25 ก.ค. 2021 เวลา 02:50 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
AppHarvest นวัตกรรม ปลูกพืชทั้งปี โดยไม่ต้องง้อฤดูกาล
2
สหประชาชาติ คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2050 หรือราว 30 ปีข้างหน้า
โลกของเราจะต้องการอาหารมากขึ้นกว่า 70% ของปริมาณที่ผลิตได้ในปัจจุบัน
สะท้อนให้เห็นว่าในอนาคต มนุษย์ต้องการพื้นที่สำหรับเพาะปลูกเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
2
ที่ผ่านมา ปัญหาหลักของการทำเกษตรกรรมก็คือ การหาพื้นที่ ที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก
ซึ่งก็มีทั้งสภาพดิน น้ำ และอากาศ เป็นไปตามเงื่อนไขของพืชแต่ละชนิด
แต่ปัญหาเหล่านี้กำลังถูกแก้ไขด้วยนวัตกรรมการทำการเกษตรสมัยใหม่
หนึ่งในนั้นก็คือบริษัท ที่ชื่อว่า “AppHarvest” ที่ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้กับการเพาะปลูก
จนทำให้ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใดในโลก เราก็จะสามารถปลูกพืชผักไว้บริโภคเองได้
แล้ว AppHarvest นำเทคโนโลยีอะไร มาประยุกต์ใช้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
2
จากที่ได้เกริ่นไปว่าปัญหาสำคัญสำหรับการทำการเกษตร คือ การค้นหาแหล่งที่มีสภาพดินฟ้าอากาศเหมาะสมและมีแหล่งน้ำปริมาณมากพอ
เรื่องดังกล่าวจึงส่งผลให้แปลงเพาะปลูกมักจะถูกกระจายตัวไปตามพื้นที่ชนบทเนื่องด้วยเหตุผลด้านราคาที่ดินที่ถูกกว่าหรือสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมกว่า
และเมื่อแหล่งการผลิตอยู่ห่างไกลจากตัวเมือง จึงก่อให้เกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งตามมา
ไม่ว่าจะเป็นการใช้ระยะเวลาการขนส่งที่นาน รวมถึงคุณภาพของผลผลิตที่ได้ตกต่ำลงตามระยะเวลา
ไอเดียของการทำการเกษตรแบบระบบปิด หรือ Indoor Farming จึงถูกพูดถึงกันมากขึ้น
ซึ่งบริษัท AppHarvest ก็ถือเป็นผู้นำในด้านนี้ เพราะบริษัทแห่งนี้ถือเป็นบริษัทที่มีฟาร์มระบบปิดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา
1
แล้ว AppHarvest มีนวัตกรรมการทำการเกษตรแบบปิดอย่างไร ?
สำหรับพืชที่ AppHarvest เลือกใช้ในการปลูกเริ่มแรก คือ “มะเขือเทศ”
1
Cr. wisfarmer
เหตุผลก็เพราะว่ามะเขือเทศเป็นพืชที่ประเทศสหรัฐอเมริกานำเข้าจากประเทศเม็กซิโกมากที่สุด
โดยสิ่งที่ AppHarvest นำมาใช้ในการเพาะปลูกแบบใหม่คือ
Hydroponic หรือ การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน
1
วิธีนี้จะอาศัยการปลูกในน้ำที่เติมสารอาหารที่จำเป็นต่อพืชที่ปลูก เช่น แร่ธาตุต่าง ๆ
วิธีนี้มีข้อดีคือ น้ำจะถูกใช้ได้อย่างคุ้มค่ากว่าการทำการเกษตรแบบเดิม โดยการวิจัยของทางบริษัทพบว่าสามารถใช้น้ำได้น้อยกว่า 90% เมื่อเทียบกับการปลูกด้วยดิน เลยทีเดียว
นอกจากระบบ Hydroponic จะใช้ปริมาณน้ำในการเพาะปลูกน้อยแล้ว
อีกข้อดีก็คือ ระบบนี้ไม่ต้องพึ่งพาแหล่งน้ำธรรมชาติจากใต้ดินหรือลำธารเลย มันจึงช่วยลดข้อจำกัดของสถานที่ในการเพาะปลูกให้มีอิสระมากขึ้น อีกด้วย
โดย AppHarvest ได้มีการออกแบบหลังคาของโรงเรือนเพาะปลูก
ให้สามารถรวบรวมน้ำฝนมากักเก็บไว้ในสระน้ำขนาดใหญ่
1
หลังจากนั้น หากมีการนำน้ำฝนไปใช้ก็จะถูกนำไปผ่านขั้นตอนการกรองและฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวี
จากนั้นจึงนำไปใช้เพาะปลูก ซึ่งน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกมาจากน้ำฝนรีไซเคิลทั้งหมด
อีกเรื่องพื้นฐานที่การเพาะปลูกดั้งเดิมควบคุมไม่ได้เลย
ก็คือเรื่อง “แสงจากธรรมชาติ” ที่ไม่สม่ำเสมอและมีจำกัดในแต่ละวัน
ซึ่งแสงก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลโดยตรงต่อการให้ผลผลิตของพืช
Cr. themarthablog
AppHarvest จึงได้นำพลังงานแสงแบบผสมผสาน (Hybrid Lighting) มาใช้ในฟาร์ม
โดยเริ่มจากการออกแบบหลังคาของโรงเรือนให้เป็นกระจกที่ช่วยกระจายแสงแดดไปทั่วพื้นที่ปลูกในเวลากลางวัน
รวมทั้งติดตั้งหลอด LED จำนวนมากที่ให้แสงมากกว่าหลอดทั่วไป 40%
เพื่อใช้สำหรับเวลากลางคืนหรือเมื่อปริมาณแสงน้อยกว่าที่ต้องการ
อีกทั้งแสง LED ที่ใช้ จะมีระบบที่ควบคุมปริมาณแสงสีแดงและฟ้าซึ่งเป็นแสงที่พืชนำไปใช้ในการเจริญเติบโต และจุดนี้เองที่ทำให้ AppHarvest มีผลผลิตจากการเพาะปลูกตลอดทั้งปีโดยไม่มีเรื่องของฤดูกาลตามธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง
2
เมื่อองค์ประกอบพื้นฐานของการทำฟาร์มถูกสร้างขึ้นมาแล้ว
โจทย์ต่อไปคือการควบคุมคุณภาพของผลผลิตที่ได้
AppHarvest ได้นำระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาใช้ควบคู่กับเซนเซอร์และกล้องหลายร้อยตัวสำหรับการประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ ภายในโรงเรือนเพาะปลูก เช่น
การวิเคราะห์สุขภาพของพืช
การควบคุมความชื้นและอุณหภูมิ
การตรวจสอบข้อมูลที่บ่งชี้ถึงโรคหรือศัตรูพืชภายในโรงเรือน
นอกจากนี้ ก็ยังมีการใช้ระบบเซนเซอร์ในการตรวจสอบความสดของผลผลิตก่อนการส่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายสินค้า เช่น หากตรวจสอบพบว่ามะเขือเทศที่มีความสดใหม่มาก
มะเขือเทศชุดนั้น ก็จะเหมาะสมสำหรับการส่งไปยังปลายทางที่ไกลกว่า
แต่ที่สำคัญคือ ความสามารถในการคำนวณผลผลิตที่ผลิตได้แม่นยำในแต่ละช่วงเวลา
โดยข้อมูลนี้เป็นประโยชน์อย่างมากกับการวางแผนตารางการเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ การขนส่ง
รวมถึงการขาย ทำให้แต่ละส่วนใช้ทรัพยากรที่มีได้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น AppHarvest ยังทดลองใช้หุ่นยนต์ในการเก็บเกี่ยวผลผลิตแทนแรงงานคนโดยอาศัยเทคโนโลยี Machine Learning ที่จะเลือกเก็บเฉพาะลูกที่ถูกกำหนดค่าไว้ว่าอยู่ในระดับมาตรฐาน
เช่น มาตรฐานระดับความสุกหรือขนาด นั่นเอง
4
Cr. aimagazine
อย่างไรก็ตาม ปัญหาบางอย่างเทคโนโลยีก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ และยังคงจำเป็นต้องให้ธรรมชาติช่วยเหลือ เช่น การผสมเกสรของมะเขือเทศที่มีระยะเวลาออกดอกและผสมเกสรที่สั้นเพียง 3 วัน
2
AppHarvest จึงได้เลี้ยงผึ้งไว้กว่า 500 รัง เพื่อรองรับสำหรับการผสมเกสรดอกมะเขือเทศกว่า 7 แสนต้น
2
อีกทั้งยังมีการปล่อยให้แมลงบางชนิดอาศัยอยู่ภายในฟาร์มเพื่อคอยกำจัดและควบคุมแมลงที่เป็นศัตรูพืชของพืชที่ปลูก ทำให้ภายในโรงงานไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลงเลย
3
ผลที่ได้จากการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีของ AppHarvest ก็เรียกได้ว่าคุ้มค่าอย่างมาก
เพราะผลการทดลองฟาร์มแบบระบบปิดชุดนี้ ทำให้ปริมาณผลผลิตมากเป็น 30 เท่า
เมื่อเทียบกับการเกษตรแบบดั้งเดิม
และด้วยความที่โรงเรือนการเกษตรระบบปิดแบบนี้สามารถสร้างขึ้นบนพื้นที่ใดก็ได้โดยแทบไม่ต้องสนสภาพแวดล้อม
AppHarvest จึงตั้งโรงเรือนเพาะปลูกขนาดใหญ่ในเมือง Morehead รัฐ Kentucky ซึ่งสามารถกระจายผลผลิตไปให้ 70% ของประชากรทั่วประเทศภายใน 1 วัน และประหยัดพลังงานในการขนส่งกว่า 80% เมื่อเทียบกับการนำเข้าจากเม็กซิโก
1
นอกจากนี้ AppHarvest ยังตั้งเป้าไว้ว่าจะมีโรงเรือนเพาะปลูกกว่า 12 แห่ง และขยายไปยังพืชชนิดอื่น ๆ เช่น ผลไม้หรือผักใบเขียว
1
น่าสนใจว่าโมเดลธุรกิจของ AppHarvest ที่เข้ามาแก้ไขปัญหาการเกษตรดั้งเดิม
ที่เหมือนกับว่าต้องรอคอยสภาพอากาศตามแต่ละฤดูที่ควบคุมไม่ได้
ให้กลายเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ จะสามารถเติบโตไปได้มากขนาดไหน
4
ในอนาคต หากการเกษตรระบบปิดได้เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น
ก็จะทำให้การเพาะปลูกมีผลผลิตที่มากขึ้น ในขณะที่ใช้พื้นที่เพาะปลูก และทรัพยากรน้อยลงกว่าเดิม..
2
โฆษณา