14 ก.ค. 2021 เวลา 13:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Good Life … Financially
ปาฐกถาของคุณบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
2
ภาพจาก  Optimise Magazine
ที่ผมเคยไปพูดในงาน SB Bangkok เมื่อหลายปีก่อน
อย่างที่หลายท่านได้ยินมา
โจทย์ใหญ่หรือธีมของ Sustainable Brand 2017 Bangkok คือ
Redefining Good Life
หรือการให้นิยามใหม่ว่า ‘ชีวิตที่ดี’ นั้นเป็นอย่างไร
โดยครอบคลุมใน 8 มิติ เช่น
Good Food, Good Home, Good Design, Good Energy ต่างๆ นาๆ
แต่จำเพาะในส่วนของผม ได้รับมอบหมายให้พูดเรื่อง Good Money
หรือ ‘เงินที่ดี’ ที่จะมาช่วยเราสร้างชีวิตที่ดีในนิยามใหม่
ซึ่งฟังแล้วก็รู้สึกหนักใจกว่าคนอื่น เพราะฝรั่งบอก Money is the root of all evil
เงินเป็นรากฐานของความชั่วร้ายทั้งมวล
แถมนิยายปรำปราต่างๆ ที่เราเคยได้ยินได้รับการสั่งสอนกันมา
ส่วนใหญ่ก็ให้เงินเป็นต้นเหตุของหายนะในรูปแบบต่างๆ เสมอ
การจะให้มาพูดให้ Money นั้นฟัง good จึงค่อนข้างจะกินแรงอยู่มาก
• ยิ่งกว่านั้น ความจริง ผมคิดว่าเรื่อง ‘ชีวิตที่ดี’ ในนิยามใหม่
มันถูกนิยามมาตั้งแต่มีการเล่าถึงเรื่องชายคนหนึ่งที่นั่งตกปลาอยู่ริมทะเล
แล้วก็มีเด็กจบ MBA อวดเก่งมาถามว่าทำไมลุงมานั่งเฉื่อยแฉะอย่างนี้
ไม่รู้จักลุกขึ้นมาทำการประมงให้เป็นเรื่องเป็นราวเล่า
จนชายคนนั้นเลิกคิ้วขึ้นถามว่าจะทำไปทำไม
เด็กก็สอนว่า ก็จะได้จับปลาไปขายได้ทีละมากๆ เป็นเจ้าของกองเรือจนมีเงินเหลือกินเหลือใช้แล้วมานั่งตกปลาเล่นเฉยๆ
โดยไม่ต้องทำงานได้
ซึ่งทุกคนรู้ดีว่า ในตอนจบ
ชายคนนั้นตอบว่า
“กูก็ทำอยู่แล้วนี่ไง”
ซึ่งเหมือนเป็นการสรุปนิยามใหม่ตั้งแต่ตอนนั้นว่าชีวิตที่ดีไม่ต้องการเงิน
• อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนที่ทำงานอยู่ในวงการการเงินที่เชื่อว่ามนุษย์ และยิ่งไปกว่านั้นคือระบบสังคมทั้งหมดต้องการเงินในการดำรงอยู่และพัฒนา
และในฐานะที่ SB Bangkok คงไม่ได้ตั้งใจเชิญผมเพียงเพื่อให้มาเล่านิทานเก่าๆ ที่แชร์กันมาตั้งแต่ยุคคนเริ่มส่งเรื่องสอนใจกันทาง LINE
ผมก็รู้สึกว่าดีร้าย ผมก็มีหน้าที่ต้องช่วยนิยามชีวิตที่ดีในแบบที่ไม่เห็นเงินเป็นผู้ร้ายให้ได้
เพราะแม้เงินอาจจะไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตที่ดี แต่เราต้องยอมรับว่าชีวิตที่ดีนั้นเกิดขึ้นง่ายกว่าเดิมมากถ้ามีเงิน
และยิ่งง่ายเข้าไปอีกถ้าเรามีความเข้าใจที่ครบถ้วนเกี่ยวกับเงินนั้น มากกว่าการสรุปแต่เพียงหยาบๆ ว่าเงินเป็นคำตอบสำหรับทุกอย่าง หรือทุกอย่างเป็นไปได้โดยไม่มีเงิน
• หากจะมองจากมุมเศรษฐศาสตร์มหภาคซึ่งเป็นภาพใหญ่
