6 ก.ค. 2021 เวลา 10:52 • ท่องเที่ยว
พิธีล้างพระพักตร์ พระมหามุนี แห่งมัณฑะเลย์
การเดินทางท่องเที่ยวในเมืองมัณฑะเลย์ หากจะให้สะดวกก็ควรจะติดต่อเช่ารถที่มีให้บริการหลากหลายรูปแบบไว้ล่วงหน้า เรามีแค่ 2 คน เลยติดต่อเช่ารถ แท็กซี่คันเล็กๆหน้าโรงแรมเอาไว้ในราคาวันละ 20 เหรียญ
กิจกรรมแรกของวันนี้ เรามีเป้าหมายในการไปเฝ้าดูพิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี พระพุทธรูปองค์สำคัญของเมืองนี้ อันเป็น 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพม่าที่หากมีโอกาสมาเที่ยวไม่ควรพลาด … พิธีจะเริ่มราวตีสี่ครึ่ง ถึงตีห้า เราจึงต้องนัดหมายให้รถที่ติดต่อไว้มารับราวตีสี่
วัดพระมหามัยมุนีอยู่ไม่ไกลจากที่พักของเรา มากนัก รถแล่นมาราว 10 นาทีก็ถึงแล้ว … เราเดินผ่านแผงขายสินค้า 2 ข้างทางของทางเดิน แล้วเข้าไปนั่งปนๆกับพุทธศาสนิกชนชาวพม่าตรงลานด้านใน สังเกตเห็นว่ามีการแบ่งโซนเอาไว้หลายโซน
หากไม่นับรวมโซนที่เป็นที่ตั้งองค์พระ ซึ่งตอนนี้มีประตูเหล็กปิดกั้นอยู่ … โซนที่ใกล้องค์พระที่สุดเป็นที่ที่ผู้ชายนั่ง โซนถัดมาจะมีรั้วเตี้ยๆล้อมเอาไว้ เป็นโซนที่หญิงชายที่อาสามาฝนแท่งทานาคา ที่จะใช้ชโลมพระพักตร์พระมหามุนีนั่งเตรียมการ ส่วนโซนสุดท้ายเป็นโซนที่บรรดาพุทธศาสนิกชนมานั่งสวดมนต์ภาวนา รอการเริ่มพิธีอย่างเป็นทางการ
บางคนอาจจะนำผ้าสะอาดมาฝากให้พระที่ทำหน้าที่นำไปเช็ดซับพระพักตร์ แล้วส่งกลับคืนมา ซึ่งเจ้าของผ้าก็จะนำไปเก็บไว้บูชา หรือใช้ปัดเป่าสิ่งอัปมงคล โรคาพยาธิต่างๆให้พ้นจากตัวเองและลูกหลานผู้ใกล้ชิด
ขณะที่เรารอ จะมีเสียงเคาะกังสดาล ระฆัง ผสมกับเสียงสวดมนต์ … ราวตีห้าตรง ก็มีพราหมณ์มาเปิดประตูเหล็กที่กั้นเอาไว้ออก เผยโฉมองค์พระพุทธรูปที่สำคัญออกสู่สายตาทุกคน
... ณ ที่นั้น ภาพสีทองอร่ามขององค์พระดูงดงาม มองเห็นเครื่องประดับมูลค่าสูงที่มีผู้ศรัทธานำมาถวายประดับอยู่เต็มองค์ มองไกลๆ เห็นเป็นเกร็ดๆ ปุ่มปมอยู่ทั่วองค์พระ
พิธีล้างพระพักตร์ที่ได้ทำสืบเนื่องทุกวันเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว ก็เริ่มตามลำดับขั้นตอนที่กำหนดไว้ … โดยเริ่มจากการเตรียมการของคณะพราหมณ์
จากนั้น พระที่จะทำหน้าที่จะเข้ามาประจำที่ก่อนจะเริ่มพิธีด้วยการปะพรมน้ำผสมเครื่องหอมจากเปลือกไม้ทะนาคา …
... จากนั้นก็จะใช้แปรงขนาดใหญ่ขัดสีบริเวณพระโอษฐ์ดั่งการแปรงฟัน แล้วใช้ผ้าเปียกลูบไล้เครื่องหอมดั่งการฟอกสบู่จนทั่วพระพักตร์
แล้วจึงจะมาดำเนินขั้นตอนที่สำคัญที่สุด คือการใช้ผ้าสะอาดเช็ดพระพักตร์ให้แห้ง และขัดสีให้เนื้อทองสัมฤทธิ์ที่พระพักตร์สุกปลั่งแวววาวอยู่เสมอ … พิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้ดำเนินการมาแล้วทุกๆวันในช่วงกว่า 200 ปีที่ผ่านมา
ทุกๆวันจะมีผ้าสะอาดที่ชาวบ้านนำมาวางกองเป็นตั้ง เพื่อขอโอกาสที่ผ้าของตนจะถูกหยิบขึ้นมาสัมผัสพระพักตร์พระมหามัยมุนี หลังเสร็จพิธีชาวบ้านจะนำผ้าของตนกลับไปสักการบูชา
ระหว่างการทำพิธี สามารถถ่ายรูปและวีดีโอได้ หลังจากพิธีเสร็จสิ้นลงก็อนุญาตให้ผู้ชายขึ้นไปปิดทององค์พระได้ ...
ดังนั้นพวกผู้หญิงจึงมักจะฝากแผ่นทองไปให้เหล่าชายที่อยู่ในพิธีช่วยนำไปปิดบนองค์พระให้ และสามารถขอน้ำมนต์ใส่ขวดมาได้ด้วย … วันนั้นมีพราหมณ์ถือขวดน้ำมนต์ที่ใช้ล้างพระพักตร์พระพุทธรูปลงมาแจกจ่ายใส่มือ ให้เราลูบบนผมเพื่อความเป็นสิริมงคลด้วยค่ะ
สำหรับประวัติความเป็นมาของพระพุทธรูปองค์นี้อย่างย่อๆ มีดังนี้ค่ะ .. ตามตำนานของพวกอาระกัน หรือชาวยะไข่ เล่ากันมาว่า กษัตริย์ยะไข่พรองค์หนึ่งเป็นผู้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 9 ฟุต และมีญาณหยั่งรู้ว่าในอดีตพระองค์เคยเป็นสหายกับพระพุทธเจ้ามาก่อน
.. ชาติต่อมาเมื่อเกิดมาเป็นกษัตริย์เมืองยะไข่ จึงสร้างพระพุทธรูปที่มีพระพักตร์เหมือนกับพระพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าได้ประทานลมหายใจอันศักดิ์สิทธิ์เข้าไปในกายพระพุทธรูปองค์นี้ด้วย ประหนึ่งมอบชีวิตวิญญาณไว้เป็นตัวแทน … ชาวพม่าจึงถือว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นส่วนหนึ่งของพระพุทธเจ้า เป็นพระพุทธรูปที่มีชีวิต จึงเป็นที่มาของธรรมเนียมการล้างพระพักตร์ถวาย เหมือนกับมนุษย์ที่ต้องล้างหน้าตอนเช้าทุกวัน
ความงดงามและความศักดิ์สิทธิ์ของพระมหามัยมุนีเลื่องลือไปกว้างไกล จนเป็นที่หมายปองของกษัตริย์พม่าหลายพระองค์นับมาตั้งแต่พระเจ้าอโนรธามหาราช แห่งอาณาจักรพุกาม บุเรงนองมหาราช แห่งหงสาวดี และอลองพญามาราช แห่งรัตนปุระอังวะ … ต่างล้วนเพียรพยายามที่จะยกทัพไปชะลอเอาพระพุทธรูปองค์นี้มาประดิษฐานเป็นสิริมงคลในดินแดนพม่าทุกยุคสมัย แต่ต้องล้มเหลวครั้งแล้ว ครั้งเล่า เพราะความทุรกันดารและภูมิประเทศที่เป็นเขาสูงของอาระกัน
จนกระทั่งล่วงมาถึงสมัยของพระเจ้าประดุง หรือ โพธิพญา กษัตริย์ที่เคยทำสงคราม 9 ทัพในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ... พระเจ้าประดุงได้ถือเอาฤกษ์เอาชัยด้วยการยกกองทัพไปตีเมืองยะไข่จนสำเร็จ แล้วเชิญพระมหามุนีออกมาจากยะไข่ ด้วยการตัดองค์พระเป็น 3 ท่อน แล้วจึงขนมาประกอบใหม่ได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2327
ด้วยเหตุที่มีความสำเร็จในการแย่งชิงพระมหามัยมุนีมาได้ พระเจ้าปดุงจึงทรงมั่นพระทัยว่า ทรงมีฤทธานุภาพเหนือมหาราชทุกพระองค์ในประวัติศาสตร์ของพม่า จึงทรงกรีธาทัพหมายตีกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งเพิ่งสถาปนาได้ไม่นานถึง 2 ครั้ง คือสงคราม 9 ทัพและการศึกที่ท่าดินแดง แต่ต้องพ่ายแพ้กลับไป
กรณีของพระมหามัยมุนี ซึ่งเป็นสมบัติล้ำค่าของชาวอาระกัน หรือยะไข่ จึงเป็นบาดแผลที่ฝังรากลึกระหว่างคน 2 ชาติ ตราบจนทุกวันนี้ ... วันที่ศรัทธาในพระมหานัยมุนียังไม่เสื่อมคลาย
ต่อมาในสมัยของพระเจ้าสีป่อ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า … เกิดไฟไหม้วัด ในปี พ.ศ. 2427 เล่ากันว่า ทองคำเปลวที่ชาวพุทธนำมาปิดทับถมบนองค์พระมหามุนีนั้นหลอมละลายไหลลงมา รวมๆแล้วหนักกว่า 700 บาท เป็นผลให้ผิวโลหะขององค์พระพุพอง เป็นปุ่มปมทั่วทั้งองค์ ที่น่าอัศจรรย์ก็คือ พระพักตร์ขององค์พระยังคงสุกปลั่งดังเดิม
*** ความงามอันลือเลื่องของพระมหามัยมุนี ทำให้มีการหล่อพระพุทธรูปขึ้นในภายหลังเลียนแบบพระปางมารวิชัยทรงเครื่องกษัตริย์องค์นี้มากมาย ... ในเมืองไทย มี “พระเจ้าพาราเข่ง” ที่วัดหัวเวียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อีกองค์หนึ่ง คือ “พระมหามัยมุนี” ที่วัดไทยวัฒนาราม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา