18 มิ.ย. 2021 เวลา 12:00 • กีฬา
ตัวหนังสือกุมชะตา ข้อสัญญาที่ทำให้ญี่ปุ่นยกเลิกโอลิมปิกไม่ได้
แม้จะเหลือเวลาอีกประมาณหนึ่งเดือนก่อนที่โอลิมปิกจัดขึ้น แต่ก็ยังมีกระแสเรียกร้องจากผู้เชี่ยวชาญและประชาชนให้ยกเลิกการแข่งขันโดยที่ไม่รู้เลยว่ามันมีข้อสัญญาและเหตุผลที่ทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถยกเลิกการแข่งขันได้
สื่อ แพทย์ ประชาชนขอให้ยกเลิก
สื่อดังกล่าวคือหนังสือพิมพ์ The Asahi Shimbun หนังสือพิมพ์เจ้าใหญ่ของญี่ปุ่น และเป็นสปอนเซอร์ให้การจัดโอลิมปิกครั้งนี้ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการยกเลิกการจัดโอลิมปิกโดย
โดยทีมบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์โพสต์เนื้อหาบนเว็บไซต์ให้นายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูงะ ยกเลิกการจัดโอลิมปิก โดยกล่าวในรายละเอียดสำคัญว่า “พวกเราอยากให้ท่านนายกรัฐมนตรีได้ประเมินสถานการณ์ อย่างรอบคอบและตัดสินใจยกเลิกการจัดโอลิมปิก อีกทั้งพวกเรายังไม่ได้อยู่ในช่วงที่ทุกคน จะรู้สึกเชื่อมั่นว่าตัวเองนั้นปลอดภัยแล้ว”
ต่อด้วยสมาคมผู้ประกอบการทางการแพทย์แห่งโตเกียวที่ได้ยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า “ขณะนี้มีแพทย์จำนวนมากที่ยังทำงานอยู่ในโรงพยาบาลภายในกรุงโตเกียวที่ยังต้องรับผิดชอบผู้ป่วยติดเชื้อทุกวันและใกล้จะเกินกำลังที่โรงพยาบาลทุกแห่งจะรองรับได้แล้ว อีกทั้งแพทย์ยังต้องคอยรับมือกับผู้ป่วยที่มีล้าจากสภาพอากาศร้อนในหน้าร้อนและถ้ายังมีการจัดโอลิมปิกต่อนั่นก็อาจจะทำให้มียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มมากกว่านี้อีกแน่นอน”
ส่วนภาคประชาชนก็มีโพลล์จากสื่อหลายแห่งที่สรุปความคิดเห็นของประชาชนว่ามีสูงถึง 80% ที่อยากให้ยกเลิกการจัดโอลิมปิก นอกจากนี้ยังมีการสร้างแคมเปญในเว็บไซต์ change.org ในชื่อ “Cancel the Tokyo Olympics to protect or lives” เพื่อร่วมลงชื่อร้องเรียนไปถึง โทมัส แบค (ประธานฯ โอลิมปิกสากล) และบุคลลสำคัญอีก 5 คน ได้แก่
1. แอนดรูว์ พาร์สันส์ (ประธานฯ พาราลิมปิกสากล)
2.โยชิฮิเดะ ซูงะ (นายกรัฐมนตรี)
3. ทามาโยะ มารุคาวะ (รัฐมนตรีโอลิมปิกและพาราลิมปิกโตเกียว)
4. ยูริโกะ โคอิเกะ (ผู้ว่าการกรุงโตเกียว) 5. เซโกะ ฮาชิโมโตะ (ประธานฝ่ายจัดการแข่งขัน)
ให้ยกเลิกการจัดโอลิมปิก โดยนับถึงในวันที่ 15 มิถุนายน ก็มียอดผู้ลงชื่อรวมกว่า 426,000 คน นอกจากนี้ยังกลุ่มคนที่รวมตัวออกมาชูป้ายเรียกร้องให้มีการยกเลิกการแข่งขัน
ภาพ Getty Images
ยืนยัน “ไม่เลื่อน ไม่ยกเลิก” เดินหน้าจัดตามแผน
นาง เซโกะ ฮาชิโมโตะ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Nikkan Sports ยืนว่า “โอลิมปิกจะจัดตามแผนเดิมและที่สำคัญคือ จะไม่มีการเลื่อนอีกแล้ว” และอีกคนคือ โทชิโร่ มูโตะ ประธานบริหารฝ่ายจัดการแข่งขันที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า
