15 มิ.ย. 2021 เวลา 02:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Chase Coleman ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ที่กำไรได้มากสุดในปีโควิด
1
Bridgewater Associates ที่ก่อตั้งโดย Ray Dalio คือเฮดจ์ฟันด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
และยังคงเป็นเฮดจ์ฟันด์ที่สร้างผลตอบแทนได้มากที่สุด นับตั้งแต่วันเริ่มจัดตั้งกองทุน
2
กองทุนแห่งนี้ สร้างผลตอบแทนคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งหมดกว่า 1.45 ล้านล้านบาท
แต่ในปี 2020 ที่ผ่านมา กองทุนนี้ก็ได้ขาดทุนไป 3.78 แสนล้านบาท
จากวิกฤติโรคระบาด ที่กระทบต่อมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดบนโลก
2
แต่รู้หรือไม่ว่า ยังมีเฮดจ์ฟันด์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนไปได้กว่า 3.25 แสนล้านบาท
ในช่วงเวลาเดียวกัน และถือเป็นผลตอบแทนของเฮดจ์ฟันด์ ที่สูงที่สุดในโลก
1
นั่นคือผลงานของกองทุน “Tiger Global Management”
ที่ก่อตั้งและบริหารกองทุนโดย “Chase Coleman”
แล้วเขาคนนี้ มีกลยุทธ์ในการลงทุนอย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
เฮดจ์ฟันด์ คือกองทุนที่หาโอกาสทำกำไรได้อย่างหลากหลาย
เพราะไม่มีข้อจำกัดในด้านสินทรัพย์ที่เลือกลงทุน และกลยุทธ์ที่ใช้ลงทุน
ตัวอย่างประเภทของเฮดจ์ฟันด์ เช่น
กองทุนแบบ Long-short คือ กองทุนที่ทำกำไรจากราคาหลักทรัพย์ทั้งขาขึ้นและขาลง
กองทุนแบบ Long-only คือ กองทุนที่ทำกำไรจากราคาหลักทรัพย์ขาขึ้นเพียงอย่างเดียว
กองทุนแบบ Private คือ กองทุนที่ลงทุนในบริษัทที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
2
ท่ามกลางวิกฤติโควิดในปี 2020
กองทุน Tiger Global Management หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “Tiger Global”
สามารถทำผลตอบแทนได้มากที่สุด ในบรรดาเฮดจ์ฟันด์ทั้งหมด
และทาง Tiger Global ก็มีกองทุนทั้ง 3 ประเภทที่กล่าวมา
แล้วแต่ละประเภท กองทุนมีผลตอบแทนอย่างไรบ้าง ?
กองทุนแบบ Long-only ทำผลตอบแทนได้ 65.1%
กองทุนแบบ Long-short ทำผลตอบแทนได้ 48.4%
ถ้ารวมกับผลตอบแทนจากกองทุนแบบ Private แล้ว
จะคิดเป็นผลตอบแทนรวมมูลค่ากว่า 3.25 แสนล้านบาท
ซึ่งผลงานในปีล่าสุดนี้ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องบังเอิญ ที่ทำได้เพียงครั้งเดียว
เพราะถ้าลองดูผลงานของ Tiger Global ตั้งแต่ที่เริ่มก่อตั้งในปี 2001
Tiger Global มีผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิต่อปีกว่า 21% ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
หรือคิดเป็นผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น 43 เท่า จากเงินลงทุนตั้งต้น
เทียบกับการเพิ่มขึ้น 5 เท่าของดัชนี S&P 500 ในช่วงเวลาเดียวกัน
ซึ่งถ้ารวมผลตอบแทนที่ทำได้ นับตั้งแต่วันเริ่มจัดตั้งกองทุน
จะคิดเป็นเงินกว่า 8.28 แสนล้านบาท
ในปัจจุบัน Tiger Global บริหารเงินอยู่กว่า 1.56 ล้านล้านบาท
โดยพอร์ตโฟลิโอ มีบริษัทที่ถือหุ้นอยู่เป็นสัดส่วนมากที่สุด 5 อันดับแรกก็คือ
- JD.com แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีน
- Microsoft บริษัทเทคโนโลยีสำหรับองค์กรครบวงจร
- Roblox แพลตฟอร์มเกมออนไลน์
- Sea Limited เจ้าของอีคอมเมิร์ซ Shopee และบริษัทเกม Garena
- Amazon อีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในโลก
2
จากรายชื่อหุ้นเหล่านี้ คงพอเห็นภาพว่า Tiger Global
จะเน้นลงทุนในหุ้นเทคโนโลยี แถมยังกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก
ครอบคลุมทั้งสหรัฐอเมริกา จีน แถมยังมีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดย Tiger Global จะเฟ้นหาบริษัทจากปัจจัยพื้นฐาน ที่ประเมินว่าอนาคตไกล
มีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นผู้นำตลาด และจะเข้าไปลงทุนตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
ซึ่งกลยุทธ์นี้ อาจฟังดูไม่ได้โดดเด่นเท่าไรนักในปัจจุบัน
แต่ถ้าย้อนไปในช่วงที่ Tiger Global เริ่มลงทุน
มันคือช่วงที่เพิ่งผ่านวิกฤติดอตคอมปี 2000
แต่ผู้ก่อตั้ง Tiger Global กลับเป็นหนึ่งในคนที่ยังเชื่อมั่นในหุ้นเทคโนโลยี ว่าคือสิ่งที่จะมาเปลี่ยนโลกนี้ไปอย่างสิ้นเชิงได้จริง
Cr.morningbrew
ผ่านมา 21 ปี ก็ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าสิ่งที่ Tiger Global คาดการณ์ ถือว่าถูกต้อง
แล้วในยุคนั้น Tiger Global เริ่มลงทุนในบริษัทอะไรบ้าง ?
ในช่วงแรกที่เริ่มลงทุน หรือราวปลายปี 2002
Tiger Global เลือกลงทุนในหุ้นอินเทอร์เน็ตของประเทศจีน
ที่คล้ายกับ Yahoo ไม่ว่าจะเป็น Sina Corp., Sohu.com และ NetEase
ผ่านไปเพียงปีเดียว หุ้นทั้ง 3 บริษัทนี้พุ่งขึ้นไปกว่าหลายเท่าตัว
และตลอดช่วงที่ผ่านมา Tiger Global ก็ได้เข้าไปเป็นผู้ลงทุนตั้งแต่ช่วงแรก
โดยในบางบริษัทก็เริ่มลงทุนตั้งแต่เป็นสตาร์ตอัป
ซึ่งหลายบริษัทที่ Tiger Global เลือกลงทุน
ก็กลายมาเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในปัจจุบัน
อย่างเช่น Facebook, LinkedIn, Square, Spotify และ Xiaomi
อย่างไรก็ตาม Tiger Global เองเคยออกมายอมรับว่าตัดสินใจพลาดหลายครั้ง
อย่างเช่น พลาดการลงทุนใน Alibaba เพราะประเมินว่ามูลค่าสูงเกินปัจจัยพื้นฐาน
หรือการขายหุ้นที่ดีเร็วเกินไป อย่างเช่น Facebook, LinkedIn, Amazon และ Netflix
อีกความผิดพลาดที่สำคัญคือ การมีหุ้นกลุ่มธนาคารและหุ้นวัฏจักร
ในช่วงวิกฤติการเงินโลกปี 2008 ซึ่งบทเรียนครั้งนั้น
มีส่วนช่วยเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติครั้งล่าสุดนี้
Tiger Global ไม่ได้เพียงแค่ผ่านพ้นไปได้ แต่ยังกลายเป็นผู้ชนะอีกด้วย
และผู้อยู่เบื้องหลังการลงทุนทั้งหมดของ Tiger Global ก็คือ “Chase Coleman”
พอเราไปมองประวัติของ Chase Coleman ก็ถือว่าน่าสนใจ
หลังจากเรียนจบในปี 1997 Coleman เริ่มทำงานเป็นนักวิเคราะห์กลุ่มเทคโนโลยี
ให้กับกองทุนที่ชื่อว่า “Tiger Management” ซึ่งถือเป็นเฮดจ์ฟันด์รุ่นบุกเบิกในสหรัฐอเมริกา
ที่ถูกก่อตั้งในปี 1980 โดย “Julian Robertson” หนึ่งในตำนานผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ยุคบุกเบิก
1
แต่ในปี 2000 หลังจาก Coleman ทำงานไปได้เพียง 3 ปี
Tiger Management กลับต้องปิดตัวลงเพราะบริษัทที่ Tiger Management
มีสัดส่วนการลงทุนมากที่สุดในขณะนั้น นั่นก็คือสายการบิน US Airways
ที่ประสบปัญหาทางการเงิน จนต้องยื่นล้มละลาย
1
Robertson จึงนำเงินที่เหลืออยู่หลังจากปิดกองทุน
ไปแบ่งให้กับเหล่าลูกทีมที่มีความสามารถโดดเด่น
เพื่อเป็นเงินทุนในการจัดตั้งกองทุนใหม่ และหนึ่งในนั้นคือ Coleman
Coleman ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง 25 ปี
ได้ตัดสินใจจัดตั้ง Tiger Global Management
โดยใช้ชื่อ Tiger ต่อจากกองทุนของ Robertson ผู้เป็นเมนเทอร์ที่เขาเคารพ
1
ปัจจุบัน Coleman มีทรัพย์สินกว่า 3.22 แสนล้านบาท
ติดอันดับ 1 ใน 10 ผู้จัดการกองทุนที่รวยที่สุดในโลก
ด้วยอายุเพียง 46 ปี ซึ่งถือว่าอายุน้อยที่สุดในการจัดอันดับของ Forbes
และเป็นหนึ่งในผู้จัดการกองทุนมือฉมังอันดับต้นของโลกไปแล้ว
1
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
แต่เรียกได้ว่าเป็นหนังคนละม้วน
นอกจาก Coleman แล้ว เหล่าลูกทีมระดับหัวกะทิที่ได้รับเงินทุน
จาก Robertson ได้กลายเป็นเฮดจ์ฟันด์ชื่อดังในปัจจุบันอยู่หลายกองทุน
กองทุนกลุ่มนี้ จึงมีชื่อเรียกรวมกันว่า “Tiger Cubs” ที่เป็นผลผลิตมาจาก Tiger Management
3
โดยหนึ่งในสมาชิก Tiger Cubs ก็คือกองทุน Tiger Asia Management
ที่ก่อตั้งโดยลูกทีมของ Robertson ที่ชื่อว่า Bill Hwang
เขาคนนี้โดนปรับจากข้อหาการซื้อขายโดยใช้ข้อมูลภายใน
และได้เปลี่ยนชื่อกองทุนมาเป็น “Archegos Capital Management”
ที่เพิ่งล้มละลายไปเมื่อไม่นานมานี้ จากกรณีโดนบังคับขายหุ้นรวมกันกว่า 6 แสนล้านบาทในวันเดียว
1
เรียกได้ว่า ลูกศิษย์ของ Robertson มีทั้งแบบประสบความสำเร็จสุดขั้ว และล้มเหลวสุดขั้ว เลยทีเดียว..
1
โฆษณา