23 ก.ค. 2021 เวลา 04:58 • ข่าว
จับเข่าคุยกับ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ว่าด้วยเรื่อง Cyberbullying กับความท้าทายด้านการจัด “ระเบียบวัฒนธรรม” ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล
ในรอบหลายปีที่ผ่านมา นักนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยมีการพูดและอภิปรายถึงแนวคิด เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการตั้งคำถามต่อประสิทธิภาพในการใช้กรอบคิดแบบดั้งเดิมในการออกแบบนโยบาย
ตัวอย่างเช่น นโยบายส่งเสริมการออมของไทยที่ไม่ประสบความสำเร็จนัก เนื่องจากมีปัจจัยด้านวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง จนทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่แก่ก่อนรวย การแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นที่อาศัยมาตรการ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” โดยเพิ่มโทษแก่ผู้กระทำความผิด แต่ขณะเดียวกัน อัตราการคอร์รัปชันไม่ได้ลดน้อยลงเลย
ทั้งนี้เนื่องมาจากการกระทำและการตัดสินใจของมนุษย์นั้นมีความซับซ้อนและอาจไม่ได้มีเหตุมีผลเสมอไป ดังนั้น การเข้าใจเบื้องหลังพฤติกรรมมนุษย์และนำหลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาประยุกต์ใช้
จะช่วยทำให้ประชาชนสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ผู้ออกแบบนโยบายคาดหวังไว้ได้ เช่นเดียวกับปัญหาการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ หรือ Cyberbullying ที่ดีแทค โดยโครงการ dtac Safe Internet ได้ร่วมมือเชิงวิชาการกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทำความเข้าใจต่อปัญหาและในท้ายที่สุดจะนำไปสู่การออกแบบเชิงนโยบายต่อไปได้
ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ประธานหลักสูตรเศรษฐศาสตร์การเมืองและผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์เชิงทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับ dtacblog ว่า เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เป็นสาขาหนึ่งของเศรษฐศาสตร์ที่เน้นศึกษาแรงจูงใจที่มีตัวแปรด้านอารมณ์ ประสบการณ์และปัจจัยแวดล้อมในระบบหนึ่ง ๆ ด้วยความเชื่อที่ว่ามนุษย์ไม่ได้มีเหตุมีผลในการตัดสินใจเสมอไป
ดังนั้น หากสามารถออกแบบแรงจูงใจได้ดีก็จะทำให้ระบบตลาดทำงานได้ดี เช่นเดียวกับปัญหา Cyberbullying ที่มีความซับซ้อนเชิงวัฒนธรรมเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ
ผศ.ดร.ธานี มีพื้นเพที่คลุกกับปัญหาสังคมมาตั้งแต่เด็ก ประสบกับความยากจน ซึ่งนั่นเป็นทั้งความฝันและแรงผลักดันสู่การมีส่วนร่วมใน “การเปลี่ยนแปลงสังคมเชิงโครงสร้าง” จนทำให้เขาเลือกเส้นทางอาจารย์ ในฐานะอาชีพที่บทบาทในการ “สร้างคน”
ในระหว่างที่ศึกษาต่อระดับปริญญาโทในสาขาเศรษฐศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาด้านนโยบาย ในเวลานั้น เขาได้เรียนกับศาสตราจารย์ ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร นักเศรษฐศาสตร์การเมืองแถวหน้าของไทยในประเด็นคอร์รัปชัน การพนัน มอเตอร์ไซค์รับจ้าง การค้าบริการทางเพศ ยาเสพติด ซึ่งเป็นหัวข้อที่เปิดโลกและตื่นตาตื่นใจสำหรับเขามาก พร้อมกล่าวว่า “สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญอย่างมากในสังคมไทย ผู้คนมีความสัมพันธ์และ/หรือใช้บริการในทางใดทางหนึ่ง แต่ไม่มีใครพูดถึง ซึ่งสิ่งนี้ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า เศรษฐกิจเงา หรือ Shadow Economy หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ระบบยังรวบรวมได้ไม่ครบ”
เมื่อผศ.ดร. ธานีได้เติมความฝันในการศึกษาด้านสังคมแล้ว อาจารย์ที่คณะฯ ได้เอ่ยปากชวนให้มาสอบเป็นอาจารย์ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ซึ่งปรากฏว่าความฝันในการเปลี่ยนแปลงสังคมของเขาเข้าใกล้มาอีกก้าวหนึ่ง ในเวลานั้น เขาตั้งข้อสังเกตกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมที่ใช้ทฤษฎีแบบจำลองเป็นต้นทางในการออกแบบนโยบายว่าสามารถเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาสังคมได้จริงหรือไม่
ระบบคิดแบบเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม
ประเทศไทยมีผู้สำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จากประเทศที่ “ระบบ” มีความเจริญแล้วเป็นจำนวนมาก จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย แต่กรอบคิดเหล่าอาจไม่สามารถปรับใช้กับประเทศไทยได้ทั้งหมด เขาจึงเลือกไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกในประเทศที่มี “โครงสร้าง” คล้ายประเทศไทย นั่นคือประเทศอิตาลี ในสาขาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง ที่มหาวิทยาลัยโบโลญญา มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
เขาอธิบายเสริมว่า อิตาลีเป็นประเทศที่เจริญแล้วแต่มีลักษณะของโครงสร้างคล้ายประเทศไทยเป็นอย่างมาก เศรษฐกิจพึ่งกาการท่องเที่ยว ยานยนต์ แฟชั่น การเกษตร เป็นหลัก ขณะที่สังคมมีความเป็นพวกพ้อง ครอบครัวเป็นเรื่องใหญ่ วัฒนธรรมเข้มแข็ง การเมืองมีระบอบมาเฟีย คอร์รัปชัน ทว่าอิตาลีก็สามารถเคียงบ่าเคียงไหล่กับนานาประเทศ มีแบรนด์ระดับโลกที่สามารถประสบความสำเร็จได้ในหนึ่งช่วงอายุคนอย่าง Gucci และ Prada
ผ่าแนวคิดวัฒนธรรมไทย
สำหรับสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรมไทย” นั้น มีความซับซ้อนมาก มีข้อขัดแย้งในตัวเองหลายชั้น ตัวอย่างเช่น สังคมไทยให้คุณค่ากับความพอเพียง แต่ก็นับถือคนรวย อยากให้เด็กกล้าแสดงออก แต่ก็ชื่นชมเด็กที่เชื่อฟังผู้ใหญ่ อยากให้คนพยายามขวนขวาย แต่ก็เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยาและการใส่ร้าย ตัวอย่างข้างต้นทำให้เกิดข้อขัดแย้งจากค่านิยมหลายชุดและเกิดการทับซ้อน แต่ที่น่าประหลาดใจคือ สังคมไทยก็ยังสามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้ข้อขัดแย้งมากมายเหล่านี้
บ่มเพาะรากแห่งวัฒนธรรม
ผศ.ดร.ธานี ได้ร่วมทำงานกับดีแทคเป็นครั้งแรกบนเวที Shift Happens ปี 2561 โดยอธิบาย “วัฒนธรรมการโกง” ของสังคมไทยที่มีความเป็นพวกพ้องสูง (Conformity) รวมถึงการพ้นผิดลอยนวล (Impunity) ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม และถูกส่งต่อไปยัง “บวร” หรือ บ้าน วัด โรงเรียน และเด็กก็จะได้รับการปลูกฝังวัฒนธรรมเหล่านี้ถัดไปแบบรุ่นต่อรุ่น
ทั้งนี้ ข้อสังเกตประการหนึ่งที่น่าสนใจคือ วัฒนธรรมแห่งการบูลลี่มีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมพวกพ้องและการพ้นผิดลอยนวลในวัยผู้ใหญ่อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการบูลลี่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้ถูกกระทำโดยที่ผู้กระทำไม่ต้องรับผิดชอบ และเมื่อมีรูปแบบเหล่านี้เกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ภาพวัฒนธรรมของไทยมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผู้กระทำไม่ต้องรับผิดชอบ เหยื่อถูกสอนให้สยบยอม ครูในฐานะผู้มีอำนาจแสดงความเพิกเฉย และนี่คือภาพจำลองของสังคมไทยในปัจจุบัน
เร่งจัดระเบียบวัฒนธรรมใหม่
จะเห็นได้ว่าปรากฏการณ์ในสังคมตอนนี้ถูกเปลี่ยนผ่านโดยบทบาทของเทคโนโลยีอย่างมาก ในโลกที่ก้าวสู่ดิจิทัลอย่างรวดเร็ว โดยมีโควิด-19 เป็นตัวแปรสำคัญ มนุษย์จะเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ยังอยู่ในระบบอนาล็อก เพราะฉะนั้น โจทย์ใหญ่ในอนาคตคือ รูปแบบอาศัยของการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับเทคโนโลยี และเทคโนโลยีกับเทคโนโลยีภาคใต้การเข้ามาของ IoT จะเป็นอย่างไร ขณะเดียวกัน ปัญหาหนึ่งที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นคือ ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลที่ผู้เข้าถึงเทคโนโลยีและมีทักษะการใช้เทคโนโยลีที่ดีกว่า จะได้ประโยชน์จากโลกดิจิทัลมากกว่า ขณะที่ผู้ที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ดังนั้น ประเด็นการแลกเปลี่ยนและการจัดสรรทรัพยากรดิจิทัลควรได้รับการทบทวน
อ่านเพิ่มเติมที่
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติม จาก dtac ได้ที่
โฆษณา