22 ก.ค. 2021 เวลา 09:19 • ท่องเที่ยว
พระราชมณเฑียรทอง ชเวนันดอว์ … Golden Palace
พระราชมณเฑียรทอง หรือ ชะเวนันดอว์ เป็นที่ประทับของพระเจ้ามินดง กษัตริย์ผู้สร้างเมืองมัณฑะเลย์ เล่าขานว่า พระองค์นั่งสมาธิเจริญภาวนาระหว่างทรงประชวร จนสิ้นพระชนม์ที่พระราชวังนี้
เมื่อพระราชโอรสคือ พระเจ้าสีป่อ เสด็จขึ้นสืบราชสมบัติ โปรดฯให้ย้ายออกไปสร้างใหม่เป็นเขตสังฆาวาส ณ ด้านนอกพระราชวังในปี 1880 ตามที่พระเจ้ามินดงรับสั่งไว้ก่อนสวรรคต เรียกกันว่า “วัดมณเฑียรทอง” หรือ “ชเวนันดอว์จอง”
พระราชวังแห่งนี้ รอดพ้นจากการถูกระเบิดทำลายในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงนับว้าเป็นพระราชวังแห่งมัณฑะเลย์แท้ๆ แห่งเดียวที่ยังคงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน
พระราชมณเฑียรทอง เป็นตำหนักไม้ สร้างด้วยไม้สักทองที่ได้รับการสลักเสลาลวดลายอย่างวิจิตรในทุกส่วนของพระตำหนัก ทั้งภายนอกและภายในทุกด้าน
หลังคาทรงปราสาท 5 ชั้น เป็นเอกลักษณ์ของสกุลช่างมัณฑะเลย์ด้านสถาปัตยกรรม จนมีคำกล่าวว่า พุกามคือสุดยอดของเจดีย์แบบก่ออิฐถือปูน และ มัณฑะเลย์คือที่สุดของงานประดับไม้อันโอ่อ่าอลังการ
ตามประวัติกล่าว่า พระตำหนักนี้ถูกชะลอหรือย้ายมาจากเมืองอมรปุระ ซึ่งเป็นราชธานีก่อนมัณฑะเลย์ ดังนั้นจึงเป็นโบราณสถานเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในพม่า
ลวดลายจำหลักไม้ที่วิจิตรตระการตาที่ชเวนันดอว์ … จำนวนร้อย จำนวนพัน บนบานประตู หน้าต่าง ผนัง เพดาน และทุกๆที่ ... ที่ผู้มาเยือนมองเห็นได้โดยง่ายนับตั้งแต่ย่างก้าวเข้ามาในเขตพระตำหนัก
ฉันใช้เวลามากมายในการเพ่งพินิศ ชื่นชมงานฝีมืองเชิงช่างชั้นครู ลวดลายที่ปรากฏบนผืนไม้ดูราวกับจะกระโดดออกมาร่ายรำ บอกเล่าความเป็นมาของสถานที่ และผู้คนที่เคยเคลื่อนไหวเป็นจิตวิญญาณของที่นี่ ... ทั้งพระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ ข้าราชบริพาร และเจ้าพนักงานฝ่ายใน
อำนาจ ... ทำให้มัณฑะเลย์ตกเป็นเหยื่อของความแก่งแย่งและสงคราม จนเมืองทั้งเมืองย่อยยับจนแทบจะไม่หลงเหลือซากของความเจริญรุ่งเรืองที่ครั้งหนึ่งเคยตั้งตระหง่านให้โลกได้รับรู้
โชคดี ... ที่ชะเวนันดอร์รอดพ้นจากภัยพิบัติที่ก่อเกิดโดยน้ำมือของคนกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร และเป็นหลักฐานถึงอารยธรรมที่เคยรุ่งเรืองของมัณฑะเลย์ ... อาจจะรอคอยให้คนรุ่นหลังฟื้นฟูให้กลับมาโดดเด่นอวดชาวโลกอีกครั้งในอนาคต
เดิมเล่ากันว่าปิดทองอร่ามทั้งหลัง กาลเวลาทำให้ทองคำเปลวร่วงหล่นเกือบหมด แต่ก็ยังมีบางส่วนที่คงเหลือให้เราได้เห็นบ้าง …. ดังจะบอกว่า เมื่อครั้งที่กรุงมัณฑะเลย์รุ่งเรืองสุดขีดนั้น มณเฑียรทองแห่งนี้งดงามเพียงใด
ภายในพระตำหนักด้านทิศตะวันตก ซึ่งยังคงมองเห็นร่องรอยของการปิดทอง ไม่เว้นแม้แต่ต้นเสา ซึ่งมีการดุนลวดลายบนโลหะประดับอยู่ด้วย …หากเคยไปชมพระราชวังบ้านปืน ที่จังหวัดเพชรบุรี ก็คงจะจำกันได้ว่า เป็นศิลปะร่วมยุคสมัยที่คล้ายกันมาก ..
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา