24 มิ.ย. 2021 เวลา 01:17 • หุ้น & เศรษฐกิจ
📌ลงทุนกองทุนตราสารหนี้อย่างไรดี ในสภาวะตลาดดอกเบี้ยขาขึ้น?
1
หลังจากที่เมื่อวานเราได้อธิบายถึงพื้นฐานตราสารหนี้ที่ต้องรู้ไปแล้ว วันนี้ #ด็กการเงิน จะมาอธิบายว่าในสภาวะตลาดปัจจุบันนี้ ถ้านักลงทุนอยากลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ ต้องเลือกลงทุนอย่างไรค่ะ
หลายคนที่ลงทุนในหุ้น เข้าใจอยู่แล้วว่ากำไร ขาดทุนในหุ้นเกิดจากการได้รับปันผล และ capital gain/loss ตอนซื้อหรือขายหุ้นใช่มั้ยคะ ทั้งนี้ราคาหุ้นจะขึ้นหรือลงก็ขึ้นอยู่กับทั้งปัจจัยเฉพาะตัว และปัจจัยภายนอก สำหรับตราสารหนี้จะค่อนข้างซับซ้อนกว่านั้น เราเลยขออธิบายถึงที่มาของผลตอบแทนจากตราสารหนี้ก่อน และมีปัจจัยใดบ้างที่กระทบต่อผลตอบแทนของตราสารหนี้ แล้วค่อยมาปิดท้ายด้วยสรุปว่าในสภาวะตลาดปัจจุบันนี้ ถ้านักลงทุนอยากลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ ต้องเลือกลงทุนอย่างไรค่ะ
📌ผลตอบแทนจากตราสารหนี้มาจากไหนบ้าง?
ในที่นี้เราจะขอยกตัวอย่างโดยให้กองทุนตราสารหนี้เป็นเจ้าหนี้ โดยมีผู้จัดการกองทุนคอยบริหารงาน ซื้อขายทำกำไรให้กับกองทุน ส่วนบริษัทเอกชนต่างๆ หรือรัฐบาลที่ออกตราสารหนี้มาคือลูกหนี้นะคะ ซึ่งผู้ออกตราสารหนี้หรือลูกหนี้มีหน้าที่ต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (ในที่นี้ขอเรียกว่าคูปองเพื่อไม่ให้สับสนกับอัตราดอกเบี้ยในตลาด) ให้แก่นักลงทุนหรือเจ้าหนี้ตามที่กำหนดไว้ และต้องจ่ายเงินต้นคืนตอนที่ตราสารหนี้หมดอายุด้วย ทั้งนี้ผู้จัดการกองทุนก็สามารถซื้อขายตราสารหนี้ที่มีอยู่ในพอร์ตได้เหมือนหุ้นเลยนะคะ และสามารถนำคูปองที่ได้รับกลับมาในแต่ละงวดไปลงทุนต่อ (coupon reinvest) เพื่อหาผลตอบแทนเพิ่มเติมได้ด้วย ดังนั้นผลตอบแทนจากตราสารหนี้จะมาจาก 3 ส่วนดังนี้
1️⃣ คูปองที่ได้รับทุกงวด และเงินต้นคืนตอนครบกำหนดอายุ (Coupon payment & Principal)
2️⃣ ผลตอบแทนจากการนำคูปองที่ได้รับในแต่ละงวดกลับไปลงทุน (Coupon reinvest)
3️⃣ กำไร/ขาดทุนจากการซื้อขายตราสารหนี้ (Capital gain/loss) กรณีที่ยังไม่หมดอายุ และต้องการเทรดในตลาด
📌ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนของตราสารหนี้
มี 3 ปัจจัยหลักๆ ที่กระทบต่อผลตอบแทนของตราสารหนี้ ได้แก่ ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้ อัตราดอกเบี้ยในตลาด และความต้องการและสภาพคล่องของตราสารหนี้แต่ละตัว มาทำความเข้าใจไปทีละปัจจัยนะคะ
ปัจจัยที่ 1️⃣ ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้ (Credit risk) สำหรับตราสารหนี้ภาครัฐถือว่าไม่มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ ไม่มี default risk แต่ตราสารหนี้ภาคเอกชนจะมีความเสี่ยงนี้อยู่ ซึ่งสามารถดูได้จากอันดับความน่าเชื่อถือ หรือ credit risk ที่จัดทำโดย TRIS Rating หรือ Fitch Rating โดยอันดับเครดิตสูงๆ จะมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ต่ำ และมีคูปองต่ำ ส่วนอันดับเครดิตต่ำๆ จะมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูง และมีคูปองสูงเพื่อชดเชยความเสี่ยงให้
ปัจจัยที่ 2️⃣ อัตราดอกเบี้ยในตลาด (Interest rate) ตัวนี้เป็นตัวสำคัญมากซึ่งกระทบต่อ “Coupon reinvest” และ “กำไร/ขาดทุนจากการซื้อขายตราสารหนี้”
มาดูในแต่ละส่วนนะคะ
2.1 ในส่วนของ Coupon reinvest ในสภาวะตลาดที่เป็นดอกเบี้ยขาขึ้น ถ้าเรานำคูปองที่ได้รับกลับมาไปลงทุนเพิ่ม เราก็จะได้รับผลตอบแทนมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นสภาวะตลาดที่เป็นดอกเบี้ยขาลง คูปองที่นำไปลงทุนต่อนั้นก็จะได้รับผลตอบแทนที่น้อยนั่นเอง
นอกจากนี้ตราสารหนี้ระยะสั้น ยังมีความเสี่ยงต่ำกว่าตราสารหนี้ระยะยาวในสภาวะตลาดที่เป็นดอกเบี้ยขาขึ้น เนื่องจากจะได้รับเงินคืนและสามารถนำมาลงทุนต่อได้ไวกว่านั่นเอง
2.2 กรณีกำไร/ขาดทุนจากการซื้อขายตราสารหนี้ ต้องบอกก่อนว่าโดยปกติแล้ว อัตราดอกเบี้ยในตลาด (interest rate) จะเคลื่อนไหวสวนทางกับราคาตราสารหนี้ ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?
ยกตัวอย่างว่า ผู้จัดการกองทุน A ซื้อตราสารหนี้มาราคา 100 บาท ซึ่งจะจ่ายคูปองทุกปี ปีละ 5% พอซื้อได้ 3 เดือน อัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6% (ตราสารหนี้ตัวใหม่ๆที่ออกมา ราคา 100 บาทก็จะจ่ายคูปอง 6%) ถามว่าแล้วตราสารหนี้ที่กองทุน A มีอยู่จะเป็นอย่างไร?
คำตอบคือ ตราสารหนี้ที่กองทุน A ถืออยู่จ่ายดอกเบี้ยให้น้อยกว่าตราสารหนี้ที่ออกมาใหม่ ดังนั้นตราสารหนี้ที่กองทุน A ถืออยู่ก็จะมีความน่าสนใจลดน้อยลง แล้วถ้าผู้จัดการกองทุนต้องการจะขาย จะต้องทำยังไง? คำตอบคือ ก็ต้องลดราคาให้ถูกลงต่ำกว่า 100 บาทที่ซื้อมาตอนแรก จึงจะขายได้ค่ะ ด้วยเหตุผลนี้จึงเป็นที่มาว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาด จะเคลื่อนไหวสวนทางกับราคาตราสารหนี้นั่นเอง เมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ราคาตราสารหนี้ที่เราถืออยู่จึงลดลง เราจึงขาดทุนนั่นเอง
ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่เราจะเห็นว่าบางครั้งกองทุนตราสารหนี้ที่เรามีอยู่ติดลบ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเราลงทุนในระยะยาวหรือตามช่วงอายุของตราสารหนี้ที่กองทุนนั้นๆ ลงทุน (กองทุนจะมีแจ้งไว้ใน Fund Fact Sheet ชื่อเป็นภาษาอังกฤษคือ duration หรืออายุเฉลี่ยของสินทรัพย์ที่ลงทุน) กองทุนจะได้รับดอกเบี้ยจากการลงทุนกลับเข้ามา และทำให้ผลตอบแทนของกองทุนกลับมาบวกได้
ปัจจัยที่ 3️⃣ ความต้องการและสภาพคล่องของตราสารหนี้แต่ละตัวด้วย ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในปีที่แล้วคือ กองทุนตราสารหนี้บางกองได้ถูกนักลงทุนเทขายมาก เพราะต้องการเก็บเงินสดไว้ ทำให้กองทุนขาดสภาพคล่อง และต้องนำสินทรัพย์ในกองทุนไปขายในตลาดเพื่อนำเงินมาจ่ายนักลงทุน ในช่วงเวลานั้น กองทุนอาจจะไม่สามารถต่อรองได้มาก จึงอาจมีการยอมขายขาดทุนเพื่อที่จะได้เงินมาจ่ายคืนนักลงทุน ในฝั่งที่ได้ประโยชน์ก็คือกองทุนตราสารหนี้อื่นๆ ที่ยังมีสภาพคล่อง ในช่วงเวลานั้นก็สามารถซื้อของถูกได้นั่นเอง
🎯สรุป ในสภาวะตลาดตอนนี้ที่ดอกเบี้ยต่ำมากๆ ในอนาคตจะมีการขึ้นดอกเบี้ย ควรเลือกลงทุนในกองทุนที่มี Portfolio duration หรือพอร์ตที่มีอายุเฉลี่ยของสินทรัพย์ลงทุนต่ำ เช่น 1-3 ปี เพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยลบที่มาจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ต้องพิจารณาถึงอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้ด้วย ถ้าอันดับ credit rating ต่ำ ก็จะได้ผลตอบแทนมาก แต่แลกมากับความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
โฆษณา