15 ก.ค. 2021 เวลา 01:01 • ท่องเที่ยว
มัณฑะเลย์ (07) .. บวชลูกแก้ว “ชินพยู” ของชาวมัณฑะเลย์
หลังจากกลับมาจากมิงกุน เรายังมีเวลาเหลือเฟือที่จะทำกิจกรรมอื่นๆที่น่าสนใจในเมืองใหญ่อย่างมัณฑะเลย์ เราจึงโดยสารรถแท็กซี่ยี่ห้อมาสด้าคันเดิม มุ่งหน้าจะไปที่สะพานอูเบ็ง เพื่อชมอาทิตย์อัสดงที่ร่ำลือว่าสวยงามนักหนา…
ระหว่างทางฉันได้ยินเสียงเหมือนกำลังมีการแห่แหนอะไรบางอย่าง จึงขอให้สารถีของเราตามเสียงไป …
“You are very lucky. This is the ceremony for the boys to become novices. They are proceeding to the temple. (Do) you like to take photos? ” คนขับรถหันมาบอกเรา เมื่อเห็นว่าขบวนผู้คนในเสื้อผ้าหลากสีนั้น เป็นขบวนแห่ลูกแก้ว หรือการบวชเณร
เรารีบบอกให้คนขับรถขับแซงขบวนที่เป็นระเบียบเรียบร้อย ยาวเหยียด ไปที่หน้าของขบวน เพื่อที่เราจะได้ถ่ายรูปเก็บรายละเอียดได้ทั้งหมด
ขบวนแห่ “ลูกแก้ว” หรือแห่เด็กน้อยที่กำลังจะเป็นสามเณร ในพม่าทำกันอย่างเอิกเกริกและวิลิศมาหรา มีการแต่งกาย ลูกแก้ว ให้อลังการอย่าง “ยุวกษัตริย์” พร้อมทั้งมีเครื่องอัฐบริขารและจตุปัจจัยเพียบพร้อม … ซึ่งคงคล้ายกันมากกับพิธี “ปอยส่องลาง” ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน
พิธีการบวชอย่างที่เห็นในภาพ เรียกกันว่า “ชินพยู” โดยเป็นการบวชที่เอิกเกริก ปกติจะทำโดยคนที่มีฐานะดี ต้นตอมาจากมอญ เชื่อกันว่าประเพณีการบวชลูกแก้วมีมาแล้วเป็นเวลานาน
ซึ่งนอกจากชาวพม่าแล้ว ชนเผ่าไททั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นไทใหญ่ ไทขึน ไทลื้อ ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ทางเหนือของไทย แถบรัฐฉานของพม่า จนกระทั่งเมืองเชียงรุ้งที่สิบสองปันนามนจีน ล้วนมีธรรมเนียม “บวชลูกแก้ว” เหมือนกันหมด และแต่งกายให้ “ส่างลอง” ด้วยเครื่องทรงดั่งราชาเหมือนๆกัน
คำว่า “ส่างลอง” เป็นภาษาไทใหญ่ ส่วนพม่าเรียก “ชินพยู” แต่มีความหมายเหมือนกัน คือ “เด็กที่เตรียมตัวบวช”
ในพม่าผู้คนมีความเชื่อว่า ผู้ใดได้บวชลูกตัวเองเป็นสามเฌร จะได้อานิสงส์มากล้นถึง 7 กัลป์ ยิ่งถ้าบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์จะได้จะได้อานิสงส์มากล้นถึง 12 กัลป์
แต่ถ้าบวชลูกคนอื่นเป็นสามเณรจะได้อานิสงส์ถึง 4 กัลป์ เป็นพระสงฆ์ได้ 8 กัลป์ ใครได้บวชลูกตนเองและลูกคนอื่นเป็นทั้งเณรและพระ ก็จะมีบุญวาสนาได้ไปเกิดในยุคพระศรีอาริยเมตไตรย์ หรือทีเรียกว่า “ยุคพระศรีอาริย์” อันถือเป็นบุญกุศลสูงสุดที่ชาวพุทธใฝ่ฝันกันมาตั้งแต่โบราณ
จึงมีคำกล่าวขานในหมู่ชาวพม่าและชนเผ่าไทดั้งเดิมอย่างชาวไทลื้อและไทขึนว่า … เกิดมาชาติหนึ่ง พึงทำกุศลแก่ศาสนาอย่างน้อย 5 อย่างตามลำดับ
… คือ บวชพระ บวชเณร บุญถวายน้ำอ้อย และบุญพระเวส …โดยเฉพาะงานบวชถือว่าเป็นประเพณีสำคัญที่ขาดไม่ได้ในชนเผ่าเหล่านี้ ทุกคนต่างใฝ่ฝันตามประสาพ่อแม่ว่าเก็บเงินเก็บทองได้พอเมื่อไหร่ จะบวชลูกชายให้เป็นหน่อเนื้อนาบุญอย่างยิ่งใหญ่สักที
ชาวพม่านิยมบวชลุกแก้ว หรือ “ชินพยู” ใช่วงเทศกาล “ธิงจัน” ซึ่งก็คือเทศกาลสงกรานต์ ช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน กับอีกช่วงหนึ่งคือเทศกาลเข้าพรรษา ที่ชาวพม่าเรียก “วาสุ” ราวเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม แต่ไม่ตายตัวเสียทีเดียว เจ้าภาพพร้อมเมื่อไหร่สามารถบวชได้เสมอ
อองซาน ซูจี วีรสตรีประชาธิปไตยของพม่า บันทึกถึง พิธี “ชินพยู” ไว้ในบทความ “ประเทศและประชาชนของฉัน” ตอนหนึ่งว่า …
“… พ่อแม่ทั้งหลายถือเป็นหน้าที่จะต้องดูแลลูกหลานของตนให้เข้าสู่ชีวิตในทางธรรมด้วยหนทางนี้ เด็กจะบรรพชาเป็นสามเณรและเข้าพิธีชินพยได้เมื่อเขาโตพอจะกล่าวบทสวดมนต์ได้อย่างถูกต้อง นุ่งจีวรเองได้ และไล่กาให้พ้นจากบาตรพระได้ …
… ชินพยู เป็นพิธีที่สนุกสนาน ผู้ที่บวชเรียก ชินลอง จะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่สง่างาม อันเป็นการเตือนให้รำลึกว่า พระพุทธเจ้านั้น จำเดิมเป็นสิทธัตถะกุมาร ก่อนที่พระองค์จะสละราชสมบัติ มุ่งมาใช้ชีวิตในทางธรรม …”
ขบวนแห่ลูกแก้วของชาวไทใหญ่นั้น จะให้ “ส่างลอง” ขี่คอพี่เลี้ยง แห่แหนไปรับศีลรับพรจากสมณสงฆ์ตามวัดสำคัญ และไปขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และญาติผู้ใหญ่ ก่อนจะเข้าพิธีโกนศีรษะ ระหว่างแห่แหนก็จะมีฉาบกลองมองเชิงบรรเลงไปอย่างครึกครื้น
แต่พิธี “ชินพยู” ของพม่าจะไม่เอิกเกริกในเรื่องดนตรี อย่างมากก็มีกังสดาลตีนำหน้าเท่านั้น ทว่าจะวิลิศมาหรามากในเรื่องของการจัดจตุปัจจัยไทยทาน ต้องครบถ้วนทั้งพุ่มเงิน พุ่มทอง ผอบใส่พระพุทธรูป เทียนเงิน เทียนทอง
โดยมีเสลี่ยงหามลูกแก้วไปอย่างสวยงาม หรือนั่งเกวียนเทียมโคหรือหลังม้าทีตกแต่งอลังการไม่แพ้กัน ไม่ให้เท้าของ ยุวกษัตริย์ ต้องสัมผัสเศษเสี้ยวธุลีดินแม้แต่น้อย
ที่กรุงมัณฑะเลย์ ขบวนแห่ลูกแก้ว ประกอบด้วยขบวนม้าและวัวเทียมเกวียน ตกแต่งประดับประดาอย่างอลังการ เป็นขบวนแห่ยาวเหยียด
“ลูกแก้ว” จะอยู่ในวัย 9-12 ขวบ ชาวพม่าเชื่อว่ายิ่งบวชให้ลูกตั้งแต่อายุยังน้อยเท่าไหร่ก็ยิ่งดี จะได้บุญกุศลมากขึ้นเท่านั้น แต่จะต้องไม่เด็กเกินกว่าที่จะท่องจะบทสวดมนต์ นุ่งจีวรเองได้ และต้องไล่กาให้พ้นปากบาตรได้เอง …
ในขบวน “ชินพยู” ยังมีเด็กหญิงแต่งชุดยุวกษัตรีร่วมขบวนด้วยทุกครั้ง … เด็กหญิงเหล่านี้เมื่อพี่ชายหรือน้องชายเข้าพิธีชินพยู พี่สาวหรือน้องสาวก็จะเจาะหู ในพิธีเจาะหู เด็กผู้หญิงจะแต่งกายสวยงาม ได้รับการดูแลอย่างดีจากผู้ใหญ่เช่นเดียวกับเด็กชายในพิธีชินพยู
หาก “ชินพยู” เป็นการด้าวเข้าสู่การเป็น “มนุษย์” ที่สมบูรณ์ นับว่าชาวพม่าให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากมาย แม้จะต้องสิ้นเปลืองเพียงใดก็ตาม
ขอบคุณ : เนื้อความบางส่วนจาก หนังสือ ท่องแดนเจดีย์ไพรใน พุกามประเทศ โดย คุณธีรภาพ โลหิตกุล
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา