19 มิ.ย. 2021 เวลา 09:00 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ดำมืดของ “Chinatown” กับการกดขี่ชาวจีนในสหรัฐอเมริกา (ตอนที่ 1)
หากพูดถึง Chinatown หรือ “ย่านคนจีน” ทุกคนคงคุ้นเคยกันดีกับภาพของ “เยาวราช” ถิ่นของคนไทยเชื้อสายจีน ที่มีผู้คนเดินกันอย่างพลุกพล่านและมีอาหารอร่อยอยู่ตลอดสองข้างทาง
และหลายคนคงทราบว่า Chinatown แบบนี้ยังมีในอีกหลายประเทศทั่วโลก แต่ไม่ใช่ทุกประเทศที่ชาวจีนจะมีประวัติศาสตร์อันน่าจดจำ เหมือนชาวจีนโพ้นทะเลที่มาอาศัยอยู่ในแผ่นดินสยาม
สหรัฐอเมริกาก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ชาวจีนมี “ประวัติศาสตร์อันขมขื่น” ก่อนการก่อตั้ง Chinatown ที่มีชื่อเสียงได้แบบที่เห็นในปัจจุบัน Chinatown ในอดีตถูกคนผิวขาวมองว่าเป็น “สิ่งโสโครก” (Filth) ที่รวมของ “เผ่าพันธุ์ที่มีจริยธรรมต่ำช้า” มาก่อน ก่อนที่จะกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวมีชื่อเช่นในปัจจุบัน
ภาพวาดและภาพถ่ายย่าน Chinatown ในเมืองซานฟรานซิสโกหลังการบูรณะเมือง
จุดเริ่มต้นมาจากการที่ชาวจีนจำนวนหนึ่งอพยพไปยังสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1800s โดยส่วนใหญ่ไปรับจ้างตามเหมืองทอง การก่อสร้างทางรถไฟ และโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะแรงงานราคาถูกที่ไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย
ครั้นพอถึงช่วงเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาตกต่ำระหว่างปี 1873-1879 ชาวอเมริกันจำนวนมาก ต่างพากันพุ่งความเกลียดชังมายังแรงงานจีนในประเทศ ว่าเป็นผู้แย่งงานของชาวอเมริกันผิวขาว จนนำไปสู่การสร้างทัศนคติเหยียดเผ่าพันธุ์ การเขียนการ์ตูนล้อเลียนชาวจีน ให้ดูอัปลักษณ์น่าเกลียด อ่อนแอ และเรียกชาวจีนว่าเป็น “ภัยเหลือง” (Yellow Peril)
ภาพการ์ตูนแสดงทัศนคติของชาวอเมริกันที่มีมองว่าชาวจีนอพยพเป็นภัยเหลืองที่คุกคามสังคมอเมริกัน
ตามมาด้วยการออก “กฎหมายกีดกันชาวจีน” (Chinese Exclusion Act) ในปี 1882 ซึ่งห้ามมิให้แรงงานอพยพชาวจีนอพยพมายังสหรัฐอเมริกา
และยังระบุให้ชาวจีนที่ตั้งถิ่นฐานในสหรัฐฯ เป็นคนต่างด้าว ที่ไม่มีสิทธิเป็นพลเมืองสหรัฐฯ รวมถึงจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ชาวจีนไม่มีสิทธิซื้อที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ ไม่สามารถจดทะเบียนตั้งกิจการได้ และไม่มีสิทธิในการพิสูจน์หลักฐานหรือเป็นพยานในชั้นศาล
กฎหมายกีดกันชาวจีน ปี 1882
ความเกลียดชังของคนอเมริกันที่มีต่อชาวเอเชีย นำไปสู่อาชญากรรมและความรุนแรงต่อชาวอเมริกันเชื้อสายจีนในสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่อง
ปี 1871 มีการรุมประชาทัณฑ์ ด้วยการแขวนคอชาวจีน 18 ราย ในเมืองลอสแองเจลิส
ปี 1885 มีการสังหารหมู่แรงงานเหมืองชาวจีน 25 รายในเมืองไวโอมิ่ง
ปี 1885 มีกลุ่มคนผิวขาวชุมนุมขับไล่คนจีนที่ตั้งถิ่นฐานออกจากเมืองยูเรก้า
เหตุการณ์เหล่านี้พบได้ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในระหว่างปี 1849-1906 มีเหตุการณ์การขับไล่ และสังหารหมู่ชาวจีนเกิดขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนียถึงกว่า 200 ครั้ง
ภาพการ์ตูนที่แสดงความรังเกียจของชาวอเมริกันที่มีต่อชาวจีนอพยพ
ภาพวาดที่สื่อว่าแรงงานราคาถูกชาวจีน เป็นเสมือนฝูงตั๊กแตนที่กำลังทำลายไร่นาของชาวอเมริกัน
ภาพวาดแสดงเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวจีนในเมือง Wyoming ปี 1885
ชาวจีนจำนวนมากในสหรัฐอเมริกา อพยพหนีมายังเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ซึ่งมีชาวจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ด้วยมองว่าน่าจะเป็นหนทางเดียวที่ตนจะมีพวกพ้องและมีความปลอดภัยมากขึ้น
ถึงกระนั้นก็ยังมีกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการที่ชาวจีนจะเช่าที่อยู่อาศัย ทำให้ชาวจีนมาอาศัยรวมตัวกันในเขตตะวันออกของเมือง ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Chinatown ในปัจจุบัน โดยในย่านคนจีนนั้นมีธุรกิจเกิดขึ้นมาก เนื่องจากชาวจีนใน Chinatown จะค้าขายสินค้ากับชาวจีนแผ่นดินใหญ่
ย่าน Chinatown ในเมืองซานฟรานซิสโก ปี 1900
แต่เมื่อส่องลงไปในย่าน Chinatown เราจะพบว่า ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของย่านนี้ ไม่ได้เหมือนกับ Chinatown ในซานฟรานซิสโกในปัจจุบัน
อาคารเป็นตึกแถวสไตล์ยุโรปแบบที่พบเห็นได้ทั่วไป โดยที่ชาวจีนจะแสดงอัตลักษณ์ด้านวัฒนธรรมของตน ด้วยการนำของประดับตกแต่ง เช่น ป้ายขนาดใหญ่ที่มีภาษาจีนเขียนอยู่บนป้าย โคมไฟจีน หรือยันต์มาแปะไว้ที่ตัวอาคาร เพื่อแสดงอัตลักษณ์ของตน
Chinatown ปี 1901 (ภาพจากห้องสมุดสาธารณะเมืองซานฟรานซิสโก)
ชาวจีนประดับตกแต่งตึกแถวที่ตนเช่าใน Chinatown ด้วยโคมไฟและป้ายอักษรจีน เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับที่อยู่อาศัยของตนเอง (ภาพจาก VOX : The surprising reason behind Chinatown's aesthetic)
เมื่อเมืองซานฟรานซิสโกขยายตัวขึ้น ย่าน Chinatown กลายมาเป็นที่หมายปองของนายทุนผิวขาวที่มองว่าสามารถทำเงินได้จำนวนมหาศาลจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจในที่ดินผืนนี้
คำที่ใช้ในหนังสือพิมพ์ในยุคนั้นเป็นตัวสะท้อนทัศนคติของคนอเมริกันผิวขาวที่มีต่อชาวอเมริกันเชื้อสายจีนและย่าน Chinatown ได้เป็นอย่างดี เช่น
“ทางการซานฟรานซิสโกจะทำการกำจัดพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยความโกลาหลและสิ่งโสโครก” (San Francisco Will Get Rid of Sixteen Square Blocks Turmoil of Turmoil and Filth) เพื่อให้เหมาะสมกับพ่อค้าผิวขาว (suitable to Caucasian merchant)
“ที่ว่างซึ่งถูกใช้เหมือนที่ทิ้งขยะ” (Vacant Space Used As Dumps) และ “ผู้จัดการทรัพย์สินจะลงไปสำรวจย่านคนจีนที่แสนจะโสโครก” (Trustees Inspect Filthy Chinatown)
แผนที่ย่าน Chinatown ปี 1885 ที่จัดทำโดยคณะกรรมการทีปรึกษาพิเศษของเมือง
นอกจากนี้คณะกรรมการที่ปรึกษาพิเศษของเมืองซานฟรานซิสโก ยังได้จัดทำผังรายงานกิจการในย่าน Chinatown โดยเน้นไปที่โรงฝิ่น, ซ่องโสเภณี และบ่อนการพนัน ซึ่งในรายงานของคณะกรรมการอีกฉบับได้ระบุว่า เป้าหมายของรายงานเกี่ยวกับย่าน Chinatown ก็เพื่อ “เปิดเผยศีลธรรมอันต่ำช้า การกระทำอันโหดร้ายป่าเถื่อน และบรรดาสิ่งชั่วร้ายที่เผ่าพันธุ์นี้เป็นอยู่”
ภาพประกอบจาก VOX : The surprising reason behind Chinatown's aesthetic
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นได้ถึงทัศนคติของชาวอเมริกันผิวขาวที่มีต่อชาวจีนว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม สิ่งโสโครก เป็นเผ่าพันธุ์ชั่วร้ายที่ฝังตัวอยู่ในสังคมอเมริกัน โดยเฉพาะเมื่อมีวิกฤตอย่างภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ความเกลียดชังเหล่านี้ยิ่งทวีความรุนแรง
ไม่ต่างจากในยุคปัจจุบันที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วประเทศ ได้ทำให้ชาวอเมริกันพุ่งความเกลียดชังที่มีต่อชาวจีน หรือ ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ดังที่เห็นได้จากสถิติอาชญากรรมต่อชาวเอเชียที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด
ภาพซ้าย การเดินขบวนต่อต้านอาชญากรรมแห่งความเกลียดชังต่อชาวเอเชียของคนในย่าน Chinatown หลังเหตุทำร้ายร่างกายคนอเมริกันเชื้อสายจีนและเอเชียจำนวนมากในปี 2020, ภาพขวา สถิติอาชญากรรมแห่งความเกลียดชังต่อชาวเอเชียในสหรัฐอเมริกา ที่พุ่งสูงขึ้น 149% ระหว่งปี 2019-2020
สำหรับตอนที่ 2 เราจะมาต่อกันกับ “ชะตากรรมและจุดพลิกผัน” ของย่าน Chinatown ในซานฟรานซิสโก ที่พลิกจากวิกฤตกลายมาเป็นโอกาสในการอยู่รอด จนสามารถรักษาอัตลักษณ์และความเป็นชุมชนชาวจีนมาได้จวบจนปัจจุบัน
ข้อมูลอ้างอิง
National Geographic: The bloody history of anti-Asian violence in the West
VOX: The surprising reason behind Chinatown's aesthetic
History Channel: Chinese miners are massacred in Wyoming Territory
Los Angeles Almanac: 1871 Chinese Massacre
หนังสือพิมพ์ The Topeka Herald วันที่ 4 พฤศจิกายน 1905
หนังสือพิมพ์ The Evening Bee วันที่ 29 มีนาคม 1900
อ.ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์
อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง (KMITL) เชี่ยวชาญด้านทฤษฎีและประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมทางศาสนา ระบบสัญลักษณ์ในศิลปะสถาปัตยกรรมและตำนานวิทยา เคยสอนพิเศษด้านปรัชญาการเมืองและทฤษฎีสังคมวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีความสนใจด้านพัฒนาการของมนุษย์ผ่านหน้าประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง การสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมร่วมสมัย
โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes
คลิก👉https://lin.ee/vfTXud9
#THESTATESTIMES
#WeeklyColumnist
โฆษณา