22 มิ.ย. 2021 เวลา 09:30 • ข่าว
ทำไมเราถึงไม่ควรเชื่อในสิ่งที่สำนักข่าวนำเสนอออกมาทั้งหมด?
ถ้าพูดถึงการนำเสนอข่าวในปัจจุบันนี้ ใครหลายคนที่กำลังอ่านบทความอยู่นี้ก็น่าจะเป็นหนึ่งในพลเมืองดิจิทัลที่ชอบเสพสื่อใช่ไหมครับ? และท่านที่กำลังอ่านอยู่นี้ก็คงจะชื่นชอบการอ่านข่าวสารบนโลกออนไลน์อยู่บ่อยครั้ง และอีกเช่นกัน หลายคนคงจะได้รับข้อมูลจนน่าจะไว้วางใจหรือเชื่อถือสำนักข่าวต่างๆ ทั้งที่มีชื่อเสียงและไม่มีชื่อเสียงแล้วว่าเป็นความจริง ผ่านการพิสูจน์มาแล้วร้อยละร้อย
แต่บทความที่ผมกำลังพิมพ์มาให้ท่านอ่าน และที่ท่านกำลังจะอ่านอยู่นี้จะมาพังทลายความน่าเชื่อถือของสำนักข่าวทั้งที่มีชื่อเสียงและไม่มีชื่อเสียงที่พวกคุณหลงเชื่อไปแล้ว แม้กระทั่งส่องสื่อที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้ด้วยเช่นกัน แน่นอนว่าใครหลายคนคงกำลังจะตัดสินใจปิดบทความนี้ แต่ช้าก่อน เราอยากให้คุณเรียนรู้ไปกับเรา แล้วคุณจะทราบว่าทำไมคุณถึงต้อง “ไม่ควรเชื่อสิ่งที่สื่อมวลชนนำเสนอออกมาทั้งหมด” กัน?
หมายเหตุบทความนี้ : บทความนี้ใช้หลักอ้างอิงจากประสบการณ์ที่ผู้เขียนประสบพบเจอจากการติดตามสื่อมวลชนมาโดยตลอด และเนื่องจากเป็นบทวิเคราะห์ที่ไม่ได้เชื่อมโยงหลักทฤษฎีเป็นสำคัญ จึงขอให้ทุกท่านใช้เลนส์ของตนเองในการประกอบและใช้วิจารณญาณในการอ่าน
แน่นอนว่าการขึ้น Remark ไว้แบบนี้ คงไม่ค่อยมีสำนักข่าวไหนที่อยากจะทำมากนัก เนื่องจากจะเป็นการลดความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสารที่กำลังจะนำเสนอออกไป โดยเฉพาะการสรุปประเด็นสำคัญๆ ออกมา หรือการนำตัวเลขบางธุรกิจมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาผมก็ได้พบเห็นเรื่องราวเหล่านี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เพียงแค่วงเล็กๆ บนโลกออนไลน์เท่านั้น
แต่เมื่อผมได้รับข้อความมาว่า แล้วทำไมส่องสื่อถึงไม่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อมวลชนเลยสักที ผมที่กำลังอาบน้ำเลยลองทบทวนเรื่องราวตั้งแต่ที่ผมเกิดเมื่อปี 2540 (และใช่ครับ ตอนนี้ผมอายุ 24 ปี) จนถึงปัจจุบันว่าสถานการณ์สื่อมวลชนเจออะไรไปแล้วบ้าง? จนตกผลึกเป็นหัวข้ออย่างที่ว่านี่แหละครับ
ย้อนกลับไปจากการศึกษาในตำราเรียนนิเทศศาสตร์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์วงการสื่อในบ้านเรา แรกเริ่มเดิมทีสถานการณ์สื่อบ้านเราก็ไม่ใช่ว่าจะเสรีเสมอไป เพราะการจะทำหนังสือพิมพ์ มาจนถึงการทำกิจการโทรทัศน์ วนมาถึงขอบัตรสื่อมวลชนในปัจจุบัน ย่อมต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐที่ไร้อิสระ อิสระในทีนี้คือประชาชนตรวจสอบการทำงานได้ทุกขั้นตอน ดั่งที่เรามักจะได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ทางการเมืองมาอย่างมากมาย
ในช่วงการรัฐประหารทุกครั้งนั้น ทหารที่กระทำการรัฐประหารก็มักจะจับจ้องที่สื่อมวลชนในแขนงหลัก ประกอบไปด้วยหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ เพื่อยึดแอร์ไทม์ออกอากาศอยู่เนื่องๆ ไป และแน่นอนว่าทุกๆ ครั้งมันก็จะสำเร็จ เพราะทหารมีปืน ส่วนสื่อมีแค่ปากกากับกล้องเพียงเท่านั้น
วนกลับไปอีกนิดนึงละกันครับ ในช่วงการก่อตั้งสื่อมวลชนแต่ละแขนงนั้น ถ้ายุคคุณแม่ผมขึ้นไปหน่อย (นับจากอายุ 50+ ปีละกันนะครับ) ก็มักจะยกย่องสื่อมวลชนว่าเป็น “ฐานันดรที่ 4” คือมียศ มีตำแหน่ง มีอำนาจในการขีดเขียนว่าใครดี ใครเลวมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว และที่ผ่านมาก็มักจะเกิดเรื่องคดีฟ้องร้องกันเป็นเนื่องๆ ไประหว่างสื่อมวลชนกับผู้ตกเป็นข่าว ซึ่งส่วนใหญ่คนที่ฟ้องก็หนีไม่พ้นนักการเมือง นักธุรกิจ หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง
จนกระทั่งสื่อโทรทัศน์เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น การกระทำของสื่อมวลชนคือให้น้ำหนักกับข่าวที่มีคนรับชมและสนใจในขณะนั้นมากที่สุด ซึ่งเราก็มารู้จักกันในภายหลังในคำศัพท์ที่ว่า “Agenda Setting” สั้นๆ คือการกำหนดวาระทางสังคมผ่านสื่อ ซึ่งเนื่องด้วยเวลา “เป็นเงินเป็นทอง” ประกอบกับเวลาออกอากาศมีจำนวนจำกัด ทำให้สื่อต้องเลือกข่าวนำเสนอ
วนมากระทั่งช่วงที่รายการข่าวภาคเช้ามีการแข่งขันกันสูง ข่าวเชิงวิเคราะห์ก็เริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้น ด้วยจำนวนผู้ชมที่ให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ เรตติ้งทำงานดี เม็ดเงินโฆษณาก็มาได้ดี จนทำให้สื่อแห่กันมาเล่นข่าวเชิงวิเคราะห์ และแปรเปลี่ยนเป็นข่าวเชิงความเห็นมากขึ้น ในขณะเดียวกันนั้นเองก็ค่อยๆ ทยอยนำข่าวการเมือง ข่าวปัญหาประชาชน การทุจริตออกไป จนแทบจะไม่เหลือแอร์ไทม์ในการรับชม
ในช่วงสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทางการเมือง การแบ่งสีเสื้อก็มาตรงกับช่วงที่ทีวีดาวเทียมบูมเป็นทุ่งดอกไม้ ทุกสีเสื้อหันมาผลิตทีวีเป็นของตนเอง การแบ่งความคิดเห็นจึงเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งเรามารู้จักในภายหลังคือ “echo chamber” นั่นเอง ไม่พอเท่านั้น เรายังรู้จักการใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการปล่อยข่าวลวง ซึ่งเรามารู้จักในภายหลังคือ “misinformation” อีกด้วย
และพอหลังการเกิดขึ้นของ Facebook การก่อกำเนิด iPhone จนกระทั่ง Android เข้ามามีบทบาท อินเตอร์เน็ตมือถือเริ่มถูกขึ้น พร้อมๆ กับการเข้ามาของทีวีดิจิตอล 24 ช่อง บ้านเราเริ่มมี 3G ไป 4G จนตอนนี้ไป 5G นั่นคือยุคที่ใครๆ ก็ตั้งเพจ ทำคอนเทนต์ให้ผู้ชมสูงขึ้น พอผู้ชมสูงขึ้นแล้วแต่ละโพสต์ก็เป็นเงินเป็นทอง เป็นค่าโฆษณา เป็นการตั้งเรตการ์ดมูลค่าสูงถึงหลักแสน เพื่อให้เพียงได้พื้นที่แสดงตัวตนอะไรบางอย่างให้คนรู้จักเพียงเท่านั้น
ฉะนั้นที่ผมร่ายไทม์ไลน์สื่อมาเพียงบางส่วนและคร่าวๆ เพื่อให้เห็นว่าสภาวการณ์ของสื่อมวลชนในยุคก่อนมีโทรทัศน์กับยุคที่โทรทัศน์เป็นเพียงอุปกรณ์ประดับบ้าน แทบไม่ได้ต่างกัน ต่างกันเพียงแค่พฤติกรรมในการใช้อุปกรณ์เสพสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปเพียงเท่านั้น
สิ่งที่ผมพยายามจะบอกกล่าวคือ การที่สำนักข่าวแต่ละสำนักเลือกข้อมูลมานำเสนอ เขาจะเลือกตามความสนใจของผู้อ่าน เช่น คนอ่านส่องสื่อชอบตัวเลขรายได้สื่อ ส่องสื่อก็จะเน้นรายได้สื่อเป็น Main Content ซึ่งในทางธุรกิจมันสามารถต่อยอดและสร้างมูลค่าได้ ถ้ายอดผู้ติดตามมีมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่คนในวงการสื่อเองอาจจะละเลยกับประเด็นนี้ไปคือ การ Agenda Setting ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งคนละอย่างกับการตั้ง Theme ของการนำเสนอข่าวในแต่ละสำนัก
ว่ากันว่าในแวดวงสื่อสารมวลชนมีทฤษฎีหนึ่งที่น่าสนใจ คือ “ทฤษฎีสื่อที่ว่าด้วยบรรทัดฐานและความรับผิดชอบสังคม” ซึ่งมีเรื่องที่น่าสนใจมากๆ คือในช่วงเวลาหนึ่งนักวารสารศาสตร์ให้ความสนใจน้อยมากเกี่ยวกับความถูกต้องและผลกระทบต่อสื่อสาธารณะ นอกจากอารมณ์ของนักข่าวเอง ในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 ชนชั้นนำจัดให้สื่อมวลชนเป็นวิชาชีพที่น่านับถือ โดยมีเจตนาดี คือการไม่แสวงหากำไรจากการนำเสนอข่าวสารที่ไม่เป็นกลางและไม่ถูกต้อง
แต่แล้วสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นก็เกิดขึ้น คือสื่อมวลชนในยุคนั้น (และบางส่วนในยุคนี้) กลับไม่ช่วยแก้ไขปัญหาสังคม ไม่เป็นไปตามความความคาดหวังในช่วงวิกฤตการณ์ บทบาทของสื่อเน้นการนำเสนอข่าวสารไปวันต่อวัน ขาดมาตรฐานทางจริยธรรม ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และอีกหลายเรื่องราว ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้น สื่อมวลชนจำเป็นต้องใช้ทฤษฎีสื่อที่ว่าด้วยบรรทัดฐานและความรับผิดชอบสังคม
ทำไมถึงเป็นแบบนั้นแหละ? เพราะว่าวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นวิชาชีพที่ขายข่าว ความเห็น ความเชื่อ และสิ่งที่จับต้องไม่ได้ มีความแตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ ที่ประกอบอยู่ ในขณะเดียวกันสื่อต้องน้อมรับการวิพากษ์วิจารณ์จากบุคคลภายนอก เพราะสื่อย่อมสามารถล้างสมองคนด้วยความชอบธรรมได้ และการควบคุมสื่อในทางกฎหมายก็ไม่อาจกระทำได้ด้วยการควบคุมสื่อกันเองอีกด้วย และความเป็นอิสระของสื่อก็สำคัญ
แน่นอนว่าสื่อมวลชนยังสามารถตั้งข้อสังเกตต่อสิ่งต่างๆ เพื่อให้สาธารณชนได้พบเห็น และสาธารณชนก็จะสามารถเลือกสื่อที่ดีที่สุดออกมาเสพได้เหมือนกัน ฉะนั้นรัฐต้องให้อิสระกับสื่อมวลชนให้มากที่สุด เพื่อเป็นบรรทัดฐาน และสื่อต้องทำตามจริยธรรมของตนเองเช่นเดียวกัน
ซึ่งในบางครั้งการใส่ความเห็นของตนเองลงไป หรือการทำงานเชิงข้อมูลเอง สื่อมวลชนจำเป็นต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วน เช่น ข้อมูลเรื่องเม็ดเงินรายได้บริษัทส่งอาหาร ต้องสามารถต่อยอดไปได้ว่าผู้ขับขี่เป็นอย่างไร? ได้ค่าแรงมากน้อยแค่ไหน? หรือคอนเทนต์ที่ดีกว่านั้น คือการต่อยอดไปว่าถ้าเกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ของการ์ตูน ผู้ผลิตจะเป็นอย่างไร? เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การนำเสนอเนื้อหาไม่หลุดอยู่เพียงแค่การสร้างให้คนรับรู้ แต่ต้องทำให้คนเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังจะสื่อและต่อยอดไปในอนาคตมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ในขณะที่คนรับสื่อเองก็ต้องรู้จักการเปรียบเทียบข้อมูลข่าวสาร การเลือกเชื่อสื่อเพียงด้านเดียวอาจทำให้เรารับข้อมูลไม่รอบด้านมากพอ เพราะปัจจุบันนี้สื่อทุกแขนงมักใส่ความเห็นของตนเองไปในหลายคอนเทนต์ (ไม่ใช่ทุกที่ และไม่ใช่ทุกคอนเทนต์) ซึ่งบางคอนเทนต์คนเขียนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองกำลังใส่ความเห็นของตนเองเข้าไปอยู่ด้วย อาจจะเพราะด้วยความเคยชินของคนเขียนเอง เราไม่ควรปักธงเชื่อและ Fact-Checking กันให้มากขึ้นด้วยนั่นเอง
สิ่งสุดท้ายที่จะพิมพ์บอกในบทความฉบับนี้ คือองค์กรสื่อที่กำกับกันอยู่ ควรใจกว้างรับสื่อที่หลากหลามากขึ้น ลดค่าสมาชิกอันแสนโหดลงโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ขณะนี้ที่ไม่เอื้อ และพยายามโอบรับสื่อที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อเป็นกระจกสะท้อนสื่อกันเอง รวมไปถึงไม่ควรปิดกั้นความเห็นของคนรุ่นใหม่ในการนำเสนอสื่อดีๆ ออกมา “ถ้าเราอยากกำกับกันเอง เราต้องทะลุกรอบออกมาให้ได้”
ที่สำคัญคือเราต้องผลักดันไม่ให้รัฐเข้ามาครอบงำเราเฉกเช่นหลายครั้งที่ผ่านมา และเฉกเช่นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ไม่งั้นสื่อบ้านเราก็ไม่ไปไหนสักที
สวัสดีครับ
ที่มาที่ไป : ทฤษฎีการสื่อสาร โดย สุรพงษ์ โสธนะเสถียร
เปิด #ส่องสื่อ เปิดความคิด เปิดมุมมองใหม่ เพื่อสังคมที่ดีกว่า
ติดตามเราได้ทาง www.songsue.co
ติดต่อโฆษณา-ลงข่าวประชาสัมพันธ์ - kritthanan@songsue.co
โฆษณา