22 มิ.ย. 2021 เวลา 06:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ในปี 2562 ข้อมูลจาก มูลนิธิอิสรชน รายงานว่า จากการสำรวจแจ้งนับมีคนไร้ที่พึ่งในกรุงเทพฯ จำนวน 4,392 คน ขณะที่ในปี 2563 ซึ่งเริ่มมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้มีการสำรวจอีกครั้ง พบว่ามีคนไร้ที่พึ่งหน้าใหม่เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 4,432 คน และมีแนวโน้วจะเพิ่มขึ้นอีกในปี 2564
เป็นเวลาเกือบสองปีมาแล้วที่ประเทศไทย ต้องเผชิญหน้ากับโรคโควิด-19 ทำให้สถานการณ์ด้านต่างๆ แย่ลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจที่นับวันยิ่งทรุดตัวลง ธุรกิจใหญ่น้อยได้รับผลกระทบ ร้านค้าปิดตัว อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้คนจำนวนหนึ่งกลับกลายมาเป็นคนไร้บ้าน ไม่มีงานทำเพื่อหาเลี้ยงชีพและต้องมาอาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะ เฝ้ารอคนใจดีมาแจกอาหารประทังชีวิต
สิทธิการเข้าถึงวัคซีนของคนไร้ที่พึ่งนั้นไม่ง่าย เพราะส่วนใหญ่พวกเขาไม่มีสมาร์ทโฟนหรือโทรศัพท์มือถือในการติดตามข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐ บางคนเข้าไม่ถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล ไม่มีประกันสังคม ไม่ได้รับสวัสดิการของรัฐ ขณะที่บางคนไม่มีแม้แต่บัตรประชาชน ทำให้ความหวังในการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ค่อนข้างริบหรี่ แม้จะมีภาคประชาสังคมบางแห่งที่พยายามช่วยเหลือและสำรวจจำนวนคนไร้บ้านในพื้นที่ กทม.เพื่อจัดทำฐานข้อมูลให้พวกเขาได้เข้าถึงวัคซีน มีความปลอดภัยและไม่กลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้น ขณะที่หน่วยงานภาครัฐยังขาดมาตราการเชิงรุกในจัดการให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงวัคซีนได้อย่างทั่วถึง
ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีประกาศเป้าหมายว่าจะเปิดประเทศในเวลา 120 วัน และตั้งเป้าจัดหาวัคซีนกว่า 100 ล้านโดสในปีนี้ เพื่อฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับประชาชนทุกคนโดยเร็วที่สุด แม้นโยบายที่ประกาศของนายกรัฐมนตรี​จะฟังดูดีมีความหวัง​ แต่กับไม่มีแผนการณ์ใดๆ​ ที่ชัดเจนขณะที่โอกาสในการเข้าถึงวัคซีนของคนไร้ที่พึ่งเปรียบเสมือนแสงไฟในอุโมงค์ที่ยาวไกลออกไป
ชายไร้บ้านคนหนึ่ง นั่งมองคู่รักหนุ่มสาวใช้สมาร์ทโฟนถ่ายภาพเซลฟี่ ขณะที่ช่องทางหลักในการลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 จำเป็นต้องใช้สมาร์ทโฟนเข้าเว็บไซต์หรือจองคิวผ่านแอปฯ สำหรับคนไร้บ้านที่ส่วนใหญ่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่บัตรประชาชน การเข้าถึงวัคซีนของพวกเขาช่างดูห่างไกลจากความจริง
ริมถนนราชดำเนินใกล้ๆ กับอนุเสาวรีย์ประธิปไตย คือจุดนัดพบของคนไร้บ้าน ที่ต่างรอคอยคนใจดีเอาอาหารมาแจกเป็นประจำทุกวัน
จากการสำรวจในปี 2563 พบว่า กทม. มีคนไร้ที่พึ่งกว่า 4 พันคน และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นสูงในปีนี้ หลังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจที่ปิดตัว อัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่บางคนไม่มีทางเลือกต้องกลายเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่
ชายไร้บ้านคนหนึ่ง นอนพักผ่อนริมถนนยามค่ำคืน ท่ามกลางรถราที่ผ่านไปมาย่านเยาวราช
“ความหวังที่ผมจะได้เข้าถึงวัคซีน ก็เหมือนดวงตาของผมที่เริ่มจะเรือนรางลงไปทุกวัน”
กลุ่มคนไร้บ้านที่กำลังเฝ้ารอการมาแจกอาหารอยู่บริเวณหน้าโชว์รูมรถหรู ริมถนนราชดำเนิน
การเก็บขยะขายเป็นช่องทางหนึ่งของคนไร้บ้าน ที่ทำให้พวกเขามีรายได้ประคองชีวิตให้รอดในแต่ละวัน
ล่าสุดราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เตรียมฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม แก่ผู้พิการและด้อยโอกาส จำนวน 6,400 คน ในวันที่ 25 มิ.ย. นี้ ซึ่งรวมถึงกลุ่มคนเร่ร่อนที่อาศัยในพื้นที่ กทม. ด้วย
“บางวันก็ได้กินข้าว บางวันก็ไม่ได้กิน แต่ถ้าเป็นช่วงวันหยุดก็จะมีคนมาแจกอาหารมากหน่อย” อาหารจากคนใจดี ที่หมุนเวียนกันมาแจกให้กับคนไร้บ้าน เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้พวกเขายังมีชีวิตอยู่ได้ในช่วงที่ยากลำบาก
“ผมก็เคยฉีดวัคซีนนะ แต่มันก็หลายปีมาแล้ว ฮ่าๆๆ ” คำพูดติดตลกของชายไร้บ้านวัย 60 ปี ก่อนจะเล่าต่อว่า ตัวเขาเร่รอนในเมืองใหญ่แห่งนี้มาแล้วจวนจะครึ่งปี เขาหวังว่าจะมีที่ทำงานสักแห่งรับเขาเข้าทำงาน ในตำแหน่งพนักงานรักษาความปลอดภัยอย่างที่เคยทำมา ก่อนจจะถอดหมวกโชว์ศีรษะที่สั้นเกรียนของเขา
เรื่องและภาพ : ธนัญชัย แก้วโสวัฒนะ / Thai News Pix
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
ไม่พลาดข่าวธุรกิจ การตลาดที่สำคัญ ติดตาม TODAY Bizview https://bit.ly/3picIeS
ติดตามรายการของ workpointTODAY ทาง YouTube https://bit.ly/2YDfyiK
ติดต่อโฆษณา E-mail: advertorial@workpointnews.com
โฆษณา