16 ก.ค. 2021 เวลา 09:48 • ท่องเที่ยว
วัดท่าตอน พระอารามหลวง เชียงใหม่
“วัดท่าตอน” เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ ในหมู่ที่ 3 บ้านท่าตอน ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่บนยอดเขาต่อเนื่องหลายลูก บนเนื้อที่ประมาณ 425 ไร่ แยกเป็นพื้นที่ตั้งวัดชั้นล่าง 45 ไร่ และเป็นเขตอุทยานพุทธศาสนาและสำนักปฏิบัติธรรมราว 380 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาลาดชัน มีที่ราบริมน้ำแม่กก
ภาพจาก Internet
“วัดท่าตอน” เดิมเป็นวัดโบราณ ร้างมานานหลายร้อยปี ... มีพระเจดีย์เก่าชำรุดอยู่หนึ่งองค์ ล้อมรอบด้วยป่าหนาทึบ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด
มีการคาดคะเนย์ว่ า...อาจสร้างในสมัยเดียวกับที่พระเจ้าพรหมมหาราชทรงสร้างพระธาตุสบฝาง ( ประมาณหลัง พ.ศ. 1483 ) เพราะอยู่ไม่ห่างกัน (ประมาณ 5 กิโลเมตร) และตั้งอยู่บนยอดเขา ริมแม่น้ำกกเช่นเดียวกัน อีกทั้งจารึกในฐานพระพุทธรูปวัดศรีบุญเรือง ซึ่งนำมาจากวัดร้างในท้องนาบริเวณไม่ห่างจากท่าตอน ก็ใกล้เคียงสมัยพระเจ้าพรหมมหาราชมาก
ตามตำนานสุวรรณดำแดงกล่าวว่า กลุ่มคนไทยที่อพยพเข้ามาอยู่ตอนกลางของเชียงใหม่ ประมาณหลังปี พ.ศ. 1700 นั้น เป็นผู้นับถือพุทธศาสนา
นักประวัติศาสตร์หลายท่านได้มีความเห็นว่า บริเวณลุ่มน้ำต่างๆ เช่น แม่น้ำกก เป็นที่ตั้งของชุมชน ที่มีวัฒนธรรมอยู่มาก่อน ก่อนที่จะสร้างเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 1839 ห่างจากวัดท่าตอนไปทางทิศตะวันออกประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของเมืองเก่า ชื่อ เวียงแข่ ยังคงมีคูเมืองปรากฏอยู่ เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองในสมัยใดนั้น ไม่เป็นที่ปรากฏหลักฐาน
การค้นคว้าคำจารึกในฐานพระพุทธรูปเก่าที่สุดที่พบในวัดศรีบุญเรือง เขตอำเภอแม่อาย จุลศักราช 221 (พ.ศ. 1403 ) กล่าวว่า ... พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์โบราณที่พบตามวัดร้างในท้องนาและริมแม่น้ำฝาง ซึ่งวัดต่างๆ ในท้องที่เก็บรักษาไว้ บางส่วนขนย้ายไปจังหวัดเชียงราย (วัดมุงเมือง) และส่วนกลาง ( พ.ศ. 2424 คาร์ล บ็อค มาสำรวจเมืองฝางขนไปบ้าง ) แสดงให้เห็นถึงร่องรอยแห่งความเจริญรุ่งเรืองที่ผ่านมาหลายศตวรรษของถิ่นนี้ในอดีต แม้ในจุลศักราช 636 (พ.ศ. 1818) พระยามังรายเสด็จมาเสวยราชสมบัติในเมืองฝาง ก็มิได้ปรากฏว่าพระองค์สร้างเมืองขึ้นใหม่
ฝางและอำเภอใกล้เคียง (เวียงไชย เวียงแข่ เมืองงาม เป็นต้น) คงเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนแล้ว ในตำนานเมืองเหนือ กล่าวว่า ... “อันเมืองฝางนั้น เป็นเมืองที่สร้างมาแต่โบราณกาลแล้ว หากจะพูดตามตำนาน ก็สร้างมาแต่สมัย “พระเจ้าลวะจังกราช” ปฐมกษัตริย์ “ราชวงศ์ลาวจก” และต่อมาในสมัย “พระเจ้ามังราย” บ้านเมืองเดิมก็คงชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่ด้วยเป็นที่อุดมสมบูรณ์ พระเจ้ามังรายจึงได้บูรณะขึ้นอีกครั้งหนึ่ง”
จากการสำรวจโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุของกรมศิลปากร พบว่า … พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์โบราณ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวัดท่าตอน (ศาลาพุทธบุตรประชาสรรค์) ปางมารวิชัยประทับนั่ง 5 องค์ ปางประทับยืน 3 องค์ เป็นศิลปะล้านนา เป็นพุทธศิลป์ซึ่งทรงคุณค่าในทางประวัติศาสตร์ มีอายุ 500-700 ปี มีคำจารึกที่ฐานพระพุทธรูป 2 องค์ ปางมารวิชัย ประทับนั่งองค์เล็กสุด (พระฝนแสนห่า) สร้างเมื่อจุลศักราช 910 (พ.ศ. 2092) ปางประทับยืนอุ้มบาตร บอกแต่เพียงชื่อผู้นำสร้าง และผู้ร่วมทำบุญ ไม่บอกศักราช ดังนั้น จึงสันนิษฐานว่า วัดท่าตอน ได้สร้างมาแล้วเป็นเวลาช้านานหลายร้อยปี
เมื่อคราวที่ “ครูบาศรีวิชัย” ได้ขึ้นมาบูรณะพระธาตุสบฝาง ท่านได้มาถึงท่าตอนแล้วบอกชาวบ้านให้ขึ้นไปหาพระธาตุบนเขา ชาวบ้านได้พากันถางป่าเพื่อค้นหา และพบเจอพระธาตุเก่าแก่อยู่ในพุ่มไม้ จึงนิมนต์ท่านบูรณะ แต่ท่านไม่รับ และบอกให้นิมนต์ “พระครูบาแก้ว กาวิชโย มาบูรณะ”
ในปี พ.ศ. 2470 พระครูบาแก้ว กาวิชโย จากสำนักวัดแม่แหลง (วัดมงคลสถาน) ได้มาเป็นประธานในการบูรณะวัดร้างขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์ สร้างพระเจดีย์ครอบพระเจดีย์องค์เดิม และสร้างเสนาสนะขึ้นอีกหลายหลังเดิมใช้ชื่อว่า “วัดจอมคีรีปิงขอก” หรือ “วัดจอมคีรีศรีปิงขอกต่าตอนจัย”
“วัดท่าตอน” ..ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2518 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร ได้รับการยกฐานะจากวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2534
“วัดท่าตอน” .. ยังเป็นสถาบันการศึกษาสำหรับพระภิกษุ สามเณร และเยาวชน เป็นศูนย์บำบัดยาเสพติดและศูนย์สงเคราะห์ชาวเขา
ในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์เป็นปีที่ 50 … พระครูวิมลกิตติสาร ปัจจุบัน คือ พระราชปริยัติเมธี เจ้าอาวาสวัดท่าตอนได้ริเริ่มโครงการก่อสร้าง “พระเจดีย์แก้ว” เฉลิมพระเกียรติไว้บนยอดเขา คือ “พระบรมธาตุรัชมังคลาจารย์สมานฉันท์” เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และให้ผู้เลื่อมใสศรัทธาได้เข้ามากราบไหว้สักการะ
ด้านบนมีจุดชมวิวซึ่งจะมองเห็นชุมชน ทุ่งนา และแม่น้ำกกไหลคดเคี้ยวอยู่เบื้องล่าง
“พระเจดีย์แก้ว” .. หมายถึง เจดีย์ที่ประดับด้วยแก้วสีต่างๆ แก้วสะท้อนเงายอดพระเจดีย์แก้ว ทำด้วยสแตนเลส ซึ่งเป็นวัสดุที่คนทนต่อแรงลม น้ำฝน ฝุ่นละอองอีกทั้งยังคงคุณสมบัติความเป็นแก้วสะท้อนเงา (สแตนเลสมิเรอร์) ความเป็นแก้วสีโดยใช้วิธีการทาสี 9 สี คือ สีม่วง สีคราม สีน้ำเงิน สีเขียว สีเหลือง สีแสด สีแดง สีทองและสีเงินยวง ในส่วนแก้วใสใช้กระจกใสตามช่องประตูหน้าต่างความเป็นแก้ว 3 ประการจึงครบถ้วน
“พระบรมธาตุรัชมังคลาจารย์สมานฉันท์” … เป็นมหาเจดีย์ขนาดใหญ่และมีความงดงามตระการตามากที่สุดองค์ หนึ่งของประเทศไทย เป็นพระเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม เรือนยอดเป็นทรงกลมประดับด้วยแก้ว 3 ประการ ได้แก่
-แก้วสี ส่วนที่เห็นเป็นเหมือนเครื่องเบญจรงค์ เปรียบเสมือนปุถุชน มีอารามณ์รัก โลภ โกรธ หลง การสร้างพระเจดีย์แก้วนี้มีส่วนที่มีสีเยอะ เพราะสร้างจากศรัทธาของปุถุชนร่วมสร้างมากที่สุด
