22 มิ.ย. 2021 เวลา 04:22 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ตลาดหุ้นยุค New Normal | บทความโดย ไพบูลย์ นลินทรางกูร
ตลาดหุ้นยุค New Normal
หนึ่งใน New Normal ที่เกิดขึ้นหลังการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 คือ จำนวนนักลงทุนรายย่อยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในตลาดหุ้นไทย แต่เกิดขึ้นในอีกหลายตลาดหุ้นทั่วโลก
นับตั้งแต่ต้นปี 2020 จำนวนนักลงทุนรายย่อยในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นถึง 800,000 คน คิดเป็นอัตราขยายตัว 45% (จาก 1.8 ล้านคน เป็น 2.6 ล้านคน) สูงที่สุดในรอบหลายสิบปี และที่น่าสนใจ คือ นักลงทุนหน้าใหม่ส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยเพียง 20-30 ปี
ในช่วงเวลาเดียวกัน ตลาดหุ้นอินโดนีเซียมีจำนวนนักลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้นถึง 70% และในจำนวนที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นนักลงทุนรุ่นใหม่ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี มากถึง 70% เวียดนามมีจำนวนนักลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้น 35% มาเลเซียเพิ่มขึ้น 20% และมากกว่า 60% ของนักลงทุนกลุ่มใหม่ของมาเลเซียมีอายุระหว่าง 26-45 ปี
ในตลาดหุ้นที่มีฐานนักลงทุนรายย่อยสูงอยู่แล้ว เช่น เกาหลีใต้ และ ไต้หวัน อัตราขยายตัวของจำนวนนักลงทุนไม่ได้สูงมาก แต่มีการเข้ามาสู่ตลาดทุนของนักลงทุนรุ่นใหม่ที่อายุน้อยกว่า 30 ปี อย่างสม่ำเสมอ
1
แม้แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่เป็นฐานลงทุนหลักของนักลงทุนสถาบัน ปริมาณซื้อขายของรายย่อยก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จนมีสัดส่วนสูงถึงเฉลี่ย 25% ของมูลค่าซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา ซึ่งเกือบเท่าสัดส่วนการซื้อขายของกองทุนรวมและเฮดจ์ฟันด์รวมกัน
ปัจจัยหลักที่ทำให้คนทั่วโลกสนใจลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก คือ
1.อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ สร้างแรงกดดันให้คนแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารทุน
2.สภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาจากมาตรการปิดเมือง ปิดประเทศ ทำให้รายได้ของคนส่วนใหญ่ลดลง การลงทุนในหุ้นจึงเป็นทางออกทางหนึ่ง
3.มาตรการ WFH ทำให้คนมีเวลาว่างมากขึ้น จึงเลือกที่จะใช้เวลาส่วนหนึ่งเรียนรู้เรื่องการลงทุน
4.พัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ช่วยให้การเข้าถึงตลาดทุนสะดวกขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็น การเปิดบัญชีที่สามารถทำได้จากบ้าน การซื้อขายแบบออนไลน์ ข้อมูลการลงทุนที่หาได้อย่างง่ายดายจากอินเทอร์เน็ต อีกทั้งยังมีแพลตฟอร์มที่ให้คำแนะนำเรื่องการลงทุนเกิดขึ้นมากมาย
ผมมองว่ากระแสความสนใจในตลาดหุ้นของนักลงทุนรุ่นใหม่ถือเป็นพัฒนาการที่ดี และประเทศไทยควรใช้โอกาสนี้ต่อยอด ตั้งเป้าหมายเพิ่มฐานนักลงทุนให้ได้อีกปีละ 1 ล้านคน ในระยะ 5 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างวัฒนธรรมการลงทุนในตลาดหุ้น หรือ Equity Investment Culture ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เหมือนในหลายประเทศพัฒนาแล้ว
อย่างที่ทราบกันดี ตลาดหุ้นไทยก่อตั้งมาเกือบ 50 ปี แต่จำนวนนักลงทุนบุคคลเพิ่งเกินหลัก 2 ล้านคนในปีที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งถือว่าช้ามาก และทำให้คนไทยส่วนใหญ่มากพลาดโอกาสในการเพิ่มความมั่งคั่งให้กับตัวเอง หากนับจากต้นปี 2010 ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นมาแล้ว 120% หรือประมาณ 10% ต่อปี รวมเงินปันผลอีก 3% ต่อปี เท่ากับผลตอบแทนเฉลี่ยถึง 13% ต่อปี
ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาครัฐ ต้องเร่งให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการลงทุนที่ถูกต้อง เพื่อให้คนรุ่นใหม่เริ่มต้นลงทุนอย่างถูกวิธี เน้นลงทุนระยะยาว ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศทั้งในด้านการลดความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง และช่วยให้คนไทยมีเงินออมที่เพียงพอใช้ในยามเกษียณ
ที่น่าเป็นห่วง คือนักลงทุนรุ่นใหม่ ยังมีพฤติกรรมการลงทุนแบบ Old Normal หรือ เน้นซื้อขายแบบเก็งกำไรระยะสั้น มากกว่าการลงทุนระยะยาว
อีกพัฒนาการที่น่ากังวล คือการใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียที่ไม่ได้ถูกกำกับดูแลจากทางการ เป็นสื่อในการชี้นำการลงทุน ความเสี่ยงก็คือนักลงทุนอาจถูกชักนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ไม่มีคุณภาพ ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อตนเองและต่อระบบได้ในที่สุด
ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องผลักดันเรื่อง การให้ความรู้ทางการเงินและการลงทุน ให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อทำให้คนไทยทุกคนมีทักษะเพียงพอในการบริหารจัดการทรัพยากรทางการเงินของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้ตลาดทุนไทยเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
โฆษณา