4 ก.ย. 2021 เวลา 09:59 • การศึกษา
ผลแห่งการฟังธรรม
ตลอดระยะเวลาอันยาวนานมวลมนุษยชาติ ต่างปรารถนาให้โลกมีสันติสุขที่แท้จริง แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าสันติสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ไหน จะเข้าถึงได้อย่างไร จนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบว่า การที่สันติสุขที่แท้จริงจะบังเกิดขึ้นได้นั้น มนุษย์ทุกคนจะต้องปฏิบัติธรรม ให้เข้าถึงสันติสุขภายใน คือ เข้าถึงพระธรรมกาย ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของความสุขที่แท้จริง พระธรรมกายมีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะมีความแตกต่าง กันด้านเชื้อชาติ ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์ หากได้ลงมือปฏิบัติอย่างถูกวิธี ก็จะสามารถเข้าถึงพระธรรมกายได้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า.....
ยถาปิ รหโท คมฺภีโร วิปฺปสนฺโน อนาวิโล
เอวํ ธมฺมานิ สุตฺวาน วิปฺปสีทนฺติ ปณฺฑิตา
บัณฑิตทั้งหลาย ฟังธรรมแล้ว ย่อมมีจิตผ่องใส เหมือนห้วงน้ำที่มีความลึก เป็นห้วงน้ำใสสะอาด ไม่มีความขุ่น ฉะนั้น
การฟังธรรมตามกาลเป็นมงคลอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกชีวิต สำคัญยิ่งกว่าความรู้ทางโลกที่ร่ำเรียนมา เพราะจะทำให้เกิดดวงปัญญา สว่างไสว ปัญญาจากการฟังธรรม จะนำไปสู่การรู้แจ้ง ทำให้จิตใจผ่องใสสามารถพิจารณาเห็นสิ่งต่างๆ ได้ถูกต้อง ตรงไปตามความเป็นจริง รู้จักแยกแยะ ผิดชอบชั่วดี เป็นปัญญาที่จะทำให้มีชีวิตอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข และปลอดภัยจากอบายภูมิ
1
การฟังธรรมเป็นประจำ แม้ยังเข้าใจไม่ลึกซึ้ง แต่ความรู้ที่ได้ฟังมานั้น ก็จะเป็นอุปนิสัยติดตัวไปในภพชาติ เบื้องหน้า และเป็นเหตุให้บรรลุธรรมาภิสมัยได้ในที่สุด
เหมือนอย่างในสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีงูเหลือมใหญ่ตัวหนึ่งอาศัยอยู่ท้ายวัดป่า ซึ่งมีพระภิกษุจำพรรษาอยู่หลายรูป พระภิกษุที่เรียนพระอภิธรรม เมื่อศึกษาจนเข้าใจแล้ว ก็ชวนกันไปสาธยายธรรมอยู่ท้ายวัด เมื่องูเหลือมได้ยินเสียงของภิกษุ ซึ่งกำลังสวดพระอภิธรรมบทอายตนวิภังค์ ก็เกิดความเลื่อมใสในเสียงสวดพุทธมนต์นั้น แม้จะฟังไม่รู้เรื่อง แต่เมื่อได้ยินแล้วก็มีจิตผ่องใส ฟังพระสาธยายธรรมจนจบแล้วก็หลับต่อไป
ในวันต่อมา เมื่อพระภิกษุชวนกันไปท่องสาธยายธรรม ที่ท้ายวัดอีก งูเหลือมก็ตื่นขึ้นมาฟังด้วยจิตที่เลื่อมใสในเสียงสวดมนต์ เมื่องูเหลือมป่วยใกล้จะตาย ขณะนั้นพระภิกษุกำลังสาธยายธรรมอยู่ มันมีสติจดจำคำว่า อายตนะ มีใจผ่องแผ้วมีจิตยินดีในธรรม ได้ถือเอาเสียงสวดมนต์นั้นเป็นอารมณ์ ตายแล้วจึงได้ไปเกิดเป็นเทพบุตร อยู่ในสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์
หลังพุทธปรินิพพานไม่นาน เทพบุตรนั้นได้จุติจากสวรรค์ มาบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ผู้ที่พรั่งพร้อมไปด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ มีความแตกฉานในไตรเพท พอเจริญวัยขึ้นบิดามารดาปรารถนาจะให้ท่านแต่งงาน แต่มาณพหนุ่มกลับเห็นโทษของการครองเรือน จึงเกิดความเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย ได้ออกบวชเป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนา ในลัทธิของพวกชีเปลือย ชื่อว่า ชรสาณาชีวก บำเพ็ญพรตอยู่ในป่า มีมหาชนมาเคารพนับถือท่านเป็นจำนวนมาก เป็นผู้ได้รับการยกย่องว่า มีปัญญาเปรื่องปราชญ์ลึกลํ้า ไม่มีใครสามารถทัดเทียมได้
สมัยนั้น พระนางสิริธรรมาราชเทวี ซึ่งเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าวินทุสาร ได้นำพระราชโอรส คือ อโศกราชกุมาร มานมัสการท่าน และให้ทำนายดูว่า อนาคตของพระราชโอรสจะเป็นอย่างไร ท่านได้ทำนายว่า ในอนาคต พระราชโอรสนี้ จักฆ่าพระราชกุมารต่างพระมารดากันถึง ๙๙ พระองค์ และจักเป็นมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ในพื้นชมพูทวีป
พระเจ้าวินทุสารเมื่อทราบคำทำนายเช่นนั้น ทรงหวั่นพระทัยว่า อโศกราชกุมารจะฆ่าพี่น้องและหมู่ญาติ จึงส่งพระราชกุมารไปเป็นอุปราชอยู่เมืองอุชเชนนี เพื่อจะได้ไม่ประหัตประหารกันเอง เมื่อพระเจ้าอโศกประทับอยู่ที่เมืองอุชเชนนี ก็ได้ปกครองบ้านเมืองให้สงบร่มเย็น ชาวเมืองอยู่ร่วมกัน อย่างผาสุก
ก่อนที่พระเจ้าวินทุสารจะเสด็จสวรรคต ทรงระลึกถึงพระเจ้าอโศก จึงรับสั่งให้อำมาตย์ไปตามมาเข้าเฝ้า เมื่อทรงพิจารณาพระปรีชาสามารถของพระโอรสแล้ว ทรงเห็นว่าเหมาะสมที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ในนครปาฏลีบุตรมากที่สุด จึงทรงแต่งตั้งให้เป็นพระมหากษัตริย์แทนพระองค์ แล้วก็เสด็จสวรรคต
เนื่องจากนครปาฏลีบุตรเป็นเมืองใหญ่ที่สุด เป็นศูนย์กลาง การค้า ที่มีผู้คนพลุกพล่าน เศรษฐกิจการค้าเจริญรุ่งเรือง ทำให้พระโอรสแต่ละองค์อยากขึ้นครองราชย์แทนพระราชบิดา พี่น้องต่างมารดาทั้ง ๙๙ พระองค์ จึงปรึกษาหารือกัน เพื่อที่จะโค่นล้มราชบัลลังก์ของพระเจ้าอโศก
เมื่อพระราชาหัวเมืองต่างๆ ยกกองทัพเข้ามาพร้อมๆ กัน เพื่อสัปยุทธแย่งชิงราชบัลลังก์ จึงเกิดการต่อสู้กันจนนองเลือดไปทั่วผืนปฐพี ในที่สุดพระเจ้าอโศกก็ได้รับชัยชนะ และได้ประหารพระราชกุมารผู้ก่อกบฏทั้ง ๙๙ พระองค์
เมื่อศึกสงครามได้ยุติลง ก็ทรงทำนุบำรุงประชาราษฎร์ ให้อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุขเรื่อยมา ต่อมาวันหนึ่ง พระองค์ได้ทูลถามพระมารดาว่า เหตุที่พระองค์ได้เสวยราชสมบัติอยู่ในบัดนี้ เคยมีผู้ใดได้ทำนายไว้บ้างไหม พระมารดาจึงได้กล่าวถึง การทำนายของอาจารย์ อาชีวกให้ฟัง
ด้วยความปีติโสมนัส พระราชาจึงทรงรับสั่งให้อำมาตย์นำวอทองไปรับท่านอาจารย์มาพักอยู่ในพระราชวัง ท่านอาชีวกพร้อมกับลูกศิษย์มากมาย ได้เดินทางกันมาเข้าเฝ้าพระราชา ในขณะที่เดินทางมานั้น ท่านเห็นวัดป่าแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่อยู่ของพระอัสคุตเถระ จึงลงจากวอทอง แล้วเข้าไปเยี่ยมเยียนตามธรรมเนียมของบรรพชิต
ในขณะที่เดินเข้าไปในเขตวัดป่าแห่งนั้น ท่านอาชีวกสังเกตเห็นสัตว์ป่าอยู่รวมกัน โดยมิได้เบียดเบียนกันเลย ทำให้ท่านเกิดความอัศจรรย์ใจ เพราะสัตว์ป่าบางประเภทไม่น่าจะอยู่ร่วมกันได้ แต่ก็อยู่ร่วมกันโดยไม่ทำร้ายกัน สัตว์บางพวกท่านก็ไม่เคยเห็นไม่เคยรู้จัก จึงได้ถามพระมหาเถระว่า ..สัตว์พวกนี้ มีชื่อว่าอะไร
พระมหาเถระซึ่งเป็นพระอรหันต์ จึงระลึกชาติหนหลังของอาชีวก ก็รู้ว่าอาชีวกนี้เคยเกิดเป็นงูเหลือม แล้วได้ฟังอายตนวิภังค์มามาก จึงคิดจะสงเคราะห์อาชีวก ให้ได้สติระลึกถึงสัญญาที่เคยสั่งสมมา จึงตอบไปว่า ...สัตว์จำพวกนี้ชื่อว่า ..อายตนะ
อาชีวกจึงถามย้ำว่า ...ท่านผู้เจริญ อะไรชื่อว่าอายตนะ พระเถระกล่าวว่า ...ชาวโลกต่างพากันเรียกสัตว์เหล่านี้ โดยสมมติให้ชื่อว่าช้าง ม้า ราชสีห์ หรืออื่นๆ อีกมากมาย แต่พระบรมศาสดาตรัสว่า ...สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อันเป็นที่เกิดทั้งกุศล และอกุศล ทำให้สรรพสัตว์เหล่านี้ต้องเวียนว่ายในสังสารวัฏอันยาวนาน เพราะฉะนั้นสัตว์เหล่านี้จึงชื่อว่า อายตนะ
เมื่อท่านอาชีวกได้ฟังคำตอบเช่นนั้น จึงเกิดความแจ่มแจ้ง มีดวงปัญญาสว่างไสวขึ้นมาทันที เกิดหิริโอตตัปปะ มองดูร่างกายตนเองแล้วรู้สึกละอาย ที่ไม่ได้สวมเสื้อผ้า และเริ่มเข้าใจว่าลัทธิที่ตนเองปฏิบัติอยู่นั้นไม่ถูกต้อง เมื่อเกิดสัมมาทิฏฐิแล้ว จึงตัดสินใจขอบวชกับพระเถระ โดยได้บอกเหล่าบริวาร ให้ทราบว่า ตนเองไม่อาจจะไปเข้าเฝ้าพระราชาได้ เพราะ ขณะนี้กำลังบำเพ็ญสมณธรรมอยู่
แม้บริวารจะอ้อนวอนอย่างไร ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ความตั้งใจของท่านได้ จึงพากันไปทูลเรื่องนั้นต่อพระเจ้าอโศกมหาราช พระราชาทรงเห็นความตั้งใจดีของท่านอาจารย์ ก็มิได้ทรงกริ้วแต่อย่างใด ส่วนท่านอาชีวก เมื่อบวชเป็นภิกษุแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ ไม่นานก็สามารถบรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์
จะเห็นได้ว่า การบรรลุธรรมต้องอาศัยการสั่งสมความรู้ คู่กับความบริสุทธิ์ ซึ่งเราจะบริสุทธิ์ได้ด้วยใจที่หยุดนิ่ง และลงมือปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง เมื่อปฏิบัติถูกส่วนก็จะเข้าถึงธรรมได้โดยง่าย ดังนั้นการฟังธรรมแม้จะเป็นบทเดิมๆ แต่ธรรมะ ทุกบทสามารถขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสได้ และจะเป็นพลวปัจจัย ส่งเสริมให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
เพราะฉะนั้น ให้ตั้งใจฟังธรรมแล้วน้อมนำมาปฏิบัติ แม้จะเป็นธรรมะที่เราเคยได้ยินได้ฟังแล้วก็ตาม เมื่อฟังซ้ำอีก เราก็จะเข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น ถ้าฟังให้ดีก็จะมีดวงตาเห็นธรรม เหมือนพระอริยเจ้าทั้งหลาย พอสิ้นสุดพระธรรมเทศนา ของพระบรมศาสดา ก็ได้บรรลุธรรมาภิสมัยกันถ้วนหน้า ดังนั้นให้ขยันปฏิบัติธรรมกันให้ได้ทุกๆ วัน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๕ หน้า ๒๑๐ -๒๑๗
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
ภูมิวิลาสินี พระพรหมโมลี
โฆษณา