16 มิ.ย. 2021 เวลา 03:05 • การเมือง
หมากล้อมของไบเดน
Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
7
เมื่อตอนที่ไบเดนกำลังจะเข้ารับตำแหน่ง ได้เคยให้สัมภาษณ์โทมัส ฟรีดแมน คอลัมนิสต์ชื่อดังของนิวยอร์กไทมส์เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ต่อจีน
1
ไบเดนบอกว่า สิ่งที่สหรัฐฯ ขาด คือ อำนาจต่อรอง (Leverage)
ความหมายก็คือ สหรัฐฯ พูดอะไรหรือขออะไร จีนไม่รู้สึกว่าจำเป็นต้องฟังสหรัฐฯ อีกต่อไป เพราะจีนมองว่าสหรัฐฯ ไม่เหลือพลังที่แข็งแกร่งพอจะกดดันให้จีนทำตาม
4
หลายปีที่ผ่านมา นักยุทธศาสตร์กลุ่มหนึ่งวิเคราะห์ว่า ในขณะที่สหรัฐฯ ถดถอยลง จีนกำลังเดินเกมหมากล้อมไปล้อมสหรัฐฯ และล้อมโลก จีนกลายมามีอำนาจต่อรองมหาศาล เพราะสหรัฐฯ และโลกต้องพึ่งพาสินค้าและห่วงโซ่การผลิตภายในจีน
2
วันนี้ไบเดนเริ่มเดินเกมหมากล้อมแข่งบ้าง ยุทธศาสตร์ของไบเดนอยู่ที่การสร้างอำนาจต่อรองของสหรัฐฯ ให้มากพอที่จะกดดันจีนได้ เมื่อสถานการณ์โควิดในสหรัฐฯ เริ่มคลี่คลาย ช่วงเดือนที่ผ่านมา เราจึงเห็นไบเดนเดินหมากอย่างรวดเร็วล้อมจีนจากสามทางพร้อมกัน
5
วงล้อมแรก คือ ใช้เทคโนโลยีสหรัฐฯ ล้อมจีน
แผนการระยะยาวคือ สหรัฐฯ ต้องเป็นผู้นำเทคโนโลยีแห่งอนาคตให้ได้
3
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา วุฒิสภาสหรัฐฯ ได้ผ่านร่างกฎหมายยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเม็ดเงิน 250,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อชนะในสงครามชิงความเป็นเจ้าเทคโนโลยียุคใหม่ ในขั้นตอนถัดไปร่างกฎหมายดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาล่าง
4
หลายปีที่ผ่านมา จีนเริ่มไม่ฟังสหรัฐฯ เพราะคิดว่าตนกำลังต่อยอดเทคโนโลยีได้เองและเริ่มล้ำหน้า แต่ถ้าสหรัฐฯ สามารถใช้จุดแข็งคือความคิดสร้างสรรค์และวัฒนธรรมเสรีจนเกิดการปฏิวัตินวัตกรรมใหม่ ขณะที่จีนตกขบวนเพราะยังติดกับนวัตกรรมเก่า ถึงตอนนั้นจีนคงต้องฟังและโอนอ่อนตามสหรัฐฯ เพราะจีนย่อมจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสหรัฐฯ
9
ไบเดนยังสั่งให้มีการทบทวนการพึ่งพาห่วงโซ่การผลิตในจีน พร้อมให้ทำแผนการสร้างอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่ตัดขาดจากห่วงโซ่จีน เป้าหมายก็เพื่อสลายวงล้อมของจีนที่มีต่อสหรัฐฯ นั่นเอง
14
ตามมาด้วยวงล้อมที่สองของไบเดนต่อจีน คือ รวมพลังพันธมิตรเรียงหน้ากดดันจีนพร้อมกัน
4
นี่เป็นจุดแข็งของสหรัฐฯ ที่จีนเทียบไม่ติด จีนมองซ้ายมองขวาแล้วมีคู่ค้ามากมาย แต่กลับไม่มีเพื่อนที่ถึงระดับเป็นพันธมิตรอย่างสนิทใจ รัสเซียกับจีนเองก็มีบาดแผลเก่าทางประวัติศาสตร์ ตอนนี้ที่เป็นพันธมิตรกันก็เพียงเพราะถูกสหรัฐฯ กดดันหมายหัวทั้งคู่
