20 ก.ค. 2021 เวลา 10:12 • ท่องเที่ยว
มัณฑะเลย์ (11) .. เที่ยวชมพระราชวังมัณฑะเลย์
พระราชวังมัณฑะเลย์สร้างโดยพระเจ้ามินดง ในปี พ.ศ. 2400 แต่สิ่งที่หลงเหลือจากการสร้างครั้งแรกมีเพียงกำแพงและป้อมทรงปราสาทเหนือกำแพงเท่านั้น นอกจากนั้นได้ถูกไฟเผาผลาญไปทั้งหมดจากการโจมตีญี่ปุ่นของกองทัพอังกฤษ
พระราชวังมัณฑะเลย์ ตั้งอยู่ในพื้นสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาด 2X2 กิโลเมตร ล้อมรอบด้วยคูเมือง “รัตนนที” ที่ชักน้ำมาจากแม่น้ำเอยาวดี จึงเปรียบเสมือนเป็น “มหานทีสีทันดร” แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ในฐานะศูนย์กลางของโลกและจักรวาล ในที่นี้คือพระราชวังและทุกสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจของกษัตริย์
ด้วยพระราชวังมัณฑะเลย์ในปัจจุบันเป็นค่ายทหารพม่า ดังนั้นการเข้าไปชมพระราชวังจึงมีระเบียบที่เข้มงวด รถที่เข้ามาต้องแล่นเข้ามาทางด้านประตูวังทิศตะวันออกเท่านั้น จอดรถที่ร่มไม้ และต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ตรงซุ้มหน้าป้อมเพื่อจ่ายค่าเข้าชม (10 USD สำหรับคนต่างชาติ ซึ่งบัตรนี้สามารถเก็บไว้แสดงในการเข้าชมโบราณสถานแห่งอื่นในกรุงมัณฑะเลย์ได้อีก)
ถนนที่ทอดสู่พระราชวังยาวราว 300 เมตร สิ่งที่ปรากฏในสายตาในวันนี้เป็นสิ่งก่อสร้างที่รัฐบาลพม่าสร้างขึ้นใหม่ใน ปี พ.ศ. 2538
โดยจำลองมาจากภาพถ่ายที่อังกฤษทำเอาไว้ และสร้างในสัดส่วนเท่าของจริงเฉพาะพระที่นั่งที่สำคัญ นอกนั้นได้ย่อส่วนลงมา และย่นย่อพื้นที่ของพระราชวังเข้ามา
ก่อนขึ้นไปที่กลุ่มมหาปราสาท จะเห็นหลังคาปราสาทแบบพม่า มียอดปราสาท 7 ชั้น สูง 78 เมตร แทนความหมายว่า ที่นี่คือสวรรค์ 7 ชั้นของกษัตริย์ที่เป็นเทพจุติลงมาดูแลทุกข์สุขของราษฎร ..
แต่จากการมองด้วยสายตา การประดับประดาไม่ประณีตเท่าที่เห็นจากพระราชวังของไทย
ด้านบนเป็นท้องพระโรงที่เปิดโล่ง ไม่มีซุ้มประตูที่งามวิจิตรดังเช่นที่เห็นในรูปภาพดั้งเดิม (งบประมาณคงมีไม่พอ ก็เป็นได้)
… ท้องพระโรงนี้สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงออกมหาสมาคมเต็มยศ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และถวายความจงรักภักดีในวาระต่างๆ
ด้านในสุดของท้องพระโรงใหญ่ เป็นที่ตั้งของสีหาสนบัลลังก์ 1 ในบัลลังก์ทั้ง 8 ซึ่งประดิษฐานตามท้องพระโรงและปราสาทราชมณเฑียร ที่พระมหากษัตริย์เสด็จออกในการพระราชพิธีและประกอบพระราชพิธีต่างๆ …
สีหาสนบัลลังก์ ณ ท้องพระโรงใหญ่ องค์จริงถูกไฟไหม้ไปแล้ว ที่เห็นในภาพคือองค์จำลอง มีรูปปั้นพระเจ้ามินดงและอัครมเหสีประทับบนบัลลังก์
ภมรราสนบัลลังก์ หรือบัลลังก์ผึ้ง ประดิษฐาน ณ มณเฑียรแก้ว เป็นที่ประทับฝ่ายใน จึงถือเป็นเขตพระราชฐานชั้นใน ไม่อนุญาตให้ผู้ชายเข้า ยกเว้นพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์อายุต่ำกว่า 12 พรรษา
หมู่ตำหนักภายในพระราชวัง
เมื่อเดินออกจากท้องพระโรง และห้องว่าราชการต่างภายในพระมหาปราสาท ... ด้านนอกจะมีศาลา มองเห็นวอหรือคานหาม ซึ่งคงจำลองมาจากของจริงสำหรับใช้กับพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ชั้นสูง ... แต่ก็ยังมีวัยรุ่นชาวพม่าเข้าไปนั่งถ่ายรูปกันอยู่หลายคน
ด้านนอกจะมองเห็นหมู่อาคารต่างๆ ด้านหลังพระมหาปราสาท นัยว่า เป็นที่พักของข้าราชบริพารต่างๆ
อาคารก่ออิฐศิลปะยุโรป ตั้งอยู่ด้านข้างพระมหาปราสาท และระหว่างทางเดินสู่หอคอย คือ พระที่นั่งน้ำพุ สร้างในสมัยพระเจ้าสีป่อ สำหรับประทับเพื่อทอดพระเนตรเหล่าสาวสวรรค์กำนัลในในเทศกางสงกรานต์
… และมีคำกล่าวว่า พระนางศุภยลัตทรงใช้เป็นที่ออกหนังสือหรือพระบรมราชโองการ โดยประทับตราพระราชลัญจกรของพระเจ้าสีป่อ
อาคารที่ติดหอคอยหลังนี้ คืออาคารห้องประชุมเสนาบดี เดิมใช้เป็นที่ที่พระมหากษัตริย์ทรงพักผ่อนอิริยาบถเวลาเสด็จประพาสอุทยาน … ทั้ง 2 อาคารดังกล่าวข้าต้น รอดพ้นจากไฟไหม้ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
หอคอยศุภยลัต เป็นหอคอยไม้ทรงกลมมีบันไดเวียน หลังคาทรงปราสาทยอดแหลม สร้างจำลองจากองค์เดิมที่พระเจ้าสีป่อทรงสร้างสำหรับเสด็จทอดพระเนตรราชธานีของพระองค์ และทอดพระเนตรมัณฑะเลย์ในยามราตรีที่มีเทศกาลจุดพลุเฉลิมฉลอง …
แต่ในยามปกติมีเจ้าพนักงานคอยบอกเหตุในกรณีที่มีไฟไหม้ และเมื่อครั้งอักฤาเข้ายึดมัณฑะเลย์ในปี พ.ศ. 2428 พระนางศุภยลัตทรงไม่เชื่อว่าอังกฤษเคลื่อนเรือรบเข้ามาประชิเมืองแล้ว จึงเสด็จขึ้นมาทอดพระเนตรด้วยพระองค์เองที่หอคอยแห่งนี้
ฉันเดินตามบันไดเวียนขึ้นไปบนหอคอย ... เมื่อฉันยืนอยู่บนหอคอยพยายามจะมองหาแม่น้ำเอยาวดี แต่ต้นไม้ที่สูงได้บังเอาไว้หมด จึงมองไม่เห็นค่ะ เห็นเพียง Mandalay Hill ในมุมหนึ่ง
ด้านล่างเป็นทิวทัศน์และภาพหมู่มหามณเฑียร ท้องพระโรงที่ใช้ในการว่าราชการ รวมถึงหมู่อาคารของนางสนม ข้าราชบริพาร ที่ถูกสร้างย่อส่วนมาจากขนาดจริงในสมัยพระเจ้ามินดง และพระเจ้าสีป่อ
หลังคามหาปราสาทและพระตำหนักที่ประทับของกษัตริย์ จะมีป้อมยามเล็กๆทาสีขาว … ซุ้มนี้ไว้เพื่อการใด? ลองเดาดูซิคะ …
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา