13 ก.ค. 2021 เวลา 08:00
“อยู่ตรงไหนก็จะกลายเป็นคนแบบนั้น”
ว่าด้วยปรากฏการณ์คนทำงานถูกระบบกลืนกิน
.
“ตอนแรกก็เข้าไปด้วยแพชชัน คิดว่าตัวเองคงพอจะเปลี่ยนอะไรๆ ได้บ้าง แต่ผ่านไป 1-2 ปี กลายเป็นเราเริ่มถูกระบบกลืนเข้าทุกวันๆ ตอนนี้คิดแค่ว่า ทำๆ ไปเถอะ อยู่ๆ ไปเถอะ”
.
.
เวลาเราพูดถึงปัญหาการถูกระบบกลืน สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึง (บวกกับการรีเสิชข้อมูลด้วย) จะเกิดขึ้นกับองค์กรภาครัฐหรือระบบราชการ ทั้งสายตาที่มองเข้าไปจากคนนอก และคนที่อยู่ในระบบเองต่างก็รู้ดีว่า การเข้าไปเปลี่ยนวิธีการทำงาน และระบบที่แสนจะเทอะทะนั้นมีความเป็นไปได้ยากเหลือเกิน
.
ดิฉันมีรุ่นพี่ที่รู้จักคนหนึ่งทำงานอยู่ในระบบที่ว่านี้ เหตุผลที่เข้าไปทำงานมีอยู่สองส่วน อย่างแรกคือ เธอศรัทธาด้วยใจจริงว่างานราชการเป็นงานที่ไม่ได้ทำเพื่อป้อนกำไรให้กับคนๆ เดียวเหมือนกับเอกชน และอีกเหตุผลก็คือ ความคาดหวังเรื่องสวัสดิการและความมั่นคง
.
ในช่วงแรก รุ่นพี่คนนี้ก็พออยู่ได้และเจอปัญหาระบบ ‘top to down’ อยู่เนืองๆ แต่ผลลัพธ์ก็คือ เธอกลับรู้สึก ‘suffer’ มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสิ่งที่เคยคิดกับสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าไม่เป็นไปอย่างที่หวัง พอเกิดความรู้สึกแบบนี้เยอะเข้ามันก็สะสม จนกลายเป็นความรู้สึกต่อต้านคัดง้างในใจที่กัดกินอุดมการณ์ไปทีละนิดๆ
.
ถามว่า ระบบกลืนกินคนเกิดขึ้นกับคนทำงานเอกชนบ้างไหม คำตอบคือ มีแน่นอนค่ะ เพราะทุกที่ ทุกองค์กรมีวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่างกัน การถูกกลืนในที่นี้ก็มีหลายรูปแบบนะคะ
.
บางคนอยู่ในองค์กรที่มีวัฒนธรรมแข็งแรงมาก สามารถวิพากษ์วิจารณ์ โต้เถียงเรื่องงานกันได้ดีเดือดสุดๆ พอออกมาจากห้องประชุมทุกคนก็คือเพื่อนพี่น้องกันเหมือนเดิม ขณะที่บางองค์กรไม่เป็นอย่างนั้น ถ้ามีเรื่องที่เห็นต่างกันในชิ้นงาน ก็ดันเก็บไปเป็นความรู้สึกส่วนตัว จนพาลไม่คุยเรื่องจิปาถะในชีวิตจริงเลยก็มี
.
การถูกกลืนที่ว่านี้จึงหมายถึง การที่คนคนหนึ่งเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติของระบบสังคมแบบหนึ่ง จนถูกหล่อหลอมทั้งตัวตน วิธีการแสดงออก และชุดความคิดบางอย่างเข้าไว้ด้วยกัน
.
ถ้าเข้าไปแล้วไม่ชอบ ไม่โอเค เห็นแล้วว่า วัฒนธรรมหรือระบบที่องค์กรนี้เป็นอยู่มีปัญหาเราจะทำยังไงได้บ้าง?
.
ดิฉันมองว่า การฟีดแบคเรื่องให้กับหัวหน้างาน หรือคนที่มีความรับผิดชอบดูแลภาพรวมเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำค่ะ แม้ว่าท้ายที่สุดระบบจะยังไม่ปรับเปลี่ยนทันที หรือเราอาจจะขอไม่ไปต่อกับที่นี่ก็ย่อมได้ แต่อย่างน้อยๆ การฟีดแบคให้องค์กรได้รู้ข้อบกพร่องของตัวเองบ้าง ก็ช่วยให้หัวหน้างานเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ที่เขาอาจจะไม่เคยมองเห็นมาก่อนด้วยซ้ำ
.
ในแง่นี้ ระบบที่กลืนคนจึงอาจแบ่งได้เป็นสองความหมายค่ะคือ ไม่ได้เป็นเรื่องในเชิงลบเสียทีเดียว เพราะบางคนก็ไปเจอกับวัฒนธรรมองค์กรที่ดีมากๆ ช่วยส่งเสริมให้เราเป็นคนที่ดีขึ้น เก่งขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น
.
แต่ในทางกลับกัน บางองค์กรก็อาจเปลี่ยนให้เราเป็นคนที่แย่ลงแบบไม่รู้ตัว เพราะการอยู่ในสังคมแบบไหนนานๆ เจอผู้คนที่มีพฤติกรรมแบบเดียวกันมากๆ เข้า ไม่แปลกเลยที่เราจะกลายเป็นคนแบบนั้นไปด้วย
.
เรื่องแบบนี้พูดยากอยู่เหมือนกันค่ะ จะบอกให้เอาตัวเองออกมาจากตรงนั้นเลยก็ไม่ใช่จะสามารถทำได้ทันที ทุกคนมีเงื่อนไขในชีวิตกันหมดแหละ แต่ความรู้สึกคัดง้างเช่นนี้ก็กำลังบั่นทอนเราลงเรื่อยๆ เช่นกัน
.
คงต้องวางแผนระยะยาวให้กับชีวิตนะคะ บรรยากาศที่เป็นพิษไม่ช่วยให้ทั้งงานและสุขภาพจิตของคุณดีได้เลย ไม่ว่าเราจะพยายามปรับมายด์เซ็ตหรือเริ่มที่ตัวเองแล้วก็ตาม
.
มีงานวิจัยของศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาการแพทย์ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ระบุว่า ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพแสดงให้เห็นเลยว่า ปัญหาเรื่องสุขภาพจิตและสภาวะเครียดสะสมจากการทำงาน สามารถพัฒนาไปสู่โรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือดได้
.
จากการเก็บผลสำรวจนั้น คนที่ตัดสินใจเปลี่ยนงานไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สภาวะความเครียดลดลง ก็มีผลโดยตรงกับระบบเผาผลาญและระบบภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นตามลำดับด้วย
.
นอกจากนี้ สมมติฐานที่ว่า การมีงานที่ไม่ดีย่อมดีกว่าการไม่มีงานทำนั้นก็ไม่เป็นความจริง ผลการศึกษาทางการแพทย์ไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างด้านสุขภาพจิตของคนสองกลุ่มนี้สักเท่าไร
.
สำหรับคนที่กำลังลังเลและพบว่า ตัวเองกำลังถูกระบบกลืนให้กลายเป็นคนที่แย่ลงจริงๆ อาจจะต้องวางแผนระยะยาวให้กับชีวิตแล้วค่ะ เข้าใจว่า สถานการณ์แบบนี้มีงานประจำทำก็ต้องกอดไว้แน่นๆ แต่อย่าลืมที่จะดูแลจิตใจตัวเองกันด้วยนะคะ ปรับมายด์เซ็ตและหาบาลานซ์แบบที่ไม่กล่าวโทษตัวเองกันจนเกินไป
.
สภาพแวดล้อมการทำงานเป็นสิ่งสำคัญมากๆ อย่าให้ 'toxic environment' บั่นทอนให้ชีวิตแย่ลงไปอีกเลยนะคะ
.
คุณทำดีที่ดีสุดเท่าที่คนคนหนึ่งจะทำได้แล้วแหละ เราเชื่อแบบนั้น
1
เขียนโดย Piraporn Witoorut
ที่มา : cnn
.
◤━━━━━━━━━━━━━━━◥
หากคุณชอบคอนเทนต์นี้อย่าลืม 'กดไลก์'
หากคอนเทนต์นี้โดนใจอย่าลืม 'กดแชร์'
◣━━━━━━━━━━━━━━━◢
.
.
“Knowledge is the only way to success”
- - - - - - - - - - - - - - - - - -
ติดตามคอนเทนต์เพื่อพัฒนาตัวเองสู่ความสำเร็จจาก Future Trends ได้ที่
(อย่าลืมกด See First เพื่อไม่ให้พลาดคอนเทนต์ใหม่ในทุก ๆ วัน)
1
#FutureTrends #KnowledgeforSuccess
โฆษณา