17 มิ.ย. 2021 เวลา 10:50 • ไลฟ์สไตล์
ตามหางานที่ใช่ ด้วยแบบฝึกหัด Seven Stories
ทุกคนเคยมีความสงสัยไหมว่า งานที่ทำอยู่ตอนนี้ เป็นงานที่ใช่หรือเปล่า
หรือรู้สึกยังไม่แน่ใจว่างานที่ทำอยู่นี้เป็นงานที่เราชอบแล้วหรือยัง
1
ถ้าหากว่าคุณคือหนึ่งในคนที่เกิดคำถามเหล่านี้ในหัว
วันนี้ THE BRIEFCASE จะมาแนะนำแบบฝึกหัด Seven Stories
ซึ่งเป็นหนึ่งในแบบฝึกหัดที่ Harvard Business School
แนะนำให้กับเหล่าศิษย์เก่าอีกด้วย
ผู้คิดค้นแบบฝึกหัดนี้มีชื่อว่าคุณ Kate Wendleton ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านอาชีพ
และเป็นแบบฝึกหัดที่เอาไว้ช่วยให้ทหารที่กำลังจะกลับไปใช้ชีวิตเป็นพลเรือน
ได้เจอกับอาชีพที่เหมาะสมกับความชื่นชอบของตัวเอง
ขั้นตอนในการทำแบบฝึกหัด Seven Stories จะแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน
ขั้นที่ 1 เขียน “ความสำเร็จ” ที่เราเคยทำ 25 ข้อ
ลองลิสต์สิ่งที่เราเคยทำแล้วประสบความสำเร็จ หรือสิ่งที่เราทำได้ดี แล้วรู้สึกพอใจที่ได้ทำ
ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน จะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ แต่เรื่องที่เขียนจะต้องเป็นเรื่องที่เฉพาะเจาะจง
เช่น “โปรเจกต์ที่ทำตอนเรียนจบมหาวิทยาลัยปีที่ 4” หรือ “ตอนไปถ่ายรูปทริปที่เขาค้อปี 2018”
ขั้นที่ 2 ตัดเรื่องให้เหลือเพียง 7 เรื่องเท่านั้น
จากทั้งหมด 25 ข้อที่เราเขียนออกมา ให้ลองพิจารณาเลือกสิ่งที่เรารู้สึกว่าเราชอบจริง ๆ
แล้วจัดลำดับความสำคัญ โดยอันไหนที่เรารู้สึกว่าสำคัญหรือเราชื่นชอบที่สุด ให้เขียนไว้เป็นอันดับแรก
และไล่เรียงลงมาเรื่อย ๆ ตามลำดับที่เราคิด
ขั้นที่ 3 เขียนเล่าเรื่องราวทั้ง 7 เรื่องที่เราเลือกมา
หลังจากที่เราได้เรื่องที่เราชอบมาทั้งหมด 7 เรื่องแล้ว
ให้เราลองเขียนเล่าเรื่องราว ประสบการณ์ของแต่ละข้ออย่างละเอียด
เช่น ตอนนั้นทำไมเราถึงตัดสินใจทำสิ่งนี้ แล้วมันมีความหมายกับเราอย่างไรบ้าง
รวมถึงขั้นตอนการทำกิจกรรมตอนนั้นเป็นอย่างไร โดยเล่าเรื่องราวให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้
แล้วทำไมเราต้องเล่าเรื่องราวทั้ง 7 เรื่องอย่างละเอียดด้วย ?
จากการที่เราได้เล่าเรื่องราวทั้ง 7 เรื่องอย่างละเอียดนั้น
เมื่อเราลองมองลึกเข้าไปในเรื่องราวทั้งหมด ก็จะทำให้เราพบว่า ในแต่ละเรื่องราวนั้น
จะมี “คำ” หรือ “ประโยค” ที่เป็นจุดเชื่อมโยงถึง “สิ่งที่เราชอบ” แอบแฝงอยู่ในนั้น
หรือแม้แต่ทำให้เราค้นพบว่าจริง ๆ แล้ว สิ่งที่เราทำได้ดี หรือเป็นจุดแข็งคืออะไร
ขั้นที่ 4 วิเคราะห์เรื่องราวทั้ง 7 เรื่อง
เมื่อเขียนเสร็จแล้ว ให้เรามานั่งอ่านเรื่องราวทั้งหมดที่เราเขียนอย่างตั้งใจ
วิเคราะห์ว่าเรื่องราวทั้งหมด 7 เรื่องที่เราเขียนมานั้น ได้สอนอะไรเราบ้าง
ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำแบบฝึกหัด Seven Stories จำได้ว่า ตอนเด็ก ๆ เคยดูคุณยายทำขนม
และครอบครัวของเธอก็อาศัยอยู่ใกล้ ๆ กับร้านทำขนมแห่งหนึ่ง
ซึ่งทำให้ในวันหนึ่งผู้หญิงคนนั้นลองหยิบเอาแป้งทำขนมภายในบ้าน
มาลองทำขนมสูตรของตนเอง ตามที่เคยดูคุณยายและร้านทำขนมข้าง ๆ ทำ
ทำให้ได้ขนมคุกกี้สูตรของตัวเองออกมา ซึ่งเธอก็นำเอาขนมนี้ไปขายเพื่อนที่โรงเรียน
และก็มีเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนชื่นชอบคุกกี้นี้เป็นอย่างมาก จนอุดหนุนเธออยู่บ่อยครั้ง
จากเรื่องนี้ก็ทำให้ผู้หญิงคนนั้นตระหนักได้ว่า การจะหาความสุขเข้ามาในชีวิต
คือการที่ได้แบ่งปันสิ่งดี ๆ ให้กับผู้อื่น และการได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ
เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น และทำให้เธอได้ค้นพบเส้นทางใหม่ ๆ ในชีวิตของตัวเอง
ขั้นที่ 5 หาจุดเชื่อมโยงของเรื่องราวทั้ง 7 เรื่อง
เมื่อเราได้อ่านเรื่องราวทั้งหมดแล้ว วิเคราะห์เสร็จแล้วว่าแต่ละเรื่องราวสอนอะไรเราบ้าง
ให้มองหา “จุดเชื่อมโยง” ของเรื่องราวทั้ง 7 เรื่องว่า ในแต่ละเรื่องนั้น
มีจุดเชื่อมโยงอะไรอยู่ในนั้นบ้าง เช่น ทั้ง 7 เรื่องมักจะมี “การถ่ายรูป” เป็นส่วนประกอบอยู่ในนั้น
ซึ่งก็อาจจะหมายความว่า จริง ๆ แล้วอาชีพที่เหมาะกับเราก็คืออาชีพช่างภาพ
หรือแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการที่เราเป็นคนชอบพบปะกับผู้คนมากหน้าหลายตา
ก็อาจจะหมายความว่า เราอาจจะเหมาะกับอาชีพที่ต้องเจอกับคนเยอะ ๆ
ในขณะเดียวกัน แบบฝึกหัดนี้ก็อาจจะทำให้เรารู้ด้วยว่า อาชีพที่เราทำอยู่ตอนนี้นั้น
เป็นอาชีพที่เหมาะกับเรา หรือเป็นอาชีพที่เราทำแล้วมีความสุขจริง ๆ หรือไม่
อย่างเช่น หลังจากทำแบบฝึกหัดเสร็จ เราอาจจะค้นพบว่า ที่ตอนนี้เราไม่มีความสุขในการทำงาน
อาจเป็นเพราะว่า งานที่เราทำมันไม่ได้เป็นการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ และได้ทำแต่เรื่องเดิม ๆ
โฆษณา