17 มิ.ย. 2021 เวลา 21:24 • ท่องเที่ยว
เที่ยวบ้านสันติชล .. เยือนศูนย์วัฒนธรรมจีนยูนนาน
บ้านสันติชล .. เป็นหมู่บ้านชาวเขาที่สืบเชื้อสายมาจากชาวจีนที่อพยพมาพร้อมกับนายพลต้วน แห่งดอยแม่สะลอง และเรื่องราวการเดินทางไกลในอดีตของคนที่นี่ ได้รับการบอกเล่าว่า ...
เดิมที .. ผู้คนในชุมชนนี้มาจากมณฑลยูนนาน เป็นทหารที่ได้สมญาว่า “ทหารแข้งเหล็ก” .. เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบคอมมิวนิสต์ที่จีน เมื่อปี ค.ศ. 1949 ทหารของก็กมินตั๋งก็เดินทางไกลมาพักอยู่ที่พม่าก่อน บางส่วนอยู่ที่ลาว จนสุดท้ายกองพล 93 ก็มาอยู่ที่ดอยแม่สลอง เชียงราย ส่วนกองพล 95 ไปอยู่ที่ผาตั้ง
สำหรับชาวจีนบางส่วนที่มุ่งหน้ามายังสถานที่นี้ ก็เนื่องจากนายพลตงฉีเหวิน เห็นว่าเป็นทำเลที่มีการค้าขายหยกและอัญมณี จึงมาตั้งด่าน ..ต่อมานายพลต้วนให้คนมาดูแล จนมาลงหลักปักฐานอยู่ ณ ที่นี้ .. และไต้หวันยังสนับสนุนด้านการเงินโดยจ่ายให้ตามจำนวนทหารและครอบครัวที่ถอยร่นมาตั้งแต่ดั้งเดิม ..ปัจจุบันเข้าใจว่าการสนับสนุนด้านการเงินจากไต้หวันได้ลดน้อยลงไปแล้ว
หลายสิบปีหลังจากการวางอาวุธ .. วันนี้ผู้คนที่นี่อยู่ได้อย่างสงบสุข และยืนหยัดอยู่ได้อย่างยั่งยืนและเข้มแข็ง และแม้ว่าวัฒนธรรมยูนนานจะผสมกลมกลืน แต่หลายสิ่งหลายอย่างก็ยังบ่งบอกถึงความเป็นมาของพวกเขา ..
ในปัจจุบันหมู่บ้านนี้ได้ปรับตัวให้กลายเป็นหมู่บ้านแห่งการท่องเที่ยว ด้วยการรวมใจกันสร้าง “ศูนย์วัฒนธรรมจีน-ยูนนาน” เพื่อส่งเสริมรายได้ให้กับชุมชน และเพื่อรักษา วัฒนธรรมยูนนานเดิม โดยเฉพาะเรื่องอาหารยูนนาน ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
1
เรามาถึงบ้านสันติชลตอนพระอาทิตย์ตรงหัว แดดแรงแต่ไม่ร้อนมากนัก ช่วยเผยมุมมองของหมู่บ้านที่มีชาวจีนยูนนานเป็นประชากรหลัก
สิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นเมื่อก้าวย่างเข้าไปในเขตของศูนย์วัฒนธรรม คือ กำแพงเชิงเทินแบบเดียวหอรบกับที่เราเห็นในหนังจีนโบราณ .. ประตูทางเข้าโค้งมนสไตล์จีน ธงที่โบกสะบัด เป็นส่วนประกอบที่แตกต่าง และไม่คิดว่าจะเห็นในผืนดินไทย หากแต่เหมือนเราได้หลุดเข้ามาในโรงถ่ายหนังจีนโบราณ
บันไดทางเดินลงจากประตูทางเข้า เผยโฉมลานกว้างระหว่างอาคารทั้งสองด้าน
ลานอเนกประสงค์ … อยู่ตรงกลางระหว่างอาคารทั้งสองฝั่ง ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของร้านให้เช่าชุดจีนสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการแปลงโฉมให้เป็นดังเช่นฮ่องเต่ ฮองเฮา สาวในราชสำนัก ..
… อาคารเหล่านี้ยังเป็นที่ตั้งของร้านอาหารอีกด้วย
ด้านหน้าของร้าน มีป้ายเขียนด้วยอักษรภาษาจีน .. ลืมถามมาว่าเขาเขียนเอาไว้ว่าอะไรกัน .. แต่ขอโพสท่าถ่ายรูปเอาไว้เป็นที่ระลึกกันก่อนค่ะ
ธารน้ำและสะพานสวย ... เป็นส่วนต่อเชื่อมกับโซนที่พักที่มีไว้บริการนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาสร้างสีสันวันพักผ่อน นอนในบ้านดินที่สร้างขึ้นอย่างเรียบง่าย ด้วยกรรมวิธีและภูมิปัญญาล้ำลึกของช่างโบราณดั้งเดิมของชาวยูนนาน .. บ้านดินเป็นบ้านที่อยู่สบาย หน้าหนาวข้างในจะอุ่น หน้าร้อนข้างในจะเย็น
บ้านที่มีฉากหลังเป็นทิวทัศน์ภูเขาสูงลดหลั่นเป็นชั้นๆกันลงมา ฟ้าสีใส สวยโรแมนติกเชียวค่ะ .. หากมีคนรู้ใจเคียงข้าง จิบชากลิ่นหอมร้อนๆ .. ความสุขคงอยู่ใกล้ๆ คั่นกันแค่ลมหายใจเท่านั้นเองค่ะ ..
ฉันเคยมาเยือนหมู่บ้านนี้สองครั้งแล้ว มีโอกาสได้ลองทานอาหารจากครัวที่มีไว้บริการนักท่องเที่ยว .. อาหารที่เลี่ยงชื่อ แน่นอนค่ะ ขาหมู หมั่นโถวที่รสกลมกล่อม ติดหวานนิดๆ แป้งนุ่มแน่น เคี้ยวเพลินดี และเข้ากันได้ดีกับขาหมูเนื่อยุ่ย .. ซุปไก่ดำตุ๋นยาจีน ผักสดจากไร่ผัด ส้มตำยูนนาน
ชิงช้าชาวเขา .. เอาไว้ให้ที่ใจกล้า ได้นั่ง และเป็นสิ่งแปลก เพราะไม่เหมือนกับรูปลักษณ์ชิงช้าในสนามเด็กเล่นที่เรามักจะนึกถึงกัน ชิงช้ายูนานจะเป็นเหมือนกังหันลมมากกว่า ..
ชิงช้าชนิดนี้ .. หมุนเป็นวงกลมด้วยแรงคน นั่งได้ทั้งหมด 4 คน เวลาชิงช้าหมุน รู้สึกหวาดเสียวแทนคนที่นั่ง ซึ่งก็คงมากไม่น้อย .. วัดได้จากเสียงกรี๊ดดดดดดด ของผู้ที่นั่งบนชิงช้า ..
เกี๊ยวคานหาม .. มีไว้บริการนักท่องเที่ยว หากคุณอยากได้บรรยากาศของการเป็นฮองเฮา หรือหญิงสูงศักดิ์แห่งราชสำนัก ก็สามารถเลือกหาเสื้อผ้าที่มีให้เช่ามาสวมใส่ แล้วให้เสี่ยวเอ้อแบกไปชมบรรยากาศรอบๆหมู่บ้านได้ค่ะ
ร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึกประเภทหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวยูนนานที่หาชมได้ยาก .. รองเท้า เสื้อผ้า ชา ผลไม้ดองและอบแห้ง อาหารแปรรูปชนิดต่างๆฯลฯ และในบางวันจะมีการโชว์พิธีกรรมการชงชาแบบจีนให้นักท่องเที่ยวได้ชมกันด้วยค่ะ
น้ำชาร้อนๆ ที่ถูกยกมาเสริฟ .. สำหรับฉัน .. จอกเล็กๆที่ประคองไว้ในมือ ไม่ใช่เพียงแค่เครื่องดื่มยอดนิยมของคนไทยเชื้อสายจีน หรือเครื่องดื่มที่เติมความกระชุ่มกระชวย ..
… แต่มันคือความละเมียดละไม ที่ชวนให้ระลึกถึงวิถีวัฒนธรรมที่ยังกรุ่นอยู่ทุกโมงยาม เหมือนสายหมอกที่โอบกอดหมู่บ้านแห่งนี้ไว้ชั่วนิรันดร์ ..
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา