18 มิ.ย. 2021 เวลา 22:41 • ท่องเที่ยว
(15) พุกาม .. วิหารธัมมะยังจี (Dhammayan Gyi Temple) วัดคนบาปแห่งพุกามประเทศ
ยามเช้าในพุกาม …
งดงามด้วยภาพชีวิตของชาวบ้านที่ออกมาทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน แม้สภาพภูมิประเทศจะดูขมุกขมัวเป็นทุ่งกว้างที่แห้งแล้ง แต่ภาพของเกษตรกรต้อนฝูงแพะ แกะ และโคตัดผ่านทุ่งดินแดงที่มีเจดีย์น้อยใหญ่ในแสงสลัวๆเป็นฉากหลัง ก็ยังงดงามเหมือนภาพฝัน
1
วัดธัมมะยังจียังจี หรือ ธรรมเจดีย์ แปลว่า “แสงสว่างแห่งธรรม” อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเก่า ตั้งตระหง่านอยู่กลางทุ่งเจดีย์ ถือว่าเป็นวัดที่มีทัศนียภาพสง่างาม จนอาจจะข่มโบราณสถานที่เรียงรายอยู่รอบๆ ชาวพุกามถือว่าเป็นวิหารที่สง่างามและใหญ่ที่สุดของพุกาม
2
ครั้งแรกที่ภาพของวิหารธรรมยังจีผ่านเข้ามาในสายตา ฉันนึกถึงปีรามิดของชาวอินคาที่เคยไปเยือนใน Mexico City เมื่อหลายปีมาแล้ว และ พีรามิดแห่งเกาะแกร์ในเขมร ที่มีรูปร่างแบบเดียวกัน และขนาดใหญ่โต จนเมื่อเข้าไปใกล้ๆต้องแหงนคอตั้งบ่าเพื่อมองยอดมหาวิหารแห่งนี้กันทีเดียว
ประวัติความเป็นมาของวิหารแห่งนี้ลึกลับน่าสนใจมากค่ะ …
นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า วิหารแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยของ พระเจ้าอลองสินธุ (ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.1655 - 1710) ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าจันสิตตา แต่ไม่ทันที่วัดจะสร้างเสร็จ พระองค์ก็ถูก พระเจ้านราสุ ผู้เป็นโอรสปลงพระชนม์ ในขณะที่ทรงนั่งสมาธิอยู่ที่เจดีย์ชเวกูจี ..
พระเจ้านราสุยังวางยาพิษฆ่าพี่ชายตัวเองแล้วขึ้นครองราชย์ นับเป็นกษัตริย์ที่โหดร้าย ประชาชนจึงไม่ค่อยนับถือเลื่อมใส (เรื่องราวที่ละเอียดกว่านี้รออ่านบทความเรื่องต่อไป วิหารชเวกูจี)
พระเจ้านราสุ จึงเป็นกษัตริย์ลำดับที่ 5 แห่งราชวงศ์พุกาม มีชื่อในประวัติศาสตร์ว่า “พระเจ้ากลักยามิน” หมายถึง “กษัตริย์ที่ถูกแขกฆ่า”
พระองค์ถูกชาวลังกาฆ่า เพราะพระองค์เข้าไปแทรกแซงการค้าระหว่างลังกากับเขมรที่ผ่านทางคาบสมุทรมลายา ทรงจับเจ้าหญิงลังกาขณะเดินทางไปเขมร และไม่ยอมค้าช้างกับลังกา .. กษัตริย์แห่งกรุงลังกาจึงยกกองทัพเรือข้ามมหาสมุทร แล่นเรือขึ้นมาตามลำน้ำอิรวดี เข้ายึดเมืองพุกาม แล้วฆ่ากษัตริย์นราสุในปี พ.ศ.1708 เพียงเวลาขึ้นปีที่ 4 ของรัชกาล ขณะที่วิหารธัมยังจีเสร็จเพียงโครงสร้าง เป็นเหตุให้พุกามว่างเว้นกษัตริย์เป็นเวลาถึง 9 ปี
วิหารธรรมยังจี มีลักษณะของผังวิหารคล้ายกับอานันทวิหาร คือมีทางเดิน 2 ชั้นล้อมรอบ แต่ทางเดินด้านในถูกปิดสนิท ซึ่งเป็นเรื่องที่ลึกลับชวนฉงนสนเท่มาก …
บางตำนานเชื่อว่า เมื่อพระเจ้าอลองสินธู สร้างไม่เสร็จ เหลือเพียงการสร้างตกแต่งทางเดินชั้นใน แต่พระองค์สิ้นพระชนม์เสียก่อน พระเจ้านราสุ ไม่ยอมสร้างต่อให้เสร็จ จึงก่ออิฐปิดทางเดินชั้นในไม่ให้ใครเข้าไป .. เมื่อไม่นานมานี้นักโบราณคดีพม่าได้ขุดทะลุทางเดินชั้นในเข้าไป แต่ไม่พบอะไร
อีกบางข้อสันนิษฐานเชื่อว่า ผู้สร้างวัดธรรมยังจิ คือ พระเจ้านราสุ เพื่อไถ่บาปที่ฆ่าพระบิดาของตนเอง แต่บาปกรรมของพรองค์ทำให้ไม่มีศรัทธาที่สามัญและบริสุทธิ์ของประชาชนมาร่วมสร้าง การสร้างวิหารแห่งนี้จึงต้องใช้วิธีเกณฑ์แรงงานมาอย่างกดขี่ข่มเหง จนประชาชนล้มตายไปมากมาย และได้รับความเดือดร้อนกันไปทั่วทั้งแผ่นดิน … ซึ่งประวัติศาสตร์ของพม่าระบุว่าเป็นวิหารเดียวที่ใช้วิธีนี้
อย่างไรก็ตาม วิหารแห่งนี้นอกจากเกิดจากพระปณิธานของกษัตริย์นราสุ ที่มีพระประสงค์ให้เป็นวิหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุด แข็งแรงที่สุด และสวยงามที่สุดกว่าอานันทวิหาร และเจดีย์สัพพัญญู
วิหารแห่งนี้มีชื่อเสียงที่สุดในการเรียงอิฐ แม้แต่ประตูก็ก่ออิฐเป็นวงโค้งจนแทบไม่เห็นรอยต่อ มีเรื่องเล่าต่อๆกันมาว่า อิฐพวกนี้เวลาช่างเรียงเสร็จแล้วจะประกบกันสนิทแน่นจริงๆ
เวลาที่กษัตริย์นราสุเสด็จมาตรวจงาน พระองค์จะทดสอบโดยเอาเข็มสอดเข้าไปในระหว่างแผ่นอิฐ ถ้าสอดเข็มเข้าไปได้ ช่างคนนั้นจะถูกตัดแขน …
เรื่องนี้จะจริงหรือไม่ก็ตาม แต่แสดงให้เห็นว่าเทคนิคการก่อสร้างของชาวพุกามนั้นเลอเลิศสุดยอดมาก สิ่งก่อสร้างจึงสามารถยืนหยัดท้าสายลมแสงแดดมายาวนานได้นับพันปี
เทคนิคการเรียงอิฐเป็นวงโค้งในลักษณะของ Arch ที่ทำให้น้ำหนักของหลังคากระจายลงมาตามเสาหรือกำแพง แก้ปัญหาหลังคาอิฐพังทลายได้สำเร็จนั้น ถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นในสถาปัตยกรรมพุกาม … แม้ว่าจุดเริ่มต้นของ arch นั้นกำเนิดในดินแดนเมโสโปเตเมียเมื่อ 3,000-4,000 ปีก่อน ก่อนที่จะแผ่ข้ามมายังอินเดียและพม่าในที่สุด
ในพุทธสถานของพม่า มักจะพบการประดิษฐานพระพุทธรูปประจำ 4 ทิศทั้งสี่ของเจดีย์ ซึ่งหมายถึงพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันและพระพุทธเจ้าในอดีต 3 พระองค์ …
เริ่มจากทางเดินเข้าด้านทิศตะวันออก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำทิศ คือ พระกกุสันโธ พระพุทธรูปปางมานวิชัย ซึ่งควรจะตั้งลึกเข้าไปเช่นเดียวกับพระที่อานันทวิหาร แต่เนื่องจากทางเดินชั้นในปิดตาย พระประจำทิศจึงมาตั้งขวางตรงทางเดินชั้นนอก
พระพุทธรูปศิลปะพม่า … ในอีก 2 ด้านของวิหาร
ที่เจดีย์ธัมมะจังจี นอกจากจะประดิษฐานพระกกุสันโธ โกนาคมน์ และกัสสป ตามธรรมเนียมแล้ว ที่มุขด้านทิศเหนือซึ่งเป็นทิศของพระโคตมพุทธเจ้า ปรากฏว่ามีพระพุทธรูปอีกองค์ประดิษฐานเคียงข้างในลักษณะ “พระแฝด” ดูแปลกตา …
บางคนสันนิษฐานว่า ช่างโบราณอาจจะจงใจปั้นพระศรีอารยะเมตไตรย์ (ที่คนเชื่อว่าคือพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปที่จะมาจุติบนโลกมนุษย์) ไว้ล่วงหน้าก่อนจะเสด็จมาก็เป็นได้ หรือพระเจ้านราสุมีพระบัญชาให้ปั้นไว้ เพื่อแสดงว่าพระศรีอารย์เสด็จมาโปรดสัตว์ในแผ่นดินของพระองค์แล้ว
เมื่อเดินออกจากซุ้มประตูด้านทิศตะวันตก แล้วหันกลับไปมองซุ้มเคล็กของเจดีธัมมะยังจี จะเห็นครีบตั้งตรงยอดซุ้มที่สวยงามและยังคงสภาพสมบูรณ์ งดงามมาก
ฉันกับเพื่อนร่วมทางเดินไปตามทางเดินรอบๆเจดีย์ … บันไดอิฐแคบๆนำเราขึ้นไปยังชั้นที่ 2 ซึ่งไม่มีพื้นที่ใช้สอยอื่นๆ นอกจากมีที่ยืนเพียงเล็กน้อยข้างหน้าต่าง
ฉันเดาเอาว่าคงเป็นที่ ที่ใช้ในการขึ้นมาดูทิวทัศน์รอบๆมหาเจดีย์ ที่รายรอบด้วยเจดีย์อื่นๆ ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง แต่ล้วนถือกำเนิดจากแรงศรัทธาของคนพุกามที่มุ่งมั่นต่อการสร้างเจดีย์เป็นพุทธบูชามาแต่ครั้งอดีตกาล
ในบางห้วงคำนึง ฉันนึกถึงใครบางคนที่เคยพูดว่า … บางส่วนที่ดูสิ้นสลาย ล้วนจารึกเรื่องราวไว้ในริ้วรอยสึกกร่อน แม้แต่หินสักก้อน เปลือกหอยสักกาบย่อมต้องมีความหมาย …
… พุกามสำหรับฉัน จึงเป็นการเดินผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตของผู้คน ที่ยืนยงผ่านอิฐและหินมากระซิบเล่าราวสายลมเว้าวอน … ให้เราได้ทึ่ง ได้ชื่นชมจนถึงทุกวันนี้
พุกามสำหรับฉัน … จึงไม่ใช่เป็นเพียงเมืองท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นดินแดนที่ควรจะได้มาเห็น มาสัมผัสจิตวิญญาณของอดีตดูสักครั้ง
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา