3 ก.ค. 2021 เวลา 10:59 • กีฬา
ฝึกด้วยแรงต้านได้อะไรมากกว่ากล้ามโต ???
หลายๆ คนคงทราบอยู่แล้วว่าการฝึกด้วยแรงต้าน (Resistance training) ทำให้ขนาดของกล้ามเนื้อนั้นใหญ่ขึ้น กระชับขึ้น และก็อาจจะคิดต่อได้ว่าเมื่อกล้ามเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้นก็คงมีแรงมากขึ้นด้วย
-- ความเข้าใจแบบนั้นก็ไม่ผิด --
แต่จริงๆ แล้ว เบื้องลึกก่อนที่กล้ามเนื้อจะใหญ่ได้นั้น มันมีบางอย่างที่เกิดการพัฒนาไปก่อนแล้ว
สิ่งนั้นก็คือ “ระบบประสาท” นั่นเอง
จากงานวิจัยที่ผ่านมาทำให้ทราบว่า การพัฒนาของร่างกายที่เกิดจากการฝึกด้วยแรงต้านนั้น ในช่วง 6-10 สัปดาห์แรกของการฝึก จะเป็นการพัฒนาด้านระบบประสาท (Neural adaptation)
การพัฒนาของระบบประสาทนี้มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในนักกีฬาที่ต้องใช้ Power หรือพูดง่ายๆก็คือต้องใช้ทั้งความแรงและความเร็วพร้อมๆกัน เช่น นักเทควันโดที่ต้องเตะให้เร็วและแรงเพื่อทำคะแนน หรือ การเตะลูกบอลที่ต้องเร็วและแรงเพื่อให้บอลเคลื่อนที่ไปได้ไกล
 
แล้วการพัฒนาของระบบประสาทมีอะไรบ้างล่ะ
อย่างแรก คือ เกิดการพัฒนาของระบบประสาทส่วนกลาง โดยเมื่อร่างกายมีการฝึกด้วยแรงต้าน สมองส่วน Motor cortex จะเกิดการทำงานมากขึ้น เพราะต้องกระตุ้นให้กล้ามเนื้อมัดที่เราฝึกให้ออกแรงมากขึ้นเพื่อเอาชนะแรงต้าน และยังเกิดการพัฒนาที่ไขสันหลังด้วย
อย่างที่สองที่เกิดขึ้น คือ “เกิดการพัฒนาของ Motor unit” นั่นก็คือเกิดการพัฒนาของเซลล์ประสาทและเส้นใยกล้ามเนื้อที่เซลล์ประสาทมาควบคุมไปพร้อมๆ กัน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มีทั้ง
(1) มีการระดมภ์หรือมีการใช้หน่วยยนต์ชนิดหดตัวเร็วมากขึ้น (Fast-twitch motor unit)
(2) มีการส่งสัญญาณประสาทที่เร็วขึ้นและถี่ขึ้น
(3) มีการทำงานที่ประสานกัน (Synchronization) มากขึ้น ทำให้เส้นใยกล้ามเนื้อหดตัวพร้อมๆกัน เลยทำให้ออกแรงได้เยอะมากขึ้นนั่นเอง
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การพัฒนาของ Motor unit ยังเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Selective recruitment ทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาไปกระตุ้น Motor unit ตัวอื่นๆ
ตามหลักการทางสรีรวิทยาของกล้ามเนื้อ เมื่อกล้ามเนื้อเริ่มมีการหดตัว Motor unit จะถูกกระตุ้นจากชนิดที่เรียกว่า Type I หรือ ชนิดที่หดตัวแล้วเกิดแรงน้อยๆก่อน เพราะ Motor unit ชนิดนี้มีค่า Threshold ที่ต่ำ คือถูกกระตุ้นได้ง่าย จากนั้นจึงค่อยเกิดการกระตุ้น Motor unit type II หรือ ชนิดที่หดตัวแล้วเกิดแรงเยอะ ตามมา
แต่พอเรามีการฝึกด้วยแรงต้าน ลำดับการกระตุ้นนี้สามารถข้ามขั้นได้เลย พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อเรามีการฝึกกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ ด้วยแรงต้าน พอเราไปเล่นกีฬาที่ต้องใช้กล้ามเนื้อมัดดังกล่าว Motor Unit ของกล้ามเนื้อมัดนั้นจะสามารถกระตุ้น Type II ทำให้ออกแรงได้แรงและเร็วอย่างทันที ไม่ต้องเสียเวลาไปกระตุ้น Type I ก่อน
อย่างที่สามที่เกิดการเปลี่ยนแปลงหลังจากการฝึกด้วยแรงต้าน คือ บริเวณรอยต่อของเซลล์ประสาทกับเซลล์กล้ามเนื้อ ที่เราเรียกว่า Neuromuscular junction มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง ทำให้มีขนาดที่กว้างขึ้น ทำให้เพิ่มพื้นที่ในการส่งสารสื่อประสาท Acetylcholine มากขึ้นด้วย พอสารสื่อประสาทส่งไปได้มากขึ้น การหดตัวของกล้ามเนื้อก็เกิดมากขึ้นเช่นกัน
อย่างสุดท้ายก็คือเกิดสิ่งที่เรียกว่า Neuromuscular reflex potentiation นั่นคือการที่เพิ่มการทำงานของ Muscle spindle โดยปกติ Muscle spindle จะทำหน้าที่รับรู้การเปลี่ยนแปลงความยาวของกล้ามเนื้อและควบคุมให้กล้ามเนื้อมัดนั้นออกแรงหดตัว เรียกอีกอย่างว่าเกิด Stretch reflex อย่างเช่น เวลาที่เคาะบริเวณหัวเข่าและเกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า ทำให้เกิดการเหยียดเข่าออกแบบอัตโนมัติ ทีนี้เมื่อมีการฝึกด้วยแรงต้าน Muscle spindle ของกล้ามเนื้อมัดที่ฝึกก็จะมีการทำงานมากขึ้น พอไปเล่นกีฬาเจ้า Stretch reflex นี้ก็จะถูกทำงานมากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อหดตัวได้มากขึ้นและเกิดแรงที่มาจากการหดตัวของกล้ามเนื้อมากขึ้นนั่นเอง
ทีนี้เราก็รู้แล้วว่านอกจากขนาดของกล้ามเนื้อที่เรามองเห็นว่ามันเปลี่ยนไปหลังการฝึกด้วยแรงต้าน มันยังมีการเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่เรามองไม่เห็นอีกด้วย ดังนั้น อย่าละเลยที่จะฝึกหรือออกกำลังกายด้วยแรงต้านกันนะ :)
Ref: Haff, G., & Triplett, N. T. (2016). Essentials of strength training and conditioning. Fourth edition. Champaign, IL: Human Kinetics.
ขอบคุณบทความดีๆ โดย :
อาจารย์ปาริยา ปาริยะวุทธิ์, CSCS
ภาควิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา คณะพลศึกษา
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ติดตามบทความดีๆ จากคณาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา มศว ได้ทุกสัปดาห์ทางเพจของเรา SWU Sports Science
IG: sportsci.swu
Twitter: @SPSWU1
#SPSWU
#SWUSPORTSCIENCE
#วิทย์กีฬา
#มศว
โฆษณา