6 ก.ค. 2021 เวลา 12:43 • ข่าว
อาสาสมัครนักผจญเพลิง อาชีพไร้เงินเดือน ไร้สวัสดิการ ขับเคลื่อนด้วยแรงใจเพื่อสังคม
เป็นเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง กว่าภารกิจควบคุมเพลิงไหม้โรงงานผลิตพลาสติกกิ่งแก้ว จ.สมุทรปราการ จะสิ้นสุดลง นอกจากความสูญเสียในภาคธุรกิจอย่างมหาศาล ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนโดยรอบ เรายังสูญเสียบุคคลใน ‘ทีมนักผจญเพลิง’ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการควบคุมสถานการณ์นี้
การเสียชีวิตของ ‘พอส’ นายกรสิทธิ์ ลาวพันธ์ อาสาสมัครกู้ภัยวัย 19 ปี จากกองเพลิงที่โหมลุกมาอย่างไม่มีใครได้ตั้งตัว สร้างความสะเทือนใจให้กับสังคมไม่น้อย และต่างเกิดคำถามตามมาถึงการเยียวยาครอบครัวของนักดับเพลิงในกรณีเช่นนี้ และเรายังได้เห็นภาพความทุ่มเท หยาดเหงื่อของทีมงานนักผจญเพลิงคนอื่นอีกนับร้อยชีวิต บางคนอาจไม่เคยทราบเลยว่า พวกเขาบางคนทำงานโดยไร้ ‘ผลตอบแทน’ หรือ ‘ค่าแรง’
2
workpointTDAY พูดคุยกับหนึ่งในอาสาสมัคร นายพรรัตน์ บริพันธ์ หรือ ‘อาจารย์หมู’ อาจารย์สอน จป.วิชาชีพ ด้านความปลอดภัยโรงงานอุตสาหกรรม ที่เคยมีประสบการณ์เผชิญเหตุเพลิงไหม้ ว่าอะไรคือแรงจูใจที่ทำให้บุคคลเหล่านี้ ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการทำงานดับเพลิงกู้ภัยซึ่งเป็นอาชีพเสี่ยงสูง
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ‘นักผจญเพลิง’ แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คนที่เป็น ‘พนักงานของภาครัฐ’ ตามหน่วยงาน เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งแน่นอนว่าจะมีเงินเดือนและสวัสดิการจากหน่วยงานให้อยู่แล้ว และอีกส่วนคือ ‘เจ้าหน้าที่อาสาสมัคร’ ซึ่งเราจะพูดคุยถึงนักดับเพลิงในกลุ่มหลัง
⚫️ อาสาสมัครกู้ภัย อาชีพไร้เงิน ไร้สวัสดิการ
อาจารย์หมู เล่าว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราต้องสูญเสียนักผจญเพลิงไปกับเหตุไฟไหม้ และหลายครั้งการบาดเจ็บ เสียชีวิต มักเกิดกับพี่น้องที่เป็นอาสาสมัครที่เปรียบได้กับเป็นกำลังเสริมเข้าไปช่วยเหลือในเหตุการณ์ต่างๆ โดยไม่ได้หวังผลตอบแทน
“เมื่อถามถึงอาสาสมัคร รายได้บอกเลยว่า ไม่มีเงินเดือน ไม่มีสวัสดิการอะไรเลย เพราะคืออาสา ที่มีใจอยากช่วยสังคม ไม่ว่าจะเป็นชุด อุปกรณ์ที่ใช้งานเฉพาะบุคคล เช่น ชุด PPE หน้ากาก รองเท้า จะมาจากการซื้อด้วยเงินส่วนตัว หรือบางหน่วยได้รับบริจาคจากบุคคล หน่วยงาน มูลนิธิบ้าง ส่วนอุปกรณ์กู้ภัย ดับเพลิงก็แล้วแต่ว่าจะได้รับสนับสนุนจากหน่วยงานเท่าไหร่ แต่ส่วนมากเมื่อไปถึงหน้างานเราจะใช้อุปกรณ์ร่วมกันกับหน่วยหลัก เช่น รถดับเพลิง”
ที่สำคัญเจ้าหน้าที่อาสา จะขวนขวายความรู้ ฝึกทักษะ ในการเผชิญเหตุ ด้วยตัวเองบ้าง จากการเข้าร่วมอบรมบ้างในกลุ่มอาสาสมัคร และประสบการณ์ลงพื้นที่เมื่อเกิดเหตุการณ์จริงหลายๆ ที่ก็จะมีการถอดบทเรียนในทุกครั้งเพื่อปรับปรุงการทำงาน
⚫️ ปฏิบัติการไร้หน่วยบัญชาการกลาง
การเสียชีวิตของอาสาสมัคร ‘น้องพอส’ อาจารย์หมู บอกว่า “จากประสบการณ์ทำงานด้านดับเพลิง มานานกว่า 30 ปี เชื่อเหลือเกินว่า วินาทีนั้นเขาอยากช่วยให้ไฟดับจริงๆ ซึ่งเราเองก็เคยเป็นแบบนั้น เราไม่ได้นึกถึงความปลอดภัยของตัวเอง เพราะมีใจอยากจะช่วย แต่ทั้งนี้การดับเพลิงที่เกิดในพื้นที่มีสารเคมี จำเป็นต้องอาศัยทักษะพื้นฐาน ประสบการณ์ของพอสอาจจะไม่เคยผ่านเหตุที่รุนแรงขนาดนี้ ประกอบกับ ความพร้อมของอุปกรณ์ สถานการณ์หน้างาน เราไม่เห็นกองบัญชาการกลางที่ดูเรื่องการเข้าพื้นที่ ทุกหน่วยเข้าทำงานพร้อมกัน และพื้นที่เกิดเหตุ เป็นจุดที่มีความเสี่ยงอันตรายสูง”
พร้อมเสนอว่าควรมีหน่วยงานกลางในการบัญชาการเหตุการณ์ โดยยกตัวอย่างการทำงานที่ ‘ถ้ำหลวง’ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่มีรูปแบบเหมือนกัน เพียงแต่ความเสี่ยงแตกต่างกัน การเข้าพื้นที่การดับเพลิง ควรมีผู้บัญชาการเหตุการณ์ ที่มีความเชี่ยวชาญ ดูภาพรวม ดูเครื่องมือ และวิธีการเข้าพื้นที่ที่เหมาะสม เพราะโรงงานพลาสติกกิ่งแก้ว มีปัจจัยเรื่องสารเคมี เชื่อว่าถ้ามีผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมอาจจะทำให้เราสามารถควบคุมเพลิงได้เร็วขึ้น
“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเรียกได้ว่าเป็นภัยพิบัติ ที่มีสารเคมีที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกที่อันตราย มีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะสั้นและระยะยาว มองว่าควรจัดการ และถอดบทเรียนเหตุที่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้ซ้ำรอย” นายพรรัตน์ กล่าว
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
ไม่พลาดข่าวธุรกิจ การตลาดที่สำคัญ ติดตาม TODAY Bizview https://bit.ly/3picIeS
ติดตามรายการของ workpointTODAY ทาง YouTube https://bit.ly/2YDfyiK
โฆษณา