10 ก.ย. 2021 เวลา 09:23 • การศึกษา
อดทนอย่างมีเป้าหมาย
เราเกิดมาเพื่อสร้างบารมี การสร้างบารมีเป็นงานที่แท้จริงของมวลมนุษยชาติ พระบรมโพธิสัตว์ในกาลก่อน ท่านก็ทำอย่างนี้ คือ สร้างบารมีไปจนกว่าบารมีจะเต็มเปี่ยม ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน การที่เราเกิดมาภพชาติหนึ่ง ก็เพื่อสั่งสมบุญ บารมีเท่านั้น บุญที่เราได้ทำไว้ดีแล้ว จะเป็นเสบียงในการเดินทางไกลในวัฏสงสาร จนกว่าจะไปถึงเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิต
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเสวยพระชาติเป็นสรภังคดาบสโพธิสัตว์ ได้กล่าวถึงความอดทนอันสูงสุดไว้ว่า...
บุคคล อดทนต่อถ้อยคำของคนผู้เป็นใหญ่กว่าได้ เพราะความกลัว อดทนต่อถ้อยคำของผู้เสมอกันได้ เพราะการแข่งดีเป็นเหตุ ส่วนบุคคลใดในโลกนี้ อดทนต่อถ้อยคำของผู้ต่ำกว่าได้ สัตบุรุษทั้งหลายกล่าวว่า ความอดทนของ ผู้นั้นสูงสุด
พระบรมศาสดาทรงสรรเสริญความอดทน ทรงสอนไม่ให้ก่อเวร แต่ให้อดทนด้วยสติปัญญา ที่จะพิจารณาปรับปรุงแก้ไขตนเอง ต้องชำระตนให้บริสุทธิ์ ทำใจให้อยู่เหนือปัญหา อยู่เหนือการล่วงเกินของใคร ๆ เพราะเมื่อใจเราอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ เราย่อมไม่หวั่นไหวหรือรู้สึกขุ่นมัวกับสิ่งใด ใจจะสงบ สะอาด บริสุทธิ์ และผ่องใส
ดังเช่นบัณฑิตทั้งหลายในกาลก่อน แม้ถือกำเนิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน ยังมีจิตใจสูงส่งเปี่ยมล้นด้วยคุณธรรม คือความอดทน แม้จะถูกประทุษร้ายจากผู้อื่น หรือทำสิ่งไม่น่าชอบใจให้ ก็ไม่คิดทำร้ายตอบ แต่กลับมีความเอ็นดู สงสาร ให้อภัยต่อผู้อื่นเสมอ เพราะมีใจเปี่ยมด้วยความเมตตาปรารถนาดี หวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายอย่างแท้จริง
ในสมัยพุทธกาล ณ กรุงสาวัตถี มีลิงตัวหนึ่งที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ มีนิสัยเกเร ชอบทำความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านในละแวกนั้น วันหนึ่งลิงได้ไปเล่นใกล้ๆ โรงช้าง ได้เห็นช้างเชือกหนึ่งท่าทางสงบ และเชื่อง เมื่อได้โอกาส มันก็ปีนขึ้นไปนั่งบนหลังช้างทันที แล้วกระโดดโลดเต้น ทำกิริยาอาการคึกคะนองตามนิสัยของมัน เมื่อเห็นว่าช้างไม่แสดงกิริยาโต้ตอบแต่อย่างใด ก็ยิ่งได้ใจ จึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะลงบนหลังของช้าง แม้ลิงจะทำสิ่งที่ไม่สมควรถึงเพียงนี้ แต่ช้างก็ไม่โกรธ ยังคงสงบนิ่งเฉยอยู่
ต่อมามีช้างเชือกหนึ่งซึ่งมีอุปนิสัยดุร้าย ได้มายืนอยู่ในที่ที่ช้างเชือกนั้นเคยยืน ลิงก็มาเล่นเหมือนวันก่อน เพราะเข้าใจผิด คิดว่าเป็นช้างเชือกเดิม จึงกระโดดขึ้นขี่บนหลังช้างทันที แต่ยังไม่ทันจะได้เล่นซุกซนเช่นเคย ช้างเชือกนั้นก็ใช้งวงจับลิงฟาดลงบนพื้นอย่างแรง แล้วเอาเท้ากระทืบซ้ำ จนร่างของลิงแหลกเหลว สิ้นชีวิตลงทันที
เหตุการณ์นั้น ได้ปรากฏต่อสายตาของพระภิกษุ ภิกษุทั้งหลายจึงสนทนากันถึงเรื่องที่เกิดขึ้น เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมา และทรงทราบเรื่องราวทั้งหมดจึงตรัสว่า ไม่ใช่แต่ในชาตินี้เท่านั้น ที่ลิงเกเรตัวนี้ต้องเสียชีวิต เพราะความประพฤติไม่ดี แม้ในอดีตชาติก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน แล้วทรงนำเรื่องในอดีตชาติ มาตรัสเล่าให้แก่ภิกษุทั้งหลายฟังว่า...
ในอดีตกาล เมื่อครั้งพระบรมโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญากระบือ อาศัยอยู่ในหิมวันตประเทศ เมื่อเจริญวัยเต็มที่มีร่างกายสมบูรณ์ด้วยพละกำลัง ตัวสูงใหญ่สง่างาม ท่องเที่ยวไปตามป่าเขาลำเนาไพร วันหนึ่งเมื่อกระบือโพธิสัตว์กินหญ้า จนอิ่มหนําสำราญแล้ว ได้เข้าไปยืนพักที่ใต้ร่มไม้แห่งหนึ่ง ซึ่งแผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาแก่ฝูงนกกาได้มาอาศัย
ลิงรุ่นหนุ่มตัวหนึ่ง อาศัยอยู่บนต้นไม้ต้นนั้นพอดี เมื่อเห็นกระบือโพธิสัตว์ ยืนนิ่ง ไม่มีท่าทีที่น่าจะเป็นภัยแก่ตนก็นึกสนุกขึ้นมาทันที รีบลงจากต้นไม้ กระโดดขึ้นไปบนหลังพระโพธิสัตว์ เล่นตามใจชอบของมัน จับเขาทั้ง ๒ ข้าง ห้อยโหนโยนตัวไปมาอย่างสนุกสนาน แม้ลิงทำอยู่อย่างนี้ กระบือโพธิสัตว์ก็ยังสงบนิ่งเฉย ไม่ได้แสดงกิริยาอาการ ไม่พอใจใด ๆ เพราะมีขันติธรรม และมีความเมตตาเอ็นดู แต่ลิงกลับยิ่งได้ใจ จึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะลงบนหลังพระโพธิสัตว์ พญากระบือก็ยังคงสงบนิ่งเฉยเช่นเดิม เหตุการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ทุกวัน ที่กระบือพระโพธิสัตว์มายืนพักใต้ร่มไม้นี้
เทวดา ซึ่งสิงสถิตอยู่ในต้นไม้นั้น ทนดูเหตุการณ์นั้นไม่ไหว จึงได้กล่าวกับพระโพธิสัตว์ว่า ท่านพญากระบือ ท่านอดทนอดกลั้นต่อการกระทำของลิงชั่วได้อย่างไร ท่านควรจะจัดการกับมันเสีย เพราะอะไรท่านจึงอดทนอดกลั้นต่อความทุกข์ ที่เกิดจากลิงที่มีจิตกลับกลอก มักประทุษร้ายมิตร ถ้าท่านไม่ห้ามปรามมัน สัตว์ทั้งหลายผู้โง่เขลา ก็จะเบียดเบียนท่านร่ำไป
กระบือพระโพธิสัตว์ได้ฟังเทวดากล่าวเช่นนั้น ก็กล่าววาจาอันไพเราะจับใจขึ้นมาว่า ท่านรุกขเทวดา ถ้าเราเป็นผู้ที่เจริญยิ่งกว่าลิงตัวนี้ โดยชาติ โดยโคตร และโดยที่มีอายุยืน ยาวกว่า แต่ไม่สามารถจะอดทนอดกลั้นต่อลิงตัวนี้ ซึ่งประทุษร้ายเรา ความปรารถนาพระสัมมาสัมโพธิญาณของเรา ก็จะไม่สำเร็จ
1
เรายอมให้ลิงเบียดเบียนเรา ดีกว่าเราไปเบียดเบียนลิงตัวนี้ ถึงอย่างไรเราก็ไม่ทำปาณาติบาต เพียงเพื่อให้พ้นจากทุกข์ในปัจจุบัน แต่ไม่อาจพ้นจากทุกข์ในอบาย เพราะการทำปาณาติบาตนั้นอย่างแน่นอน แล้วกระบือโพธิสัตว์ก็ยังคงประกอบขันติธรรม ยืนสงบนิ่งอยู่เช่นเดิม เป็นผู้มีใจหนักแน่นประดุจภูเขาศิลาแท่งทึบ ที่ไม่หวั่นไหวต่อแรงลมที่พัดมาจากทิศ ทั้ง ๔
พอผ่านไป ๒-๓ วัน พระโพธิสัตว์ก็ได้หลีกไปหากินถิ่นอื่น วันนั้นกระบือหนุ่มตัวหนึ่งซึ่งมีนิสัยดุร้าย ได้มายืนพักใต้โคนต้นไม้ที่พระโพธิสัตว์เคยอยู่ ลิงแสนซนก็รีบลงจากต้นไม้ เพราะคิดว่าเป็นกระบือตัวเดิม พอกระโดดขึ้นบนหลัง จับเขาห้อยโหนตัวไปมาเท่านั้น กระบือหนุ่มก็ได้สลัดเขาอย่างแรง จนลิงพลัดตกลงมาแล้วกระบือก็เอาเขาขวิดลิงอย่างเต็มแรง จากนั้นได้เอาเท้าทั้งสี่เหยียบย่ำ จนร่างของลิงแหลกละเอียด เจ้าลิงจึงจบชีวิตลงอย่างน่าอเนจอนาถ
จะเห็นได้ว่า เรื่องของบาปกรรม ใครทำอะไรไว้ ก็ย่อมได้รับผลอย่างนั้น บัณฑิตในกาลก่อนท่านไม่ประทุษร้ายใคร แต่อาศัยขันติธรรม อดทนทุกอย่าง เพื่อเพิ่มพูนขันติบารมีให้มากขึ้น ดังนั้นนักสร้างบารมีต้องอดทน ไม่ว่าผู้ที่มาพิสูจน์ กำลังใจเรา จะเป็นใคร มาจากไหน จะว่าร้ายเราอย่างไรก็ตาม เราต้องอดทนให้ได้ เพราะความอดทนเป็นคุณธรรมเบื้องต้นของนักสร้างบารมีที่มีพระนิพพานเป็นเป้าหมาย เพราะถ้าปราศจากความอดทนแล้ว ก็ยากที่จะฝ่าฟันอุปสรรค เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายอันสูงสุดได้
การฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง จะทำให้เรามีความอดทนมากขึ้น จิตใจสงบเยือกเย็นยิ่งขึ้น จนกระทั่งเมื่อใจหยุดนิ่งได้สมบูรณ์ เราก็ไม่ต้องอดทนอีกต่อไป เพราะใจเราจะไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น เราจะไม่มีความรู้สึกว่าเราต้องทนอะไร เพราะใจมีแต่ความสุขความสบายใจ ไม่ขัดเคืองหรือขุ่นมัวกับใคร
เมื่อใจหยุดนิ่งสนิทในกลางพระธรรมกาย เราจะมีแต่ความปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย อยากจะให้ชาวโลกพบสันติสุขที่แท้จริง ให้มวลมนุษยชาติปรองดองกัน เลิกเบียดเบียนซึ่งกันและกัน และหันมาประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของชาวโลก ถ้าทำได้อย่างนี้ สันติสุขก็จะบังเกิดขึ้นในโลกอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น ให้หมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในกันให้ได้ทุก ๆ คน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๕ หน้า ๒๔๕ -๒๕๑
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
มหิสชาดก เล่ม ๕๘ หน้า ๒๒๑
โฆษณา