24 มิ.ย. 2021 เวลา 04:00 • สุขภาพ
ไขปม นายกฯเยอรมนี ฉีดวัคซีนโควิด 2 ชนิด แอสตร้า-โมเดอร์น่า สร้างความมั่นใจ?
ฉีดวัคซีนโควิด 2 ชนิดต่างได้หรือไม่ ?
ใครหลายคนอาจจะมีข้อสงสัยในท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังเล่นงานคนทั้งโลก โดยคำถามใหญ่ในประเด็นการต่อสู้กับโรคระบาดในช่วงนี้ คือ ทุกคนสามารถฉีดวัคซีน 2 ชนิดที่ต่างชนิดกันได้หรือไม่ ? คำถามนี้ เกิดขึ้นในช่วงภาวะที่แต่ละประเทศ ในบางช่วงเวลา อาจจะมีจุดที่วัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่งขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนโควิดแบบ mRNA, วัคซีนเวคเตอร์ หรือ ใช้เชื้อตายแบบวัคซีนซิโนแวค
ในประเด็นคำถามนี้ มีการตอบที่ชัดเจน จากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO โดยอ้างอิงจาก ดร.เคท โอไบรอัน หัวหน้าฝ่ายวัคซีนขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวให้ข้อมูลว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับอนุมัติใช้เพื่อการฉุกเฉินทั่วโลกตอนนี้ ได้ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันของมนุษย์ ในการต่อสู้กับโควิด-19 แต่วิธีในการผลิตแอนติบอดีจะแตกต่างกันออกไป
"หากยึดตามพื้นฐานการทำงานของวัคซีน คิดว่า การใช้วัคซีนต่างชนิดกัน ได้ผลในการป้องกันโควิด-19"
แมร์เคิลฉีดวัคซีน 2 ชนิดต่างกัน
ขณะเดียวกัน ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด อังกฤษ กำลังทดสอบการใช้วัคซีนโควิดในรูปแบบ 2 โดสที่ต่างชนิดกัน โดยทดสอบระหว่างวัคซีน ผลิตโดยบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า โมเดอร์น่า โนวาแวกซ์ และไฟเซอร์ อีกทั้งยังมีการทดสอบแบบเดียวกันในกลุ่มทดลองขนาดเล็กในสเปน และเยอรมนี
เรื่องนี้ สอดคล้องกับกรณีที่เพิ่งเปิดเผยออกมาว่า แองเกล่า แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ในวัย 66 ปี เพิ่งเข้ารับวัคซีนโมเดอร์นาเป็นวัคซีนต้านโควิด-19 เข็มที่ 2 หลังจากเข็มแรกที่เธอฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า
ทั้งนี้ วัคซีนโควิด ทั้ง 2 เข็มที่ แองเกล่า แมร์เคิล ฉีดไปนั้น เป็น 2 ชนิดที่แตกต่างกัน โดยเข็มแรก วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นชนิดไวรัสเวคเตอร์ ขณะที่วัคซีนโมเดอร์น่า เข็มที่ 2 ที่เพิ่งฉีดไป เป็นชนิด mRNA
โดย นางแองเกล่า แมร์เคิล ถือเป็นหนึ่งใน 26 ล้านคนที่ได้รับวัคซีน 2 ชนิดที่แตกต่างกัน และสถานการณ์ในเยอรมนี มีการฉีดวัคซีนประชาชนไปแล้ว 51.2 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร และสาเหตุที่ต้องเร่งฉีด ถึงแม้จะต่างชนิดวัคซีนกัน นั่นเป็นเพราะ จำเป็นต้องหยุดการระบาดของโควิดรอบ 3 ในเยอรมนีให้ได้โดยเร็วที่สุด
ฉีดแอสตร้าแล้วตามด้วย mRNA ได้
ทั้งนี้ Virology and Cell Technology Lab - BIOTEC ของห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 โดยระบุว่า หากฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในเข็มแรก และตามมาด้วยวัคซีนประเภท mRNA ในเข็มที่ 2 ผลคือทำให้ภูมิคุ้มกันสูงมาก กันโควิดได้กลายพันธุ์ได้ทุกตัว
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้ยังมีความน่ากังวลคือ การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม มีผลอย่างดีในการในการยับยั้งโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์อัลฟ่า (โควิดสายพันธุ์อังกฤษ) แต่กลับได้ผลที่ไม่ค่อยดีในการยับยั้งโควิดสายพันธุ์เบต้า (สายพันธุ์แอฟริกา) และแกมม่า (โควิดสายพันธุ์บราซิล)
หลายที่ : เดินเกมฉีดวัคซีน2ชนิดต่างกัน
ส่วนการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มเดียว ได้ผลดีกับการยับยั้งโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่น้อยเกินไปที่จะยับยั้งโควิดกลายพันธุ์ทุกตัว
ปัจจุบัน มีนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญบางส่วนกำลังศึกษาเกี่ยวกับการใช้วัคซีนฉีดวัคซีนเข็ม 1 กับเข็ม 2 ต่างชนิดกัน
ส่วนในอังกฤษและแคนาดา เจ้าหน้าที่แนะประชาชนควร ตั้งเป้าที่จะรับวัคซีนชนิดเดียวกันทั้งสองโดส ในกรณีประชาชนได้รับแอสตร้าเซนเนก้าแล้วเป็นเข็มแรก และควรได้รับวัคซีนชนิดอื่น ก็ต่อเมื่อมีประวัติเกิดลิ่มเลือดอุดตันหรือเงื่อนไขอื่นๆ ที่อาจทำให้พวกเขาเหล่านั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดสูงขึ้น
ขณะที่ ในบางประเทศกำลังศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ของการฉีดวัคซีนเข็ม 1 กับเข็ม 2 ต่างชนิดกัน สืบเนื่องจากปัญหาขาดแคลนวัคซีนและเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกัน ในนั้นรวมถึงรัฐออนแทรีโอและควิเบกของแคนาดา ที่บอกว่ามีแผนใช้วัคซีนต่างยี่ห้อในอนาคตอันใกล้นี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและข้อกังวลเกี่ยวกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่เกิดขึ้นน้อยมาก
ขณะที่ผลการศึกษาหนึ่งในสหราชอาณาจักร พบว่าบุคคลวัยผู้ใหญ่ดูเหมือนจะมีผลข้างเคียงเล็กน้อยถึงปานกลาง หลังได้รับวัคซีน 2 เข็มต่างชนิดกัน ระหว่างวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและวัคซีนไฟเซอร์
ขณะที่ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็น การฉีดวัคซีน 2 เข็มที่ต่างชนิดกันได้อย่างน่าสนใจ โดยยกตัวอย่าง การที่แองเจล่า แมร์เคิล ทำแบบนี้ อาจจะเป็นหลักฐานและเป็นสิ่งที่สร้างความมั่นใจ ให้ประชาชนได้เชื่อมั่นกับการฉีดวัคซีน 2 ชนิดที่แตกต่างกัน
โฆษณา