12
ขณะที่สหรัฐฯ นั้น มีประวัติศาสตร์การสร้างและรักษาเครือข่ายพันธมิตรมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตะวันตกที่มีวัฒนธรรมและคุณค่าประชาธิปไตยร่วมกัน ส่วนในเอเชียที่ล้อมรอบจีนอยู่นั้น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย ก็ล้วนเป็นพันธมิตรสหรัฐฯ
9
ในการประชุมกลุ่มประเทศ G7 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หัวข้อสำคัญในการประชุมคือการมียุทธศาสตร์ต่อจีนร่วมกัน ทุกประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนกันว่าไม่พอใจอะไรจีนบ้าง แล้วตกลงจะคล้องแขนเรียงหน้าไปกดดันจีนร่วมกัน เท่านี้ย่อมสร้างอำนาจต่อรองให้จีนต้องฟังและตอบสนองข้อเรียกร้อง
8
ส่วนวงล้อมสุดท้ายที่ไบเดนวางไว้จัดการจีน ก็คือ การประกาศว่าสหรัฐฯ และพันธมิตรจะเดินหน้าล้อมโลกแข่งกับจีน เป้าหมายชัดเจนคือ สลายวงเพื่อนของจีน
2
ที่ผ่านมา จีนใช้ยุทธศาสตร์คบค้าและช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายผ่านยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ (BRI) ประเทศเล็กประเทศน้อยที่ต้องการความช่วยเหลือจากจีนจึงโอนอ่อนและเกรงใจจีน
5
มองจากมุมประเทศกำลังพัฒนา สหรัฐฯ ดูเหมือนจะมีแต่ลมปาก หรือไม่ก็มาพร้อมแรงกดดันเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง ในขณะที่จีนมาพร้อมกระสุนเม็ดเงินลงทุนของจริงและไม่สนว่าจะคบค้าเผด็จการหรือไม่
4
แต่ในการประชุม G7 ที่ผ่านมา ไบเดนได้แถลงเปิดตัวยุทธศาสตร์ 3BW (Build Back Better World) ไบเดนยอมรับตรงไปตรงมาว่า ในอดีตสหรัฐฯ และพันธมิตรไม่ได้มีทางเลือกให้กับประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ทุกคนต้องหันไปพึ่งจีนในเรื่องเศรษฐกิจและรับความช่วยเหลือทางการเงินและการลงทุนจากจีน
3
ยุทธศาสตร์ 3BW จะเน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อตอบโจทย์การพัฒนา พูดง่ายๆ คือเหมือนกับยุทธศาสตร์ BRI ของจีนนั่นแหละ แต่ไบเดนย้ำว่าของเขานั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เคารพสิทธิแรงงาน ไม่มีกับดักหนี้และคอร์รัปชันเหมือนกับบางโครงการของจีนที่ถูกครหา
24
อีกความช่วยเหลือหนึ่งจากสหรัฐฯ ต่อประเทศกำลังพัฒนา ก็คือ การทูตวัคซีน ไบเดนประกาศบริจาควัคซีน 500 ล้านโดสให้ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก วัคซีนเทคโนโลยี mRNA ของสหรัฐฯ นั้น ประสิทธิภาพสูงกว่าวัคซีนเชื้อตายของจีน ถ้าประเทศกำลังพัฒนามีทางเลือก ก็คงเลือกวัคซีนสหรัฐฯ เกมการทูตวัคซีนก็จะพลิกกลับทันทีกลายเป็นฝั่งสหรัฐฯ คว้าใจประชาคมโลกและชนะในเกมวัคซีน
22
ก่อนหน้านี้ จีนไม่ฟังสหรัฐฯ เพราะมองว่าถึงแม้สหรัฐฯ และตะวันตกไม่คบจีน จีนก็ยังมีเพื่อนเล็กเพื่อนน้อยทั่วโลก ตลาดของประเทศที่เหลือทั้งหมดรวมกันใหญ่กว่าตลาดตะวันตกเสียอีก แต่ถ้าเพื่อนจีนหายไปทีละคนสองคนหรือมีสหรัฐฯ และตะวันตกเป็นทางเลือกอีกทาง อำนาจต่อรองของสหรัฐฯ ต่อจีนก็จะกลับมาเพิ่มขึ้นทวีคูณทันตาเห็น
3
ไบเดนเดินเกมหมากล้อมสามทางพร้อมกันเพื่อสยบจีน แต่แพ้ชนะยังต้องติดตาม เพราะสหรัฐฯ เองก็ยังเผชิญสี่ความไม่แน่นอน
7
ไม่แน่นอนแรกคือ การอัดเงินมหาศาลเข้าระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจสร้างปัญหาที่ไม่คาดคิด ที่คนเริ่มกังวลคือปัญหาเงินเฟ้อ แถมสหรัฐฯ เองก็ไม่ได้ทำแผนอุตสาหกรรมมานานแล้ว ไม่มีใครรับรองได้ว่าจะสำเร็จหรือจะหยุดการเติบโตของเทคโนโลยีจีนได้ หลายคนมองว่าสหรัฐฯ เพิ่งมาล้อมจีนในเรื่องเทคโนโลยีในวันที่สายไปแล้ว
14
ไม่แน่นอนข้อสอง คือ พันธมิตรสหรัฐฯ นั้น ลมปากอาจโอนอ่อนตามสหรัฐฯ ว่าจีนเป็นภัยคุกคาม แต่เนื้อในทุกประเทศยังมีผลประโยชน์มหาศาลผูกพันกับจีน คู่ค้าหลักของยุโรปก็คือจีน คู่ค้าอันดับหนึ่งของญี่ปุ่นก็คือจีน พันธมิตรสหรัฐฯ จึงไม่ได้เสถียรขนาดนั้น ทุกคนพร้อมแตกแถว หรือพร้อมรอดูเชิงเสมอ
14
ไม่แน่นอนข้อสาม คือ ไม่แน่ว่าความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ต่อประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับความนิยม เพราะของจีนยังไงก็ราคาถูกกว่า และอาจดีลง่ายกว่า ไม่ได้มาพร้อมเงื่อนไขเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือแรงงานอะไรมากมาย ส่วนเรื่องวัคซีนนั้น จีนเองก็กำลังออกวัคซีนเทคโนโลยี mRNA ของตนเช่นกัน และคงพร้อมแข่งในเวทีโลกในอีกไม่นาน
15
ไม่แน่นอนข้อสุดท้าย คือ ไบเดนจะอยู่นานเพียงใด หมากล้อมของไบเดนจะผลิดอกออกผลเป็นอำนาจต่อรองกดดันจีนได้จริงๆ นั้น ต้องอาศัยความต่อเนื่องระยะยาว แต่ถ้าอีก 4 ปี เกิดพลิกกลับได้ผู้นำสไตล์ American First แบบทรัมป์ ก็ต้องมานับหนึ่งกันใหม่ พันธมิตรสหรัฐฯ เอง ถ้าเข้าใจการเมืองสหรัฐฯ ดีพอ ก็คงต้องเตรียมทางหนีทีไล่ไว้ ไม่ใช่ทุ่มสุดตัวไปกับไบเดน
22
ขณะเดียวกัน จีนเองก็เดินหมากของตนต่อสู้ ทั้งทุ่มสุดตัวกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะชี้ขาดอนาคต ทั้งพยายามสลายขั้วพันธมิตรสหรัฐฯ พร้อมกับเดินหน้าช่วยเหลือประเทศที่เหลือในเรื่องเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและวัคซีน
8
ไม่มียุคใดที่การแข่งขันชิงอนาคตโลกระหว่างมหาอำนาจจะเข้มข้นเท่ายุคนี้อีกแล้ว
7
และการแข่งขันอันดุเดือดนี้ย่อมเป็นโอกาสมหาศาลของประเทศที่มองเกมภูมิรัฐศาสตร์ทะลุและเดินหมากของตนเป็นเช่นกัน
4
โฆษณา