“ทางฝ่ายจัดไม่เคยพูดถึงเรื่องของการยกเลิกหรือการเลื่อนจัดเป็นรอบที่สองเลย แต่มาเน้นเรื่องวิธีการจัดการแข่งขันอย่างไรให้ปลอดภัยที่สุดและยังเชื่อว่าการฉีดวัคซีนให้กับนักกีฬาจะช่วยให้การแข่งขันดำเนินต่อไปได้”
แต่ในมุมของประชาชนก็ต้องมองว่า ในเมื่อรัฐบาลยังไม่สามารถคุมการระบาดได้ในภาวะปกติ แล้วในช่วงจัดการแข่งจะคุมได้อย่างไร การเดินหน้าจัดต่อจะทำให้ประเทศได้อะไร แถมยังทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดหนักกว่าเดิมอีกและก่อให้เกิดคำถามสำคัญคือ ทำไมถึงเลื่อนไม่ได้ เลื่อนไปจัดอีก 4 ปีข้างหน้า หรือไม่ก็หยุดการคัดเลือกเจ้าภาพเมืองใหม่ไปก่อน แล้วให้สิทธิ์ญี่ปุ่นไปจัดในปีนั้นแทน
มันฟังดูเป็นทางออกที่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วก็ทำแบบนั้นไม่ได้อยู่ดี แถมการคัดเลือกเจ้าภาพก็คัดกันล่วงหน้าเกือบ 10 ปี โดยในปี 2024 ก็เป็นกรุงปารีส ที่คว้าสิทธิ์จัด และในปี 2028 ก็เป็นนครลอส แอนเจลิส ที่คว้าสิทธิ์ไปแล้ว
.
จะเลื่อน, ยกเลิก IOC คือคนตัดสิน
ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมถึงเลื่อนไม่ได้อีก ซึ่งคำตอบคือ เพราะมันเลื่อนไม่ได้อีกแล้ว เนื่องจากในวันประกาศผลเมืองที่จะได้รับสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพในการจัดนั้น หลังจากที่มีการประกาสผลแล้ว ทางเมืองที่ได้สิทธิ์และ IOC จะมีการทำสัญญากันเรียกว่า “สัญญาเมืองเจ้าภาพ” หรือ Host City Contract ซึ่งจะเป็นข้อตกลงและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เจ้าภาพที่ได้สิทธิ์จะต้องทำตามขั้นตอนดังกล่าวและรายงานผลความคืบหน้ากลับไปให้ IOC ทราบ
ภาพ olympics.com
ซึ่งในตัวสัญญาจะมีกฎอยู่ข้อหนึ่งคือ การยุติสัญญา ที่จะกล่าวถึงสาเหตุที่อาจนำไปสู่การยกเลิกการแข่งขันหรือการถอนสิทธิ์เมืองนั้นๆ ออกจากการเป็นเจ้าภาพซึ่งก็มีเหตุผล เช่น
1. มีสงครามเกิดขึ้นในประเทศเจ้าภาพทั้งในช่วงก่อนและระหว่างจัดการแข่งขัน
2. มีกลุ่มคนผู้ไม่หวังดีต้องการสร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขัน
3. นักกีฬารวมตัวกันไม่เข้าแข่งขันจนทำให้ไม่สามารถจัดการแข่งขันต่อได้
4. เกิดเหตุใดก็ตามที่อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้เข้าแข่งขัน
5. เจ้าภาพไม่สามารถจัดการแข่งขันภายในปีที่ได้สิทธิ์
ซึ่งในกรณีของญี่ปุ่นนับเป็นกรณีพิเศษ แต่สิ่งที่คนทั่วไปต้องไม่ลืมคือ โอลิมปิกถือเป็นทรัพสินย์ของ IOC และพวกเขาก็ยังเป็นออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ในหนังสือสัญญาเอง ทำให้พวกเขาถือสิทธิ์ในการตัดสินใจไว้เพียงฝ่ายเดียวว่าจะยกเลิกหรือไม่โดยที่ประเทศเจ้าภาพไม่มีสิทธิ์ร่วมตัดสินใจในส่วนนี้ แถมในสัญญายังถูกระบุด้วยว่า “ประเทศเจ้าภาพตกลงที่จะไม่รับเงินค่าชดเชยใดๆ ที่มาจากการถูกยกเลิกการจัด”
.
เลื่อนจัดเสียเยอะแล้ว ยกเลิกเสียมากกว่า
ในเมื่อสถานการณ์มันไม่เอื้อจะให้จัดแล้วทำไม IOC ถึงยังดื้อด้านจัดต่อ เบื้องหลังของมันก็หนีพ้นเรื่องของตัวเลขรายได้อีก เพราะการจัดโอลิมปิกครั้งนี้ ญี่ปุ่นใช้งบไปแล้วจนถึงปีนี้ประมาณ 3.5 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งก็บานปลายจากงบตั้งต้นที่กำหนดไว้ 7.5 พันล้านเหรียญ
และเมื่อยังไม่ได้จัดก็เลยทำให้เกิดความเสียหายที่จะยิ่งเพิ่มไปอีก โดยนักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยโนมูระประเมินว่าถ้าหากโอลิมปิกถูกยกเลิก ญี่ปุ่นจะเสียหายมากถึง 1.6 หมื่นล้านเหรียญ ส่วนฝั่งของ IOC พวกเขาจะเสียรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่พวกเขาขายได้ถึง 4 พันล้านเหรียญ โดยที่ค่าลิขสิทธิ์นับรายได้หลักถึงคิดเป็น 73% ในช่วงปี 2013-2016 เลย ส่วนที่เหลือก็มาจากแบรนด์ 15 รายที่ตอบรับเข้ามาเป็น Official Partner ในครั้งนี้
1
ภาพ Olympic Marketing Fact File 2020 Edition
นั่นจึงทำให้ทางเดียวที่ญี่ปุ่นจะยกเลิกการจัดได้พวกเขาต้องยุติสัญญาเอง แต่สำหรับญี่ปุ่นมันไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะหากอิงตามข้อกฎหมาย ทนายความกีฬาระหว่างประเทศ อเล็กซานเดอร์ มิกูเอล เมสเทร ได้อธิบายให้กับ BBC ว่า “IOC ทำหน้าที่เป็นเจ้าของสิทธิ์และเมื่อพวกเขาขายสิทธิ์ให้ใคร ผู้ได้รับสิทธิ์ก็ต้องนำไปใช้ทำให้เกิดรายได้ แต่ถ้าได้ไปแล้วไม่นำไปใช้ IOC ก็มีสิทธิ์ที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ เพราะถือว่าผู้ที่ได้สิทธิ์ไม่ทำตามสัญญา”
ในส่วนของตัวเลข ลุดวิก มิเนลลี ทนายความชาวสวิตได้อธิบายให้ Yahoo Sports ว่า “ถ้า IOC ต้องการเรียกค่าเสียหายจริง ญี่ปุ่นอาจจะต้องจ่ายคืนให้ไล่ตั้งแต่หลักร้อยล้านไปจนถึงหลักพันล้านเหรียญก็ว่าได้” อย่างเช่น ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดรวมถึงค่าโฆษณาของสปอนเซอร์ทั้งหมดที่ญี่ปุ่นต้องจ่ายเองฝ่ายเดียว
และจากข้อสัญญาที่กล่าวไปนั้นก็ได้แต่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญในวงการกีฬาหลายคนมองเป็นไปในทางเดียวกันว่าไม่เป็นธรรมเท่าไหร่เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจริงๆ แต่ในเมื่อมีการยืนยันแล้วว่าจะจัดต่อ ผู้ชมทั่วโลกก็หวังที่จะได้เห็นการจัดโอลิมปิกครั้งนี้เป็นไปด้วยความราบรื่นให้สมกับการรอคอย
โฆษณา