8 ก.ค. 2021 เวลา 09:21 • สุขภาพ
เจ็บแต่ (ไม่) จบ เมื่อการ 'ล็อกดาวน์' อาจไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป
หลายชาติยอมยกธงขาว เปิดประเทศควบคู่ระดมฉีดวัคซีน
การรับมือโรคระบาดในช่วงเวลานี้ ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างยิ่ง ไม่ต่างอะไรกับการเดินถือเทียนไขเล่มเล็กๆ ไปตามเส้นทางที่มืดมิด เต็มไปด้วยอุปสรรครอบตัวที่แม้มองไม่เห็นแต่ก็คอยจ้องเล่นงานได้ทุกเมื่อ ทั้งยังไม่รู้ด้วยว่าเส้นทางที่เดินอยู่นั่นถูกต้องหรือไม่ และปลายทางอยู่ตรงไหน
1
ที่ผ่านมาทุกประเทศเคยใช้มาตราการ ‘ล็อกดาวน์’ กันมาแล้วทั้งนั้น โดยมีความหวังว่าจะสามารถยับยั้งการติดเชื้อจนมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งในปีที่แล้วที่มีการระบาดใหม่ๆ หลายประเทศก็เหมือนจะทำสำเร็จ ควบคุมไวรัสได้ จนได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติ ในขณะที่มีประเทศอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถทำได้ จากปัจจัยทางสังคมภายในต่างๆ ทำให้ปัญหาผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นจนล้น รวมทั้งยอดผู้เสียชีวิตก็พุ่งขึ้นนับหมื่นนับแสนคน
1
แต่ในปีนี้สถานการณ์กลับตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง ประเทศที่เคยรับมือการระบาดจนผู้ติดเชื้อแทบไม่มีนั้น กลับกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อรายใหม่สูงมากทั้ง อินเดีย ไต้หวัน เวียดนาม หรือแม้แต่ประเทศไทย และยังไม่มีทีท่าว่าจะชะลออัตราการติดเชื้อได้ในเร็ววัน
1
หลายประเทศเริ่มรับมือไม่ไหวต่อการล็อคดาวน์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาหลายครั้ง แต่ก็พิสูจน์แล้วว่ามันเป็นเพียงแค่การ 'ซื้อเวลา' เท่านั้น เพราะเมื่อผ่านพ้นวันล็อคดาวน์ไป สถานการณ์ก็กลับมาเป็นเช่นเดิม
1
กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่สามารถขับเคลื่อนต่อได้ กำลังบ่อนทำลายเสถียรภาพของประเทศจนอาจจะกลายปัญหาใหญ่ที่ไม่ใช่แค่โรคระบาดเพียงอย่างเดียว แต่มันคือชีวิต อาชีพ รายได้ รวมทั้งปากท้องของประชาชน และรายได้ของรัฐบาลจากการจัดเก็บภาษีที่ร่อยหรอ กระทบกับระบบการเงินการคลังของประเทศ
4
ที่ผ่านมาเยอรมันเคยทุบงบช่วยเหลือเศรษฐกิจในช่วงล็อคดาวน์ แต่ก็ทำได้ไม่เกิน 2 เดือนก็เริ่มแย่
1
ธุรกิจส่วนใหญ่ในอังกฤษก็มีทุนสำรองอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน ก็ต้องกลับมาคลายล็อค ก่อนที่จะกลับไปล็อคใหม่อีกครั้งเมื่อผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
1
ขณะที่สหรัฐฯ ถึงแม้จะได้เปรียบประเทศอื่นๆ ตรงพิมพ์เงินเองได้ไม่จำกัด แต่สุดท้ายก็ใช่ว่าจะพิมพ์เท่าไหร่ก็ได้ตามใจ เพราะหากเงินเฟ้อหนักมากๆ ก็กระทบกับมูลค่าของเงินดอลลาร์ ที่จะทำให้เกิดการด้อยค่าลง กระทบเศรษฐกิจให้ย่ำแย่ลงไปอีก
1
นี่ขนาดว่าเป็นประเทศมหาอำนาจ เป็นชาติร่ำรวยก็ยังทนต่อการล็อคดาวน์กันไม่ค่อยจะไหว ส่วนประเทศกำลังพัฒนาก็คงไม่ต้องนึกถึงเลยว่าจะสาหัสขนาดไหน ตอนนี้ไม่ว่าอินเดีย แอฟริกา หรือลาตินอเมริกา ต่างก็ต่อต้านการปิดเมืองไปทั่ว ตั้งแต่การดื้อแพ่งฝ่าฝืนกฎหมาย ไปจนถึงก่อจลาจล เพราะประเทศกำลังพัฒนามีจุดร่วมเหมือนกันคือ ประชากรส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีรายได้ต่ำ สวัสดิการณ์ต่างๆ ไม่สามารถชดเชยได้เพียงพอ เพียงการสั่งให้หยุดงานไม่กี่วันก็แทบจะแย่แล้ว
1
โลกยุคใหม่เปราะบางกว่าที่คิด มนุษย์จำนวนมากกลายเป็นคนเมืองไปแล้ว คนเมืองคือผู้ที่อยู่กับความสะดวกสบายจนสูญเสียทักษะการดำรงชีพแบบดั้งเดิม เช่น การทำเกษตร ปศุสัตว์ หรือประมง ต้องพึ่งพาการซื้อหาด้วยเงิน หลายๆ คนอย่าว่าแต่ปลูกผักเอง เลี้ยงสัตว์เอง แค่ทำกับข้าวยังไม่เป็นด้วยซ้ำ ต้องพึ่งพา Street Food หรือร้านอาหารตลอด แต่จะมีเงินก็ต้องทำงาน ถ้าเกิดอะไรขึ้นที่ทำให้งานหายไป นั่นก็เท่ากับว่าชีวิตไม่มีเงิน แล้วก็อยู่ไม่ได้ในสถานการณ์แบบนี้
3
🔵 อังกฤษเตรียมคลายล็อค 19 กรกฎาคม ยอมรับสภาพแม้คนต้องตายเพิ่ม
ย้อนกลับไปที่ประเทศอังกฤษที่ล่าสุดนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ก็เตรียมจะยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ รวมทั้งการสวมหน้ากากอนามัยและการเว้นระยะห่างระหว่างกันในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นวันที่ชาวอังกฤษเรียกว่า "วันเสรีภาพ"
พร้อมกับรับสภาพว่า “เราต้องยอมรับกับตัวเองอย่างเศร้าๆ ว่าจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากไวรัส”
1
ขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในอังกฤษกลับมาอยู่ในช่วงขาขึ้นอีกครั้งหลังจากสายพันธุ์เดลตาระบาด โดยเพิ่มขึ้นจากวันละราว 2,000 คนเมื่อช่วงต้นปี เป็น 25,000 คนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตยังค่อนข้างคงที่คือ น้อยกว่าวันละ 20 คน และมมีการฉีดวัคซีนให้กับประชากรครบ 2 โดสไปแล้วถึง 62%
🔵 สิงคโปร์เลิกนับผู้ติดเชื้อ เปิดเศรษฐกิจ อัดวัคซีนให้มากที่สุด
ส่วนสิงคโปร์ก็เตรียมตัวที่จะเปิดประเทศเช่นกัน โดยเลิกนับตัวเลขผู้ติดเชื้อ เลิกติดตามผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ เปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัว
หากใครป่วยเพียงเล็กน้อยก็ให้พักรักษาตัวที่บ้าน ไม่ต้องมาโรงพยาบาล แล้วหันมาให้ความสำคัญกับตัวเลขของผู้ป่วยอาการหนัก ผู้ป่วยไอซียู และผู้ที่ต้องสอดท่อใส่เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่สิงคโปร์ใช้รับมือกับไข้หวัดใหญ่
2
พร้อมกับประกาศที่จะอยุ่ร่วมกับไวรัสให้ได้โดยให้มันเป็นเพียงแค่โรคประจำถิ่น เพราะถึงอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะขจัดไวรัสออกไปจากโลกนี้ได้ แต่ก็ไม่ประมาท โดยมีการระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึงให้มากที่สุด
1
ผู้เชี่ยวชาญของสิงคโปร์ตั้งเป้าว่าควรฉีดวัคซีนให้ประชาชนให้ได้ 80% เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ โดยใช้โมเดลของรัฐนิวยอร์กและรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐที่ฉีดให้ประชาชน 70% แล้วจึงกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ
1
ทั้งนี้คนสิงคโปร์เกือบ 60% ได้รับวัคซีนแล้ว 1 เข็ม และ 37% ได้รับครบทั้งสองเข็มแล้ว โดยรัฐบาลตั้งเป้าว่าจะให้ประชากร 2 ใน 3 ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มภายในวันที่ 9 สิงหาคม ซึ่งตรงกับวันชาติ
1
🔵 มาเลเซียยังหนัก ล็อคดาวน์มาเป็นปี คนจะอดตาย ขอยกธงขาว
แต่ที่เหมือนจะยอมแพ้แบบจริงๆ ชนิดที่เรียกว่ายกธงขาวเลยก็คงเป็นมาเลเซีย เพราะชาวมาเลเซียในเวลานี้ต่างรู้สึกรับไม่ไหวอีกต่อไปแล้วกับมาตรการล็อคดาวน์ที่ยาวนานของรัฐบาล และเกิดขึ้นหลายรอบจนกระทบต่อชีวิตและปากท้องถึงขั้นที่ไม่มีจะกิน
1
อาจจะบอกได้ว่ามันคือความสิ้นหวังของชาวมาเลเซีย ที่ต้องการบอกให้โลกรู้ว่าพวกเขาพ่ายแพ้ ไม่สามารถเอาตัวรอดจากภาวะเศรษฐกิจที่รุมเร้าเพราะผลพวงของการใช้มาตรการคุมเข้มต่างๆ ของภาครัฐเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสที่ดำเนินมาตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2563 ได้ ซึ่งมาเลเซียเปิดๆ ปิดๆ เมืองมาแล้วถึง 5 ครั้งด้วยกัน โดยการประกาศล็อคดาวน์ครั้งล่าสุดคือเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน และเป็นการประกาศเปิดเมืองอย่างไม่มีกำหนด
รัฐบาลมาเลเซียออกมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจแล้ว 8 โครงการ ใช้เงินงบประมาณไปทั้งสิ้น 380,000 ล้านริงกิต หรือราว 2.9 ล้านล้านบาท แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ
1
นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 มีชาวมาเลเซียโทรเข้าสายด่วนขอความช่วยเหลือจากกระทรวงสาธารณสุขกว่า 122,000 สาย และเฉพาะช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้มีสถิติการฆ่าตัวตายแล้ว 336 ศพ เฉลี่ยวัยละ 4 ศพ ซึ่งเป็นตัวเลขสูงกว่าครึ่งหนึ่งของตัวเลขการฆ่าตัวตายตลอดปี 2563
1
“นูร์ ฮิชาม อับดุลเลาะห์” ผู้อำนวยการสำนักงานสาธารณสุขมาเลเซีย ยอมรับว่าการระบาดของโรค ทำให้สุขภาพจิตของคนทั่วโลกย่ำแย่ลง รวมทั้งประชาชนในมาเลเซีย พร้อมทั้งเตือนว่าบางคนมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าและเกิดภาวะทางจิตในรูปแบบอื่นๆ เพราะความเครียดและการต้องอยู่แบบโดดเดี่ยว
แต่การล็อคดาวน์โดยที่ไม่สามารถจัดหาวัคซีนได้อย่างเพียงพอ กลายเป็นเหมือนการซ้ำเติมให้สภานการณ์ไม่มีทีท่าจะดีขึ้น ซึ่งมาเลเซียยังไม่สามารถนำเข้าวัคซีนได้ตามต้องการ และไม่สามารถกระจายวัคซีนได้ทั่วถึง ซึ่งอัตราการรับวัคซีของประชากรแทบจะอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายของอาเซียน
ประชาชนอีกจำนวนมากที่ต้องตกงานหลายเดือน เริ่มไม่มีเงินซื้อหาอาหารมาประทังชีวิต จนต้องมีการติดธงขาวไว้หน้าบ้านเพื่อสื่อว่า ตอนนี้ไม่ไหวแล้ว ขอความช่วยเหลือด่วน ซึ่งในสังคมออนไลน์ของมาเลเซียก็ได้มีการแชร์ต่อแฮชแท็กธงขาว #WhiteFlag และ #BenderaPutih สำหรับคนที่เดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนและแฮชแท็ก #KitaJagaKita กับ #RakyatJagaRakyat สำหรับคนที่มีกำลังพอที่จะช่วยเหลือคนอื่น
1
แคมเปญนี้ถูกแชร์ต่ออย่างมาในทวิตเตอร์ ทั้งภาพและข้อความเชิญชวนให้คนที่เดือดร้อนออกมาทำสัญลักษณ์ธงขาวไว้หน้าบ้านโดยไม่ต้องรู้สึกอาย หรือรู้สึกผิดใดๆ ที่ต้องร้องขอความช่วยเหลือ เพราะสถานการณ์โควิดได้ทำให้ทุกคนต้องเดือดร้อนกันไปหมด โดยวิงวอนทุกคนว่าอย่าคิดสั้นทำให้คนที่เรารักต้องเสียใจ และไม่ต้องรู้สึกอาย เพียงออกมาทำธงขาวไว้หน้าบ้าน
.
ขณะที่เพจ Malaysia Food Truck Shop แชร์ข้อความที่ระบุว่า สำหรับใครที่ไม่มีบ้านก็ให้ผูกผ้าสีขาวไว้ที่รถ ที่จักรยาน หรือจะติดไว้กับตัวก็ได้ ขอให้เห็นเป็นธงขาวก็พอ จะได้ให้คนที่ยังไหวส่งความช่วยเหลือเร่งด่วนแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ เช่นเงินทองแค่พอประทังชีพ ข้าวสาร อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง หรืออะไรก็ได้ที่ทำให้มีชีวิตรอดไปวันๆ ก็ยังดี และเรียกร้องให้รัฐบาลเลิกล็อคดาวน์เมืองเสียที เพราะตอนนี้ไม่มีจะกินแล้ว
5
🔵 เจ็บแล้วจบอาจไม่มีจริง ถ้าระดมฉีดวัคซีนหนักๆ ไม่ได้
1
เจ็บแล้วจบ อาจจะไม่มีจริง เพราะมันพิสูจน์มาครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ผ่านการล็อคดาวน์กัน 4 - 5 ครั้ง สุดท้ายสถานการณ์ก็เหมือนเดิม เหมือนเพียงแค่ซื้อเวลาไปวันๆ
สิ่งที่ต้องทำอย่างเร็วสุดคือ วัคซีนต้องเร็ว กระจายทั่วถึง และประสิทธิภาพดี เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันมากเพียงพอที่จะไม่ป่วยหนักจนเสี่ยงที่จะเสียชีวิต เพราะแม้วัคซีนทุกยี่ห้อในตอนนี้จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้ แต่สามารถบรรเทาอาการไม่ให้วิกฤตได้ ควบคู่ไปกับการป้องกันตัวเองตามมาตรการความปลอดภัย
เพราะสุดท้ายการล็อคๆ คลายๆ ปิดๆ เปิดๆ แบบนี้ มีแต่จะพังกับพัง อย่าลืมว่าคนทำงานภาคธุรกิจเงินมันไม่ขับเคลื่อน ไม่มีโฟลเข้ามาก็กระทบต่อกำลังซื้อ เมื่อธุรกิจขาดสภาพคล่องก็กระทบต่อรายได้ของประชากร ลามไปถึงการจัดเก็บภาษี หนีไม่พ้นที่จะกระทบระบบเงินการคลังของประเทศ และมันก็จะพังทั้งระบบเหมือนที่เพื่อนบ้านทางใต้ของเรากำลังเผชิญ
╔═══════════╗
ไม่พลาดบทความสาระดีๆ ที่ Reporter Journey ตั้งใจสร้างสรรเพื่อผู้ติดตามทุกท่าน อย่าลืมกดติดตามเพจเป็นรายการโปรด โดยคลิกที่จุด [...] ด้านบนมุมขวาบนของเพจ เลือก "การตั้งค่าการติดตาม" และกดเลือกให้เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด” ไว้จะได้ไม่พลาดเรื่องราวจากเพจเรา
╚═══════════╝
ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
Facebook : Reporter Journey
โฆษณา