13 มิ.ย. 2021 เวลา 05:55 • กีฬา
การตายของนักเตะ 1 คน แต่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลง ให้นักเตะอีกหลายคนรอดชีวิต นี่คือเรื่องราวของมาร์ก-วิเวียน โฟเอ้ ที่โยงมาถึงกรณีของคริสเตียน อีริคเซ่น
4
คำถามที่หลายคนสงสัย คือทำไมการช่วยเหลือคริสเตียน อีริคเซ่น ที่วูบไปอย่างกะทันหัน ถึงทำได้อย่างมีประสิทธิภาพขนาดนี้
1
เมื่อเกิดเหตุปั๊บ เจ้าหน้าที่สนามรีบวิ่งมาปั๊มหัวใจ ตามด้วยใช้เครื่อง AED จากนั้นขนส่งอีริคเซ่นไปโรงพยาบาลที่อยู่ห่างจากสนาม 500 เมตร ทุกอย่างดำเนินการรวดเร็วฉับไว และมันส่งผลให้อีริคเซ่นรอดชีวิตได้ในที่สุด
2
หากให้วิเคราะห์ว่าทำไมการปฏิบัติงานถึงสมบูรณ์แบบ คิดว่ามีเหตุผลหลักๆ อยู่ 2 ข้อ
4
ข้อแรกคือ เดนมาร์ก เป็นประเทศที่มีความรู้พื้นฐานเรื่องการทำ CPR ดีที่สุด ประเทศหนึ่งในโลก ในปี 2005 รัฐบาลใส่หลักสูตรการทำ CPR ไว้ในวิชาเรียนของชั้นประถม จากนั้นก็มีข้อบังคับ ว่าถ้าคุณต้องการสอบใบขับขี่ คุณต้องรู้วิธีการทำ CPR ด้วย
19
การบังคับให้ประชาชน "ต้องรู้" เกี่ยวกับการปั๊มหัวใจ ทำให้สถิติการเสียชีวิตของผู้เกิดอาการหัวใจวายในเดนมาร์ก ลดลง 3 เท่า หากเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อนที่จะออกกฎหมาย
6
ขนาดประชาชนธรรมดา ยังมีความเข้าใจในการ CPR ที่ดี ดังนั้นคนที่เป็นถึงระดับแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่รับผิดชอบในยูโรครั้งนี้ จึงมีความรู้เพียบพร้อม และไม่ตื่นตระหนกในสถานการณ์คับขันที่เกิดขึ้นตรงหน้า ขณะที่บรรดานักเตะก็รู้ดีว่าควรทำอะไร ตอนยืนล้อมๆ อีริคเซ่น ก็ยืนแบบหลวมๆ ไม่ไปขัดขวางเจ้าหน้าที่ที่กำลังช่วยชีวิตอยู่
3
นั่นคือเหตุผลข้อแรก ส่วนข้อสอง นับจากปี 2003 เป็นต้นมา ทางฟีฟ่าได้สร้างวาระสำคัญ โดยกำหนดว่าคนที่เกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอล ต้องมีความรู้ในประเด็น "SCA"
2
SCA ย่อจาก Sudden Cardiac Arrest แปลว่าหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน โดยกระบวนการนี้ จะสอนคุณว่าถ้าหากนักฟุตบอลเกิดอาการหัวใจหยุดเต้น โดยไม่มีสัญญาณเตือนใดๆมาก่อนเลย คุณต้องทำอย่างไร
1
ความรู้เรื่อง SCA เป็นพื้นฐานของผู้ตัดสินในระดับฟีฟ่า หรือยูฟ่า ขั้นแรกผู้ตัดสินต้องดู The first sign (สัญญาณแรก) ว่านักเตะล้มลงสู่พื้นหญ้า โดยไม่มีการสัมผัสตัวกับผู้เล่นคนอื่นใช่หรือไม่
3
และจากนั้นก็เช็ก Unresponsive (ไม่มีอาการตอบสนอง) คือนักเตะหมดสติ และไม่มีปฏิกริยาใดๆเลยหรือเปล่า คือถ้าใช่ ให้ปักใจไว้ก่อนเลยว่า อาจเกิดกรณี SCA และผู้ตัดสินต้องเข้ามาจัดการทันที จะมัวนิ่งอึ้งไม่ได้ เพราะทุกวินาทีมีเรื่องความเป็นความตายเป็นเดิมพัน
3
นั่นคือเหตุผลที่ แอนโธนี่ เทย์เลอร์ ผู้ตัดสินในเกมเดนมาร์ก กับฟินแลนด์ สั่งหยุดเกมทันที และให้ทีมแพทย์วิ่งเข้าสนามมาอย่างเร็วที่สุด ถ้าลองนับดูตอนอีริคเซ่นล้มลงไปกับพื้น ทีมแพทย์ใช้เวลาแค่ 21 วินาทีเท่านั้น ในการวิ่งเข้าถึงตัว และเริ่มกระบวนการ CPR คือถ้าหากเป็นผู้ตัดสินที่ไม่เข้าใจเรื่องกรณี SCA อาจมองสถานการณ์ไม่ออก และอาจส่งผลให้อีริคเซ่นมีอาการหนักยิ่งกว่านี้ก็ได้
7
สถิติที่หลายคนอาจไม่เชื่อ แต่เกิดขึ้นจริงคือในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีนักฟุตบอลเสียชีวิตจากอาการหัวใจวาย เฉลี่ยแล้วเดือนละ 1 คน คืออาจไม่ใช่นักเตะบิ๊กเนมชื่อดัง แต่ด้วยเรตขนาดนี้ ทำให้เห็นว่า นี่ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวขนาดนั้น เตะๆฟุตบอลอยู่ คุณอาจล้มพับไปเลยก็ได้ และถ้าปั๊มหัวใจไม่ทันท่วงที ก็มีโอกาสมากจริงๆที่จะเสียชีวิต
6
สำหรับจุดเริ่มต้นที่ทางฟีฟ่า หันมาตระหนักถึงปัญหาการหัวใจวายในสนามฟุตบอล เกิดขึ้นจากกรณีของมาร์ก-วิเวียน โฟเอ้ กองกลางชาวแคเมอรูน ที่เสียชีวิตในศึกคอนเฟดเดอเรชั่น คัพ ในปี 2003
1
ศึกคอนเฟดเดอเรชั่นส์ คัพ จะเป็นถ้วยที่เอาแชมป์แต่ละทวีปมาปะทะกัน โดยแคเมอรูน ได้เข้าร่วมแข่งขันในฐานะแชมป์ของทวีปแอฟริกา
2
แคเมอรูนชุดนั้น มีเฮดโค้ชคือวินฟรีด เชเฟอร์ ขณะที่ตัวผู้เล่นถือว่าดูดีใช้ได้ กองหน้ามีซามูเอล เอโต้ มิดฟิลด์มีเฌเรมี่ ไนจ์แทป กับเอริค เฌมบ้า-เฌมบ้า กองหลังมีริโกแบร์ ซง ส่วนอีกคน ที่ถือเป็นคีย์แมนเช่นกัน คือ มาร์ก-วิเวียน โฟเอ้ ในตำแหน่งกองกลางตัวรับ จากสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้
1
แน่นอน ชื่อชั้นคงไปเทียบกับบราซิล หรือฝรั่งเศสไม่ได้ แต่แคเมอรูนชุดนั้น เต็มไปด้วยความสด ความกระหาย พวกเขามีทีมเวิร์กที่ดีมากๆ และเกมรับที่แน่นปึ้กจริงๆ
เกมแรกของแคเมอรูน เปิดหัวด้วยการเอาชนะแชมป์โลกบราซิล ตามด้วยชนะตุรกี ก่อนจะคว้าแชมป์กลุ่มบี แบบไร้พ่าย ทะลุเข้ารอบรองชนะเลิศไปเจอโคลอมเบีย
1
26 มิถุนายน 2003 รอบรองคอนเฟดเดอเรชั่นส์ คัพ เริ่มต้นขึ้น ซึ่งด้วยความมั่นใจที่พุ่งทะยานสูงมาก ทำให้แคเมอรูนออกนำโคลอมเบีย 1-0 ตั้งแต่ต้นเกม และตลอดช่วงเวลาที่เหลือ โคลอมเบียเจาะไม่เข้าเลย เกมรุกเมื่อบุกเข้ามา ก็โดนคู่มิดฟิลด์แคเมอรูน ทั้ง เฌมบ้า-เฌมบ้า กับ โฟเอ้ ช่วยกันเก็บกวาดหมด ตอนนี้นักเตะในทีม ฝันถึงการเข้าชิงชนะเลิศแล้ว
3
เกมการแข่ง ดำเนินมาถึงนาทีที่ 72 ก็เกิดเหตุการณ์แปลกประหลาดขึ้น เมื่อมาร์ก-วิเวียน โฟเอ้ มิดฟิลด์แคเมอรูน อยู่ๆ ก็ล้มลงไปบริเวณวงกลมกลางสนาม โดยไม่มีใครสัมผัสตัวใดๆเลย
อิดริส คาเมนี่ กองกลางของแคเมอรูนชุดนั้นกล่าวว่า "ตอนเขาร่วงลงไปกับพื้น เราไม่คิดว่ามันจะเป็นเรื่องคอขาดบาดตายขนาดนั้น เราก็เล่นฟุตบอลต่อไป เราคิดว่าอาจจะเป็นอาการอ่อนล้าอะไรสักอย่าง เดี๋ยวพอหายดี เขากลับมาได้"
ข้างสนาม โค้ชวินฟรีด เชเฟอร์ ก็เปลี่ยนตัวโฟเอ้ออกมาตามปกติ แล้วให้วาเลรี่ เมซาเก้ ลงสนามแทน ส่วนนักเตะก็ไปโฟกัสที่การป้องกันเกมบุกของโคลอมเบียต่อ ไม่มีใครคิดว่าโฟเอ้จะได้รับอันตรายอะไร
6
ถ้าย้อนกลับไปยุคนั้น เรื่องหัวใจวายกับนักฟุตบอล ดูเป็นอะไรที่ไม่เข้ากันมากๆ เพราะใครๆ ก็คิดว่านักฟุตบอลที่แข็งแรง วิ่ง 90 นาทีทุกๆ 3 วัน จะเกิดอาการหัวใจวายได้อย่างไร ส่งผลให้ทีมแพทย์ข้างสนาม ก็ไม่เคยเตรียมการรับมือกับเคสแบบนี้เช่นกัน ทีมแพทย์ได้แต่จับโฟเอ้พลิกไปพลิกมา เอาฟองน้ำมาซับเหงื่อ
เวลาผ่านไป 5 นาที ก็ยังไม่มีการปั๊มหัวใจเกิดขึ้น
1
ซันเจย์ ชาร์มา ศาสตราจารย์ด้านโรคหัวใจ จากมหาวิทยาลัยแห่งลอนดอน วิจารณ์เหตุการณ์นี้ว่า "นักเตะร่วงลงไปโดยไม่มีใครแตะต้องแบบนั้น ตาเหลือก และไม่มีการขยับร่างกาย มันชัดเจนอยู่แล้วว่าเรื่องเลวร้ายกำลังจะเกิดขึ้น ผมไม่เข้าใจว่าคุณจะเอาฟองน้ำไปซับหน้าเขาทำไม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปั๊มหัวใจ ถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้ คุณต้องปั๊มหัวใจ ในช่วงเวลา 1 นาทีครึ่ง"
3
"ถ้าคุณปั๊มหัวใจ ทำ CPR ในกรอบเวลาที่กำหนด มีโอกาสราวๆ 70% ที่นักกีฬาจะมีชีวิตรอด แต่กว่าผมจะได้เห็นทีมแพทย์ทำอะไรที่ถูกต้องให้มาร์ก-วิเวียน โฟเอ้ ก็ผ่านไป 5-6 นาทีแล้ว แต่มันก็เข้าใจได้ว่า นี่คือครั้งแรกจริงๆ ที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ในสนามฟุตบอล คุณไม่คาดคิดหรอก ว่านักเตะที่แข็งแรงขนาดนั้น จะหัวใจวายได้อย่างฉับพลันแบบนี้"
1
การปั๊มหัวใจที่ช้าเกินไป แปลว่า คุณละทิ้งโอกาสที่จะเรียกชีวิตโฟเอ้กลับมา ไม่กี่นาทีต่อจากนั้น โฟเอ้ตายในห้องแพทย์ที่สนามสต๊าด เดอ ชาร์กลองด์ เขาไม่ทันได้ไปถึงโรงพยาบาลด้วยซ้ำ
3
ในสนามแข่งขันยังไม่รู้เรื่องอะไร ก็เตะบอลกันไปต่อ และแคเมอรูนยันสกอร์ 1-0 ได้สำเร็จ สร้างประวัติศาสตร์ เข้าชิงรายการนี้ กับฝรั่งเศส นี่ถือเป็นเกียรติประวัติที่ยิ่งใหญ่มากๆ ของวงการฟุตบอลแคเมอรูน
แต่ข่าวร้าย ก็เข้ามาปะทะกับนักเตะแคเมอรูนอย่างไม่ทันตั้งตัว โดยวินฟรีด เชเฟอร์ เฮดโค้ชของทีมเล่าว่า "เราชนะ 1-0 และนักเตะก็ร้องรำทำเพลงในห้องแต่งตัว แต่จากนั้นกัปตันริโกแบร์ ซง ก็เดินเข้ามาแล้วร้องไห้ ก่อนจะบอกว่า มาร์ก-วิเวียน โฟเอ้ ตายแล้ว"
"ทุกคนช็อก และถามว่าทำไม จากนั้นเราก็เริ่มร้องไห้กัน ตอนนั้นผมได้ยินเสียงผู้หญิงสองคนร้องไห้ดังมาก ผมจึงเดินไปและเห็นมาร์ก-วิเวียน นอนอยู่อย่างสงบนิ่ง ส่วนเสียงร้องของผู้หญิง คือแม่ของเขา กับภรรยาของเขา ผมเอามือเอื้อมไปจับขาของเขา แล้วเดินออกไปร้องไห้นอกห้องเช่นกัน"
