้ยินเสียงหมาเห่านำหน้ามาจากทิศทางที่ตั้งของวัดที่อยู่ห่างออกไป
พระภิกษุสงฆ์และสามเณรรวมแล้วราว 15 รูปก็ปรากฏเป็นภาพรางๆในสายหมอกกลางสะพานที่ฉันยืนรออยู่
การได้มาทำบุญตักบาตรกลางสะพานแห่งนี้แทบจะคนเดียว นับว่าเป็นโชคและมหัศจรรย์มากในความรู้สึก …
เหมือนพระท่านตั้งใจมารับบิณฑบาต มาโปรดฉันเพียงคนเดียว
หลังอธิษฐานและนำข้าวปลาอาหารที่เตรียมไว้ถวายพระ ฉันตั้งใจรับอนุโมทนาพรที่พระสงฆ์ท่านกล่าวอนุโมทนา …
ความรู้สึกปิติแผ่ซ่านไปตลอดร่าง และนึกส่งต่อบุญกุศลที่ทำในวันนี้ไปยังกัลยาณมิตรทุกคนในโลกนี้ และทุกคนที่ฉันรักที่ได้จากไป
เหล่าภิกษุสงฆ์ เดินหายลับไปกับสายหมอกขาว ...
เหลือเพียงภาพเลือนราง ดูว่างเปล่าของทุ่งนาและสายหมอก ...โดยมีเพียงฉันที่เหมือนพลัดหลงเข้ามายังโลกมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่บริสุทธิ์งดงาม
ฉันสูดหายใจเอาอากาศสดชื่นเข้าไปเต็มปอด .. ความสดชื่นดูเหมือนจะเสียดแทงอยู่ภายในจนรู้สึกถึงความแตกต่าง รอบตัวในเวลานี้บรรยากาศช่างสงบ เงียบ และรื่นรมย์มากมาย .. แตกต่างกับทุกสิ่งที่คุ้นเคยในที่ที่ฉันจากมา
ฉันใช้เวลาเดินช้าๆไปตามสะพาน ซึมซับทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในสายตาด้วยหัวใจที่เบิกบาน หยุดเก็บภาพประทับใจบางมุมให้ไหลผ่านช้าๆผ่านเลนส์กล้อง
สะพานซูตองเป้ มีหลากหลายมุมที่สวยงามให้สัมผัส … ฉันชอบช่วงโค้งสะพาน พื้นไม้ไผ่สาน เหลี่ยมเสา หัวสะพาน ไม้ไผ่สานที่ถูกแขวนไว้ เดาเอาว่าคงเป็นส่วนหนึ่งของชาวไทยที่รับความเชื่อจากวัฒนธรรมของพม่า .. ดูมีเสน่ห์ น่ามอง และสวยงามคลาสสิกที่ไม่เคยเห็นจากภาพสะพานที่ไหนๆมาก่อน
แม้หลังช่วงหลังฤดูหนาว เช่นในต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ฉันมาเยือน … ท้องทุ่งนาไม่ได้เขียวขจี ไม่มีข้าวออกรวงเหลืองทอง แต่มุมมองของสะพานก็ยังถือว่าสวยงามมาก
สะพานซูตองเป้มิได้สร้างขึ้นด้วยจุดประสงค์ทางการท่องเที่ยว … แต่เสน่ห์เฉพาะตัวที่มีอย่างมาก รวมถึงการที่เป็นสะพานไม้ไผ่ยาวที่สุดในเมืองไทย มีมุมถ่ายรูปอันงดงามหลายจุด มีวิวทิวทัศน์ของท้องทุ่งนาอันสวยงาม มีบรรยากาศของพระ-เณรออกเดินบิณฑบาตอันเปี่ยมศรัทธาเลื่อมใส ..
.. ทำให้สะพานซูตองเป้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่โด่งดังขึ้นมาในชั่วเวลาอันสั้น และมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเพื่อตักบาตร ถ่ายรูปสะพานแห่งนี้ รวมถึงไปทำบุญ ไหว้พระที่สวนธรรมภูสมะเป็นจำนวนมาก
ความโด่งดัง ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ถาโถม หลั่งไหลไปเยือนมากมาย … ซึ่งมาพร้อมกับความห่วงใยจากหลายคนที่เห็นพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่มาที่นี่
นักท่องเที่ยวหลายคนมาเพื่อเก็บภาพประทับใจ .. แต่อยากจะให้ระวังอย่าให้เกิดเป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควรทำ จนกลายเป็นการรบกวนวัตรปฏิบัติของพระภิกษุ-สามเณรท่าน สมควรงดพฤติกรรมการล่าภาพ และรบกวนการเดินรับบิณฑบาตรของพระท่าน เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งหากจะบอกให้พระเดินช้าๆเพื่อที่จะได้รูปอย่างต้องการ
ผู้ที่ไปเยือน จำเป็นต้องสำรวมทั้ง กาย วาจา ใจ ... จะถ่ายรูป จะเซลฟี่ ต้องทำอย่างสำรวม เหมาะสม เพราะสะพานซูตองเป้ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่แห่งธรรม ที่เชื่อมระหว่างโลกของบรรพชิตกับฆราวาส ดังนั้นคนที่ไปเที่ยวจำเป็นต้องเคารพสถานที่
สะพานจากฝั่งหมู่บ้าน ทอดตัวข้ามแม่น้ำสะงา มุ่งไปยังทิศทางที่ตั้งของสวนธรรมภูสมะ ท่ามกลางแสงทองอ่อนๆของยามเช้าที่สาดส่อง ... เป็นความงามบริสุทธิ์ที่ฉันโชคดีที่ได้มาเยือนในยามที่สะพานแห่งนี้ไร้นักท่องเที่ยว ช่วงปลายสะพานก่อนเข้าสู่สวนธรรมฯจะเป็นบันไดเดินขึ้นเนินสู่สวนธรรมภูสมะ
“สวนธรรมภูสมะ” เป็นพุทธศาสนาสถานที่ตั้งอยู่บนเนินเขา .. เช้าๆอย่างนี้เมื่อมองลงไปด้านล่าง สะพานจึงดูเลือนลาง บางส่วนก็ถูกกลืนหายไปในความขมุกขมัวของหมอกขาวและสายลมเย็น
เมื่อเดินตามบันไดที่สูงเอาการขึ้นมาด้านบนอันเป็นที่ตั้งของพุทธสถาน ...ในสายหมอกบางๆ ฉันมองเห็นวิหารศิลปะพม่าและไทใหญ่ที่งดงามปรากฏอยู่ในสายตา รวมถึงงานร่วมสมัยที่ทางวัดนำมาประดับไว้รอบๆบริเวณ
ฉันอยากได้ภาพชัดๆของวิหาร สิ่งก่อสร้าง และสิ่งอื่นๆชัดๆ จึงรออยู่จนสายเพื่อเก็บภาพ
ช่วงสาย อากาศอุ่นขึ้น ทัศนวิสัยมองเห็นได้ชัดเจน ... จึงเหมาะสำหรับการบันทึกภาพความทรงจำ เพื่อนำมาฝากทุกคนที่ไม่ได้ไปเห็นด้วยตัวเอง
ทุ่งนา และสะพานชัดเจนขึ้น เมื่อดวงอาทิตย์สาดส่องขับไล่ความขมุกขมัวให้เลือนหายไป
บริเวณด้านนอก .. ภายในสวนธรรมก็ยังมีถ้อยคำธรรมะ คติเตือนใจ และรูปปั้นปริศนาธรรมที่ทรงเสน่ห์ไปด้วยงานศิลปะร่วมสมัย ... อีกทั้งยังมีจุดชมวิวที่มองลงไปเห็นสะพานซูตองเป้ทอดยาวอย่างสวยงาม
อาคารหลักที่เป็นวิหาร รวมถึงอาคารอื่นๆ ดูจะโดดเด่นด้วยหลังคาฉลุสังกะสีในแบบศิลปะพม่า แม้จะไม่ใหญ่โตจนเรียกได้ว่าอลังการ แต่ความงดงามทางศิลปะนั้นพูดได้ว่าไม่เป็นรองวัดไหนๆ หากเปี่ยมเอกลักษณ์ของวัดไทยใหญ่ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่
“พระพุทธรูปทรงเครื่อง” พระประธานแห่งสวนธรรมภูสมะ … เป็นไฮไลน์ของที่นี่ องค์พระงดงามด้วยศิลปะพม่าสีทองอร่าม ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารโถง ไม่มีผนัง .. มีผู้คนแวะเวียนมากราบไหว้มากมาย
อาคารด้านข้างวิหารหลัก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปให้สักการะบูชา ผู้คนมาไหว้พระแล้วทำบุญด้วยการเขียนชื่อใส่ป้ายแขวนไว้
ชวนให้นึกถึงวัดจำนวนมากในญี่ปุ่นหรือเกาหลีที่มีประเพณีในการเขียนข้อความและชื่อลงในแผ่นไม้ นำไปอธิษฐานแล้วห้อยในที่ที่จัดไว้แบบเดียวกันนี้
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา