20 ก.ค. 2021 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ราคา IPO กับ ราคาพาร์ เหมือนกันไหม??
หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า IPO หรือ Initial Public Offering และ ราคาพาร์ (Par value) แล้ว IPO คืออะไร ราคาพาร์คืออะไร เหมือนกันไหม มาอ่านโพสนี้กัน…
2
IPO = Initial public offering หุ้นที่ขายให้กับประชาชนทั่วไปในครั้งแรก ก่อนที่จะมีการเข้าซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ มาเข้าใจเรื่องนี้จากเรื่องราวของบริษัทมานีกัน
บริษัทมานี จำกัด ทำธุรกิจร้านส้มตำ เป็นบริษัทที่มีทั้งหมด 100,000 หุ้น มีทุนจดทะเบียน 10,000,000 บ. ตรงนี้ ราคาพาร์ 100 บ. คิดจาก ทุนจดทะเบียน/ จำนวนหุ้น
ซึ่งเดิมมานี และมานะ เป็นเจ้าของกิจการกัน 2 คน ต่อมาบริษัทมานีอยากได้ทุนเพิ่ม เพื่อมาขยายสาขาร้านส้มตำ เพื่อจะเปิดสาขาทั่ว AEC
มานีจึงขายหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งเป็นการหาคนมาช่วยออกเงินเพื่อมาขยายกิจการ คนที่จ่ายเงินเข้ามาก็จะมาอยู่ในฐานะของเจ้าของร่วมตามสัดส่วนเงินที่ใส่เข้าไป เหมือนเวลาเราหุ้นกับเพื่อนทำร้านอาหาร เพื่อนหรือหุ้นส่วนเราก็จะได้ผลตอบแทนจากส่วนแบ่งกำไร ซึ่ง IPO เป็นหุ้นเพิ่มทุนที่เสนอขายแก่บุคคลทั่วไปในครั้งแรก
บริษัทมานีเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 20,00,000 บ. ราคาพาร์ 100 บ. จึงมีหุ้นทั้งหมดกลายเป็น 200,000 หุ้น
บริษัทมานีก็นำหุ้นมาขาย ซึ่งตรงนี้ มานีให้ที่ปรึกษาทางการเงินคิดคำนวณมูลค่ากิจการในลักษณะต่างๆ ความเสี่ยง โอกาสการเติบโต ได้ออกมาว่า ขายที่ 200 บ. ต่อหุ้น ไปเสนอขายให้เพื่อนๆ และคนรู้จัก ว่าใครสนใจซื้อบ้าง ซึ่งมีชูใจ ปิติ ปรีดี มาซื้อหุ้นของบริษัทมานี
จะเห็นว่าสัดส่วนการเป็นเจ้าของของมานี มานะก็จะลดลงไป เพราะจะมีชูใจ ปิติ ปรีดี มาเป็นหุ้นส่วนด้วย
ซึ่งถ้าบริษัทมานีใหญ่พอ และเข้าเกณฑ์ของ ก.ล.ต บริษัทมานีก็สามารถเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งแรกนี้แก่ประชาชนทั่วไปได้ (ไม่ใช้ขายให้กับแค่คนที่รู้จักกันเท่านั้น) หรือที่เราเรียก IPO ได้ ซึ่งบริษัทมานีก็จะเปลี่ยนจากบริษัทมานีจำกัด เป็นบริษัทมหาชนแทน
ในการทำ IPO นั้น ก็มีจะบุคคลต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่ปรึกษากฏหมาย ผู้ตรวจสอบบัญชี สำนักงาน ก.ล.ต รวมถึงตลาดหลักทรัพย์
หลังจากบริษัทเสนอขายหุ้น IPO ให้กับบุคคลทั่วไปแล้ว ก็จะมีการจดทะเบียนเพื่อให้มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือความเป็นเจ้าของได้
อย่างเช่น หุ้น STGT บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ ขายหุ้น IPO ในวันที่ 23 – 25 มิถุนายน 2563 และเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 2 ก.ค. 63
จะเห็นว่า ราคาพาร์ คือ มูลค่าเริ่มต้นของกิจการ โดยไปจดทะเบียนกับรัฐว่า มีทุนจดทะเบียนเท่าไหร่ และจะมีกี่หุ้น ซึ่งราคาพาร์ จะคิดมาจาก ทุนจดทะเบียน/ จำนวนหุ้น ดังนั้น ราคาพาร์ของบริษัทมานี คือ 100 บ. ต่อหุ้น
ส่วน IPO หรือ initial public offering คือ การเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก ดังนั้นราคาพาร์ไม่ใช่ราคา IPO เพราะการนำมาเสนอขายให้ประชาชนโดยทั่วไป จะขายหุ้นละเท่าไหร่ นั้น จะมีการประเมินมูลค่ากิจการในลักษณะต่างๆ และคิดออกมาควรจะขายหุ้นละเท่าไหร่ และส่วนที่ขายได้เกินราคาพาร์ ก็จะถูกบันทึกในงบการเงิน ส่วนงบดุล ใน “ส่วนเกินมูลค่าหุ้น” ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของส่วนผู้ถือหุ้น
#IPO
#ราคาพาร์
#หุ้น
#หมอยุ่งอยากมีเวลา
โฆษณา