23 มิ.ย. 2021 เวลา 10:15
ทำไมจะได้รับวัคซีนดีๆมันยากนัก?
เป็นที่รู้กันว่าประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเรายังไม่ได้รับวัคซีน จึงไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับคนในประเทศ เพื่อที่จะเปิดประเทศให้ระบบเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติและไม่เกิดวิกฤตทางการเงินการคลังกว้างขวางอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในไทยแต่ยังเกิดกับประเทศส่วนใหญ่ในโลก
ต้นเหตุสำคัญหลักเลยคืออุปสงค์และอุปทานของวัคซีน เพราะแน่นอนว่าทุกประเทศต้องการวัคซีนหมดแต่มีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่สามารถผลิตวัคซีนได้ เพราะการผลิตวัคซีนจัดเป็นอุตสาหกรรมทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีสูง ผู้ผลิตต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ เครื่องมือ วัตถุดิบและบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ
เช่นเดียวกับการผลิตเครื่องบินซักลำนึง ระบบต่างๆส่วนประกอบมีการผลิตจากหลากหลายแหล่งตามความเหมาะสม เช่น ยาง ล้อ เครื่องยนต์ กระจก เก้าอี้ ฯลฯ ทีนี้การผลิตวัคซีนก็ไม่ต่างกัน มีการกระจายส่วนประกอบและวัตถุดิบไปยังที่ต่างๆในลักษณะของห่วงโช่อุปทาน
การค้าระหว่างประเทศจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการผลิตวัคซีนโดยทั่วไป รวมถึงแพคเกจ อุปกรณ์การฉีด และส่วนประกอบอื่นๆก็มีแหล่งผลิตที่กระจายอยู่ทั่วโลก ถ้าเรานำข้อมูลการนำเข้าวัคซีนและการส่งออกวัคซีนมาดู จะพบว่ามีความแตกต่างกันได้อย่างมาก มีการศึกษาของOECD ที่ดอกเบี้ยสีทองนำมาเล่าในวันนี้เกี่ยวกับวัคซีนสำหรับมนุษย์ เค้าบอกว่า ประเทศที่นำเข้าวัคซีนมีอยู่ 208 ประเทศ แต่มีประเทศที่ส่งออกเพียง 90 ประเทศ โดยวัคซีนจัดอยู่ในอันดับที่ 6 จาก100 สินค้าที่มีความต้องการนำเข้าสูงสุด โดยมีอันดับ 1 คือสมาร์ทโฟน
ถ้าเราดูตัวเลขผู้ส่งออก 90 ประเทศซึ่งดูเหมือนจะเยอะนะ แต่ถ้าดูผู้ส่งออกหลักที่ครอบคลุมปริมาณการส่งออกวัคซีนคิดเป็นสัดส่วนถึง 93% จะยิ่งทำให้เราเห็นความเหลื่อมล้ำเข้าไปอีกเพราะ93%ที่ว่านี้กระจุกอยู่เพียง10 ประเทศเท่านั้น โดยมีอันดับ 1 คือประเทศ ไอร์แลนด์ โดยมีสัดส่วนถึง 28% ตามด้วยเบลเยียมและฝรั่งเศส จะเห็นว่าทุกประเทศเป็นประเทศพัฒนาแล้วในยุโรปทั้งหมด
มาดูฝั่งผู้นำเข้ากันบ้าง อันดับ 1 ที่ 24% คือสหรัฐฯ ตามด้วยเบลเยียมและอังกฤษ ซึ่งก็เป็นประเทศพัฒนาแล้วอีกนั่นแหละ จะสังเกตว่าประเทศที่มีรายชื่อส่งออกนำเข้าที่สะดุดตามากที่สุดคือ เบลเยียมนั่นเอง นั่นหมายความว่า เบลเยียมจัดเป็นประเทศทีมีความสามารถเรื่องการผลิตเกี่ยวกับวัคซีน ยังรวมถึงการทำบรรจุภัณฑ์ เบลเยียมก็ยังมีเทคโนโลยีขั้นสูงที่เอื้อต่อการนำเข้าส่งออกวัคซีนมากๆ
แต่ประเด็นที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ “กฎหมาย”ที่เกี่ยวข้องกับยาและนโยบายการค้า ทุกท่านก็คงเคยได้ข่าวกันมาบ้างแล้วว่าตอนเรานำเข้าวัคซีนมันจะมีข้อกำหนดนั่นนี่เต็มไปหมด พบว่าทั้งโลกมีค่าเฉลี่ยภาษีนำเข้าวัคซีนอยู่ที่ 0.76%หรือคิดเป็น 1 ใน10 ของภาษีนำเข้าสินค้าอื่นๆ ซึ่งพบว่า1ใน5 ของประเทศทั่วโลกยังมีการเก็บภาษีวัคซีนอยู่ อย่าบอกนะว่าไทย... อยู่ใน 1ใน5นี้แหละ ซึ่งเบลเยียมเองนั้นมีกระบวนการอนุมัติและนโยบายการค้าเกี่ยวกับยาและวัคซีนที่ค่อนข้างเอื้อต่อการได้เปรียบในการเป็นผู้นำเข้าและส่งออกวัคซีนจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาในด้านอุตสาหกรรมยาอย่างรุดหน้า
เห็นสิ่งดีๆไปแล้วลองย้อนมาดูที่ประเทศเรา นอกจากภาษีแล้วประเทศเรายังมีอุปสรรคที่วัดไม่ได้ด้วยตัวเลขอย่างเช่น มาตรการทางด้านสุขอนามัย การควบคุมราคา เงื่อนไขในการนำเข้าของเอกชน ซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซ้ำซ้อนทำให้เกิดความล่าช้าในการที่เราจะเข้าถึงวัคซีนได้
มาดูมูลค่าการนำเข้าส่งออกยาและวัคซีนทั่วโลกดีกว่า เราพบว่าประเทศที่มี GDP ต่อหัวสูงอันดับต้นๆของโลกอย่างไอร์แลนด์ มีปริมาณการนำเข้าและส่งออกต่อหน่วยสูงที่สุดหรือพูดง่ายๆคือผลิตส่งออกยาและวัคซีนได้ราคาแพงที่สุดในโลก แนวโน้มนี้ยังรวมถึงประเทศที่มี GDP ต่อหัวสูงๆประเทศอื่นด้วยก็มักจะสามารถส่งออกวัคซีนที่มีราคาแพงได้มาก (ไม่เน้นปริมาณแต่เน้นคุณภาพ)
มามองไกล้บ้านหน่อยอย่างอินเดีย ส่งออกอยู่ 2%ของมูลค่าวัคซีนโลก แต่คิดเป็นถึง 8% ของปริมาณทั้งหมด แปลว่าอินเดียขายวัคซีนที่ราคาต่ำหน่อยนั่นเอง (เน้นปริมาณไม่เน้นคุณภาพ)
การผลิต การกระจาย และการฉีดวัคซีนล้วนเป็นส่วนสำคัญไม่แพ้กัน Pfizerใช้ส่วนประกอบเพื่อจะผลิตวัคซีน 1 โดสถึง 280 ชนิด จากซัพพลายเออร์ 86 แหล่งครอบคลุม 19 ประเทศ ส่วนประกอบสำคัญมีอยู่ 4 ชนิดหลักๆ ได้แก่ 1) สารที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกัน โดยนำเข้า3 อันดับแรกจากเม็กซิโก จีน และตุรกีตามลำดับ 2) สารกันเสีย นำเข้า3 อันดับแรกจากเยอรมัน อาร์เจนติน่า และอินเดียตามลำดับ 3) สารเพิ่มความคงตัว นำเข้า3 อันดับแรกจากฝรั่งเศส จีน และเยอรมันตามลำดับ 4) สารป้องกันการติดเชื้อ นำเข้าจากจีน และ สวิตเซอร์แลนด์
มาต่อด้วยส่วนประกอบอื่น เช่นขวดบรรจุวัคซีนPfizer นำเข้าจาก จีน เยอรมัน อิตาลี ส่วนจุกยางปิดขวดมาจากเยอรมัน จีน และโปแลนด์ ฟรีสเซอร์ที่มีในระบบขนส่งและเก็บก็มาจากหลายๆประเทศ รวมถึงเข็มฉีดยา กระบอกฉีดยา ที่มาจากในสหรัฐเอง เยอรมัน จีน ไอร์แลนด์ เป็นต้น
เราจะเห็นว่าทุกกระบวนการใช้ทรัพยากรเยอะมาก แต่เราจะเห็นว่าชื่อมันก็ซ้ำๆกันการกระจุกตัวของกระบวนการผลิตมีสูงมากๆ ซึ่งสรุปได้ว่า จีน เยอรมัน สหรัฐฯ มีความเกี่ยวข้องโดยรวมมากที่สุดหรือเรียกได้ว่าเป็นมหาอำนาจทางวัคซีน เราจะเห็นภาพว่าประเทศกำลังพัฒนาต้องพึ่งพาประเทศพัฒนาแล้วอย่างมาก
เราจะเห็นกันแล้วว่าอุปสรรคในการกระจายวัคซีนมีมากมายเหลือเกินทั้ง จากวัตถุดิบที่มาจากหลากหลายแหล่ง กำลังการผลิต การขนส่งและการจัดเก็บ ล้วนมีผลต่อการตัดสินใจและการเตรียมพร้อมของประเทศปลายทาง ถ้าจะสรุปว่าเราต้องส่งเสริมด้านใดเพื่อทำให้การกระจายวัคซีนมีประสิทธิภาพมากที่สุดทั้งโลก เพราะไม่มีประเทศจะรอดจากสถานการณ์นี้ได้ถ้าทิ้งประเทศอื่นไว้ข้างหลัง เราจะเห็นว่าสหรัฐฯเริ่มแบ่งวัคซีนออกมาหลายระลอกเพราะสุดท้ายเค้าจะอยู่ได้ถ้าทั้งโลกปลอดภัยด้วยกัน OECD แนะนำไว้ดังนี้เพื่อความร่วมมือของนานาประเทศคือ
1) พักภาษีนำเข้าไปก่อนเลยจ้า รวมถึงมาตรการเข้มงวดต่างๆไว้บ้านเมืองปกติค่อยงัดออกมา ก่อนที่จะไม่มีเงินในการนำเข้าสินค้าอย่างอื่น
2) ประเทศส่งออกในห่วงโซ่อุปทานก็ช่วยๆกันพักยกก่อน ข้อห้ามเวิ่นเว้อก็เว้นไว้สำหรับส่งออกวัคซีนก็ได้ อันนี้คือบอกพวกส่งออกวัตถุดิบที่เป็นองค์ประกอบของวัคซีน
3) ส่งเสริมความร่วมมือทางศุลกากรระหว่างประเทศรวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องในการกระจายวัคซีน
4) โปร่งใสกันหน่อยนะทุกภาคส่วน แชร์ข้อมูลเรียลๆของทั้งห่วงโซ่อุปทาน ประเทศปลายทางจะได้วางแผนกันถูกว่าจะฉีดอะไรยังไง
โฆษณา