-แก้วสะท้อนเงา เมื่อมองพระเจดีย์แก้วองค์นี้จากมุมสูงจะเห็นส่วนที่สะท้อนเงาของเจดีย์ซึ่งใช้สแตนเลสมิร์เรอร์ (แต่เราคงจะมองมุมสูงไม่ได้นอกจากนั่งเครื่องบิน) ส่วนแก้วสะท้อนเงาเปรียบเหมือนนักปฏิบัติธรรม ที่คิดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบกว่าปุถุชน แต่ส่วนหนึ่งท่านก็ติดอยู่กับความดีนั้นจนไม่อาจจะหลุดพ้น
-แก้วใส ใช้เป็นช่องที่มองทะลุได้ในองค์เจดีย์ แก้วใสนี้เปรียบเสมือนกับผู้ที่หลุดพ้นไม่ยึดติดอยู่กับสิ่งใดแล้ว
ภายในองค์พระมหาเจดีย์ แบ่งเป็นหลายชั้น .. แต่เราจะเข้าไปชมภายในพระเจดีย์กันก่อนนะคะ โดยจะเดินขึ้นไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุกันก่อน
ทางเดินขึ้นไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุ จะเป็น “สะพานสายรุ้ง” อันเกิดจากสีเงินลายเกล็ดมังกรที่งดงามและสุดอลังการ เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมจากแดนมนุษย์ (โลกิยภูมิ) ขึ้นสู่แดนสวรรค์ (โลกุตรภูมิ) ปูด้วยพรมแดง ขึ้นไปชมพระเจดีย์แก้ว บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ระหว่างทางเดินขึ้นไป ... จะมองเห็นภาพมังกร และส่วนหนึ่งครอบแก้วที่บรรจุบรมสารีริกธาตุ มีความงดงามที่ทำให้เราต้องเร่งการเดิน ด้วยความอยากเห็นภาพที่สมบูรณ์
ณ ยอดพระเจดีย์ .. จุดสูงสุดของพระเจดีย์ หรือส่วนยอดขององค์เจดีย์ มีลักษณะสอบเป็นห้องโถงรูปทรงกลมขนาดเล็ก เพดานที่เป็นเหมือนโดมอยู่ในโทนสีฟ้า โดยรอบประดับด้วยภาพเขียนเหล่าเทวดาที่พนมมือ หันหน้าเข้าหาพระบรมสารีริกธาตุ
พระบรมสารีริกธาตุ … ประดิษฐานอยู่ในครอบแก้ว และมีประติมากรรมมังกรเงิน – มังกรทองขนาบซ้ายขวาครอบแก้วที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
.. ความงามที่ผสานกันออกมาให้ปรากฏในสายตานั้นวิจิตรอลังการมาก จึงเห็นผู้เลื่อมใส ศรัทธาที่มุ่งมาสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ส่งสายตาไปหยุดนิ่งเหมือนจะส่งความเคารพสูงสุดไปยังส่วนหนึ่งของพระพุทธองค์ หรืออธิษฐานบางอย่างที่เราไม่อาจจะล่วงรู้
มังกรเงิน - มังกรทอง .. เป็นประติมากรรมที่มีความอ่อนช้อย สร้างโดยช่างฝีมือชั้นครู เส้นสายดูพลิ้วไหว จนดูเหมือนมังกรทั้งตัวจะเคลื่อนไหวได้
ภายในองค์พระเจดีย์แบ่งเป็นชั้นๆ จัดแสดงพระพุทธรูปต่างๆ
พรุพทธรูปหลายยุคสมัย ในอิติยาบทปางต่างๆ … เรียงรายอยู่ตามทางที่เราเดินชม พุทธลักษณะที่สวยงาม ตรึงใก้เรากยุดชม และเก็บภาพมือเป็นระวิง
บางส่วนของพื้นที่ .. เป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนของพระเกจิอาจารย์ในอดีต
มีการจัดวางประติมากรรมรูปเคารพทางศาสนาในนิกานอื่นๆอนยู่ด้วย
ทางเดินรอบนอก .. มีประตูออกมายังจุดที่เดินชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามภายนอกพระเจดีย์ได้
มองลงไปจากระเบียง … จะเห็นบริเวณที่อยู่รอบองค์พระมหาเจดีย์ เห็นพระพุทธรูปสีขาวที่ตั้งอยู่จุดหนึ่งด้านล่างองค์พระมหาเจดีย์ ไกลออกไปเราก็จะเห็นพื้นราบเบื้องล่างเป็นชุมชนชาวบ้านและท้องทุ่งนา
Ref : ขอบคุณเนื้อความบางส่วนจากhttps://www.museumthailand.com/th/3880/storytelling/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99/
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา