19 ส.ค. 2021 เวลา 08:11 • การศึกษา
พญากวางทอง (๑)
เพชรกว่าจะมาเป็นอัญมณีวันล้ำค่า ต้องผ่านกาลเวลาหล่อหลอมมานับล้าน ๆ ปี เพชรแท้ไม่ใช่เพียงแต่ความงามเป็นเลิศเท่านั้น แต่ยังมีความแข็งแกร่งยิ่งกว่าอัญมณีใด ๆ ในโลกอีกด้วย ผู้ที่จะประสบความสุขและความสำเร็จ ต้องมีดวงใจที่ใสบริสุทธิ์ประดุจเพชร ต้องผ่านการหล่อหลอมคุณธรรมจากการสร้างบารมี ทุกรูปแบบ การดำรงชีวิตอยู่ จึงจำเป็นต้องสร้างบารมี เอาชนะปัญหา และอุปสรรคต่างๆ อย่างไม่ย่อท้อ แม้จะต้องใช้เวลายาวนานก็ตาม หากยามใดที่เหนื่อยล้าอย่าเพิ่งท้อถอย ขอให้เราอดทนและเข้มแข็งเอาไว้ ขับไล่ความท้อให้ถอยออกไป นำกำลังใจกลับคืนมาใหม่ แล้วสู้ต่อไปด้วยความมุ่งมั่นกล้าหาญ ดุจดั่งเพชรที่ทนต่อสภาวะความกดดันของธรรมชาติ เราจะอดทนรักษาใจให้ผ่องใส ทำใจให้หยุดนิ่ง อย่างสงบ สบาย เยือกเย็น เมื่อใดที่ใจเราใสเหมือนเพชร ใจของเราจะมีพลัง สามารถที่จะเอาชนะกิเลสที่อยู่ในใจได้
ใน สีลวนาคชาดก มีใจความว่า....
ถึงหากจะให้แผ่นดินทั้งหมด แก่คนอกตัญญู ผู้คอยมองหาช่องอยู่เป็นนิตย์ ก็ไม่ทำให้เขาพอใจได้
คนอกตัญญู แม้จะทำดีด้วยอย่างไร ก็ไม่รู้คุณคน มิหนำซ้ำยังก่อโทษให้อีก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารภเรื่องของพระเทวทัตที่ไม่รู้จักมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ครั้นบวชแล้วได้ลาภสักการะก็หลงลืม ตน ไม่ให้ความเคารพต่อพระพุทธองค์ พวกภิกษุจึงพากันตำหนิติเตียนพระเทวทัตที่เป็นคนอกตัญญูใน โรงธรรมสภาว่า แม้พระศาสดาทรงมีอุปการะเป็นอันมากแก่พระเทวทัต ทั้งท่านได้บวช ได้เรียนพระธรรมวินัย สมบูรณ์ด้วยลาภสักการะ ก็เพราะอาศัยพระบรมศาสดา แต่พระเทวทัตกลับกล่าวว่า พระบรมศาสดามิได้ทรงทำอุปการะแก่ท่านเลยแม้สักว่าปลายเส้นหญ้า และท่านยังคิดอีกว่า ไม่ได้เป็นอันเตวาสิก หรือสัทธิวิหาริกของพระพุทธเจ้า เรียนพระธรรมวินัยก็เรียนด้วยตนเอง ลาภสักการะเกิดขึ้นเพราะความสามารถของตนเท่านั้น
เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาตรัสถาม และทรงทราบเรื่องที่ภิกษุทั้งหลายกำลังสนทนากันอยู่ ก็ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่เทวทัตเป็นคนอกตัญญู แม้ในกาลก่อนก็เป็นคนอกตัญญูเหมือนกัน
ในกาลก่อน แม้เราให้ชีวิตแล้ว เทวทัตก็ยังไม่รู้คุณของเราเลย เมื่อภิกษุสงฆ์ทูลขอให้ทรงเล่าเรื่องความอกตัญญูของพระเทวทัตให้ฟัง พระองค์จึงทรงเล่าให้ฟังว่า...
ในอดีตกาล ครั้งเมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี เศรษฐีคนหนึ่งมีสมบัติ ๘๐ โกฏิ มีบุตรชายสุดที่รักคนหนึ่งชื่อว่า มหาชนก เศรษฐีคิดว่า ความรู้ทั้งหลายในโลกนี้ มีไว้เพื่อเป็นอุปกรณ์ในการทำมาหากินเท่านั้น เมื่อลูกของเรามีสมบัติอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเล่าเรียนเขียนอ่านให้ลำบาก เพราะสมบัติที่มีอยู่นี้ก็มากพอที่จะช่วยทำให้บุตรชาย ไม่ต้องลำบากไปจนตลอดชีวิต เมื่อคิดเช่นนี้ จึงไม่ยอมให้เล่าเรียนอะไรเลย เมื่อเติบโตเป็นหนุ่ม พ่อแม่ก็จัดแจงให้มีภรรยา
ต่อมา เมื่อพ่อแม่ล่วงลับไปแล้ว บุตรชายไม่มีใครคอยแนะนำพร่ำสอน และไม่จำเป็นที่จะต้องเกรงใจใครอีก เขาจึงมีเพื่อนนักกิน นักเที่ยวห้อมล้อม หลงติดอยู่ในอบายมุขทุกชนิด อบายมุขได้ผลาญสมบัติทั้งหมดที่พ่อแม่มอบให้ไว้เป็นมรดกจนต้องกู้หนี้ยืมสิน เอาบ้าน เรือกสวนไร่นาไปจำนำ ดูว่าโทษของอบายมุข สามารถผลาญสมบัติกองโตเท่าภูเขาให้หายไปในพริบตาได้ ผู้ที่หลงติดอยู่ในอบายมุข ก็เหมือนหลงวนอยู่ในป่าที่ไฟป่ากำลังรุกไล่มา
เมื่อลูกเศรษฐีไม่สามารถใช้หนี้ทั้งหมดได้ ก็ถูกเจ้าหนี้ยึดทรัพย์สมบัติหมด เลยคิดว่า ทรัพย์สมบัติของเราก็สูญหมดแล้ว ไม่เหลืออะไรเลย เราจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม ตายเสียดีกว่า จะได้ไม่ต้องมาทนทุกข์ ทรมาน
วันรุ่งขึ้น เมื่อถูกเจ้าหนี้มาทวงถามถึงหนี้เก่าที่ยังใช้ไม่หมด และขู่ว่าหากไม่คืนจะฆ่าทิ้ง ลูกเศรษฐี ก็เลยออกอุบายว่า ทรัพย์ของตระกูลของเรา ได้ฝังไว้ที่ฝั่งแม่น้ำคงคาฝั่งโน้น ยังพอมีอยู่บ้าง เราจะข้ามไปขุดเอามาใช้คืนให้พวกท่าน ขอพวกท่านอย่าทำร้ายเราเลย พวกเจ้าหนี้ตายใจ เลยร่วมเดินทางไปขุดขุมทรัพย์ เมื่อไปถึงแม่น้ำคงคา ลูกเศรษฐีก็ทำท่าว่าจะว่ายน้ำข้ามไปเอาขุมทรัพย์ แล้วกลับปล่อยให้กระแสน้ำพัดพาไป เพื่อจะให้ตนจมน้ำตายในแม่น้ำ
ครั้นพอถูกกระแสน้ำที่เชี่ยวพัดลอยไปเรื่อย ๆ ก็เกิดกลัวตายขึ้นมาจริง ๆ จึงร้องขอความช่วยเหลือ แต่สายน้ำก็ได้พัดพาออกไปไกลจนใคร ๆ ก็ช่วยไม่ได้
สมัยนั้น พระโพธิสัตว์ บังเกิดในกำเนิดกวางทอง ได้ทิ้งบริวาร ไว้ในป่าหิมพานต์ แล้วออกมาหากินตามลำพังที่ป่ามะม่วง ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณตรงวังวนของแม่น้ำคงคา ซึ่งเป็นที่เงียบสงบ ไม่มีใครกล้าเข้ามารบกวน เหตุที่พญากวางทองมาพักบริเวณนี้ เพื่อประสงค์จะทำการรักษาอุโบสถศีล รูปร่างของพญากวางทองนี้ สวยงามมาก มีสีผิวเหมือนแผ่นกระดาษทองที่ขัดเงา เท้าทั้งสี่มีสีเหมือนย้อมด้วยน้ำครั่ง หางก็เป็นพุ่มสวยงามเหมือนหางจามรี เขาก็งามเหมือนกับช่อเงิน นัยน์ตาทั้งคู่ก็เป็นประดุจเม็ดทับทิมที่เจียระไนแล้ว
คืนวันนั้นพญากวางทองได้ยินเสียงคร่ำครวญของลูกเศรษฐี จึงคิดว่า เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ คนผู้นี้อย่าได้ตายเสียเลย เราต้องช่วยชีวิตเขาไว้ แล้วก็ลุกจากที่นอน เดินไปริมฝั่งแม่น้ำ ปลอบโยนว่า เพื่อนเอ๋ย อย่ากลัวไปเลย ข้าจะช่วยชีวิตท่านเอง ด้วยความที่พญากวางมีกำลังมหาศาล ก็ได้ว่ายตัดกระแสน้ำไปรับลูกเศรษฐีขึ้นขี่หลัง พาขึ้นฝั่งด้วยความสวัสดี จากนั้นก็พาไปยังที่พัก ได้หาผลไม้มาให้รับประทาน
พอล่วงไปได้สองสามวัน ก็พาลูกเศรษฐีกลับไปส่งที่บ้าน พร้อมกับกำชับว่า เมื่อข้าพาท่าน ไปส่งถึงเมืองพาราณสีแล้ว ท่านอย่าได้บอกใคร ๆ ให้รู้ว่า มีกวางทอง มาอาศัยอยู่บริเวณนี้ ลูกเศรษฐีก็รับคำเป็นมั่นเหมาะ จากนั้นพญากวาง ก็กลับไปรักษาอุโบสถศีลตามเดิม
บังเอิญว่า ในวันที่ลูกเศรษฐีกลับเข้าไปถึงกรุงพาราณสีนั่นเอง อัครมเหสีของพระราชา ทรงพระสุบินเห็นกวางทองแสดงธรรมิกถาถวายพระนาง พอรุ่งเช้า จึงทรงนำพระสุบินซึ่งไม่เคยเป็นมาก่อนไปกราบทูลแด่พระราชา ด้วยความรักใน พระมเหสี พระราชาจึงมีราชโองการว่า ถ้าใครสามารถบอกที่อยู่ของกวางทองได้ จะได้รับเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ เป็นรางวัล เมื่อไม่มีใครมาแจ้งเบาะแส ก็ทรงให้เพิ่มรางวัลว่า ใครสามารถบอกที่อยู่ของมฤค ซึ่งสูงสุดกว่ามฤคทั้งหลายได้ พระราชาจะให้บ้านส่วยและหญิงที่ประดับประดาแล้วแก่ผู้นั้น
พวกอำมาตย์พากันถือแผ่นทองเที่ยวป่าวร้องไปทั่วพระนคร บังเอิญว่าวันนั้นไปเจอลูกเศรษฐีที่พึ่งจะกลับเข้ากรุงพาราณสีพอดี ลูกเศรษฐีดีใจมาก ที่ตนเองจะได้รับรางวัล เพราะเพิ่งแยกทางกับพญากวางทองมาเมื่อคืนนี้เอง แม้ไม่ลืมคำปฏิญญาที่ให้ไว้กับพญากวางทอง แต่ด้วยความโลภ และ ไม่รู้จักบุญคุณคน จึงเปิดเผยที่อยู่ให้พระราชาทรงทราบ เมื่อพระราชาทรงสดับแล้ว ก็ให้ลูกเศรษฐีเป็นผู้นำเสด็จพร้อมด้วยข้าราชบริพาร เพื่อไปจับพญากวางทอง ส่วนว่ามหันตภัยจะบังเกิดขึ้นแก่พญากวางทอง เพราะคบบุคคลผู้ประทุษร้ายมิตร หรือเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป โปรดติดตามตอนต่อไป ....
จะเห็นได้ว่า บุคคลผู้ประทุษร้ายมิตร คือ ผู้ที่มีใจมืดบอด แม้ผู้มีคุณจะทำคุณให้แก่ตัวมากมายอย่างไร ก็มองไม่เห็นคุณงามความดีของเขา เหมือนคนตาบอด ที่มองไม่เห็นแสงอาทิตย์ที่ส่องแสงสว่างยังประโยชน์แก่สรรพสัตว์ คนใจบอด เป็นบุคคลที่อันตราย การจะสังเกตใครว่าเป็นคนใจบอด เป็นคนอกตัญญู ไม่รู้จักบุญคุณคน ในช่วงเวลาสั้นๆ นั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ฉะนั้นเราทำบุญแล้ว ต้องอธิษฐานจิตให้ห่างไกลจากคนภัยคนพาล ให้พบเจอแต่บัณฑิตนักปราชญ์ พบเจอผู้นำบุญยอดกัลยาณมิตร ที่จะชักนำให้เราทำแต่ความดีให้เราได้เข้าถึงพระรัตนตรัยไปทุกภพทุกชาติตราบกระทั่งถึงที่สุด แห่งธรรม
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๕ หน้า ๑๕๖-๑๖๔
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
รุรุมิคชาดก เล่ม ๖๐ หน้า ๓๑๓
โฆษณา