20 มิ.ย. 2021 เวลา 02:06
Conformity : จิตวิทยาแห่งการคล้อยตาม
(เรียบเรียงโดย กนกพร บุญเลิศ)
การคล้อยตาม คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือทัศนคติ (attitude) ตามความเชื่อหรือมาตรฐานของผู้อื่น เชื่อหรือไม่ว่า แรงกดดันทางสังคมเพียงเล็กน้อยที่ปราศจากการพูดจาก็ส่งผลให้เกิดการคล้อยตามได้แล้ว
การทดลองแสนคลาสสิกเกี่ยวกับการคล้อยตามเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1950 โดยนักจิตวิทยาชื่อ โซโลมอน แอช (Solomon Asch) ซึ่งผู้ร่วมการทดลองคิดว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบทักษะสายตาร่วมกับคนอื่นๆอีก 6 คน
1
ในภาพซ้าย มีเส้นตรงหนึ่งเส้น เรียกว่า target line
ในภาพขวา มีเส้นตรง 3 เส้นที่มีความยาวแตกต่างกัน
ที่มา : Wikipedia
ผู้ร่วมการทดลองแต่ละคนจะต้องพูดออกมาดังๆว่าเส้นตรงไหนในสามเส้นที่มีความยาวเท่ากับ target line ในภาพซ้าย
คำตอบที่ถูกต้องเห็นได้ชัดเจนอยู่แล้ว(ว่าเป็นเส้น C) งานนี้ช่างง่ายและตรงไปตรงมาสำหรับผู้ร่วมการทดลอง
ความสนุกมันอยู่ตรงนี้
ในรอบแรก ผู้ร่วมการทดลองทุกคนเห็นพ้องต้องกันหมด แต่แล้วก็มีสิ่งแปลกประหลาดเกิดขึ้น เพราะในรอบต่อมา ผู้ร่วมการทดลอง 6 คนแรกตอบผิด และผิดอย่างเป็นเอกฉันท์เสียด้วย! และยังคงผิดแบบนี้ต่อไปครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่ผู้ร่วมการทดลองคนสุดท้ายเห็นว่าถูกต้อง
ผู้ร่วมการทดลองคนสุดท้ายต้องเผชิญกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกว่าจะทำตามการรับรู้ของตนหรือตอบเหมือนทุกคนในกลุ่ม
ที่มา : https://www.simplypsychology.org/
จริงๆแล้ว การทดลองนี้ถูกจำลองขึ้น โดยผู้ร่วมการทดลอง 6 คนแรกคือหน้าม้า ซึ่งได้รับคำสั่งให้ตอบผิดแบบเอกฉันท์ และการศึกษานี้ไม่ได้ทดสอบทักษะสายตา แต่ความจริงแล้วหัวข้อที่ศึกษาคือ “การคล้อยตาม” ต่างหาก
โซโลมอน แอช พบว่า ประมาณ 1 ใน 3 ของการทดลองทั้งหมด ผู้ร่วมการทดลองคล้อยตามคำตอบที่ผิดเป็นเอกฉันท์ของกลุ่ม โดยประมาณ 75% ของผู้ร่วมการทดลองจะคล้อยตามอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ซึ่งการคล้อยตามนี้แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ผู้ร่วมการทดลองบางคนคล้อยตามแทบทุกครั้ง ขณะที่บางคนไม่ทำเช่นนั้น
 
หลังจากการศึกษานี้ ก็มีงานวิจัยที่ศึกษาการคล้อยตามตามอีกหลายร้อยงาน (#นักวิจัยก็คล้อยตามกัน) ส่งผลให้ปัจจุบันเรามีความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้เป็นเป็นอย่างดี จนเกิดเป็นสรุปดังนี้
•ลักษณะของกลุ่ม: ยิ่งกลุ่มเป็นที่ปรารถนาของสมาชิกมากเท่าใดก็ยิ่งสร้างการคล้อยตามได้มากขึ้นเท่านั้น
2
•สถานการณ์ที่บุคคลต้องตอบสนอง: หากบุคคลต้องตอบสนองอย่างเปิดเผย(หรือต่อหน้าสาธารณะ) การคล้อยตามจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าในที่ส่วนตัว นั้นเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเราต้องใช้บัตรลงคะแนนลับในการเลือกตั้ง
1
•ประเภทของงาน: คนจะคล้อยตามมากขึ้น หากเป็นงานที่คนนั้นมีความสามารถน้อยกว่าคนอื่นในกลุ่ม ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ใช้งานคอมพิวเตอร์ไม่บ่อยนักอาจจะรู้สึกคล้อยตามความเห็นเกี่ยวกับยี่ห้อคอมพิวเตอร์เมื่ออยู่ในกลุ่มผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ที่มีประสบการณ์
การทดลองของโซโลมอน แอช เรื่องจิตวิทยาแห่งการคล้อยตาม ในปี 1955 ที่มา : Twitter ของ Geoffrey Miller (https://twitter.com/primalpoly/status/1323384486290055168)
•ความเป็นเอกฉันท์ของกลุ่ม: กลุ่มที่มีความเป็นเอกฉันท์จะมีการคล้อยตามที่ชัดเจนที่สุด
1
ปิดท้ายด้วยผลการทดลองหนึ่งซึ่ง พบว่า หากมีหน้าม้าเพียงคนเดียวในกลุ่มที่ตอบไม่เป็นเอกฉันท์ ผู้ร่วมการทดลองก็จะตอบตามความคิดเห็นของตนเองทันทีโดยไม่คล้อยตามกลุ่ม
สรุปคือ ขอแค่มีคนเพียงแค่คนเดียวกล้าแสดงความเห็นตน ก็เพียงพอที่จะลดแรงกดดันการคล้อยตามได้แล้ว
อ้างอิง
Feldman, R. S. (2011). Understanding Psychology (10th ed.). New York, NY: McGraw-Hill.
โฆษณา