25 ส.ค. 2021 เวลา 08:53 • การศึกษา
ยอดกตัญญูค้ำชูชีวิต
บนเส้นทางสู่ความสำเร็จมักจะเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม บุคคลที่เข้มแข็ง กล้าหาญ และอดทนเท่านั้น ที่จะยืนหยัดจนประสบความสำเร็จได้ในที่สุด ความสำเร็จจะเกิดขึ้นต้องอาศัยความเพียรพยายาม กระทำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง โดยปราศจากข้อแม้ และเงื่อนไข อาศัยศักยภาพอันยิ่งใหญ่ที่แฝงอยู่ในตัวเรา เอาชนะอุปสรรคทั้งหลาย ด้วยสติ ปัญญา และความกล้าหาญ อุปสรรคขวากหนามที่เราฝ่าฟัน จะทำให้เราแข็งแกร่ง หนทางที่ยากลำบาก จะทำให้เราอดทน และเป็นคนที่สมบูรณ์
1
ดังนั้น หากปรารถนาความสำเร็จอย่างแท้จริง ต้องรู้จักสร้างพลังใจให้เข้มแข็ง เต็มเปี่ยม พร้อมที่จะรับมือกับปัญหา และอุปสรรคทุกเมื่อ ด้วยการหยุดใจไว้ในแหล่งแห่งความสำเร็จ คือ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ใจจะกลับเข้าสู่ฐานที่ตั้งดั้งเดิม เป็นใจที่ทรงพลัง ทำให้สามารถเอาชนะอุปสรรคทั้งหลาย และพบความสำเร็จได้ในที่สุด
มีสุภาษิตบทหนึ่งที่ปรากฏใน ขุททกนิกาย ชาดก ว่า....
เจ้าจงไปเลี้ยงพ่อแม่ผู้แก่เฒ่า ที่อาศัยอยู่ที่ซอกเขาเถิด ข้าอนุญาตเจ้าแล้ว เจ้าจงไปพบญาติทั้งหลายโดยสวัสดีเถิด
ผู้มีความกตัญญูกตเวที เลี้ยงดูบิดามารดา ผู้ให้กำเนิดกายเนื้อแก่เรามา ไม่ว่าจะเกิดเป็นคน หรือสัตว์เดียรัจฉาน ก็ถือว่าเป็นผู้ที่หาได้ยากในโลก มนุษย์ต่างยกย่องโมทนา เหล่าเทวดาก็แซ่ซ้องสรรเสริญ และยังตามปกปักษ์รักษาบุคคลนั้นอีกด้วย ถ้าอุบัติภัยจะบังเกิดขึ้น หากไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เทวดาก็ดี อมนุษย์ก็ดี จะทนไม่ได้ ต้องมาช่วยให้แคล้วคลาดจากอันตราย และมีความปลอดภัยทุกครั้งไป โบราณท่านจึงกล่าวไว้ว่า ...คนดีตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ เพราะความดีที่ได้ทำไว้นี้ ได้ส่งผลให้ไม่ประสบกับความทุกข์ยาก และให้ได้รับแต่ความสุขกายสบายใจ ไปข้ามภพข้ามชาติ
ตัวอย่างของสัตวโลกอีกประเภทหนึ่ง ที่มีความกตัญญูต่อบิดามารดา เรื่องมีอยู่ว่า .... ในอดีต มีฝูงแร้งกลุ่มหนึ่งจำนวนหลายพันตัว อาศัยอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ซึ่งห่างจากพระนครหลายร้อยโยชน์ คอยหากินสัตว์ที่ล้มตายเป็นอาหาร ในสมัยนั้น พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดพญาแร้ง มีรูปร่างสง่างามเป็นพิเศษ ทำหน้าที่ปกครองฝูงแร้งให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข พวกแร้งหนุ่ม ๆ จะบินลาดตระเวนตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อสอดส่องหาเหยื่อ เมื่อรู้ว่าที่ไหนมีสัตว์ป่าขนาดใหญ่ล้มตาย ก็จะบินกลับมาให้สัญญาณแก่ฝูงแร้งทั้งหมด แล้วจึงค่อยร่อนลงไปกินเหยื่อพร้อม ๆ กัน เวลามีอันตรายเกิดขึ้น จะได้ช่วยเหลือกันได้
ต่อมาพ่อแม่ของพญาแร้งแก่ชราลง ไม่สามารถที่จะออกบินไปหากินตามปกติเหมือนแร้งทั่วไปได้ พญาแร้งจึงตั้งใจที่จะตอบแทนคุณ ด้วยการเลี้ยงดูมารดาบิดาอย่างสุดความสามารถ ดังนั้นไม่ว่าจะไปหากินที่ไหน ไกลเพียงไร เมื่อกินอาหารอิ่มแล้ว พญาแร้งก็ไม่เคยลืมที่จะคาบเอาชิ้นเนื้อกลับมาฝากพ่อแม่ผู้แก่เฒ่า ซึ่งรอคอยอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ
ต่อมาคราวหนึ่ง เกิดพายุฝนใหญ่ พวกแร้งไม่สามารถทนพายุฝนได้ จึงพากันบินมาหลบอยู่ตามกำแพง ณ คูเมืองใกล้ ๆ กับกรุงพาราณสี วันนั้นเศรษฐีกรุงพาราณสีออกจากเมือง ตั้งใจว่าจะไปอาบน้ำ เพื่อพักผ่อน เห็นฝูงแร้งกำลังลำบาก ก็บังเกิดความสงสาร จึงให้คนรับใช้ช่วยกันจัดหาที่กำบังฝนให้พวกแร้ง ก่อไฟให้ผิง จากนั้นให้คนรับใช้ไปที่ป่าช้าโค หาเนื้อโคมาให้พวกแร้งกิน จนอิ่มหนำสำราญ แล้วจัดการอารักขาเป็นอย่างดี ห้ามไม่ให้ชาวบ้านมารังแก
ครั้นพายุฝนสงบลง ฝูงแร้งก็มีร่างกายกระปรี้กระเปร่า พากันบินกลับสู่ภูเขาตามเดิม พวกแร้งจับกลุ่มปรึกษากันว่า ท่านเศรษฐี ได้ช่วยเหลือพวกเราในยามที่ประสบความลำบาก เราควรตอบแทนผู้ที่ช่วยเหลือเรา ฉะนั้นถ้าหากแร้งตัวใด ได้ผ้าหรือเครื่องอาภรณ์ชนิดใด ก็ให้คาบไปตกลงกลางเวหาใกล้เรือนของเศรษฐี ตั้งแต่นั้นมาฝูงแร้ง เมื่อพบเห็นของมีค่าซึ่งเป็นที่ปรารถนาของมนุษย์ เช่นแก้ว แหวน เงิน ทอง ซึ่งตกหล่นอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ก็จะคาบมาทิ้งไว้ในลานบ้านของท่านเศรษฐี
แต่เนื่องจากวินิจฉัยของสัตว์ยังไม่สมบูรณ์ อาศัยแต่ความกตัญญูเพียงอย่างเดียว ไม่ได้คำนึงถึงคนอื่น แร้งบางตัวไปคาบเอาผ้าที่มนุษย์ตากไว้บ้าง คาบเอาเครื่องอาภรณ์ที่เจ้าของวางไว้บ้าง แล้วนำไปที่บ้านของเศรษฐี เศรษฐีรู้ว่าเป็นเครื่องอาภรณ์ของแร้ง จึงให้เก็บอาภรณ์ทั้งหมด ไว้เป็นส่วนๆ เพราะคิดว่าจะต้องนำไปส่งคืนเจ้าของ
มหาชนไม่พอใจ จึงพากันไปร้องเรียนพระราชาว่า ฝูงแร้งปล้นเมือง พระราชาทราบว่า หากจับแร้งจ่าฝูงได้ ตัวอื่น ๆ ก็จะไม่กล้าเข้ามาในพระนคร จึงรับสั่งให้ดักบ่วง และตาข่ายไว้ตามที่ต่าง ๆ บังเอิญในวันนั้น พญาแร้งซึ่งเลี้ยงมารดาบิดา ตั้งใจจะบินมาเยี่ยมท่านเศรษฐี จึงได้ติดบ่วงของชาวบ้านพอดี ชาวบ้านจึงจับพญาแร้งไปถวายพระราชา เศรษฐีกรุงพาราณสี กำลังเดินไปเฝ้าพระราชา ครั้นเห็นชาวเมืองกำลังช่วยกันจับพญาแร้งเพื่อนำไปถวายพระราชา จึงได้ไปพร้อมกับชาวบ้าน เพื่อจะขอร้องไม่ให้พระราชาฆ่าแร้งรูปงามตัวนี้ พญาแร้งแทนที่จะร้องเพื่อขอชีวิตตัว แต่กลับร้องเป็นภาษามนุษย์ว่า ถ้าเราเป็นอะไรไป ใครหนอจะคอยบำรุงเลี้ยงบิดามารดาของเรา ท่านคงต้องตายตามเราไปแน่
พระราชาและเศรษฐีเป็นผู้มีบุญที่เคยเกื้อกูลกันมาก่อน ครั้นได้เห็นพญาแร้ง ก็บังเกิดความรักใคร่เอ็นดู ได้ตรัสถามว่า พวกเจ้าเที่ยวบินปล้นสิ่งของ ๆ ชาวเมืองจริงหรือ แม้ว่าพญาแร้งจะไม่ได้ทำ แต่เป็นการกระทำของฝูงแร้ง ที่ไม่รู้จักการควรไม่ควร แต่ถือว่าเป็นผู้ปกครองพวกแร้งทั้งหมด จึงกราบทูลเป็นสำเนียงมนุษย์ว่า ข้าแต่มหาราช จริงพระเจ้าข้า
พระราชาตรัสถามต่อไปว่า ...พวกเจ้าเอาไปให้ใคร พญาแร้งก็กราบทูลว่า คาบไปให้เศรษฐี เพราะท่านเศรษฐีได้ให้ชีวิตแก่พวกข้าพระองค์ พระราชาทรงสดับแล้ว ก็ปลื้มใจในความกตัญญูของพวกแร้ง ครั้นคลายความสงสัยแล้ว ก็ดำริว่า พญาแร้งเมื่อโอดครวญ ก็ไม่โอดครวญเพื่อตน แต่พร่ำบ่นถึง พ่อแม่ พญาแร้งนี้ไม่สมควรตาย เพราะเป็นแร้งยอดกตัญญู แล้วก็ทรงแก้บ่วงออกด้วยจิตที่เปี่ยมด้วยเมตตา จึงตรัสว่า เจ้าจงไปเลี้ยงพ่อแม่ผู้แก่เฒ่า แล้วอาศัยอยู่ในซอกเขาเถิด เจ้าจงไปพบญาติทั้งหลายโดยสวัสดีเถิด
พญาแร้งดีใจมาก จึงกล่าวขอบพระทัยว่า ...ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงบันเทิงใจพร้อมด้วยญาติทั้งมวลเหมือนกันเถิด ส่วนข้าพระองค์จักเลี้ยงพ่อแม่ผู้แก่เฒ่า แล้วอาศัยอยู่ที่ซอกเขา พระเจ้าข้า... ฝ่ายท่านเศรษฐีรู้ว่าพญาแร้งพ้นภัยแล้ว ก็ดีใจมาก ตัวท่านเอง ก็นำผ้า และแก้วแหวนเงินทองที่พวกแร้งคาบมาให้ทั้งหมด กลับคืนให้กับคนที่เป็นเจ้าของเหมือนเดิม
จะเห็นได้ว่า ผู้มีความกตัญญูกตเวที ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ หรือสัตว์เดียรัจฉาน ก็บ่งบอกถึงว่า เป็นผู้มีจิตใจสูงส่งดีงาม สมควรที่จะได้รับการยกย่องว่า เป็นบุคคลที่หาได้ยากในโลก
ดังนั้น เราจะต้องหาโอกาสตอบแทนบุพการีชนผู้มีพระคุณทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ ปู่ย่าตายายที่ท่านเคยเลี้ยงดูเรามา ตอบแทนคุณของครูอาจารย์ที่ช่วยให้แสงสว่างในชีวิต ช่วยชี้ทางสวรรค์นิพพานให้กับเรา ความกตัญญูนี้เป็นเครื่องหมายของคนดี สามารถส่งผลข้ามภพข้ามชาติได้ คือละโลกไปแล้ว ก็ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ครั้นกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ บุญนี้จะคอยอุปถัมภ์คํ้าจุนไม่ให้ตกต่ำ จะมีผู้สนับสนุนค้ำจุนให้ประสบความสำเร็จในชีวิต ชีวิตเราจะเจริญรุ่งเรือง เพราะฉะนั้นคุณธรรมความกตัญญูนี้ ควรให้ฝังแน่นอยู่ในใจของพวกเราทุกคน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๕ หน้า ๑๗๔ -๑๘๑
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
คิชฌชาดก เล่ม ๕๗ หน้า ๙๔
โฆษณา