ผมคิดว่าเงินคือสิ่งประดิษฐ์ที่วิเศษที่สุดของมนุษยชาติรองจากภาษา
เพราะในขณะที่ภาษาทำให้เราเข้าใจกัน เงินได้ช่วยให้เราสร้างผลิตภาพต่อระบบเศรษฐกิจร่วมกันได้
• ในทางทฤษฎี ที่เงินทำอย่างนี้ได้ก็เพราะเงินสามารถทำหน้าที่ 4 ประการ คือ
1) เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน
2) เป็นมาตรฐานการวัดค่า
3) เป็นมาตรฐานการชำระหนี้ในภายหน้า
4) เป็นเครื่องสะสมมูลค่า
และเมื่อเงินทำอย่างนี้ได้
ระบบทุนนิยมที่มีหัวใจอยู่ที่การแลกเปลี่ยนโดยเสรีจึงได้เกิดขึ้นได้ และเป็นรากฐานของพัฒนาการในโลกสมัยใหม่ทั้งหมด
ทำให้เงินที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเมื่อ 4,000 ปีก่อน
และตลาดการเงินที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดในช่วง 200 ปีหลังก็เลยกลายเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม
ที่ทำให้ผลผลิตของโลกเพิ่มขึ้นได้ถึง 240 เท่า
ในขณะที่ประชากรเพิ่มเพียง 7 เท่าตัว
• ความจริงผมถนัดยิ่งกว่าที่จะถึงพูดถึงบทบาทของเงินในภาพใหญ่นี้ว่าเงินในแต่ละหน้าที่ได้เข้าไปหมุนเศรษฐกิจ
และทำให้โลกของเราดีขึ้นอย่างไรบ้าง
แต่อย่างไรก็ตาม หัวข้อ Good Life ที่มอบหมายบ่งบอกนัยยะถึงปรากฏการณ์ในระดับบุคคลมากกว่าระดับมหภาค
เป็นเรื่องของตาสีตาสาผู้ใช้เงินคนหนึ่งมากกว่าเรื่องของระบบเศรษฐกิจ
ซึ่งถึงแม้ผมไม่มั่นใจว่ามีคำตอบที่เป็นสัจธรรมเบ็ดเสร็จในเรื่องนี้
ผมก็พร้อมจะแลกเปลี่ยนในหลักการเกี่ยวกับการใช้เงินในชีวิตบางอย่างที่ผมพบว่าตอบชีวิตของผมมาได้ดี
โดยที่ว่าดีนี้ก็คือทำตัวเองมีความสุข
และทำให้คนรอบตัวไม่ทุกข์ร้อนหรือแม้กระทั่งได้สร้างประโยชน์
เพราะสุดท้ายแล้ว
ปรากฏการณ์มหภาคหรือจุลภาค ย่อมไม่อาจแยกออกจากกัน
ผมค่อนข้างเชื่อมั่นว่าที่เงินสามารถมีคุณูปการมากมายในระบบเศรษฐกิจในภาพใหญ่ได้
ก็เพราะมันมีคุณูปการไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันในระดับชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคนนี่เอง
• ความเข้าใจของผมเรื่องบทบาทของเงินในชีวิต
มีพื้นฐานมาจากหลักการของ Maslow เรื่อง Hierarchy of Needs
ซึ่งบอกว่าในความเป็นมนุษย์ที่ดูวิ่งวุ่นด้วยเรื่องต่างๆ นี้
สุดท้ายสิ่งที่ขับดันเรา สรุปเป็นแพทเทิร์นได้ง่ายๆ ในรูปของความพยายามที่จะตอบสนองต่อความต้องการไล่ตั้งแต่พื้นฐานที่สุด
ไปจนถึงยอดที่สุดแบบการก้าวขึ้นปีระมิด ซึ่งเราจะก้าวขึ้นสู่ขั้นสูงหรือยอดก็ต่อเมื่อเราพบว่าตัวเองตอบในขั้นต่ำได้พอสมควรแล้ว
• อย่างที่ทุกท่านทราบกันดี ตามหลัก Hierarchy of Needs ของ Maslow นั้น
บันไดขั้นพื้นฐานที่สุดของพีระมิด ขั้นที่หนึ่ง คือ
Biological and Physiological need
หรือการตอบสนองต่อความต้องการอยู่รอดในฐานะสิ่งมีชีวิตที่ต้องการอาหาร น้ำ อากาศ การพักผ่อน เพศสัมพันธ์ต่างๆ
ตามมาด้วยบันไดขั้นที่สองคือ Security Need
หรือการต้องการความปลอดภัย ความมั่นคง อิสระจากความกลัว ความสงบเรียบร้อย เมื่อเราตอบในสิ่งเหล่านี้
เราถึงจะมาถึงขั้นที่สามที่เรียกว่า Love and Belonging Needs
หรือการตอบความต้องการด้วยการเสพความรักจากคนรอบตัวไม่ว่าพ่อแม่ ครอบครัว คู่ชีวิต หรือการยอมรับจากกลุ่มจากสังคมที่อยู่
ขั้นต่อมา ขั้นที่สี่ คือ Esteem Needs
หรือการแสวงหาภาวะที่ตัวเองเคารพตนเอง และคนอื่นก็เคารพความเป็นตัวตนของเรานั้น ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นความต้องการที่ละเอียดมาก
ก่อนจะมาถึงขั้นสุดท้ายที่ยอดพีระมิดเลย ว่าเมื่อเราตอบความต้องการใน 4 ขั้นแรกได้ทั้งหมด สิ่งเดียวที่เหลืออยู่ก็คือ
Self Actualization หรือการบรรลุถึงซึ่งความเป็นตัวเรา
และเป็นทุกอย่างเท่าที่เรามีศักยภาพจะเป็นได้ ซึ่งในทางพุทธมีจุดสูงสุดอยู่ที่นิพพาน
• ผมคิดว่าความเข้าใจลักษณะพื้นฐานของความต้องการมนุษย์นี้ จำเป็นมากต่อความสามารถในการเปลี่ยน Money ให้เป็น Good Money ในชีวิตของเรา
เพราะ ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าพีระมิดของมาสโลว์นี้ แบ่งเป็นสองส่วน กล่าวคือ
บันไดสองขั้นแรกของมาสโลว์
เป็นสิ่งที่เขาเรียกว่า Deficit Need
หรือความต้องการที่มาจาก “ภาวะบกพร่อง”
• อาหารก็ดี อากาศก็ดี ที่อยู่อาศัย ความปลอดภัยที่เป็น Biological และ Physiological Need นี้
ไม่ใช่ของที่มนุษย์ต้องการขึ้นมาเองเพราะชอบ แต่เป็นเพราะถ้าไม่มีแล้ว มันจะเกิดภาวะบกพร่องที่ทรมาน
ไม่ว่าจะเป็นความหิว ความเหนื่อย ความเจ็บต่างๆ อันเนื่องมาจากธรรมชาติความเป็นสิ่งมีชีวิตของเราแท้ๆ
ซึ่งผมว่าสำหรับพีระมิดสองขั้นนี้ คือ ขั้นที่เราจะปฏิเสธเงินไม่ได้
เพราะในโลกยุคปัจจุบัน
การปฏิเสธเงิน จะทำให้การตอบความต้องการในสองขั้นนี้เป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง
• ในส่วนตัวของผมเอง ตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน
ผมก็ตั้งหลักมาตลอดว่าต้องทำเงินให้พอแก่การสร้างความเป็นอิสระจากภาวะบกพร่องเหล่านี้
ซึ่งเงินจำนวนนี้ต้องมีเท่าไหร่ถึงจะพอนั้นเป็นเรื่องแล้วแต่คน
แล้วแต่ความคาดหวังของแต่ละบุคคลต่อชีวิต แล้วแต่ความมั่นใจในศักยภาพตนเอง
ผมกำหนดตัวเลขของผมขึ้นมาเอง ตามหน้าที่การงานของผมขณะเริ่มเป็นตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายที่ภัทร ว่าผมต้องมีเงิน 50 ล้านบาท
จึงจะตอบในบันไดสองขั้นต้นของมาสโลว์
หลายท่านอาจจะบอกว่าเยอะไป น้อยไป
สำหรับท่านที่คิดว่าน้อยไป ผมคงไม่มีอะไรจะแนะนำ
แต่สำหรับท่านที่คิดว่ามากไป สูงไป
ผมบอกได้ว่า เงินจำนวนนี้ ผมกำหนดไว้เป็นเป้า
แต่ความง่ายของชีวิตผมคือ
ในวันใดที่ผมยังไม่มีเงินตามเป้า ผมก็ใช้เงินเท่าที่มี
ต่อเมื่อ ทรัพย์สินของผมเป็นไปตามเป้า ผมจึงขยับรูปแบบการใช้ชีวิตตาม
• หลักการนี้ช่วยให้ผมไม่ประสบภาวะ mismatch ที่เกิดจากการมีไลฟ์สไตล์ที่เหนือกว่าเงินที่มี
อย่างที่ภาษาไทยเรียกว่า “ฟุ้งเฟ้อเกินตัว”
แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อสะสมทรัพย์สินได้แล้ว ผมก็ไม่กลัวที่จะใช้
ศาสนาพุทธมีหลัก สมชีวิตา ที่พระไตรปิฎกระบุว่า
“ก็สมชีวิตาเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรในโลกนี้ รู้ทางเจริญแห่งโภคะ และรู้ทางเสื่อมแห่งโภคะแล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะไม่ให้ฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนักด้วยคิดว่า
2
รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่ายและรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ ”
1
ดังฉะนี้ผมคิดว่าผมก็ดำรงตนเองมาเช่นนั้น
เพราะเงินนั้นเป็นทรัพยากร การไม่มีแล้วใช้ย่อมเป็นไปไม่ได้
การมีแล้วไม่ใช้ย่อมเป็นความสูญเปล่า
• ตรงกันข้าม ถ้าเราไม่พยายามสะสม
ไม่พยายามวางแผนเพื่อหาทางตอบพีระมิดสองขั้นนี้
เราจะพบว่า การก้าวต่อไปในพีระมิดขั้นสูง เหนื่อยขึ้นอีกเยอะ
เพราะเหมือนเราต้องก้าวกระไดขั้นห่างๆ มากกว่าจะค่อยๆ ไต่ไปโดยลำดับ
ลองคิดดูว่าหากเรายัง ต้องทำงานสองสามกะ
เราจะมีเวลาดูแลอบรมลูกหรือกินข้าวกับภรรยาได้มากแค่ไหน
หรือถ้าเรายังหาค่ารักษาพยาบาลได้ไม่พอหรือไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
เราจะมีอิสระในการเลือกอาชีพหรือทำในสิ่งที่ชอบได้มากน้อยเพียงใด
แล้วถ้าเราไม่ได้ทำสิ่งที่รักหรือแม้กระทั่งต้องทำอาชีพที่ไม่อยากทำ
การจะมี self-actualization
หรือบรรลุตัวตนตามศักยภาพที่เรานิยามตนเองมันจะเป็นไปได้แค่ไหน
แน่นอนครับ ศักยภาพของหัวใจมนุษย์ทำให้การก้าวข้ามขั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่คำถามคือ
มันจะง่ายกว่าหรือเปล่า หากเราเพียงตระหนักรู้คุณค่าของเงิน แล้วสละเวลามาสะสม จัดการมันให้เพียงพอ
• ยิ่งกว่านั้น ในเมื่อผมตระหนักในฐานะนักเรียนเศรษฐศาสตร์ว่าหน้าที่หลักของเงินประการหนึ่งคือการเก็บสะสมมูลค่าหรือผลิตภาพ Productivity
และด้วยศรัทธาในหลักการของ Adam Smith
ที่เป็นบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ ที่ว่า
Wealth หรือความมั่งคั่งนั้น
ต้องมาจาก Productivity หรือผลิตภาพเท่านั้น
วิธีหาเงินของผมจึงยึดหลักการเดียวว่า
ผมมีหน้าที่ต้องสร้างผลิตภาพให้ได้มากที่สุด
โดยหางานที่จะทำให้ตัวเองสร้างผลิตภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพราะผมเชื่อว่าเมื่อผลิตภาพเกิดขึ้นแล้ว
ไม่ช้าก็เร็วก็จะต้องมีผู้ยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อหรือเก็บรักษาผลิตภาพนั้นไว้เอง
หลักการเดียวกันนี้ ทำให้ผมตัดสินใจไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมใดๆ ที่อาจทำให้ผมได้เงินเยอะ
โดยไม่ได้มาจากผลิตภาพ เช่น การคอร์รัปชัน
เช่น การปั่นหุ้นด้วย เพราะมันไม่เป็นไปตามหลักของตลาด
และสิ่งใดที่ไม่ถูกหลักของตลาดสิ่งนั้น ไม่มีทางอยู่ได้นาน
อย่างที่ผมถือง่ายๆ ว่า เงินทุกบาททุกสตางค์ของผมต้องอธิบายที่มาที่ไปได้
ด้วยเหตุนี้ ถ้าเป็นค่าน้ำร้อน น้ำชา เงินทอน เงินแถม ค่าเอาหูไปนาเอาตาไปไร่อะไรต่างๆ ที่ผมถือว่าอธิบายไม่ได้ทั้งหมด
ผมจะไม่เอาตัวเข้าไปเกี่ยวข้อง
• กล่าวมานี้ เป็นแค่เรื่องของครึ่งพีระมิดเท่านั้น การตอบความต้องการในพีระมิดสองขั้นแรกนี้ แทบเป็นการตอบในฐานะสิ่งมีชีวิต มากกว่าในฐานะมนุษย์
ในฐานะมนุษย์ เราต้องการมากกว่าความไม่บกพร่อง
ตรงกันข้าม
เราต้องการที่จะเติบโตเบ่งบานในฐานะมนุษย์ด้วย
ซึ่งนี่เองคือจุดที่เราก้าวเข้ามาในความต้องการครึ่งหลังของพีระมิดที่เรียกว่า
Growth Need
หรือความต้องการที่จะเติบโต ไม่ว่าจะในแง่ของความรัก (love and belonging)
ความเคารพตน (esteem)
หรือความบรรลุปัจเจกวิสัยของตัวเอง (self-actualization)
• สำหรับตัวผมเอง พีระมิดครึ่งหลังนี้ เงินเป็นปัจจัยเสริม
แต่ไม่ใช่ความจำเป็นอีกต่อไป
ซึ่งเรื่องนี้ก็ตรงกับงานวิจัยของ Daniel Kahneman อันโด่งดัง
ที่บอกว่าหลังจากมนุษย์มีเงินรายได้ถึง 75,000 เหรียญต่อปี
ซึ่งพอสำหรับค่าใช้จ่ายในชีวิตขั้นพื้นฐานแล้ว
จำนวนเงินที่มากขึ้นหลังจากนั้นไม่ได้มีผลกระทบต่อความสุขอีกต่อไป
• คำถามต่อไปคือ ถ้าเงินไม่ใช่ปัจจัยแล้ว อะไรคือสิ่งที่เข้ามาแทน
สิ่งเหล่านี้กลับมาที่ Theme ของ SB Bangkok ในปีที่แล้วที่บอกว่า
Purpose คือสิ่งที่ควรซ้อนรองการทำงานของมนุษย์
มันถึงจะทำให้เราทำงานได้ดี
และทำให้เรารู้สึกมีคุณค่า เช่นเดียวกัน
ผมเชื่อว่าหากตอนเราสร้างผลิตภาพเพื่อหาเงินในบันไดมาสโลว์สองขั้นต้นนั้น
เรามุ่งทำงานที่ประกอบด้วบ purpose ที่ตรงกับ passion เราแล้ว
เมื่อมาถึงครึ่งหลังของพีระมิด ที่เงินลดความสำคัญ
เราอาจจะพบว่าเราไม่ต้องการเงิน
แต่สิ่งที่เราทำเพื่อหาเงินในตอนต้นนั้นเองจะกลับมาเป็นสิ่งที่ทำให้เราตอบต่อบันไดมาสโลว์ในสามขั้นหลังนี้ได้
• ผมไม่บังอาจเอาชีวิตตัวเองเป็นมาตรวัด
แต่อยากจะเล่าว่านับแต่เริ่มทำงานจนบัดนี้กว่า 40 ปี
เพราะผมยึดหลักอย่างที่เล่า
เพราะผมทราบว่าเงิน คือ เครื่องเก็บรักษามูลค่าหรือผลิตภาพ
ผมจึงหางานที่จะเปิดโอกาสให้ตัวเองพัฒนาผลิตภาพในงานได้มากๆ เพื่อสร้างเงิน และก็โชคดีที่
เมื่อทำไปนานพอและสังเกตนานพอ
งานในตลาดการเงินก็ทำให้ผมได้เห็นบทบาทและคุณค่าของมันในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ผมพัฒนาความหมาย (purpose)
และพลัง (power) ในการทำงานได้
• ดังนั้น ท้ายที่สุด งานที่ประกอบด้วยผลิตภาพจึงไม่เพียงนำมาซึ่งทรัพย์สินเงินทองซึ่งทำให้ผมตอบสนองความต้องการในขั้นพื้นฐานของ pyramid
แต่พร้อมกันนั้น งานยังให้ purpose กับ passion ในการทำงานที่จะมาตอบความต้องการของชีวิตมนุษย์คนหนึ่งในขั้นปลายปีระมิดของผมด้วย
ทุกวันนี้ผมมีความสุขมาก ถึงขั้นที่ว่า จะให้เอาชีวิตไปแลกกับใครในโลกนี้ก็ไม่เอาทั้งนั้น
ถึงจะไม่ได้ร่ำรวยมหาศาลจนติดอันดับเล่าขานใดๆ แต่ก็มีเงินพอจะใช้ดูแลตัวเองและคนที่รักได้ (biological and security needs)
มีการงานซึ่งมีคุณค่าพอจะให้ผมใช้สร้างความรัก ความเคารพจากคนใกล้ชิด (love and esteem needs)
หรือแม้แต่ทำให้ผมรู้สึกว่าได้ลิ้มรสการพัฒนาตัวตนที่จะได้รับใช้สังคมในมิติที่กว้างขึ้น
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ self-actualization ในชีวิตของผม
• ท้ายที่สุด เมื่อมาถึงขั้นนี้ หากจะให้ผมนิยาม good life ทางการเงิน
ผมจึงอยากจะบอกว่าสิ่งสำคัญอยู่ที่การเห็นว่าเงินนั้น ไม่ใช่เพียงสิ่งที่เอาไว้ใช้จ่ายซื้อของ หากคือสิ่งที่มีไว้เก็บมูลค่าชนิดหนึ่ง
ดังนั้น ระหว่างที่ท่านหาเงิน ท่านอย่าจับตาแต่ตัวเงินหรือของที่เงินนั้นซื้อหาได้
1
แต่ให้มองทะลุไปถึงมูลค่าที่ซ้อนรองอยู่เบื้องหลังเงินนั้น
โดยหากทำได้ ท่านจะพบว่า
ท่านจะไม่เพียงมีเงินให้ใช้สอยอย่างไม่ขัดสน
แต่ในที่สุดแล้ว
ท่านจะไม่มีความจำเป็นต้องแบ่งแยกระหว่างเงินกับชีวิต
หรือเงินกับคุณค่าความหมายอื่นใดอีกต่อไป
เพราะในที่สุดทุกสิ่งคือสิ่งเดียวกัน
• และนั่นคือ Good Money ในความหมายของผมครับ
ขอบคุณครับ
#GoodMoney #GoodLife #Money #ชีวิตที่ดี #สร้างชีวิตที่ดี #เศรษฐศาสตร์มหภาค #ระบบทุนนิยม #บทบาทของเงิน #Purpose #Passion #ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ # Maslow #โลกยุคปัจจุบัน #KKP #KiatnakinPhatra #Biological AndSecurityNeeds #SelfActualization #SBBangkok #Maslow #HierarchyOfNeeds #DanielKahneman #เงินเป็นปัจจัยเสริม #Biological #PhysiologicalNeed #ภาวะบกพร่อง #AdamSmith #วิชาเศรษฐศาสตร์ #SelFactualization #DeficitNeed #ชีวิตที่ดีไม่ต้องการเงิน
โฆษณา