15 ก.ค. 2021 เวลา 11:50 • ธุรกิจ
SMEs ไทย ผู้จ้างงาน 10 ล้านคนในประเทศ กำลังเจอวิกฤติ
ธุรกิจ SMEs เป็นหนึ่งในภาคส่วนที่มีความสำคัญมากกับเศรษฐกิจไทย และเป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากผลกระทบของโควิด 19 ด้วยเช่นกัน
วันนี้หลายกิจการจำใจต้องปิดตัวลง ขณะที่อีกหลาย ๆ กิจการ พยายามยื้อต่อเพื่อหวังว่า ในอนาคตสถานการณ์จะดีขึ้น
หนี้ของ SMEs ทั้งระบบในตอนนี้ มีมูลค่าสูงกว่า 3.5 ล้านล้านบาท ซึ่งบางส่วนกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ไปแล้ว
ธุรกิจ SMEs จะยืนระยะไปได้อีกนานแค่ไหน ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
Small and Medium Enterprises หรือ SMEs คือ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจตั้งแต่การผลิต การค้า และการบริการ โดยใช้เงินลงทุนไม่มาก และโดยทั่วไปอาจไม่ได้ใช้เทคโนโลยีระดับสูง
ปัจจัยที่ใช้กำหนดว่า ธุรกิจไหนเป็นธุรกิจขนาดกลาง และธุรกิจไหนขนาดย่อม จะใช้เกณฑ์รายได้และจำนวนแรงงานในการแบ่ง
กรณีภาคการผลิตนั้น ถ้ามีการจ้างงาน 50-200 คน มีรายได้ 50-500 ล้านบาท จะเป็นธุรกิจขนาดกลาง และถ้าน้อยกว่านั้น ก็จะถือเป็นธุรกิจขนาดย่อม
1
กรณีภาคบริการและการค้านั้น ถ้ามีการจ้างงานอยู่ที่ 30-100 คน มีรายได้ 50-300 ล้านบาท จะเป็นธุรกิจขนาดกลาง ถ้าน้อยกว่านั้นก็เป็นธุรกิจขนาดย่อม
ด้วยความที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทำให้หลายครั้ง SMEs มักมีข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น
- การเข้าถึงเงินทุนและขาดแคลนเงินสนับสนุน
- ปัญหาในเรื่องของการบริหารจัดการ ขาดความโปร่งใส และการกำกับดูแลกิจการที่ดี
- ปัญหาการจัดทำระบบบัญชี
- การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะสูง
- การเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง
2
แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อจำกัดหลายอย่าง ธุรกิจ SMEs ก็มีข้อดีหลายข้อเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น
- เริ่มต้นทำธุรกิจด้วยเงินทุนไม่มาก ซึ่งตรงนี้ทำให้ถูกมองว่า มีความเสี่ยงน้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาเราก็เห็นหลายบริษัทที่เติบโตมาจากธุรกิจเล็ก ๆ จนมีชื่อเสียงในทุกวันนี้
1
- เจ้าของธุรกิจสามารถจัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง มีความอิสระและคล่องตัวในการบริหารจัดการได้อย่างทั่วถึง
- มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ
ที่สำคัญก็คือ ธุรกิจ SMEs ถือเป็นแหล่งของการจ้างงานขนาดใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย
รู้ไหมว่า ในปี 2563 ประเทศไทยมีจำนวน ผู้มีงานทำ ประมาณ 38 ล้านคน
โดยในจำนวนนี้ เป็นแรงงานที่อยู่ในภาคธุรกิจ SMEs จำนวน 13 ล้านคน หรือประมาณ 34% ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งประเทศ
1
Cr.kctathailand
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ หลายสิบปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- ในปี 2537 จำนวนผู้ประกอบธุรกิจ SMEs มีจำนวน 0.4 ล้านราย
- ในปี 2563 จำนวนผู้ประกอบธุรกิจ SMEs มีจำนวน 3.1 ล้านราย
และสภาหอการค้าไทย ยังมีการประเมินกันว่า ตัวเลขจำนวนผู้ประกอบธุรกิจ SMEs จริง ๆ อาจมีจำนวนสูงถึง 5 ล้านราย เนื่องจากยังมีผู้ประกอบการบางส่วน ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการ SMEs กับทางราชการ
ขณะที่ในปี 2562 ที่ผ่านมา ธุรกิจ SMEs สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ไทย สูงกว่า 7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 43% ของมูลค่า GDP ทั้งประเทศไทย
1
ปัจจุบัน ถ้าเราแบ่งจำนวนผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ตามประเภทธุรกิจจะพบว่ามาจาก
- การค้าและบริการ 2.6 ล้านราย
- การผลิตและการเกษตร 0.5 ล้านราย
หมายความว่า จำนวนผู้ประกอบธุรกิจ SMEs กว่า 84% เกี่ยวข้องกับการค้าและบริการ
ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจการค้าและบริการ โดยเฉพาะที่พักแรม, ร้านอาหาร, ร้านเสริมสวย, ร้านขายของที่ระลึก ถือเป็นกลุ่มผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอย่างหนัก จากการแพร่ระบาดของโควิด 19
สาเหตุหลัก ๆ คือ การที่จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหายไปตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 และการชะลอการเดินทางของคนไทยในประเทศ
แม้ทางภาครัฐจะพยายามออกมาตรการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวต่าง ๆ อย่างโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อช่วยให้คนไทยในประเทศช่วยกระตุ้นการเดินทางและท่องเที่ยวภายในประเทศบ้าง แต่ก็ต้องมาพบกับการระบาดหลายระลอกที่ดับความหวังในการกระตุ้นให้หมดไป
1
ปี 2562 รายได้การท่องเที่ยวของประเทศไทย อยู่ที่ประมาณ 3 ล้านล้านบาท เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท และรายได้จากคนไทยประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท
ซึ่งถ้าดูจากตัวเลขแบบนี้ก็ต้องยอมรับว่า แทบเป็นไปไม่ได้ที่รายได้จากนักท่องเที่ยวไทย จะเพิ่มขึ้นจนชดเชยกับรายได้ที่หายไปจากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้
 
การระบาดของโควิด 19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 สร้างความบอบช้ำอย่างหนักให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักกว่า เมื่อเทียบกับธุรกิจในภาพรวมทั้งประเทศ
ซึ่งสะท้อนมาจาก มูลค่า GDP ที่เกิดจาก SMEs ในปี 2563 ที่ติดลบไปกว่า 9.1% จากปีก่อนหน้า
เทียบกับมูลค่า GDP ของประเทศไทย ที่ติดลบไป 6.1% จากปีก่อนหน้า
Cr.coolontop
อีกทั้งในตอนนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ทำท่าจะคลี่คลายไปบ้างในช่วงก่อนนี้ กลับดูเหมือนว่าเลวร้ายลงกว่าเดิมไปอีก
ยิ่งถ้าสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ภายในประเทศลากยาวไปจนถึงสิ้นปี มีการคาดกันว่า ธุรกิจ SMEs จำนวนไม่น้อย อาจต้องเข้าสู่ภาวะล้มละลาย
1
อ้างอิงข้อมูลจาก สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ปัจจุบัน ธุรกิจ SMEs ทั้งหมดมีหนี้รวมกันกว่า 3.5 ล้านล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สูงกว่า 240,000 ล้านบาท
ทาง สสว. ยังคาดกันว่า มูลค่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ อาจเพิ่มขึ้นอีก 440,000 ล้านบาท หากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ยังไม่ดีขึ้น จนทำให้ธุรกิจ SMEs จำนวนมาก ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้เหมือนช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดโรคระบาด
ที่ผ่านมา ธุรกิจ SMEs จำนวนไม่น้อยได้พยายามปรับตัวเพื่อความอยู่รอด แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ทนบาดแผลในครั้งนี้ไม่ไหวจนต้องยอมแพ้ไปแล้ว
ขณะที่บางส่วนพยายามกัดฟัน อดทนเลือกที่จะยืนระยะต่อไป อย่างน้อยก็หวังว่า ในอนาคตอันใกล้ทุกอย่างน่าจะดีขึ้น แม้ว่ายังไม่รู้ว่าเมื่อไร เพราะถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ ความหวังจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว หรือเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เต็มที่ คงไม่ใช่เรื่องง่าย
1
ความหวังตอนนี้ ก็คงอยู่ที่ภาครัฐต้องบริหารจัดการการควบคุมโรคระบาดให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และทุกฝ่ายก็ต้องร่วมด้วยช่วยกันอย่างเต็มที่ เพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้นได้เร็วที่สุด
เรื่องนี้ ดูไปคล้าย ๆ กับเวลาที่เรากำลังนั่งรถไฟเข้าไปในอุโมงค์อันมืดมิดจนมองไม่เห็นอะไร ซึ่งเราก็คงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการนั่งรอรถไฟให้วิ่งพ้นอุโมงค์ เพื่อที่ทุกคนจะได้เห็นแสงสว่าง
2
แต่คำถามสำคัญที่ทุกคนอยากรู้ในตอนนี้ก็คือ
รถไฟขบวนนั้น ใกล้จะถึงปลายอุโมงค์ แล้วหรือยัง..
โฆษณา