6
สรุปชีวิตของมาร์ก-วิเวียน โฟเอ้ เขาได้ลงสนามให้ทีมชาติไป 64 นัด ยิงไป 8 ลูก และเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 28 ปีเท่านั้น จริงๆกำลังอยู่ในฟอร์มที่ดีแท้ๆ แต่ความตายก็พรากเขาไปอย่างไม่คาดคิด
4
รอบชิงชนะเลิศกับฝรั่งเศส ถูกจัดขึ้นตามโปรแกรม ในอีก 3 วันต่อมา แต่ตอนนั้นนักเตะแคเมอรูน ไม่มีใครมีพลังใจจะเล่นอีกแล้ว แม้พวกเขาจะพยายามสู้ฝรั่งเศสด้วยสปิริต ใจมันหมดสิ้นแล้วเพราะเพื่อนที่เตะบอลด้วยกันอยู่ดีๆ เสียชีวิตไปทั้งอย่างนั้น
1
สุดท้ายจึงเป็นฝรั่งเศสที่เอาชนะไป 1-0 คว้าแชมป์คอนเฟดเดอเรชั่นส์ คัพไปครอง ส่วนแคเมอรูนได้รองแชมป์
1
หลังจบเกมนักเตะแคเมอรูนทุกคน ใส่เสื้อเบอร์ 17 เขียนว่า "โฟเอ้" เป็นการสดุดีให้เพื่อนร่วมทีมที่จากไป ขณะที่มาร์กแซล เดอไซญี่ กัปตันทีมชาติฝรั่งเศส เรียกริโกแบร์ ซง กัปตันแคเมอรูน มาร่วมชูถ้วยแชมป์ด้วยกัน ฝั่งของฝรั่งเศสเอง ก็ไม่ได้ดีใจที่ได้แชมป์ เมื่อเห็นความสูญเสียของเพื่อนนักเตะ
3
หลังแข่งจบ มีการขนศพของโฟเอ้ไปประกอบพิธีทางศาสนาที่แคเมอรูน โดยในงานศพครั้งนี้ เป็นหนึ่งในงานที่ใหญ่ที่สุด เท่าที่แคเมอรูนเคยมีมา ประธานาธิบดีมาร่วมงานด้วย แม้แต่ประธานฟีฟ่า เซปป์ แบลตเตอร์ ก็มาด้วย
1
นี่คือวันที่เศร้าโศกของวงการฟุตบอล ยิ่งโฟเอ้ มีลูก 3 คน คนโต 6 ขวบ คนรอง 3 ขวบ และคนเล็ก 2 เดือน ทำให้การจากไปของเขาในครั้งนี้ ยิ่งเพิ่มความน่าสงสารมากขึ้นไปอีกเป็นทวีคูณ
หลังการเสียชีวิต แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ประกาศรีไทร์เสื้อเบอร์ 23 ให้โฟเอ้ ขณะที่สภาเมืองลียง ได้เปลี่ยนชื่อถนนเป็นชื่อของเขา เพื่อเป็นการรำลึก
2
แต่การเสียชีวิตในครั้งนั้นของ มาร์ก-วิเวียน โฟเอ้ ไม่ใช่ความตายที่ไม่มีความหมาย เพราะมันทำให้ทางฟีฟ่า และยูฟ่า ได้ตระหนักว่า อาการหัวใจวาย เกิดขึ้นได้เสมอ แม้จะเป็นนักฟุตบอลที่แข็งแรงก็ตามที
1
ยี่รี่ ชโวรัค หัวหน้าทีมแพทย์ของฟีฟ่ากล่าวว่า ตั้งแต่การจากไปของโฟเอ้ ได้มีการฝึกหลักสูตรให้ทีมแพทย์ข้างสนามรับมือกับเหตุการณ์ลักษณะนี้ ทั้งการทำ CPR และ ใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า นอกจากนั้นยังผลักดันให้ทุกสนามแข่งขัน มีเครื่อง AED ไว้เสมอ ถ้าหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินก็สามารถใช้ได้ทันท่วงที
2
9 ปีต่อมา วันที่ 17 มีนาคม 2012 เกมเอฟเอคัพ ระหว่างสเปอร์ส กับโบลตัน ที่ไวท์ฮาร์ทเลน ในนาทีที่ 40 ฟาบริซ มูอัมบ้า กองกลางโบลตัน ร่วงลงไปกลางสนาม ด้วยอาการเดียวกับโฟเอ้ นั่นคือหัวใจวาย
1
แต่คราวนี้ ทุกคนเข้าใจสถานการณ์อย่างรวดเร็วมาก กรรมการฮาวเวิร์ด เว็บบ์เป่าหยุดเกมอย่างรวดเร็ว ทีมแพทย์รีบวิ่งลงมาในสนาม และการปั๊มหัวใจเริ่มต้นขึ้นในเวลาแค่ 1 นาทีเท่านั้น ทุกคนรู้ดีว่า ทุกวินาทีคือความเป็นความตาย จากเริ่มต้นด้วยการปั๊มมือ อีกไม่นานนักก็ใช้เครื่อง AED เข้ามาช่วยด้วย ก่อนที่จะรีบนำตัวมูอัมบ้าส่งโรงพยาบาลเป็นการด่วน
3
มูอัมบ้ารอดชีวิตมาได้ แม้สุดท้ายเขาจะต้องแขวนสตั๊ดไปเลยก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งหลายคนก็ย้อนไปคิดถึงว่า ถ้าไม่เคยมีเหตุการณ์ของโฟเอ้มาก่อน ไม่มีกรณีศึกษาให้กรรมการ หรือแพทย์ได้เรียนรู้ มูอัมบ้าอาจจะเสียชีวิตไปแล้วก็ได้
เช่นเดียวกับคริสเตียน อีริคเซ่น กับเหตุการณ์เมื่อคืนนี้ การดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพราะทุกฝ่ายรู้ขั้นตอนดีอยู่แล้ว และไม่ยอมปล่อยเวลาให้สูญเปล่าแม้แต่วินาทีเดียว ผลลัพธ์คือมันช่วยชีวิตเอริคเซ่นได้ในที่สุด
4
ในปัจจุบัน เมื่อเกิดเคสหัวใจวาย ฟีฟ่ากำหนดกระบวนการพื้นฐานเอาไว้ ประกอบด้วย
1- ถ้านักเตะหรือกรรมการ ร่วงลงไปกับพื้นโดยไม่สัมผัสกับใคร ทีมแพทย์วิ่งเข้าสนามให้เร็วที่สุด
2- เช็กว่านักเตะไม่ตอบสนองใช่หรือไม่
3- จับนักเตะหงายหน้า และระวังที่ส่วนคอเป็นพิเศษ
1
4- โทรแจ้งหน่วยฉุกเฉินให้เร็วที่สุด
5- เครื่อง AED ต้องมีประจำในทุกสนามแข่งขัน รวมถึงสนามซ้อม
6- ถ้าหากเครื่อง AED ไม่มี หรือกำลังถูกนำมาจากที่อื่น ให้เริ่มกระบวนการทำ CPR ด้วยมือทันที และอย่าหยุดเป็นอันขาด
คนที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอล เมื่อเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น จะรู้ Protocol ทันทีว่า ต้องทำอย่างไรบ้าง 1 2 3 4 ไม่ใช่ยืนอึ้ง คิดอะไรไม่ออก คือคุณแค่ต้องทำตามกระบวนการเท่านั้น ทำให้ครบ เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้คนหัวใจวายให้มากที่สุด
สำหรับกระบวนการทั้งหลายที่กล่าวมา เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ถ้าไม่เคยมีกรณีของโฟเอ้มาก่อน ฟีฟ่า และยูฟ่า ก็คงไม่ได้บทเรียนในเรื่องนี้ คงไม่รู้ว่ามีปัญหาอยู่ และคงไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ถ้าเกิดสถานการณ์แบบนั้น
1
การสูญเสียเป็นเรื่องน่าเศร้าเสมอ แต่อย่างน้อยที่สุด ความตายของเขา มันก็ไม่ได้สูญเปล่า มาถึงวันนี้ ความปลอดภัยในการแข่งกีฬาอาชีพ ถือว่าสูงขึ้นกว่าเดิมอย่างคนละเรื่อง
1
และแน่นอน หนึ่งชีวิตของเขาที่ดับสูญไป แม้จะไม่มีอะไรทดแทนความเสียใจได้ แต่มันก็แลกมากับความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ให้คนในวงการฟุตบอลอย่างแท้จริง
#CPR
2
โฆษณา